เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนและทำรายได้ไม่ได้เป็นกอบเป็นกำเหมือนก่อน บริษัทลูกใต้ชายคาเหล่ายักษ์ธุรกิจก็ต้องถูกขายทิ้งออกไป แต่ก็ไม่ใช่ทุกดีลที่จะปิดได้ตามแผนเพื่อช่วยให้ทั้งองค์กรได้เดินหน้าตามเป้า เหมือนดีลขายสำนักพิมพ์ Simon & Schuster ของสหรัฐฯ เมื่อปี 2022
Simon & Schuster เป็นสำนักพิมพ์ใต้ชายคา Paramount ยักษ์วงการสัญชาติอเมริกัน ที่ฝ่ายหลังเปิดดีลขายให้ Penguin Random House (PRH) เพื่อนำเงิน 2,200 ล้านดอลลาร์ (ราว 76,800 ล้านบาท) มาใช้เคลียร์หนี้และพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ไม่ให้ถูกยักษ์สื่อรายอื่น ๆ ทิ้งห่างมากเกินไป
แต่ดีลนี้ก็กลายเป็นดราม่า เพราะจะเกิดเป็นสำนักพิมพ์ใหม่ กินสัดส่วนตลาดหนังสือสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 49% และนำมาสู่การผูกขาด
จน Stephen Kings นักเขียนนิยายระทึกขวัญคนดังทนไม่ไหวต้องออกมาเป็นแกนนำต่อต้าน และที่สุดทางการสหรัฐฯ ต้องสั่งบล็อกดีล
ล่าสุด Paramount ได้เดินหน้าขาย Simon & Schuster โดยฝ่ายที่เข้ามาซื้อคือ กลุ่มทุน KKR
ดีลนี้ที่ Simon & Schuster เป็นตัวละครหลัก ยังมีอีกประเด็นแทรกอยู่ เพราะนี่คือสำนักพิมพ์เก่าแก่อายุเกือบ 100 ปี และยังได้ริเริ่มไอเดียทำธุรกิจน่าสนใจเอาไว้
Simon & Schuster ก่อตั้งเมื่อปี 1924 โดย Richard Simon เซลส์แมนขายเปียโน กับ Max Schuster บรรณาธิการนิตยสารรถ ที่เห็นโอกาสทำเงินจากหนังสือที่ทั้งเล่มมีแต่ปริศนาอักษรไขว้
ทั้งคู่คิดถูก โดยยอดขายหนังสือที่ได้ถูกนำมาเดินหน้าธุรกิจต่อ ด้วยการพิมพ์หนังสือที่กำลังอยู่ในกระแสออกมา จากนั้นในปี 1939 Simon & Schuster ก็ตีพิมพ์หนังสือขนาดเล่มกะทัดรัด ไม่หนาเกินไป จนสามารถใส่กระเป๋ากางเกงได้ หรือ Pocket book ออกมา
Pocket book คือหมุดหมายสำคัญของ Simon & Schuster เพราะเป็นสำนักพิมพ์แห่งแรก ๆ ในสหรัฐฯ ที่ทำออกมา และจากนั้นในยุค 50-60 นิยายคลาสสิกอย่าง Tom Sawyer, Huckleberry Finn และ Robinson Crusoe
รวมไปถึงคู่มือและ How to ต่าง ๆ ในรูปแบบ Pocket book ก็ทำยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำ ส่งให้กลายเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ระดับประเทศของสหรัฐฯ
ปี 1975 Simon & Schuster ย้ายเข้าไปเป็นบริษัทลูกของ Gulf+ Plus Western ที่ต่อมาปรับโครงสร้าง เปลี่ยนชื่อเป็น Paramount ค่ายหนังและยักษ์สื่อบันเทิงสหรัฐฯ
หลังจากนั้น Simon & Schuster ก็ใหญ่ขึ้นอีกผ่านการเดินหน้าซื้อกิจการสำนักพิมพ์อื่น ๆ อย่างไรก็ตาม หลังผู้บริโภคหันไปอ่านคอนเทนต์ออนไลน์หนังสือก็ยอดขายตก และกระทบต่อผลประกอบการของ Simon & Schuster
ข้ามมาช่วงไม่กี่ปีมานี้ หนังสือไม่ได้รับความนิยมเหมือนเคย ขณะที่ Paramount ก็อยากเคลียร์หนี้และหาเงินทุนมาพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ให้รับกับยุคสตรีมมิ่ง จึงเล็งขาย Simon & Schuster ออกไป
KKR สนใจ Simon & Schuster และเสนอราคา 1,620 ล้านดอลลาร์ (ราว 56,600 ล้านบาท) เข้ามา โดยแม้น้อยกว่าดีลก่อนหน้านี้ แต่ Paramount ก็รับได้ เชื่อว่าจะไม่เจออุปสรรคอีก และได้นำเงินมากู้สถานการณ์เสียที
เพราะคือ กลุ่มทุน KKR ที่ต้องการเพิ่มพอร์ตธุรกิจสื่อและนำคอนเทนต์จากหนังสือไปลงในแพลตฟอร์ม E-book ที่ซื้อมาเมื่อ 2 ปีก่อน ไม่ใช่สำนักพิมพ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เรียกกันว่า Big 5 ที่ประกอบไปด้วย Simon & Schuster, PRH, HarperCollins, Hachette Book และ MacMillian จนเกิดดราม่าที่เคยฉุดให้ดีลล่มไป/cnn, bbc, wikipedia, britanica, nytimes, hollywoodreporter
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