ในช่วงวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา มีกระแสข่าวจากสำนักข่าว Reuter ที่ระบุว่า Isuzu ค่ายผู้ผลิตรถปิกอัพชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่นกำลังจะย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศอินโดนีเซีย  โดยมีข่าวว่านาย Agus Gumiwang Kartasasmita รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย ได้เข้าพบกับผู้บริหารระดับสูงของ Isuzu ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการย้ายโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยไปยังอินโดนีเซียในช่วงต้นปี 2567 ซึ่งทางด้านผู้บริหาร Isuzu ในประเทศไทยระบุว่ายังไม่ได้ตอบรับข้อเสนอในการย้ายฐานการผลิตไปยังอินโดนีเซีย

ซึ่งล่าสุดดูเหมือนว่าไทยเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจโดยเฉพาะคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่ได้มีการสอบถามไปยังผู้บริหารระดับสูงของ Isuzu Thailand ว่าข่าวดังกล่าวมีมูลความจริงมากน้อยเพียงใด ซึ่งก็ได้รับคำตอบจาก Isuzu ประเทศไทย ว่ามีการพูดคุยกับผู้บริหารของ Isuzu สำนักงานใหญ่ที่ญี่ปุ่นแล้วและยืนยันว่าไม่ได้มีการให้ข่าวเกี่ยวกับการย้ายฐานการผลิตแต่อย่างใด

แต่เมื่อช่วงวันที่ 8 มิถุนายน ดูเหมือนว่าอินโดนีเซียเองก็ออกมายืนยันว่าเรื่องที่เป็นข่าวออกไปนั้นมีมูล ถึงแม้ว่า Isuzu ญี่ปุ่นจะปฏิเสธข่าวลือดังกล่าว โดยนาย Taufiek Bawazier เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียออกมาบอกว่า เป็นไปได้ที่ Isuzu จะไม่แถลงข่าวเพื่อบอกว่าจะย้ายฐานการผลิต แต่พวกเขา (Isuzu) มีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตมาตั้งโรงงานผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่จริง

พูดได้ว่าแม้จะยังไม่มีความชัดเจนและการยืนยันอย่างเป็นทางการจาก Isuzu ทั้งในไทยและญี่ปุ่น แต่เชื่อว่าทั้งภาครัฐของไทยเองหรือแม้กระทั่งนักลงทุน ผู้ผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง แรงงานในสายผลิต ทุกคนในห่วงโซ่การผลิตที่อยู่ในไทยย่อมมีความกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะ Isuzu ได้เข้ามาตั้งฐานการผลิตและดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเป็นระยะเวลากว่า 60 ปี สร้างงาน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากมาย

ปัจจุบันบริษัท อีซูซุมอเตอร์มีโรงงานผลิตรถยนต์ 2 แห่งในประเทศไทย ที่จังหวัดสมุทรปราการและฉะเชิงเทรา โดยมีกำลังการผลิตรถยนต์รวมกัน 385,000 คันต่อปี และมีการจ้างงานพนักงานประมาณ 6,000 คน ส่วนในอินโดนีเซีย Isuzu มีโรงงานผลิตรถยนต์ 1 แห่งที่เมืองคาราวัง

ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยในปัจจุบัน

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ผลิตและจัดจำหน่ายยานยนต์ประเภทรถยนต์ส่วนบุคคลและรถยนต์เพื่อการพาณิชย์สัญชาติญี่ปุ่นทั้งหมด 8 ค่ายได้แก่

  1. Honda
  2. Toyota มี Lexus และ Daihatsu
  3. Nissan
  4. Mazda
  5. Suzuki
  6. Mitsubishi
  7. Isuzu
  8. Subaru

โดยในแต่ละปี 8 ค่ายผู้ผลิตรถยนต์ผลิตรถยนต์เพื่อส่งออกและจำหน่ายในประเทศปีละกว่า 2 ล้านคัน ส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รวมไปถึง สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมมูลค่าเฉลี่ยปีละกว่า 1.5-1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 5.1% ของ GDP (สถิติปี 2565) ช่วยสร้างงานให้กับแรงงานไทยกว่า 500,000 ตำแหน่ง นับว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ถือเป็นอุตสาหกรรมอันดับ 1 ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมาก

โดยประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก เห็นได้จากการที่ประเทศไทยมีการผลิตรถยนต์มากถึง 1.9 ล้านคันต่อปี ซึ่งสูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก อีกทั้งสินค้ากลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ยังเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2565 มีมูลค่าการส่งออกรวม 1.31 ล้านล้านบาท ขยายตัว 8.2% YoY หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 12.3% ต่อ GDP

