Threads ท้าชน Twitter เมื่อนกฟ้าสะดุด Meta ขออาสาดูแลผู้ใช้งานแทน

Threads แพลตฟอร์มน้องใหม่ล่าสุดจากค่าย Meta และประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วในแง่จำนวนผู้ใช้งาน ด้วยจำนวนผู้ใช้งาน (Active User) ที่ทำสถิติทะลุ 1 ล้านบัญชีภายในระยะเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ทำลายสถิติผู้ใช้งาน 1 ล้านยูสเซอร์เร็วที่สุดของ ChatGPT ที่ทำไว้ที่ 5 วันลงอย่างราบคาบ

ที่มาที่ไปของ Threads เกิดขึ้นได้อย่างไร ทำไมถึงได้รับความนิยมไวมากขนาดนี้ เรามาจับชีพจรกระแสความดังในโลกโซเชียลมีเดียกันอีก เพราะเป็นธรรมดาว่าเมื่อใดที่ยักษ์ใหญ่ขยับย่อมได้รับความสนใจจากสายตาชาวโลก วันนี้เราจึงหยิบยกเรื่องนี้มานำเสนอ ไปติดตามจากบทความนี้

Threads คือ

Threadsคือโซเชียลมีเดียแอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาโดย Meta (เจ้าของ Facebook และ Instagram) Threads เวอร์ชันแรกได้รับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ปี 2023

ทาง Meta เคลมว่าThreadsคือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีความปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัวสูง โดยทางทีมผู้สร้างได้ออกแบบฟีเจอร์ที่ทำให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวเมื่อใช้งาน Thread ยกตัวอย่างเช่น

  • Disappearing messages เมื่อผู้ใช้งานส่งข้อความหาผู้ใช้งานคนอื่น (Direct Message หรือ DM) ข้อความแต่ละข้อความจะหายไปหลังผู้ใช้อีกคนเปิดอ่านข้อความนั้นแล้ว
  • Location sharing  ผู้ใช้งานสามารถแชร์ตำแหน่งกับผู้ใช้งานอีกคนที่ถูกระบุสถานะเป็น Close Friend ได้เท่านั้น (ฟีเจอร์ Close Friends มาจาก Instagram)
  • Stories ผู้ใช้สามารถสร้างเรื่องราวในเธรด ซึ่งเป็นโพสต์สั้น ๆ ชั่วคราวที่หายไปหลังจาก 24 ชั่วโมง
  • Close Friends ผู้ใช้สามารถเลือกที่จะแชร์โพสต์บนThreadsให้เห็นเฉพาะกลุ่มคนที่เลือก ให้เป็น “Close Friends” ได้

โดยรวมแล้ว Threadsเป็นโซเชียลมีเดียใหม่ที่มีแนวโน้มดึงดูดผู้ใช้ที่มีความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยต่อการใช้งาน แต่อย่างไรก็ตาม Threads ยังเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น ฟีเจอร์ต่าง ๆ อาจได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้น หรือ แย่ลง ก็ต้องติดตามกันต่อไป

ทำไม Meta ตัดสินใจสร้าง Threads

สาเหตุที่ Meta เข็นThreadsออกมาเพื่อชนกับ Twitter อาจจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Twitter เราก็ไม่อาจทราบได้ แต่สิ่งที่ประจักษ์ชัดก็คือThreadsถูกเปิดตัวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2023 หลังจากที่ Elon Musk ทวิตข้อความเกี่ยวกับการ “จำกัดจำนวนโพสต์ที่ผู้ใช้สามารถเห็น”

“เพื่อแก้ปัญหาการดึงข้อมูลจำนวนมหาศาลและการครอบงำระบบผู้ใช้งานที่ได้รับการรับรองแล้ว (Verified Badge ติ๊กถูก) จะสามารถอ่านทวีตได้ 6,000 ทวีตต่อวัน ส่วนผู้ใช้งานที่ยังไม่ได้รับการรับรองจะสามารถอ่านได้เพียง 600 ทวีตต่อวัน ส่วนผู้ใช้งานที่เพิ่งสมัครบัญชีเข้ามาใหม่และยังไม่ได้รับการรับรองจะเห็นทวีตได้เพียง 300 ทวีตต่อวันเท่านั้น”

