อย่างที่รู้กันว่า อาหารเป็นปัจจัยสําคัญต่อการดํารงชีวิตของมนุษย์ เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงร่างกายให้ดํารงชีวิตอยู่ได้ยาวนานจนสิ้นอายุขัย แต่เคยสงสัยกันไหมว่า อาหารที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในปัจจุบันมีต้นกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร เพราะในสมัยก่อนนั้นสิ่งของบางอย่างถูกคิดค้นจากความบังเอิญ แต่กลับเป็นที่นิยมและใช้งานอย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับอาหารบางอย่างที่เรากินกันในทุกวันนี้
วันนี้เรามารู้จักกับอาหาร 11 อย่างที่เกิดขึ้นจากความบังเอิญ แต่กลับได้รับความนิยมและประสบความสำเร็จโด่งดังไปทั่วโลกกันเถอะ
ไอศกรีมแท่ง
เป็นที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ไอศกรีมเหมาะกับการกินตอนหน้าร้อนสุด ๆ แต่รู้หรือไม่ว่าไอศกรีมแท่งที่เราชื่นชอบมีความเป็นมาจากความบังเอิญของเด็กชายวัย 11 ปีเท่านั้น
เมื่อปี 1905 Frank Epperson (แฟร็งก์ เอ็ปเพอร์สัน) เด็กชายชาวซานฟราสซิสโกวัย 11 ปี ได้ลืมแก้วบรรจุน้ำผสมผงโซดาเสียบแท่งไม้กวนอาหารทิ้งไว้ที่หลังบ้านเป็นเวลา 1 คืนในช่วงอากาศหนาวเย็น วันต่อมา Frank Epperson ได้นึกขึ้นได้จึงกลับไปหลังบ้านเพื่อจะนำน้ำโซดานั้นมาดื่ม แต่ปรากฏว่าน้ำในแก้วแข็งตัวเสียแล้ว เขาจึงนำแก้วไปผ่านน้ำร้อน เพื่อให้น้ำแข็งเลื่อนหลุดจากแก้ว และเขาก็ได้โซดาแท่งมากินแทน
หลายปีต่อมา ในปี 1922 Frank Epperson ได้จดสิทธิบัตรของหวานชนิดนี้อย่างเป็นทางการ โดยใช้ชื่อว่า ไอศกรีมแช่แข็งเสียบไม้ และตั้งชื่อยี่ห้อว่า Epsicle Ice Pop (ไอศกรีมแท่งเอ็ปซีเคิล) ก่อนที่จะย่อให้สั้นลงเหลือแค่ Popsicle ซึ่งชื่อยี่ห้อนี้ได้รับความนิยมและโด่งดัง จนถึงขนาดพจนานุกรมต้องระบุเอาไว้ว่า Popsicle สามารถหมายถึงไอศกรีมแท่งทั่วไปได้ และไม่นานหลังจากนั้น Frank Epperson ก็ได้ขายสิทธิบัตรให้ Joe Lowe Company (บริษัทโจโล) ในนิวยอร์ก เพื่อทำธุรกิจต่อไป
ไอศกรีมโคน
นอกจากไอศกรีมแท่งแล้ว ยังมีไอศกรีมโคนที่เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญเช่นเดียวกัน แต่ถึงแม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า Italo Marchiony (อิตาโล มาร์ชิโอนี) ผู้อพยพชาวอิตาลีเป็นผู้ประดิษฐ์ไอศกรีมใส่กรวยหรือโคนขึ้นมาเป็นคนแรกตั้งแต่ปี 1903 แล้วก็ตาม แต่เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางมากนัก ผู้คนส่วนมากจึงถือว่าไอศกรีมโคนนี้เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ
เพราะในปี 1904 ในงานแสดงสินค้าโลก St. Louis World’s Fair ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี สหรัฐอเมริกา มีคนขายไอศกรีมคนหนึ่งที่ชื่อว่า Arnold Fornacho (อาร์โนลด์ ฟอร์นาโช) ตั้งร้านขายไอศกรีมอยู่ ซึ่งร้านของเขาขายดีมาก จนถ้วยที่ใช้ใส่ไอศกรีมให้ลูกค้าหมดเกลี้ยงในเวลาอันรวดเร็ว