ปัจจุบันประเทศไทยยังเป็นฐานการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปเป็นหลัก โดยมีการผลิตเฉลี่ยปีละประมาณ 1.8-1.9 ล้านคัน ซึ่งการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในจะใช้ชิ้นส่วน OEM มากถึง 2-3 หมื่นชิ้นต่อคัน

ตลาดชิ้นส่วนยานยนต์โลกเป็นตลาดที่ใหญ่ โดยในแต่ละปีทั่วโลกมีการนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์รวม 5-6 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 20 ล้านล้านบาท โดยผู้นำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของโลก คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน เม็กซิโก และฝรั่งเศส ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 44% ของมูลค่านำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์รวมทั้งโลก ชิ้นส่วนยานยนต์เป็นอีกหนึ่งสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย และสร้างรายได้เข้า ประเทศเฉลี่ยปีละ 4-5 แสนล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ปี 2565 มีสัดส่วนราว 5.1% ต่อ GDP

นโยบายด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย

ถ้าถามว่าทำไมผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นถึงเลือกไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ คำตอบก็คือ

  1. ต้นทุนแรงงานต่ำ ต้นทุนแรงงานในประเทศไทยต่ำกว่าต้นทุนแรงงานในญี่ปุ่นมาก ซึ่งช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นสามารถผลิตรถยนต์ของตนด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าในประเทศไทย
  1. นโยบายทางภาษีที่เอื้ออำนวย ภาครัฐของไทยมักเสนอสิ่งจูงใจทางภาษีให้แก่นักลงทุนต่างชาติ อย่างการงดเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ 5 ปีแรกของการดำเนินงาน ทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ
  1. ตลาดขนาดใหญ่และกำลังเติบโต ประเทศไทยมีประชากรจำนวนมาก ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพขนาดใหญ่สำหรับรถยนต์ญี่ปุ่น
  1. ที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ประเทศไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ ซึ่งทำให้เป็นฐานที่เหมาะสำหรับการส่งออกรถยนต์ไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศอื่น ๆ

จากข้อมูลของ Krungsri Research ระบุว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยได้รับการส่งเสริมจากรัฐบาลไทยมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2506 โดยในระยะเริ่มแรกภาครัฐเน้นออกมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนผลิตและใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (Complete Built-Up: CBU) และชิ้นส่วนครบชุด (Complete Knock-Down: CKD)

ต่อมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม อาทิ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล และการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้ผลิตรถยนต์ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย

นอกจากนี้ ภาครัฐของไทยยังได้กำหนดสัดส่วนการบังคับใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ (Local Content Requirements: LCR) ในการผลิตยานยนต์ให้มากขึ้นเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ให้เติบโตซึ่งในปัจจุบันข้อกำหนดดังกล่าวได้ถูกยกเลิกแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตรถยนต์นั่งในไทยยังคงใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 60-80% ของชิ้นส่วนยานยนต์ทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ

ในขณะที่รถยนต์นั่งประเภท Eco-car และรถปิกอัพใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศกว่า 90% ในปัจจุบันการทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างไทยกับประเทศต่าง ๆ อาทิ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) และความตกลงการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้า CBU และ CKD ปรับลดลง

ในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำประกาศล่าสุดจากคณะกรรมการค่าจ้างปี 2565 มีผลบังคับใช้ปี 2566 เราจะพบว่า จังหวัดที่เป็นฐานที่ตั้งของโรงงาน Isuzu จะอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการซึ่งเป็นจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 353 บาทต่อวัน และจังหวัดฉะเชิงเทราที่ค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 345 บาท ซึ่งทั้งสมุทรปราการและฉะเชิงเทราถือว่าเป็นจังหวัดที่มีค่าแรงขั้นต่ำสูงเป็นอันดับที่ 2 และ 3 ของประเทศ แต่นี่จะใช่เหตุผลที่ Isuzu ตัดสินใจอยากจะย้ายโรงงานบางส่วนไปอยู่ที่อินโดนีเซียหรือไม่ ต้องอ่านหัวข้อถัดไป

นโยบายของอินโดนีเซียในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ

จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าโรงงานของ Isuzu ในประเทศอินโดนีเซียตั้งอยู่ที่ Karawang International Industrial City (KIIC) เมือง Karawang แถบ West Java ซึ่งเป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย มีกำลังการผลิต 52,000 คันต่อปี โดยผลิตรถยนต์หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น รถบรรทุก รถโดยสาร และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ขนาดเล็ก