แต่ต่อมา Elon Musk ได้เปลี่ยนเป็น 10,000 ทวีต (สำหรับบัญชี Verified), 1,000 ทวีต (ผู้ใช้เดิม) และ 500 ทวีต (ผู้ใช้ใหม่ไม่ Verified) หลังโดนถล่มจากการทวีตข้อความดังกล่าวออกไป

เรียกได้ว่า “จังหวะได้” มาก ๆ เราอาจสันนิษฐานได้ว่า Meta เห็นช่องและชิงจังหวะเปิดตัวThreads ในขณะที่ผู้ใช้งาน Twitter กำลังรู้สึกไม่พอใจ Elon Musk และแพลตฟอร์ม Twitter เกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพในการใช้งาน

แต่ถึงแม้จะฮือฮามากเพียงใดแต่ในช่วงหลัง Meta กลับถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการ “ก๊อบปี้ไอเดีย” ฟีเจอร์หรือแม้กระทั่งแอปฯ ที่ประสบความสำเร็จของแพลตฟอร์มอื่น ๆ มาเป็นของตัวเอง ยกตัวอย่าง เช่น Instagram Reel ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Short-Video แพลตฟอร์มอย่าง TikTok และ  Facebook Story ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก Instagram ในช่วงยุคก่อนที่ Instagram จะถูก Meta ซื้อไป

ก่อนหน้านี้ Meta ได้เปิดตัวว่าบริษัทจะทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อกรุยทางให้เรือลำใหญ่อย่าง Facebook เข้าสู่โลกเสมือนอย่าง Metaverse และถึงขั้นเปลี่ยนชื่อเป็น Meta เลยทีเดียว แต่จนถึงตอนนี้ดูเหมือนว่า Meta เองก็ยังไม่ได้ประสบความสำเร็จกับ Metaverse สักเท่าใด

ภาพจาก Statista

ก่อนจะมาเป็น Threads มีที่มายังไง 

ที่จริงแล้วเรื่องราวของกระแสการพูดถึงThreadsไม่ได้เริ่มต้นมาจากการที่แค่พลเมืองชาวทวิตเตี้ยนไม่พอใจที่ Elon Musk ไปจำกัดเสรีภาพในการใช้งานของพวกเขาเสียทีเดียว แต่ที่มาก่อนหน้านี้มาจากเรื่องที่ Meta ซุ่มพัฒนาแอปฯ ที่หน้าตาแอป (UX, UI) มาแนวเดียวกับ Twitter เลย ซึ่งเรื่องนี้คาดว่าจะไประแคะระคายถึง Elon Musk เจ้าของตัวจริงของ Twitter ที่น่าจะไม่พอใจที่ Meta จะมาสร้างแพลตฟอร์มเลียนแบบพวกเขา

รวมไปถึงเรื่องราวที่ Mark Zuckerberg ไปวิจารณ์ถึงเรื่องจำนวนผู้ใช้ของ Twitter ที่อาจจะน้อยไปนิดทำให้ Elon Musk ไม่พอใจถึงขั้นท้าตีท้าต่อย (แบบถูกต้องตามหลักการต่อสู้)

เรื่องนี้นี่เองที่เป็นการจุดกระแสความสนใจของมวลชนต่อยอดมาเรื่อย ๆ จนถึงการเปิดตัวThreads

ตัวแปรสำคัญเริ่มที่ “Project 92” ซึ่งเป็นชื่อรหัสลับที่ใช้เรียก โซเชียลมีเดีย ตัวใหม่ที่ Meta กำลังซุ่มพัฒนา ตอนที่มีข่าวลือออกมาระบุว่า Project 92 ถูกตั้งใจให้เป็นแอปฯ ที่เป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Twitter ที่ Meta ตั้งใจออกแบบมาให้มีความปลอดภัยต่อการใช้สูง (ในแง่ความเป็น Toxic Social Media ที่น้อยกว่า Twitter ) ทั้งยังคงความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ใช้งานสูงอันเป็นผลมาจากฟีเจอร์ต่าง ๆ

