หลายคนรู้จักแบรนด์ Lamina แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า กว่ามันจะกลายมาเป็นแบรนด์ฟิล์มกรองแสงที่มียอดขายอันดับ 1 ในประเทศไทย ที่มาที่ไปของมันกลับมาจากเด็กคนนึงที่ไม่ได้มีต้นทุนในชีวิตแต่อย่างใด เติบโตมากับครอบครัวคนไทยเชื้อสายจีนมีอาชีพหาเช้ากินค่ำและอาศัยอยู่ในบ้านที่เป็นห้องแถวเล็ก ๆ หลังเขียงหมูในตลาดท่าพระ
ต้องเดินทางไปกลับระหว่างบ้านที่อยู่ท่าพระกับมหาวิทยาลัยที่อยู่ศาลายา เดินทางด้วยรถยนต์ 3-4 ต่อ อยู่หอไม่ได้เพราะในตอนนั้นที่บ้านไม่มีเงินจะซื้อเครื่องนอนให้
แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้คนที่ไม่มีต้นทุนในชีวิตอย่าง จันทร์นภา สายสมร ผู้ก่อตั้งหลักและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เทคโนเซล (เฟรย์) จำกัด ตัวแทนจำหน่ายฟิล์มกรองแสงรถยนต์แบรนด์ ลามิน่า สามารถพลิกตัวเองจนสร้างธุรกิจที่ทำรายได้กว่า 700 ล้านบาทต่อปีอย่างทุกวันนี้ได้ ?
คำตอบอยู่ในบทสัมภาษณ์ด้านล่าง
ที่จะทำให้รู้ว่าแม้จะไม่มีต้นทุนมาตั้งแต่เกิด แต่ความพยายามก็สามารถพาคุณไปเจอกับความสำเร็จได้เหมือนกัน
ต้องพยายามสอบเข้าโรงเรียนรัฐเพื่อช่วยที่บ้านประหยัดค่าใช้จ่าย
พี่จันทร์เล่าให้ Marketeer ฟังว่า ตั้งแต่จำความได้ เธอก็รับรู้ได้ทันทีว่าที่บ้านไม่ได้มีฐานะร่ำรวยยิ่งพอเติบโตขึ้นมองย้อนกลับไปถือได้ว่าค่อนไปทางลำบากด้วยซ้ำ
“เตี่ยจบแค่ป.2 แต่พูดอ่านเขียนภาษาจีนได้ดีส่วนแม่พี่ไม่ได้เรียนหนังสือ เขียนหนังสือพอได้ก็แค่ชื่อตัวเองกับลูก ๆ เท่านั้น เตี่ยกับแม่มีลูกทั้งหมด 8 คน ซึ่งพี่เป็นลูกคนที่ 8
พี่โตมาในห้องแถวเล็ก ๆ ที่อยู่หลังเขียงหมูในตลาดท่าพระ ลูกคนโตสองคนต้องออกจากโรงเรียนไปเรียนด้านวิชาชีพ เพราะต้องช่วยเตี่ยกับแม่ทำงานและดูแลน้องๆ
ที่บ้านทำอาชีพหาเช้ากินค่ำมาตั้งแต่พี่ยังเป็นเด็ก จนขึ้นมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นอยู่อย่างนั้น
มีช่วงนึงที่ทางบ้านได้ไปขายผักในปากคลองตลาดจนทำให้พอลืมตาอ้าปาก เริ่มมีเงินขึ้นมา ช่วงนั้นพี่เรียนชั้นประถมต้นที่โรงเรียนเอกชนใกล้บ้าน แต่สุดท้ายพอคนอื่นเห็นว่าบ้านเราขายดี เขาก็มาแย่งที่ค้าขาย เตี่ยพี่ถูกทำร้าย จนต้องไปหาที่ทำกินใหม่”
บ้านอยู่ไกลมหา’ลัย แต่อยู่หอไม่ได้ เพราะแม่ไม่มีเงินซื้อเครื่องนอน
หลังย้ายออกมาจากปากคลองตลาด เตี่ยและคุณแม่ของพี่จันทร์เลยเปลี่ยนมาขายอาหารในโรงอาหารของวิทยาลัยหอการค้าไทย (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยหอการค้า) ซึ่งเธอรวมทั้งพี่ๆน้องๆคนอี่นๆ ก็ยังต้องช่วยที่บ้านทำงานช่วงปิดเทอม ด้วยการนั่งรถเมล์จากบ้านย่านท่าพระไปปากคลองตลาดเพื่อซื้อวัตถุดิบมาทำอาหาร แล้วนั่งรถเมล์จากปากคลองตลาดเพื่อเอาของมาส่งที่ร้านในหอการค้าไทยอีกที
แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่เธอยังสามารถจดจำชีวิตช่วงนั้นได้อย่างแม่นยำ จำได้แม้กระทั่งสายรถเมล์ว่าต้องนั่งอะไรแล้วไปต่ออะไร ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนสามารถสอบเข้าคณะเทคนิคการแพทย์ที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้ และถึงศาลายากับท่าพระจะอยู่ไกลกันขนาดไหน แต่เธอก็ต้องไปกลับ ไม่สามารถอยู่หอพักได้ ด้วยเหตุผลที่ว่า