เรามาดูฝั่งค่าแรงกันบ้าง อ้างอิงข้อมูลจาก Rocket Media Lab ถึงตัวเลขค่าแรงขั้นต่ำในอินโดนีเซียปี 2565 จะอยู่ที่วันละ 540 บาทต่อวัน (ทำงาน 8 ชั่วโมง)  ซึ่งสูงกว่าไทยอยู่ถึงวันละ 187 บาท

แล้วเหตุผลอะไรที่ Isuzu ถึงจะย้ายฐานการผลิต (บางส่วน) ไปที่อินโดนีเซียในเมื่อค่าแรงขั้นต่ำ ณ ปัจจุบันปี 2566 อินโดฯ แซงไทยไปแล้ว

ก็ต้องบอกว่าอาจจะเป็นที่นโยบายส่งเสริมการลงทุน FDI ของอินโดนีเซียในปี 2566 ก็เป็นไปได้ ที่มุ่งเน้นไปที่การดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสำคัญ อย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน การผลิต และการท่องเที่ยว เราจะเห็นว่าการผลิตเป็น 1 ในอุตสาหกรรมที่อินโดฯให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเราเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์มาอย่างยาวนาน และอินโดฯ เองก็ต้องการที่จะแย่งชิงความเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลับคืนมาให้ได้

และในกระบวนการส่งเสริมการลงทุนที่อินโดฯ พร้อมที่จะมอบให้กับเหล่านักลงทุนต่างชาติ ได้แก่

สิ่งจูงใจ  รัฐบาลอินโดนีเซียเสนอสิ่งจูงใจมากมายแก่นักลงทุนต่างชาติ ทั้งการลดหย่อนภาษี การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาครอบครองที่ดินเพื่อการผลิตได้ รวมไปถึงการเข้าถึงสินเชื่อ ซึ่งสิ่งจูงใจเหล่านี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้อินโดนีเซียเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่น่าดึงดูดยิ่งขึ้น

One-Stop Service รัฐบาลอินโดนีเซียได้จัดตั้งบริการแบบครบวงจรสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้นักลงทุนต่างชาติสามารถขอรับใบอนุญาตและการอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นได้สะดวก รวดเร็ว และง่ายยิ่งขึ้น

ความง่ายในการทำธุรกิจ อินโดนีเซียตั้งใจที่จะทำให้การทำธุรกิจในอินโดนีเซียเป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการลดความซับซ้อนของกฎระเบียบ การลดภาระผูกพัน และการปรับปรุงความโปร่งใสของกระบวนการลงทุน

นอกจากนี้ ด้วยความที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก และมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ความต้องการรถบรรทุกในอินโดนีเซียก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อ Isuzu ที่เป็นผู้นำในเรื่องการผลิตรถบรรทุกอย่างแน่นอน

ตอนนี้ยังไม่มีความแน่ชัดจากฝั่งผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นรายใดที่แสดงความต้องการที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังอินโดนีเซียอย่างชัดเจน แต่เราก็ไม่อาจปิดตาแล้วบอกว่าเราดีที่สุดเหมือนอย่างในอดีตได้อีกแล้ว เพราะประเทศเพื่อนบ้านของเราอย่างอินโดฯ มีพร้อมทั้งทรัพยากรธรรมชาติ ทักษะแรงงาน และอย่าลืมว่าด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายที่ส่งเสริมเทคโนโลยีก็ดีกว่าเรา ดังนั้น วันนี้เราอาจจะมีจุดแข็งที่ค่าแรงถูกกว่า แต่วันหน้าไม่มีอะไรการันตีว่าค่าแรงจะไม่ขยับขึ้น ถ้าทักษะขยับขึ้นตามก็คงเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ แต่ถ้าไม่ การนำ AI หรือ Robot มาใช้ในอุตสาหกรรมหนักก็ไม่ใช่เรื่องแย่

อ้างอิง

https://www.isuzu-tis.com/about-history

https://www.boi.go.th/index.php?page=press_releases_detail&topic_id=133284

https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/364-Thailand-Automotive-Sales-2022

https://www.kruupdate.com/ค่าแรงขั้นต่ำ-2566

https://www.krungsri.com/th/research/industry/industry-outlook/hi-tech-industries/automobiles/io/io-automobile-2023-2025



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online