Project 92 ได้รับการรายงานข่าวครั้งแรกโดยเว็บไซต์ข่าวการตลาดและธุรกิจ The Information ในเดือนมีนาคม ปี 2023 และกลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงและคาดเดามากมายตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเมื่อในเดือนมิถุนายน ภาพหน้าจอ Interface ของแอปก็รั่วไหลสู่โลกอินเทอร์เน็ต แสดงให้เห็นว่าอีกไม่นานจะมีโซเชียลมีเดียตัวใหม่ที่มีหน้าตาคล้ายกับ Twitter ออกสู่ตลาดอย่างแน่นอน

การพัฒนา Project 92 ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง Elon Musk และ Mark Zuckerberg เป็นอย่างมาก Elon Musk ซึ่งตอนนั้นเป็น CEO ให้กับ 2 บริษัท คือ Tesla และ SpaceX (ยังไม่ได้ซื้อ Twitter) วิพากษ์วิจารณ์ Twitter ว่า บริษัทไม่ได้ดำเนินการเพียงพอที่จะปกป้องเสรีภาพในการพูดของผู้คน ตอนนั้น Elon Musk ให้สัมภาษณ์ว่าเขากำลังพิจารณาเข้าซื้อ Twitter และเขาขู่ว่าจะสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียใหม่หาก Twitter ไม่ทำการเปลี่ยนแปลง

Mark Zuckerberg ถูกกล่าวหาว่าพยายามเลียนแบบ Twitter ในการกล่าวสุนทรพจน์กับพนักงานในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ปี 2023 ซึ่งตอนนั้นผู้บริหารระดับสูงของ Meta มีการพูดถึง Project 92 ด้วย ประกอบกับ Mark กล่าวว่าเขาเชื่อว่า Twitter เป็น “ไม่ใช่แพลตฟอร์มที่ดี” และเขากล่าวว่า Meta กำลัง “พยายามสร้างสิ่งที่ดีกว่า” เป็นการตอกย้ำข่าวลือที่ว่าเขากำลังสร้างแพลตฟอร์มมาแข่งกับ Twitter เป็นเรื่องจริง

และวันที่ 6 กรกฎาคม ข่าวลือก็กลายเป็นข่าวจริงเมื่อ Meta ประกาศเปิดตัว Threads แพลตฟอร์มที่มีความคล้ายคลึงกัน Twitter อย่างจริงจัง

ความขัดแย้งระหว่าง Elon Musk และ Mark Zuckerberg ยังปรากฏชัดตามหน้าสื่อจากการที่ทั้งคู่ต่างทวีตโต้ตอบกันไปกันมาจนลามมาสู่การท้าตีท้าต่อยกันแบบมวยในกรง (Cage Fight) สาเหตุส่วนหนึ่งก็คงมาจากการที่ Meta มาสร้างแพลตฟอร์มที่คล้ายกับ Twitter แต่อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการทวีตข้อความที่ Mark วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องจำนวนผู้ใช้งานของ Twitter นั่นเอง

ประสบการณ์การใช้งาน Threads

หลายคนมีโอกาสได้ลองใช้Threadsกันแล้ว และก็เริ่มมีฟีดแบ็กเกี่ยวกับเรื่องของประสบการณ์ในการใช้งานทั้งดีและไม่ดี โดยส่วนมากผู้คนที่ใช้ Twitter อยู่ก่อนหน้านี้พวกเขาใช้ Twitter เพื่อเป็นสถานที่ในการระบายอารมณ์ความรู้สึกไม่พอใจ หรือรู้สึกแย่ หรือแม้แต่ชื่นชมก็มี

แต่ที่เป็น Key Point ที่ทำให้ Twitter โดยเฉพาะในไทยนั้นได้รับความนิยมไม่ใช่แค่เรื่องความไวของการสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร  แต่บน Twitter นั้นเราไม่จำเป็นต้องใช้ชื่อหรือตัวตนจริง ๆ ของเราสมัครใช้งานก็ได้ แม้แต่ภาพก็ใช้ภาพอะไรก็ได้มาเป็น Profile Image หรือที่ศัพท์ชาวทวีตรู้จักกันดีในชื่อแอคหลุม หรือ แอคเคาน์ที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตนให้คนอื่นได้รู้ว่าตนเองเป็นใคร เพราะความกังวลว่าสิ่งที่ตนเองทวีตไปจะไปกระทบกับชีวิตในโลกแห่งความเป็นจริง

