Asava ทำความรู้จัก “หมู พลพัฒน์” ดีไซเนอร์หัวขบถ ผู้รันวงการแฟชั่น ด้วยความซื่อตรงกับ Passion

“หมู อาซาว่า” ไทยดีไซเนอร์คนดัง ดีกรีเด็กนิเทศศาสตร์จุฬาฯ  MBA เเละนักเรียนเเฟชั่น จากนิวยอร์ก ดีไซเนอร์ไฟแรงที่กลับมาทำธุรกิจเสื้อผ้าในไทยจนติดลบร้อยล้าน ล้มเเล้วลุกอย่างไร ให้กลายเป็นตำนาน

 

การเดินทาง 15 ปี ของ “Asava” เเละ “หมู พลพัฒน์ อัศวะประภา” หรือ “หมู อาซาว่า” ผู้ใช้ชีวิตราวกับหนังสือเเฟนตาซีเล่มหนึ่ง ที่ทั้งโดดเด่นเเละเเตกต่าง ชีวิตที่น่าอิจฉาในที่นี้ ไม่ใช่ในด้านประสบความสำเร็จ แต่คือชีวิตที่ได้วิ่งทำตามความหลงไหลอย่างอิสระ และซื่อสัตย์ต่อความชอบของตนเอง

กับฉายา “หมู 3 ชิ้น”  เพราะการเเต่งตัวที่ไม่เคยสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์น้อยกว่าสามชิ้น  คือคำที่อธิบายความเป็นพลพัฒน์ได้ดีที่สุด

 

พลพัฒน์ คือเด็กชายที่เติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจ ที่บ้านขายรถโตโยต้าและเลกซัส  เเวดล้อมไปด้วยคนรอบตัวที่เป็นนักธุรกิจเเละนักเศรษฐศาสตร์

การก้าวเท้าออกมาในสายเเฟชั่น พลพัฒน์จึงกลายเป็นแกะดำของบ้านทันที

เเต่ความเป็นพลพัฒน์ ที่ไม่ยอมทรยศต่อเสียงหัวใจตนเอง เมื่อเริ่มรู้ตัวว่าชอบแฟชั่น เขาก็จริงใจเเละจริงจังกับความชอบนั้นทันที

ในยุคของพลพัฒน์ กรุงเทพมหานครยังเเวดล้อมด้วยห้องเสื้อ ตัวอย่างชื่อที่คนรู้จักในสมัยนั้นมี Greyhound, องอาจ นิรมล, ธีระพันธ์, ดวงใจบิส เเม้เวลาล่วงเลยมาเเล้ว ชื่อเหล่านี้ยังคงฟังดูคลาสสิคเเละมีเสน่ห์อย่างมาก

ในวัยแห่งการเล่นสนุก พลพัฒน์ได้ใช้เวลาไปกับการทดลองทำเครื่องประดับ โดยไปซื้อวัตถุดิบมาจากตลาดเสือป่า ถึงช่วงอายุสิบแปดก็บินไปเมืองจีน ได้เสื้อผ้ามาลองออกแบบใหม่เล็กน้อย เเล้วนำไปฝากขายร้านของคนรู้จัก

พอถึงช่วงวัยเข้ามหาวิทยาลัย ก็เลือกเข้าศึกษาต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในสมัยนั้น เรียกได้ว่าเป็นคณะรวมหัวกะทิ ที่ปัจจุบันศิษย์เก่าเหล่านั้นกลายมาเป็นคนดังในวงการต่าง ๆ มากมาย เเต่เป็นคณะที่ต่างจากพี่น้องในบ้านโดยสิ้นเชิง

หลังเรียนจบปริญญาตรี ก็เข้าทำงานในบริษัทโฆษณา Lintas ในขณะนั้นเป็นยุคที่สื่อสิ่งพิมพ์เเละโฆษณาเฟื่องฟู  ซึ่งบริษัทนี้นับว่าดังมากในช่วงนั้น  เเต่หลังทำงานได้ไม่ถึงปี ที่บ้านก็ส่งไปเรียน Strategic Management ที่ Peter F. Drucker Graduate School of Management ของ Claremont Graduate University ที่ลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย

