ล็อบสเตอร์ เมนูราคาเเพง แต่เคยเป็นอาหารของชนชั้นรากหญ้า และไม่มีใครอยากรับประทาน
งานเลี้ยงอาหารค่ำสุดอลังการ ท่ามกลางอาหารที่หรูหราที่สุดคงขาดล็อบสเตอร์อาหารอันโอชะราคาแพงไม่ได้เเน่นอน
เเต่รู้หรือไม่ ครั้งหนึ่งล็อบสเตอร์เคยถูกเรียกว่า “cockroaches of the sea” หรือแมลงสาบในมหาสมุทร อนึ่ง เปรียบเปรยเป็นสัตว์น่าขยะเเขยง เป็นอาหารของคนยากจนเเละชนชั้นเเรงงาน
เเล้วล็อบสเตอร์เปลี่ยนจากอาหารของคนไร้ยาก กลายมาเป็นของล้ำค่า ของผู้มีอันจะกินได้อย่างไร
ล็อบสเตอร์ไม่ใช่ของอร่อยที่หาได้ยากในสมัยก่อน
ย้อนกลับไปยุควิกตอเรียนในช่วงทศวรรษ 1600 ชาวอังกฤษถือว่ากุ้งชนิดนี้ซึ่งเป็นชื่อที่มาจากคำภาษาแองโกล-แซกซอน แปลว่า “แมงมุม” เป็นอาหารน่าขยะแขยง ไม่สามารถรับประทานได้
ในช่วงทศวรรษ 1700 ล็อบสเตอร์จำนวนมากถูกพบได้ตามชายหาดอาณานิคมอ่าวแมสซาชูเซตส์ พอมีอยู่เกลื่อนกลาด ชนพื้นเมืองอเมริกันและชาวอาณานิคมจึงใช้สิ่งมีชีวิตชนิดนี้เป็นปุ๋ยและเหยื่อล่อปลา มากไปกว่านั้นราคาที่เเสนถูก ยังเป็นอาหารที่เจ้านายเอาไว้เลี้ยงปากท้องของคนรับใช้ เเละเรือนจำไว้เลี้ยงนักโทษ เพื่อประหยัดงบ
เป็นแหล่งพลังงานราคาถูกสำหรับชนชั้นล่างนั่นเอง
เเละถูกเรียกว่า “แมลงสาบแห่งท้องทะเล”เพราะมีลักษณะคล้ายกับแมลง คนที่เลือกไม่ได้จำต้องรับประทานล็อบสเตอร์เพื่อประทังชีวิต ไม่ใช่เพื่อสร้างสุนทรียภาพให้ต่อมรับรสรับรู้อาหารเลิศรสอย่างในทุกวันนี้
แต่ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไปในช่วงกลางปี 1800
เมื่ออุตสาหกรรมกระป๋องเริ่มเกิดขึ้น ล็อบสเตอร์คือหนึ่งในสัตว์ทะเลที่ถูกนำไปแปรรูปบรรจุกระป๋อง ทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่รอบนอกมีโอกาสได้ลิ้มลองล็อบสเตอร์มากขึ้น
ล็อบสเตอร์กระป๋องถูกจัดส่งด้วยระบบขนส่งทางรถไฟ ซึ่งล็อบสเตอร์ก็ถูกจัดเสิร์ฟให้ผู้โดยสารบนรถไฟด้วยเช่นกัน เพราะเป็นสินค้าท้องถิ่นที่มีอยู่ล้นหลามเเละราคาถูก เเต่จากรสชาติที่อร่อยเกินคาดทำให้ผู้โดยสารต่างถิ่นตื่นเต้นกับเมนูนี้อย่างมาก
เมื่อความอร่อยถูกบอกต่อจนขยายวงกว้าง ความต้องการล็อบสเตอร์ก็เพิ่มขึ้น เมื่อดีมานด์เพิ่ม ราคาก็ปรับตัวตาม และในไม่ช้ามันก็ไม่ถือเป็นอาหารสำหรับคนจนอีกต่อไป
จากระบบการขนส่งรถราง ผู้คนที่อาศัยอยู่เขตอื่นสามารถซื้อล็อบสเตอร์กระป๋องราคาถูกได้ ส่งผลให้มันกลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์กระป๋องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด
ในช่วงปี 1880 ล็อบสเตอร์เริ่มปรากฏในร้านอาหาร เชฟในบอสตันและนิวยอร์กเริ่มพัฒนาสูตรอาหาร ผลักดันล็อบสเตอร์เป็นอาหารจานหลัก
ตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ยิ่งมีของน้อยก็ยิ่งแพง เมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเเต่อุปทานลดลง ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก และเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ราคาที่เเพงขึ้น ผลักให้ล็อบสเตอร์กลายเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยทันที
ในศตวรรษที่ 19 ราคาถั่วอบในบอสตันจำหน่ายอยู่ที่ 53 เซนต์ต่อปอนด์ ขณะที่ราคาล็อบสเตอร์อยู่ที่ 11 เซนต์ต่อปอนด์ ในปี 1920 ราคาล็อบสเตอร์พุ่งสูงสุด แต่เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในปี 1929 ตลาดกุ้งมังกรก็ตกต่ำลง