ดังนั้น เมื่อครั้งที่ประชากรชาว Twitter ต้องย้ายสำมะโนครัวไปยังบ้านหลังใหม่ที่ชื่อว่า Threads พวกเขาก็คาดหวังว่า Threads จะเหมือนกับ Twitter นั่นคือการปกปิดตัวจนบนโลกออนไลน์ได้ แต่เมื่อ Threads ให้ผู้ใช้งานเชื่อมต่อบัญชีเพื่อเปิดการใช้งานกับ Instagram ส่วนตัว ทำให้ผู้ใช้รู้สึกผิดหวัง

รวมถึงไปเรื่องประสบการณ์ผู้ใช้งาน หรือ User Experience ที่ในช่วงแรก Threads มักจะเอาโพสต์ของคนที่เราไม่ได้ติดตามมาแสดง ซึ่งต่างจาก Twitter ที่จะมีแท็บ “For You” และ “Following” โดยใน For You จะเป็นการนำเอาเนื้อหาที่ระบบอัลกอริทึมเป็นผู้แนะนำมาแสดงบนหน้าฟีดให้เรารับชม และในแท็บ Following จะเป็นการแสดงเฉพาะทวีตและรีทวีตของคนที่เรากด Follow เอาไว้เท่านั้น ซึ่งทั้งหมดก็ยังต่างจาก Threads อยู่ไม่น้อย ทำให้หลายคนตัดสินใจยังไม่ “ลบ” Twitter ออกจากแอปฯ สามัญประจำเครื่องและย้ายไปใช้ Threads อย่างถาวรนั่นเอง

Threads VS Twitter

ถึงแม้ว่าThreadsจะมีความเหมือนกับ Twitter อยู่หลายอย่าง แต่จุดต่างก็มีไม่น้อย อย่างเช่น

Threads สามารถพิมพ์ข้อความได้สูงสุดอยู่ที่ 500 ตัวอักษรต่อหนึ่งโพสต์ ในขณะที่ Twitter สามารถพิมพ์ได้สูงสุด 280 ตัวอักษรต่อ 1 ทวีต

แต่ถ้าอยากพิมพ์ได้ยาวกว่านั้นเป็น 25,000 ตัวอักษร ก็จ่ายเงินมา 8 ดอลลาร์ต่อเดือน เพื่อแลกกับ Blue Badge ในขณะที่ Threads ยังไม่มีแนวคิดหารายได้จากจุดนี้ (อย่างน้อยที่สุดก็ ณ เวลานี้)