แต่โชคดีที่มีชาวซีเรีย Ernest Hamwi (เอิร์นเนสต์ ฮัมวี) ตั้งร้านขายขนมอบที่หน้าตาคล้ายกับวาฟเฟิลอยู่ใกล้ ๆ เขาจึงตัดสินใจช่วย Arnold Fornacho ด้วยการนำขนมของเขาที่เพิ่งทำเสร็จใหม่ ๆ มาม้วนให้มีรูปร่างคล้ายกรวย แล้วทิ้งไว้ให้เย็นก็จะนำมาใส่ไอศกรีมได้
ผลปรากฏว่าลูกค้าทุกคนชื่นชอบและได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะตัวแป้งกรุบกรอบนั้นเข้ากับไอศกรีมเป็นอย่างดี จนในปี 1910 Ernest Hamwi ได้เปิดบริษัททำโคนไอศกรีมขึ้นมา
คุกกี้ช็อกโกแลตชิป
คุกกี้ที่เป็นขนมหวานอีกอย่างหนึ่งที่หลายคนชื่นชอบเกิดขึ้นในปี 1930 โดย Ruth Wakefield (รูธ เวกฟิลด์) เจ้าของโรงแรม Toll House Inn (โทล เฮ้าส์ อินน์) ในรัฐแมสซาชูเซตส์
เนื่องจาก Ruth Wakefield ทำธุรกิจที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวขึ้น เธอเลยพยายามอบคุกกี้ให้กับแขกที่มาพัก แต่ช็อกโกแลตที่ใช้อยู่ประจำดันหมด เธอจึงเอาช็อกโกแลตแท่ง Nestle มาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วใส่ลงไปแทน เพราะคิดว่าตอนอบก็น่าจะละลายและผสมไปกับแป้งและเนยเอง
แต่ผลกลับออกมาไม่เป็นอย่างที่เธอคิด เพราะช็อกโกแลตไม่ละลายและเป็นก้อนอยู่ในเนื้อคุกกี้ ซึ่งคุกกี้นี้ได้รับความชื่นชอบจากแขกทุกคน จนพวกเขากลับมาพักที่โรงแรมของเธอเพื่อมากินคุกกี้โดยเฉพาะ และความโด่งดังของคุกกี้ได้มีอิทธิพลถึงขนาดบริษัทช็อกโกแลตที่เธอใช้อย่าง Nestle นำสูตรคุกกี้ของเธอไปพิมพ์ไว้ที่หลังห่อช็อกโกแลต เพื่อกระตุ้นยอดขาย
เต้าหู้
เมื่อถึงเทศกาลกินเจ ทุกคนต้องคิดถึงเต้าหู้แน่นอน เพราะเต้าหู้เป็นโปรตีนเน้น ๆ จากถั่วเหลืองและมีคุณประโยชน์มากมาย แต่เชื่อหรือไม่ว่าเต้าหู้เกิดมาจากความผิดพลาดตั้งแต่สมัยโบราณเหมือนกัน
โดยในประเทศจีนเมื่อ 2,000 ปีก่อน องค์ชายหลิวอัน พระราชนัดดาของจักรพรรดิหลิวปัง (กษัตริย์องค์แรกในราชวงศ์ฮั่น) ได้สั่งให้พ่อครัวบดถั่วเหลือง เพื่อนำไปต้มกับน้ำซุป เพื่อถวายแด่พระมารดาที่ประชวรอยู่ แต่ด้วยความกลัวว่าน้ำซุปถั่วเหลืองถ้วยนี้จะจืดเกินไป จึงเติมเกลือลงไปเพื่อปรุงรส แต่ผลปรากฏว่าถั่วเหลืองในหม้อได้จับตัวกันเป็นก้อนนุ่มนิ่มสีขาวหรือเต้าหู้แทน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เต้าหู้ก็ได้ผลิตซ้ำเรื่อยมากว่า 2,000 ปี จนกลายมาเป็นวัตถุดิบที่เต็มไปด้วยคุณประโยชน์อย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
เต้าหู้ยี้
เต้าหู้ยี้เป็นอาหารอีกหนึ่งอย่างของคนจีน ซึ่งเป็นอาหารประเภทหมักที่จะนำเต้าหู้ไปหมักกับเครื่องเทศตามสูตรของแต่ละคน ซึ่งเต้าหู้ยี้ก็เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญเช่นเดียวกับเต้าหู้