แต่ในปี 1950 มันกลับมาเป็นที่นิยมและกลายเป็นอาหารหรูหราอย่างในปัจจุบัน
ล็อบสเตอร์กลายเป็นอาหารยอดนิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยที่รัฐเมนมีบทบาทอย่างมาก ฟาร์มล็อบสเตอร์แห่งแรกก็มีขึ้นใน Vinalhaven ซึ่งเป็นชุมชนชาวประมงเล็ก ๆ ของรัฐ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้การประมงเชิงพาณิชย์ของรัฐเมนก็เริ่มเฟื่องฟู
ทุกวันนี้ล็อบสเตอร์มีฐานะเป็นอาหารเลิศรส ที่แม้ว่าต้นทุนจะปรับลงต่ำเท่าใด เเต่ร้านอาหารยังสามารถคิดราคาจานกุ้งล็อบสเตอร์แบบพรีเมียมได้
ราคาล็อบสเตอร์ ในตลาดรีเทลไทย อยู่ที่ระหว่าง 370 ถึง 850 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาขายปลีกในแคนาดา อยู่ระหว่าง 21.6 ถึง 47.25 ดอลลาร์แคนาดาต่อกิโลกรัม
ด้านตลาดสหรัฐอเมริกา กุ้งล็อบสเตอร์สด จำหน่ายที่ 39.95–159.00 ดอลลาร์
ตลาดล็อบสเตอร์ทั่วโลกคาดว่าจะมีปริมาณทะลุ 400,000 ตันภายในสิ้นปี 2025
ปัจจุบัน ล็อบสเตอร์ จำนวนมากถูกส่งออกจากแคนาดา อย่างไรก็ตาม ช่วงแรกของสงครามการค้าจีนและสหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดนี้ เนื่องจากจีนได้เก็บภาษี 25% สำหรับล็อบสเตอร์ที่มาจากสหรัฐอเมริกา ส่งผลดีต่อแคนาดาในการกินรวบมาร์เก็ตเเชร์ในตลาด เอาชนะสหรัฐอเมริกาไปได้
นอกจากนี้ ในปี 2560 ความตกลงทางเศรษฐกิจและการค้าฉบับสมบูรณ์ (CETA) ระหว่างแคนาดาและ EU28 ยังส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกล็อบสเตอร์ของสหรัฐอเมริกาด้วย
ประเทศผู้ส่งออกล็อบสเตอร์ Fresh Common Lobster (สัตว์จำพวกครัสเตเชียนแช่แข็ง กุ้งล็อบสเตอร์) ในปี 2022 ผู้ส่งออกรายใหญ่ ได้แก่
แคนาดา มากที่สุดของโลก ด้วยมูลค่าการส่งออก 820 ล้านดอลลาร์ (ปี 2021 แคนาดาส่งออกล็อบสเตอร์ 61.6 ล้านกิโลกรัม)
ตามด้วย สหรัฐฯ 62 ล้านดอลลาร์
ฝรั่งเศส 25 ล้านดอลลาร์
อียิปต์ 17 ล้านดอลลาร์
และเนเธอร์เเลนด์ 13 ล้านดอลลาร์
ส่วนผู้นำเข้าอันดับต้น ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ที่ประมาณ 29 ล้านกิโลกรัม นำเข้าล็อบสเตอร์จากประเทศอื่น ๆ เนื่องจากมีความต้องการบริโภคภายในประเทศเป็นจำนวนมาก
ตามด้วยจีน เกาหลีใต้ และอิตาลีอยู่ในอันดับที่สอง สาม และสี่ตามลำดับ
ขณะที่บรูไนมีการเติบโตอย่างโดดเด่นในปีที่ผ่านมา ด้วยตัวเลข 292%
ปัจจัยหลักที่กระตุ้นการเติบโตของตลาดล็อบสเตอร์ทั่วโลก ได้แก่ รายได้ที่เพิ่มขึ้น การเลือกอาหารทะเลมากกว่าเนื้อสัตว์อื่น ๆ แหล่งสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์ อุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง ร้านอาหารค้นพบเมนูกุ้งล็อบสเตอร์ที่หลากหลาย และรสนิยมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ล้วนช่วยขับเคลื่อนตลาดเป็นอย่างดี
อ้างอิง: Tridge, Reportlinker, lobsteranywhere, SLATE, Insider, oecworld, undercurrentnews, foodtimeline, westcorkpeople, History, Heinonline, oec, SpoonUniversity,Insider, capeporpoiselobster, Gizmodo, knowledgenuts
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