“ตอนนั้นแม่พี่บอกว่าไม่มีเงินจะซื้อเครื่องนอนให้ แล้วก็ไม่มีค่าขนมรายอาทิตย์ให้ด้วย เพื่อนก็ถามนะ ว่าทำไมไม่อยู่หอ สุดท้ายก็ต้องยอมลำบาก เดินทางต่อรถเมล์ 2-3 ต่อจากบ้านไปมหา’ลัย ซึ่งตอนนั้นการเดินทางมันเป็นอะไรที่ลำบากมากนะ เพราะตอนพี่เอนทรานซ์ติด มหิดลวิทยาเขตศาลายาเพิ่งจะสร้างเสร็จได้แค่ 2 ปีเอง”
เติบโตมากับการค้าขาย เลยเลือกที่จะเป็นเซลล์เครื่องมือแพทย์
คนที่จบเทคนิคการแพทย์ จะมีทางให้เลือกเดิน 3 ทางเป็นหลัก ๆ นั่นคือการเป็นอาจารย์, นักเทคนิคการแพทย์ในโรงพยาบาล และเซลล์ขายเครื่องมือแพทย์ และด้วยความที่เติบโตมากับครอบครัวคนจีนค้าขาย คงไม่ต้องบอกว่าเธอจะเลือกเดินไปทางไหน
เมื่อเรียนจบพี่จันทร์จึงเลือกที่จะไปสมัครเป็นเซลล์ขายเครื่องมือแพทย์ในบริษัทแห่งหนึ่ง ช่วงนั้นไม่มีรถส่วนตัวต้องนั่งรถเมล์ไปหาลูกค้า จึงพยายามเก็บเงินเพื่อจะซื้อรถ และหารายได้เพิ่มโดยการไปรับงานนอกเวลาในคลีนิคและโรงพยาบาลเอกชนอาทิตย์ละ 3 วัน
พอทำบริษัทแรกได้หนึ่งปี ก็ย้ายไปบริษัทที่ 2 ทำไปได้ 7 ปี ตำแหน่งสุดท้ายคือ Supervisor แต่สิ่งที่ทำอยู่มันยังไม่ ‘สุด’ เท่าที่ความสามารถของเธอจะทำได้
และความฝันที่มีมาตลอดตั้งแต่ยังเป็นเด็กแต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำจริง อย่างการทำธุรกิจก็กลับมาในความคิดอีกครั้ง พี่จันทร์จึงตัดสินใจเอาเงินที่สะสมมาตลอดการทำงานไปต่อยอดด้วยการเรียนปริญญาโทด้านการบริหารจัดการการตลาดภาคภาษาอังกฤษ (โปรแกรม MIM) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทำงานไปด้วย จ่ายค่าเทอมไปด้วย ซึ่งหลักสูตรนี้ไม่ได้ให้แค่ปริญญามาไว้ประดับ แต่ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเข้าแบรนด์ Lamina
จากแผนธุรกิจส่งอาจารย์ สู่การทำธุรกิจในชีวิตจริง
ด้วยความที่เป็นหลักสูตรบริหาร นักศึกษาทุกคนต้องรวมกลุ่มกันนำความรู้ที่เรียนมาทำ Business Plan เป็น Project work เพื่อจบ โดย Business Plan ที่กลุ่มพี่จันทร์เลือกทำในตอนนั้นก็คือ ‘ฟิล์มติดกระจกรถ’ นี่เอง
ทำไมถึงเลือกฟิล์มติดกระจกรถมาทำเป็น Business Plan เพราะมันดูเป็นอะไรที่แปลกและไม่ค่อยมีใครพูดถึง?Marketeer ถามพี่จันทร์อย่างสงสัย
และคำตอบที่ได้ก็คือ
“ตอนนั้นพี่คิดแค่ว่าส่งหัวข้อผ่าน เรียนจบก็พอใจแล้ว และเผอิญยังไม่มีใครทำเรื่องฟิล์มกรองแสง เมื่อนำเสนอจึงผ่าน”
แต่พอลงมือทำจริง ๆ ก็ได้ใช้ความรู้อย่างมากมาย เพราะอาจารย์และเพื่อนก็เก่งมาก เขาจะมีคำถามมาอุดช่องโหว่ของ Business Plan ของเราตลอดเวลา ก็เลยต้องทำอย่างจริงจัง และพอได้ลงลึกก็ทำให้พี่ได้ข้อมูลมากมาย
นั่นคือถ้าย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2538 ตลาดฟิล์มในบ้านเราตอนนั้นมีเจ้าใหญ่แค่เพียงรายเดียว ดูเหมือนจะไม่มีพื้นที่ให้ผู้เล่นหน้าใหม่เลยใช่ไหม?