  • Threadsรีเควสให้ผู้ใช้งานทุกคนต้องมีบัญชี Instagram ถ้าอยากจะเล่นThreads โดยให้เลือกว่าจะเอา Bio และผู้ที่ติดตามเรา (Followers) จากใน IG มาไว้ที่Threadsด้วยหรือไม่ แต่จุดสำคัญในข้อนี้เลยคือ การยืนยันการมีตัวตน เพราะถ้ามีบัญชี IG แปลว่าเรามีตัวตนอย่างน้อยก็อาจจะมีรูปเราอยู่ 1- 2 รูปเท่านี้คนใกล้ตัวก็อาจจะพอรู้ว่าเราเป็นใครแล้ว ในขณะที่ Twitter นั้นเต็มไปด้วย “แอคหลุม”
  • Threadsอนุญาตให้ผู้ใช้งานสามารถโพสต์ “วิดีโอ” ความยาวสูงสุด 5 นาที ในขณะที่ Twitter แอคเคาน์ที่ไม่มี Blue Badge สามารถโพสต์วิดีโอความยาวสูงสุดเพียง 20 วินาที เท่านั้น
  • Threadsไม่มีแท็บ For You กับ Following แยกเหมือนกับบน Twitter อย่างที่ได้อธิบายไปว่า 2 แท็บนี้มีไว้เพื่อให้ผู้ใช้สามารถเลือกอ่านคอนเทนต์ที่มาจากระบบแนะนำ หรือ มาจากกลุ่มคนที่เราติดตาม ซึ่งฟีเจอร์นี้ก็ได้รับความนิยมอย่างมากใน Twitter แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตThreadsอาจจะออกฟีเจอร์ที่คล้ายกันนี้ก็ได้แต่คงจะไม่ใช้ชื่อซ้ำกัน Twitter อย่างแน่นอน
  • Threadsไม่มีตัวเลือกให้เราสามารถ Save Draft โพสต์ได้ ในขณะที่ Twiiter มี แถม Twitter ยังแก้ไขทวีตได้ แต่คุณต้องจ่ายมา 8 ดอลลาร์ต่อเดือน
  • Threadsไม่มี Sponsored Content (โฆษณา) แต่ Twitter มี ต่อไปก็ไม่แน่ คุณคิดว่าเจ้าพ่อโฆษณาอย่าง Mark Zuckerberg มีหรือจะไม่ทำเงินผ่านเครื่องมือที่เขาเป็นเจ้าของ
  • Threadsใช้แนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับ Instagram ในการบริหารจัดการเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมและดูแลความเรียบร้อยของชุมชนผู้ใช้งาน แต่ Twitter นั้นต่างออกไป การ Quote Tweet เป็นเครื่องมือที่สามารถใช้แขวนคนที่เห็นต่างโดยให้ผู้ที่ติดตามเรามาร่วมแสดงความเห็นต่อคนที่เราไป Quote Tweet นั้นมา นี่คือจุดเด่นที่ Meta ชูมาตลอดว่าพวกเขาต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ใช้งาน

ที่มา: Meta

จากภาพจะเห็นได้ว่าผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่า “ไม่อยากจะเห็น” โพสต์ที่มีคำว่าอะไร เช่น คำว่า “นินทา”, “แฉ” หรือคำอื่น ๆ ที่ผู้ใช้รู้สึกไม่สบายใจก็สามารถกรองออกจากฟีดของเราได้ รวมไปถึงการที่เรา “ไม่อนุญาต” ให้คนอื่นเอาเราไปพูดถึงลับหลัง หรือ ใครบ้างที่สามารถจะ @mention เราได้ ถ้าเลือก “No One” นั่นหมายถึงไม่มีใครที่จะแท็กแอคเคาน์เราได้เลย

สิ่งนี้อาจเป็นจุดตัดด้านความปลอดภัยต่อผู้ใช้ที่มากกว่าเมื่อเทียบกับ Twitter

Twitter Blue Badge

ก้าวต่อไปของThreads

Meta กล่าวในสเตตเมนต์ใน Blog Post ว่าพวกมีแผนที่จะเปิดตัว Threads ในอีกกว่า 100 ประเทศ ทั่วโลก และตั้งใจจะพัฒนาให้Threadsดียิ่งขึ้นไปโดยการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงเนื้อหาที่ถูกใจ บนประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าเดิม รวมถึงจะมีการปรับปรุงฟังก์ชันการค้นหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถติดตามหัวข้อและแนวโน้มที่น่าสนใจได้แบบเรียลไทม์

นั่นคือเรื่องในมุ้งของThreads แต่เรื่องนอกมุ้งนั้นมีข่าวว่า Twitter เตรียมที่จะฟ้องร้อง Meta ในข้อหาจงใจลอกเลียนแบบแพลตฟอร์มของพวกเขา ก็ต้องตามกันต่อว่าสุดท้ายแล้ว Threadsจะประสบความสำเร็จหรือไม่ และ Elon Musk กับ Mark Zuckerberg ยังคงจะต่อสู้กันในรูปแบบใด เรื่องนี้น่าติดตามยิ่งนัก

อ้างอิง

https://about.fb.com/news/2023/07/introducing-threads-new-app-text-sharing/https://www.economist.com/business/2023/07/04/the-musk-zuckerberg-social-media-smackdownhttps://www.statista.com/chart/29174/time-to-one-million-users/#:~:text=Threads%20is%20now%20likely%20the,the%20one%20million%20user%20mark.https://www.ndtv.com/feature/twitter-vs-threads-key-difference-between-2-apps-in-10-points-4182116https://www.nytimes.com/2023/06/08/technology/mark-zuckerberg-meta.html

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online