การก้าวออกไปใช้ชีวิตในต่างเเดน ซึ่งเปรียบได้เหมือนโลกใบใหม่ ทำให้พลพัฒน์เริ่มสนุกกับชีวิตที่ไร้การตีกรอบ  เเต่ก็เคยมีความคิดเเวบเข้ามาในหัวว่า อาจจะกลับมาทำงานช่วยที่บ้านทำธุรกิจอย่างจริงจัง

เเต่สุดท้ายก็ต่อรองกับตนเอง หลังเรียนจบที่ลอสเเองเจลิส จึงขอพาตัวเองลองไปสอบเข้าโรงเรียนศิลปะในนิวยอร์กก่อน

เเต่การจะเข้าเรียนต่อในโรงเรียนศิลปะก็ไม่ง่าย เพราะพลพัฒน์ไม่มีความรู้ด้านการวาดภาพ เเต่เมื่อตั้งใจเเล้ว ต่อให้ไม่หมู ก็เป็นเรื่องหมู ๆ ได้  ถ้าเป็นหมู พลพัฒน์

พลพัฒน์ใช้เวลาเพียงหนึ่งเดือนเศษ จากคนที่วาดภาพไม่เป็น กลายเป็นคนที่วาดรูปได้เเละสร้างพอร์ตโฟลิโอไปยื่นสมัครเรียนที่ Parsons School of Design นิวยอร์ก ได้สำเร็จ

ยิ่งเมื่อเข้าเรียนที่เเห่งนี้ ตัวตนของพลพัฒน์เหมือนได้พื้นที่โลดเเล่นอย่างอิสระ  ความมั่นใจ ความไม่อยู่ในร่องในรอย ความกล้าบ้าบิ่น ทั้งหมดถูกถ่ายทอดออกมาผ่านเสื้อผ้าหน้าผมที่เเต่งไปเรียนในเเต่ละวันราวกับคนหลุดโลก ทำให้โดดเด่น สะดุดตา เเละตัวเขาเองก็มีความสุขไปในเวลาเดียวกัน

จากนั้นได้เข้าฝึกงานที่ Marc Jacobs พอทำผลงานได้ดีอีก ก็ได้ร่วมงานกับแบรนด์ดัง Max Mara ต่อ ซึ่งเเต่ละชื่อล้วนเป็นตำนานเเฟชั่นระดับโลกทั้งนั้น เป็นชีวิตที่อยู่ในช่วงสว่างไสว ราวกับพลุที่ขึ้นถึงจุดสูงสุดเเล้วเปล่งประกายสีสันออกมา

เเต่เมื่อถึงเวลาต้องกลับมารับตำแหน่ง CEO ในบริษัทครอบครัว ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัยสามสิบกว่าปี พลพัฒน์ก็ยังทำหน้าที่ ที่ได้รับอย่างสุดความสามารถ ระหว่างที่ดูเเลธุรกิจครอบครัว ก็ยังมิวายรับงานเป็นที่ปรึกษาการออกแบบสไตล์ให้กับห้างใหญ่

ระหว่างนั้นก็ใช้เวลาศึกษาธุรกิจเเฟชั่นที่ตนชอบไปด้วย

จนเมื่อทำงานให้ที่บ้านได้สองปี ก็ถึงฤกษ์งามยามดี ปี 2008

พลพัฒน์ ก่อตั้งแบรนด์ “Asava” ขึ้นมา ในวัย 37 ปี

“ตอนที่ก่อตั้งแบรนด์ เราเริ่มกันมาสี่คนในห้องเก็บของใต้หลังคาเล็ก ๆ ปัจจุบันทั้งช่างเย็บ ช่างเเพทเทิร์น ยังคงอยู่ร่วมกันไม่ไปไหน  วันที่เริ่มบริษัทวางระบบรัดกุมเหมือนเเบรนด์ใหญ่ตั้งเเต่วันเเรกเลย

