ตลอดกว่า 3 ปีของช่วงสถานการณ์โควิด 2 อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักสุดคือสายการบินและท่องเที่ยว โดยอุตสาหกรรมแรกเกิดการล้มละลายของสายการบินมากมายจนเป็นข่าวดังน่าตกใจ
ส่วนอุตสาหกรรมหลังทำให้แหล่งท่องเที่ยวดัง ๆ กลายเป็นเมืองร้าง ตรงข้ามอย่างสิ้นเชิงแบบหนังคนละม้วนจากช่วงสถานการณ์ปกติที่ผู้คนคึกคักและผู้ประกอบการต่างก็นับเงินไม่ทัน
แต่พอวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ทุเลาและประเทศต่าง ๆ เปิดพรมแดน การเดินทางและท่องเที่ยวก็กลับมา ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้น โดยคนทั่วโลกต่างพากันออกไปท่องเที่ยวจนแหล่งท่องเที่ยวตั้งตัวไม่ทันและช้ำ ที่เรียกกันว่า Overtourism
นับจากปี 2022 เป็นต้นมา แหล่งท่องเที่ยวดัง ๆ พากันเก็บค่าเข้าที่อาจเรียกตามความเข้าใจชาวไทยได้ว่าค่าเหยียบแผ่นดิน เพื่อลดปัญหา Overtourism
พร้อมเป็นแหล่งรายได้ใหม่เพื่อเร่งการฟื้นตัวและนำมาใช้พัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในระยะยาวต่อไป
เวนิส
แม้อยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ แต่ความสวยงามและเสน่ห์ เมืองที่มีลักษณะเป็นเกาะและเชื่อมกันด้วยคูคลองของอิตาลีแห่งนี้จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างมากมาย ทำให้การท่องเที่ยวกลายเป็นรายได้สำคัญสุดของเมือง
เวนิส มีรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึงปีละ 2,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 76,000 ล้านบาท) โดยหลังสถานการณ์โควิดจบลงก็กลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยว แต่นักท่องเที่ยวก็แห่กันมามากเกินจน Overtourism ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาเมืองแออัดและทรุดโทรมที่มีมานานแล้วรุนแรงยิ่งขึ้น
มิถุนายน 2022 ฝ่ายปกครองและรัฐบาลกลางอิตาลี อนุมัติให้ทดลองเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน 3-11 ดอลลาร์ (ราว 103 ถึง 380 บาทต่อวัน)
ปี 2023 เวนิสเดินหน้าเก็บค่าเหยียบแผ่นดินอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้ไม่เกิน 50,000 คนต่อวัน เพราะเป็นระดับที่รับไหวและสกัด Overtourism
ภูฏาน
Overtourism ไม่ได้เป็นปัญหาที่แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตกังวลเท่านั้น โดยกันยายน 2022 ภูฏาน ประกาศขึ้นค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 200 ดอลลาร์ (ราว 7,400 บาท) ต่อวัน
แม้เพิ่มขึ้นมากจาก 65 ดอลลาร์ (ราว 2,400 บาท) ต่อวัน ที่ใช้มานานกว่า 40 ปีจนถึงก่อนปิดประเทศไปช่วงโควิด แต่นักท่องเที่ยวก็แทบไม่ต้องจ่ายเพิ่มอีกเลย เพราะครอบคลุมค่าที่พักในโรงแรมระดับ 3 ดาวขึ้นไป ค่าอาหาร และค่าตั๋วเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ
เป้าหมายการเก็บค่าเหยียบแผ่นดินเพิ่ม ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกัน Overtourism จำกัดนักท่องเที่ยวให้น้อยแต่เน้นคุณภาพ เพราะภูฏานเป็นประเทศปิดและมีขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 770,000 คน แต่เมื่อปี 2019 มีนักท่องเที่ยวเข้ามามากถึง 300,000 คน
และปีดังกล่าวธุรกิจท่องเที่ยวก็ทำเงินเข้าประเทศ 89 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,300 ล้านบาท) เพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวได้โตแบบค่อยเป็นค่อยไป
บาหลี
ในบรรดาเกาะมากมายทั่วอินโดนีเซีย บาหลีเป็นเกาะที่คนทั่วโลกรู้จักมากสุด และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดฮิตอีกด้วย นี่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวสำคัญต่อบาหลีอย่างมาก
บาหลีมีรายได้หลักมาจากการท่องเที่ยว โดยธุรกิจนี้คิดเป็น 60% ของ GDP ของเกาะ และช่วงเวลาตลอดกว่า 3 ปีของสถานการณ์โควิดประชากรเกือบครึ่งต้องขาดรายได้อย่างหนัก นำมาสู่ปัญหาสังคมมากมาย
หลังวิกฤตดังกล่าวพ้นไป นักท่องเที่ยวก็แห่มาจนบาหลีเผชิญ Overtourism โดยเฉพาะผับบาร์ที่เปิดเพลงเสียงดังจนเช้า การจราจรติดขัด และขยะจากบรรดานักท่องเที่ยวไร้ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวพฤติกรรมแย่ ๆ อีกบางส่วน ยังขี่จักรยานยนต์จนเกิดอุบัติเหตุ และทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมต่าง ๆ นานา เช่น นักท่องเที่ยวหญิงชาวรัสเซียที่ไปถ่ายรูปและโพสต์รูปเปลือยของตัวเองหน้าสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จนต้องถูกเนรเทศออกจากเกาะ
ล่าสุดฝ่ายปกครองบาหลีเผยว่า ตั้งแต่ปี 2024 เป็นต้นไปจะเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคน คนละ 10 ดอลลาร์ (ราว 346 บาท) ตลอดทริป เพื่อบรรเทาปัญหา Overtourism และนำเงินที่ได้มาใช้พัฒนาสาธารณูปโภค และฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยว
พร้อมความเชื่อมั่นว่า เป็นราคาที่นักท่องเที่ยวรับได้และจะดีต่อบาหลีในระยะยาว
กรณีของอินโดนีเซียยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องจับตามอง โดยรัฐบาลกำลังเร่งสร้างและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เพราะธุรกิจนี้คิดเป็นเพียง 5.6% ของ GDP ประเทศ
เทียบไม่ติดกับประเทศร่วมกลุ่ม ASEAN อย่างไทย ที่ธุรกิจท่องเที่ยวคิดเป็น 20% ของ GDP
แหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังเร่งปั้นผ่านงบ 1,260 ล้านดอลลาร์ (ราว 43,000 ล้านบาท) มี 5 แห่ง คือ ทะเลสาบโทบา เมืองท่าลาบวนบาโจ (แหล่งที่อยู่อาศัยของมังกรโคโมโด) เมืองหลวงเก่ายอร์กยากาตา
เมืองตากอากาศมันดาลิกา และเมืองหาดทรายขาว ลิกูปัง ซึ่งถ้าเป็นไปตามเป้า นอกจากอินโดนีเซียจะมีเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะลดการพึ่งพาบาหลีอีกด้วย
เพราะตามข้อมูลเมื่อปี 2019 ระบุว่า ชาวต่างชาติ 40% ที่มาอินโดนีเซียต่างก็ไปเที่ยวบาหลี จนเป็นหนึ่งในต้นเหตุของปัญหา Overtourism นั่นเอง/cna, nikkei
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