แต่พอคิดว่าเป็นเจ้าใหญ่ในประเทศไทย เขาเลยไม่ได้สนใจจะทำตลาด ร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายก็ไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องของฟิล์มนัก เพราะผู้นำเข้าไม่มีการถ่ายดทอดความรู้ให้ แบรนด์ของเขาแข็งแรงจริง แต่เราก็มีจุดแตกต่างที่จะเล่นเยอะมาก มีช่องว่างที่พี่จะเข้าไปเติมเต็มได้เยอะเหมือนกัน
จากที่แบรนด์ใหญ่เขามีฟิล์มให้เลือกโทนสีเดียว พี่ก็ทำแบรนด์ของพี่ให้มีสีเลือกมากขึ้น, จากที่คนเคยคิดแค่ว่าฟิล์มติดกระจกมีไว้แค่ป้องกันแดด พี่ก็เข้าไปให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค ให้ความรู้กับร้านค้าว่าฟิล์มของพี่มันสามารถกันแสงได้อย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง คือถ้าเขามีช่องว่างอะไร พี่ก็จะเข้าไปเติมเต็มช่องว่างนั้นให้หมด แล้วเป็นข้อเท็จจริง ไม่ใช่แค่กล่าวอ้างว่าฟิล์มเรานำเข้าจากอเมริกานะ เพราะพี่มีข้อมูลตรงนี้
จากไหนนะหรอ? ก็จากตอนที่ทำ Business Plan แล้วโดนอาจารย์ซักคำตอบไง
จากออฟฟิศที่เช่าในตึกแถว 1 ชั้น สู่อาณาจักร Lamina ที่มีพนักงานกว่า 130 ชีวิต
ในตอนที่เริ่มต้นทำธุรกิจเกี่ยวกับการนำเข้าฟิล์มอย่างเป็นจริงเป็นจัง พี่จันทร์เคยเช่าออฟฟิศอยู่ในตึกแถวที่มีพื้นที่เพียง 1 ชั้น ส่วนชั้นที่เหลือเป็นที่อยู่อาศัยของเจ้าของตึก พร้อมกับพนักงานในบริษัทอีก 8 คน
แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ Lamina ย้ายจากพื้นที่ 1 ชั้นในตึกแถว มาเป็น Head Quarter ที่เป็นทั้งออฟฟิศ สต็อกเก็บสินค้า ศูนย์ฝึกอบรมให้กับผู้ติดตั้ง และเป็นที่ ๆ ทำให้พนักงาน กว่า 130 ชีวิตอยู่รวมกันได้อย่างไม่แออัดเหมือนทุกวันนี้ได้ เป็นเพราะช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งฟิล์มลามิน่าเติบโตสวนทางกับตลาดโดยตลอดประกอบกับได้มีโอกาสรับงานใหญ่ นั่นคือการติดฟิล์มกรองแสงให้กับตึก Empire ย่านสาทรนั่นเอง
นี่จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า Lamina ไม่ได้เป็นฟิล์มที่ติดแค่รถยนต์เท่านั้น
และทำให้เรานึกถึงเศรษฐกิจช่วงนึงของประเทศที่รัฐบาลมีนโยบายรถคันแรกออกมา ยังไงนะหรอ ?
พี่จันทร์เล่าให้ Marketeer ฟังว่า ในช่วงนั้นพอคนออกรถเยอะ ยอดขายของ Lamina ก็เยอะขึ้นตามไปโดยปริยาย พอนโยบายหมดไป ยอดขายรถยนต์ตกลงเนื่องจากมีการดูดกำลังซื้อล่วงหน้าไปแล้ว
“พี่คุยกับทีมว่า การที่ตลาดตกลงเราไม่จำเป็นต้องตกตามตลาดเสมอไป ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ วิธีใหม่ ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาสใหม่ๆ เสมอ”
อยากได้สามล้อถีบเหมือนเพื่อน ทำไมฉันไม่ได้
Sub-Headline ในข้างต้นเป็นอีกหนึ่งประโยคที่พี่จันทร์บอกว่า “พี่ก็เคยมีความคิดแบบนี้เหมือนกัน มีความรู้สึกว่าทำไมอยากได้อะไรต้องทำงานแลก ไม่สบายเหมือนเพื่อน ๆ
แต่พอโตมาก็คิดได้ว่า ถ้าวันนั้นไม่ลำบาก มันก็อาจจะไม่มีแรงผลักดันให้มีเหมือนทุกวันนี้ก็ได้ พี่เห็นเพื่อนวัยเด็กของตัวเองหลาย ๆ คนที่เขาเคยสบาย มันก็เป็นธรรมดานะ ที่ตอนเด็กพี่อยากมีเหมือนกับคนอื่น ๆ มีน้อยใจบ้าง แต่สุดท้ายความรักของเตี่ย แม่ แล้วก็พี่ ๆ ในครอบครัวก็สามารถทดแทนได้ ไม่มีสามล้อถีบ พี่ก็เล่นกระโดดกระต่ายขาเดียวได้เหมือนกัน”
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