โดยมีชาวหนุ่มจีนคนหนึ่ง หวังจื้อเหอ ได้เดินทางไปสอบข้าราชการในเมืองหลวง แต่โชคไม่ดีที่เขาสอบไม่ติดและเกิดปัญหามากมายเข้ามาในชีวิต จนไม่สามารถเดินทางกลับบ้านเกิดได้ เขาจึงตัดสินใจอาศัยอยู่ที่เมืองหลวงต่อ เพื่อรอการสอบครั้งต่อไป ซึ่งเขาได้ขายเต้าหู้เพื่อเป็นการหาเลี้ยงตัวเอง
แต่พอถึงฤดูร้อน เต้าหู้ที่ขายไม่หมดได้โดนความร้อนก็จะเน่าเสีย เขารู้สึกเสียดาย จึงนำเต้าหู้มาไปหมักกับเกลือและพริกแล้วนำไปใส่ในไหเก็บไว้ แต่แล้วเขาก็ลืมไปว่าได้หมักเต้าหู้ทิ้งไว้ เวลาผ่านไปจนมาถึงฤดูใบไม้ร่วง เขาก็นึกขึ้นได้ว่าเขาหมักเต้าหู้ทิ้งไว้ตั้งแต่ฤดูร้อน
แต่เมื่อเขาเปิดโถอีกครั้งก็พบว่า เต้าหู้หมักมีราขึ้นเต็มไปหมด แต่ด้วยความเสียดายเขาจึงนำมากินแล้วพบว่า เต้าหู้ที่หมักเอาไว้รสชาติดีอย่างไม่น่าเชื่อ หลังจากนั้นเขาเลยล้มเลิกความตั้งใจที่จะสอบเข้าราชการแล้วหันมาทำเต้าหู้หมักแทน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเต้าหู้ยี้ตราหวังจื้อเหอก็กลายเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศนั่นเอง
มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบ
มันฝรั่งแผ่นทอดกรอบเป็นหนึ่งในขนมขบเคี้ยวที่หลายคนชื่นชอบ ซึ่งว่ากันว่าขนมชนิดนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 1853 โดย George Crum (จอร์จ ครัม) พ่อครัวของโรงแรม Moon Lake Lodge Resort ที่เมืองซาราโตกาสปริงส์ นิวยอร์ก ซึ่งโรงแรมแห่งนี้ขึ้นชื่อในเรื่องอร่อยของเฟรนช์ฟรายส์ จนทำให้ทุกคนต่างมากินที่โรงแรมแห่งนี้
วันหนึ่งมีลูกค้าคนหนึ่งเกิดโวยขึ้นมาว่า เฟรนช์ฟรายส์ชิ้นหนาเกินไป ทำให้สุกไม่ทั่ว แต่พอ George Crum หั่นมันฝรั่งให้บางลง ลูกค้าก็โวยอีกว่าเนื้อสัมผัสของเฟรนช์ฟรายส์เสียไป เขาจึงหัวเสียกับลูกค้าที่เอาแต่ส่งมันฝรั่งทอดกลับมาในครัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า
George Crum จึงประชดลูกค้าด้วยการนำมันฝรั่งมาฝานให้บางเหมือนแผ่นกระดาษ แล้วนำไปทอดและโรยเกลือ ผลปรากฏว่าลูกค้าชื่นชอบมันฝรั่งแผ่นทอดกรอบนี้มาก จนติดใจและนำไปบอกต่อกันเรื่อย ๆ ส่งผลให้ยอดขายของมันฝรั่งทอดนี้เพิ่มขึ้น George Crum จึงตัดสินใจออกมาเปิดร้านอาหารของตัวเอง Crumbs House และมันฝรั่งทอดนี้ก็ได้กลายมาเป็นต้นกำเนิดของมันฝรั่งทอดแผ่นบางในปัจจุบัน
คอร์นเฟลก
คนที่ชื่นชอบกินซีเรียลเป็นอาหารเช้า ต้องรู้จักชื่อนี้กันแน่ ๆ Kellogg’s (เคลล็อกส์) แน่นอน เพราะแบรนด์นี้เป็นแบรนด์ต้นกำเนิดซีเรียลที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
ในตอนแรก John Harvey Kellogg (จอห์น ฮาร์วีย์ เคลล็อก) หมอที่โรงพยาบาลแบทเทิลครีก รัฐมิชิแกน ต้องการทำอาหารมังสวิรัติจากธัญพืช เพื่อให้คนไข้กิน เขาจึงได้นำธัญพืชหลากหลายชนิดมาทดลองทำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวโอ๊ต ข้าวสาลี หรือข้าวบาร์เลย์ แต่รสชาติก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจ
จนในปี 1894 Will Kellogg (วิล เคลล็อก) น้องชายของหมอ John Harvey Kellogg ได้ลืมข้าวสาลีที่ต้มแล้วทิ้งเอาไว้จนข้าวสาลีแห้งเหี่ยว ด้วยความเสียดาย สองพี่น้องจึงนำข้าวสาลีนี้เข้าเครื่องบด เพื่อจะทำเป็นแผ่นแป้ง แต่ปรากฏว่าข้าวสาลีนี้ได้กลายเป็นเม็ดข้าวที่รูปร่างคล้ายเกล็ดแทน
John Harvey Kellogg จึงนำสิ่งนี้มาคั่วแล้วนำไปให้คนไข้กิน ปรากฏว่าคนไข้ชื่นชอบเป็นอย่างมาก เขาจึงได้นำธัญพืชอย่างอื่นมาทดลองทำ จนได้ออกมาเป็นคอร์นเฟลกอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
สเลอปี้
รู้หรือไม่ สเลอปี้ เครื่องดื่มปั่นในเซเว่นที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ โดยในปี 1950 Omar Knedlik (โอมาร์ เนดลิค) เจ้าของร้านไอศกรีม Dairy Queen ในรัฐแคนซัส สหรัฐอเมริกา ได้พบกับปัญหาเครื่องกดน้ำอัดลมเสียบ่อยครั้ง
ด้วยความที่ไม่มีเงินทุนมากพอที่จะซื้อเครื่องกดน้ำอัดลมใหม่ เขาจึงตัดสินใจแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการนำน้ำอัดลมไปแช่ในช่องแช่แข็ง เพื่อให้ทันต่อปริมาณลูกค้าที่เข้ามาซื้อ แต่ปรากฏว่าน้ำอัดลมของเขาได้กลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งคล้ายวุ้นแทน
ด้วยความนิยมของน้ำอัดลมนี้ เขาจึงคิดค้นผลิตเครื่องทำน้ำอัดลมแช่แข็งขึ้นมาใช้ด้วยตัวเอง และตั้งชื่อเครื่องดื่มว่า ICEE ต่อมาเซเว่นได้เข้ามาขอซื้อลิขสิทธิ์ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องเปลี่ยนชื่อใหม่เท่านั้น สเลอปี้จึงได้เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ชีส
หนึ่งในส่วนผสมยอดนิยมที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก ซึ่งชีสมีจุดเริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อนในทะเลทรายแถบเมโสโปเตเมีย โดยมีชายชาวอาหรับคนหนึ่งได้เดินทางข้ามเมืองด้วยอูฐ เขาจึงได้เตรียมนมใส่กระเป๋าที่ทำมาจากกระเพาะของแกะไว้เพื่อบรรเทาความกระหาย
แต่เมื่อเขารู้สึกคอแห้ง นมที่อยู่ในกระเพาะแกะนั้นก็ได้แยกออกจากกันเป็นสองส่วน โดยส่วนแรกยังเป็นน้ำนมปกติ ในขณะที่อีกส่วนจับตัวกันเป็นก้อน แถมมีรสชาติอร่อยอย่างที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน ด้วยเหตุนี้เราจึงได้ชีส ส่วนผสมยอดนิยมที่ใคร ๆ ก็ชื่นชอบ
หมูหัน
เคยสงสัยหรือไม่ว่าที่มาความอร่อยของหมูหันที่หลายคนติดใจเกิดขึ้นมาได้อย่างไร โดยหมูหันมีเรื่องราวเกิดขึ้นจากครอบครัวชาวจีนครอบครัวหนึ่ง ซึ่งครอบครัวนี้ได้เลี้ยงหมูไว้ใต้ถุนบ้าน เพื่อนำไปขายเป็นรายได้เสริม
ต่อมา ในช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิเริ่มลดลง ความหนาวเย็นได้เข้ามาปกคลุมทุกพื้นที่ ครอบครัวนี้เลยได้ตัดสินใจก่อไฟเพื่อสร้างความอบอุ่น แต่ลมหนาวได้พัดให้ไฟที่พวกเขาก่อไหม้ลามไปทั่วบ้านอย่างรวดเร็ว