เพราะการทำงานของอาซาว่าเป็นระบบ จนวันที่เปิดสโตร์ ตั้งแต่การจัดวาง ออกแบบร้าน ไปจนถึง Serial Number มีอิทธิพลของ Max Mara ซ่อนอยู่ทั้งหมด เพราะเป็นวิชาที่เก็บเกี่ยวมาจากตอนร่วมงาน ซึ่งMax Mara เปรียบดังครูสำหรับอาซาว่า”

 

ในยุค 2000 ซึ่งคาบเกี่ยวของการเปลี่ยนเเปลงสู่ยุคอินเตอร์เน็ต  สมัยนั้นการเเต่งตัวเริ่มมีความวับเเวมขึ้นเเล้วบ้าง หากพูดถึงช่วงเปิดตัวในปี 2008 เทรนด์เเฟชั่นสมัยนั้น ให้นึกถึงวง “Girl’s Generation” ที่มีกลิ่นอายของ Y2K

เเต่การมาถึงของ Asava เหมือนพลิกหน้ากระดาษจากหนังรักโรเเมนติค ที่นางเอกต้องวิ่งตามหารักเเท้ มาเป็นสาวเรียบโก้ มาดมั่น ช่างคิด พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องวิ่งไปตามใคร

ความเป็นผู้หญิงในแบบของ Asava จึงให้ความรู้สึกเหมือนสาวนิวยอร์ก Working Women  เป็นผู้หญิงหัวก้าวหน้า เข้าใจตัวตนเเละความงามในแบบของตนเอง

จากห้องเก็บของใต้หลังคา เมื่อความนิยมเพิ่มขึ้น ลูกค้าหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ ได้รับเสียงชื่นชมมากมาย อาซาว่าก็เริ่มเติบโตขึ้นจนย้ายมาเป็นทาวน์เฮาส์ เเละเติบโตอย่างรวดเร็ว เเต่การรับมือกลับสวนทางกัน เป็นผลให้วันหนึ่งอาซาว่าติดตัวแดงถึงสองสามร้อยล้าน เกือบเอาตัวไม่รอด

ผลจากการผลิตสินค้าเกิน ของค้างสต็อก เเละต้องเผชิญหน้ากับการเข้ามาของเเบรนด์เกิดใหม่มากมาย  อาซาว่าพยายามปรับลุคเข้าสู้ในตลาด เเต่กลายเป็นว่าเเบรนด์สูญเสียตัวตน  ยอดขายลด จนกระทั่งต้องรีเซ็ทแบรนด์  เเละตั้งต้นกลับมาที่ความงามที่เเท้จริงของผู้หญิงในเเบบอาซาว่า

 

“ช่วงปี 2018 ประกอบกับเป็นเวลาที่เเฟชั่นเฟื่องฟูมากๆ ทำให้บริษัทเติบโตมากเช่นกัน เเต่เมื่อประสบกับวิกฤตของเเบรนด์ ทำให้บริษัทติดตัวเเดง 2-3 ร้อยล้านบาท เป็นวิกฤตการณ์ทางการเงินที่มาก่อนโควิด  ถือว่าเป็นสิ่งดีที่เกิดขึ้น เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ก่อน เหมือนชิงดิสรัปชันตัวเองก่อนถูกดิสรัป”

 

เดินทางมาถึงปีที่ 15 ยังคงสนุกเหมือนเดย์วัน

ปัจจุบัน อาซาว่าไม่ได้ทำเพียงเเบรนด์เสื้อผ้าสตรีโก้หรูเท่านั้น เเต่ยังมีธุรกิจในเครืออีกหลายแบรนด์ รวม 5 แบรนด์ที่เป็นเเฟชั่น เเละ 2 แบรนด์ที่เป็นร้านอาหาร