แม้ว่าครอบครัวนี้จะหนีรอดมาได้ แต่บรรดาหมูที่พวกเขาเลี้ยงไว้ได้ตายลง แล้วพวกเขาก็ได้สังเกตเห็นว่าหมูไม่ได้ไหม้เป็นเถ้าถ่าน แต่กลายเป็นหมูที่มีเนื้อสีแดง แถมส่งกลิ่นหอม และเมื่อพวกเขาลองชิมก็พบกับความอร่อย ทำให้เมนูนี้ได้กลายเป็นที่นิยมในหลาย ๆ ประเทศในเวลาต่อมา
วูสเตอร์ซอส
เชื่อได้เลยว่าหลายคนคงไม่คุ้นชื่อ วูสเตอร์ซอส กันเท่าไร แต่ถ้าได้เห็นบรรจุภัณฑ์ก็คงรู้จักกันแน่นอน โดยเฉพาะคนที่ชื่นชอบอาหารญี่ปุ่น เพราะวูสเตอร์ซอสถือเป็นหนึ่งในเครื่องปรุงที่ใช้ง่าย ไม่เพียงแต่ใช้จิ้มหรือราดอาหารที่ปรุงสำเร็จแล้วเท่านั้น ยังสามารถใช้ปรุงรสในการทำอาหารได้อีกด้วย อย่างยากิโซบะหรือสเต๊กหมูต่างก็ใช้ซอสนี้กันทั้งนั้น
แล้วรู้หรือไม่ว่า วูสเตอร์ซอสก็เกิดขึ้นจากความบังเอิญเช่นเดียวกัน โดยในปี 1835 มีชนชั้นสูงของเมือง Worcester (วูสเตอร์) ได้นำเข้าซอสของเมืองเบงกอลจากประเทศอินเดียกลับมาประเทศอังกฤษ เพราะเขาติดใจรสชาตินี้
ต่อมา เขาได้ขอให้ John Wheeley Lea (จอห์น เวลลีย์ ลี) และ William Perrins (วิลเลียม เพอร์รินส์) สองนักเคมีที่เปิดร้านขายยาอยู่ในเมืองช่วยถอดสูตรซอสนี้แล้วผลิตขึ้นมาให้ใหม่
ทั้งคู่ได้ตกลงแล้วลองชิมเพื่อค้นหาว่าในรสชาตินี้มีส่วนผสมอะไร หลังจากชิมจนมั่นใจแล้วพวกเขาก็เตรียมส่วนผสมหลัก ๆ อย่างหัวหอม กระเทียม น้ำส้มสายชู และน้ำมะขาม พร้อมทั้งส่วนผสมอื่น ๆ อย่างปลาแอนโชวี (Anchovy) และเครื่องเทศต่าง ๆ เพื่อให้รสชาติกลมกล่อมยิ่งขึ้น
หลังจากที่พวกเขาเตรียมส่วนผสมทั้งหมดใส่ไว้ในขวดโหลแล้วเก็บไว้ในห้องใต้ดิน เพื่อจะทำการหมักให้ได้ที่เสียก่อน แต่ผลปรากฏว่าทั้งคู่มีธุระส่วนตัวหลายอย่างจนลืมเรื่องซอสนี้ไปเลย
หลายปีต่อมา ทั้งสองได้ทำความสะอาดห้องใต้ดิน แล้วพบขวดโหลที่ใส่ส่วนผสมของซอสต่าง ๆ ที่ถูกลืมไปแล้วอยู่ในนั้น ด้วยความเสียดาย ทั้งคู่จึงลองเปิดชิมดูก่อนจะเททิ้ง
ผลปรากฏว่าซอสที่เก็บไว้ข้ามปีนี้ มีรสชาติจัดจ้านและอร่อยถูกใจ จนทำให้ทั้งคู่เริ่มผลิตและขายซอสชนิดนี้ในชื่อว่า Lea & Perrins (ลีแอนด์เพอร์รินส์) ในปี 1837 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาวูสเตอร์ซอสก็ได้กลายเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน
บทสรุป
เห็นได้ชัดว่าอาหารหลายอย่างที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญอาจเป็นที่นิยมในหลายภูมิภาคหรือทั่วโลกได้ด้วยความน่าสนใจและรสชาติที่ดี และด้วยความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีก็ยังช่วยพัฒนาอาหารใหม่ ๆ มากมายให้ผู้คนได้สัมผัสประสบการณ์รสชาติใหม่ ๆ และนอกจากนี้ อาหารยังช่วยบ่งบอกถึงวัฒนธรรมในชาติต่าง ๆ ได้อีกด้วย
ที่มา:
https://firstwefeast.com/eat/2013/09/foods-invented-mistake/
https://www.ranker.com/list/foods-created-unintentionally/edira-putri
https://www.foodnetwork.ca/article/popular-foods-invented-by-happy-accident/
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