“ทุกแบรนด์ ไม่ได้เริ่มต้นด้วยมุมมองของธุรกิจ แต่เริ่มจากความอยากทำล้วนๆ” พลพัฒน์กล่าว

Asava เเบรนด์เสื้อผ้าสุภาพสตรีเรียบโก้ หรูหรา เปิดตัวปี 2008

Asv เริ่มเมื่อ 2009  มีความคล้ายอาซาว่า แต่เป็นเสื้อผ้าสตรีที่อยู่ในอริยาบถสบาย ๆ มากขึ้น เรียบง่าย เเต่แฝงไปด้วยความสนุก เเละเป็นกันเอง

Uniform by Asava เป็นเซกเมนต์เเบรนด์ที่ใหญ่ที่สุดของอาซาว่ากรุ๊ป เริ่มมาตั้งเเต่ 2010 เเละพีคขึ้นหลังได้ออกแบบยูนิฟอร์มให้กับเอเชียบูทีคเเอร์ไลน์  เเละคว้ารางวัล “7 ยูนิฟอร์มที่สวยที่สุดในโลก” ซึ่งเป็นรางวัลที่ทำให้ชื่อาซาว่าเคียงคู่กับ YSLเเละ Gucci  เป็นจุดเปลี่ยนสร้างชื่อให้กับเเบรนด์

จากนั้นมีลูกค้ารายใหญ่ติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ร่วมงานกับ เดอะพิซซ่า เเละธนาคารกรุงไทย

MOO เริ่มปี 2019  เสื้อผ้าสุภาพบุรุษ

White Asava เริ่มมาในปี 2020  เกิดจากลูกค้าประจำรีเควสให้ตัดชุดแต่งงาน เมื่อมีความต้องการสูง  จึงต้องเปิดเป็นแผนก มีส่วนของช่างแยกออกมา

เเละร้านอาหาร SAVA Modern THAI Flavour และ Co Limited

 

บทเรียนธุรกิจที่ใช้ได้กับชีวิตจริงด้วย

พลพัฒน์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมามีต่างประเทศติดต่อเข้ามามาก เพื่อจะนำสินค้าของอาซาว่าไปจำหน่ายในประเทศของตน เเต่กลับกลายเป็นว่า เมื่อนำสินค้าไปเเล้วไม่ได้ให้การดูเเลเท่าที่ควร ทั้งนำไปจัดเเสดงในมุมอับ ไม่ให้พื้นที่ ล้วนทำให้ภาพที่ออกมาไม่ดี

เพราะการขายในไทย พลพัฒน์ให้ความสำคัญกับทุกดีเทล ทั้งการจัดวาง การคำนวณแสงตกกระทบ การเลือกเปิดดนตรีประกอบ ทุกอย่างผ่านการคิดอย่างละเอียดละออ ที่ผ่านมาการจะเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไล่ไปตั้งเเต่สบู่ล้างมือ พรมเช็ดเท้า ทุกรายละเอียดจะไม่ถูกมองข้าม พลพัฒน์ล้วนให้ความสำคัญเเละตั้งใจกับทุกเรื่อง

“ต้องยอมรับว่าการได้ส่งออกขายต่างประเทศในตอนนั้น สำหรับเรามันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีของเเบรนด์ ใครก็ต้องดีใจที่สินค้าตัวเองได้ไปเปิดตัวในต่างประเทศ เเต่สุดท้ายวันนี้เรามองว่า ถ้าเอาลูก(สินค้า) เราไปแล้วไม่ดูเเล สู้เราทำได้ดี เเล้วขายในประเทศจะได้ดีกว่าหรือเปล่า”

จึงเกิดเป็นบทเรียนหนึ่ง ที่ไม่ใช่ใช้ได้กับเเค่ธุรกิจ เเต่สามารถปรับใช้ในชีวิตได้ด้วย

“ไม่ใช่เขาเลือกเรา เเต่เราต้องเลือกเขาด้วย เพราะเมื่อสองฝ่ายเลือกกันเเละกัน นั่นเเปลว่าต่างคนต่างเห็นคุณค่าที่เเท้จริง”

ตลอดระยะเวลา 15 ปี อะไรคือสิ่งที่ตกผลึก หรือเป็นบทเรียนทั้งจากเส้นทางเเฟชั่นเเละธุรกิจ

“สองคำนี้ เท้าติดพื้น กับ ไม่หยุดพัฒนา จะช่วยให้เกิดการเติบโต  ในอดีตเราเคยให้ความสำคัญกับผลประกอบการ เเต่ไม่ได้เข้าใจถึงระบบที่เเท้จริง ตอนที่ธุรกิจโตเกินจนรับมือไม่ไหว สุดท้ายก็ทำให้เราอาเจียน เราเคยอาเจียนมาเเล้วรอบหนึ่ง เพราะพอเจออาหารอร่อย ใครก็อยากทานให้มากที่สุด เเต่ลืมดูขีดจำกัดของตัวเรา

นับจากนี้การตั้งเป้าจึงต้องดูที่ศักยภาพของตนเองเเละองค์กรเป็นหลัก จะวิ่งอย่างไรไม่ให้ขาพันกันเองเเล้วหกล้ม เนื่องจากวันนี้เมื่อองค์กรใหญ่ขึ้น เราไม่ได้หกล้มคนเดียว จึงต้องคิดเผื่อทุกคนที่ทำงานกับเรา เพื่อที่พนักงานเองจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมขับเคลื่อนองค์กรให้ไปได้ไกลขึ้น”

 

ถ้าจะนิยามคำว่า “แฟชั่น” ในความหมายของพลพัฒน์ เเน่นอนว่าไม่มีอะไรตายตัว หรือเห็นรูปธรรมที่เเน่ชัด

“เมื่อก่อนเวลาไปบรรยายชอบมีคำถามให้เราตอบว่า ปีนี้สีอะไรมาเเรง กระโปรงสั้นหรือยาวจะเป็นที่นิยม ซึ่งเรามองว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถตอบได้ เเฟชั่นไม่เคยหยุดนิ่ง เราไม่เชื่อในเทรนด์ เพราะเทรนด์วิ่งเร็วกว่าเราเสมอ”

เพราะเเฟชั่นจะเปลี่ยนแปลงตามก้าวของนาฬิกา เเต่ตัวตนของบุคคลหนึ่งจะไม่ผันแปร เเม้เวลาล่วงเลยผ่านไป

อาซาว่า จึงไม่ใช่ ‘นักออกแบบ’ หรือ ‘นักตัดเย็บ’

เเต่เป็น ‘นักคิด’ หรือ ‘ผู้รับใช้ตัวตนของลูกค้า’

 

เป้าหมายตามวัยที่มากขึ้นของอาซาว่า จึงเป็นการได้เห็นเเบรนด์เติบโต เเละหยั่งรากลึกในสังคมต่อไป ต่อให้เวลาจะผ่านไปอีกกี่สมัยก็ตาม

พลพัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า “น้อยมากที่แบรนด์เสื้อผ้าของไทยดีไซเนอร์ จะสามารถยืนยงได้เหมือนเเบรนด์ดังระดับโลก ที่ต่อให้ผ่านไปสามชั่วอายุคน ก็ยังสามารถดำรงอยู่ได้  คนยังยอมรับเเละเป็นที่นิยมอยู่วันยังค่ำ ทั้งไม่สูญเสียตัวตนไปตามผู้ก่อตั้งที่อาจจะโบกมือลาไปเเล้ว  เราอยากทำให้อาซาว่าเป็นเช่นนั้น”

 

สุดท้ายเเล้ว ความสำเร็จทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นในเเบบของ “หมู พลพัฒน์” อาจไม่ได้ยกความดีความชอบให้ “เเพชชัน” เเต่เป็นคำว่า “วินัย” เเละ “ไม่หยุดพัฒนา”

อ้างอิง : STYLEKATEXOXO, The Cloud, VOGUE

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online