เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสำนักข่าว CNN รายงานข่าวเรื่องที่สหรัฐฯ โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีแผนที่จะออกกฎเกณฑ์ใหม่ที่มีใจความสำคัญในการจำกัดการลงทุนของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงในจีน ทีมงานของนายไบเดนอ้างว่า กฎใหม่นี้จะมีขึ้นเพื่อปกป้องความมั่นคงของประเทศในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ตึงเครียด
ถ้าเราพูดถึงสหรัฐฯ กับจีน คู่นี้เหมือนคู่รักที่เป็นทั้ง Love & Hate คือหลังบ้านก็ต้องพึ่งพากันแต่หน้าบ้านก็ต้องทำเป็นไม่ชอบหน้ากัน เหตุผลก็เพราะทั้งสองประเทศคือคู่ท้าชิงความเป็นเจ้าเศรษฐกิจโลก เมื่อพูดถึงกฎใหม่ที่กำลังจะมีแผนบังคับใช้เร็ว ๆ นี้ จะเน้นไปที่การจำกัดเสรีภาพด้านการลงทุนของบริษัทเอกชนและบริษัทร่วมทุนของสหรัฐฯ ที่จะไปลงทุนหรือร่วมกันกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงของจีน อาทิ การร่วมลงทุนในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของจีน ควอนตัมคอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ โดยตอนนี้กฎระเบียบดังกล่าวอยู่ในระหว่างเปิดทำประชามติเพื่อฟังความเห็นของประชาชนและศึกษาความเป็นไปได้
สหรัฐฯ ให้เหตุผลในการออกกฎนี้ว่าเป็นการป้องกันไม่ให้ความรู้ด้านเทคโนโลยีและเงินทุนของอเมริกาไหลไปที่จีน และเพื่อสกัดกั้นการพัฒนาด้านวิทยาการและเทคโนโลยีด้านการทหารของจีนไม่ให้เกิดเป็นภัยความมั่นคงของสหรัฐฯ ในอนาคต พวกเขาเน้นย้ำในการแถลงหลายครั้งว่าพวกเขาแค่ต้องการไม่ให้เงินทุนจากฝั่งอเมริกาไหลไปเพิ่มขีดความสามารถด้านการทหารของจีนเท่านั้น ไม่ได้ต้องการที่จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของจีนแต่อย่างใด
ปกติแล้วกฎข้อจำกัดด้านการลงทุนของจีนนั้นกว้างกว่ากฎที่อเมริกากำลังจะออกมาใหม่นี้ด้วยซ้ำ ซึ่งจีนบังคับใช้กับการลงทุนขาออกทั้งหมด ไม่ใช่เจาะจงแค่กับสหรัฐฯ สิ่งนี้สะท้อนถึงนโยบายด้านเทคโนโลยีที่ตรงกันข้ามกับข้อจำกัดใหม่ของอเมริกา
รัฐบาลจีนจะกีดกันหรือระงับการลงทุนนอกประเทศในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีต่ำ เช่น การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่สโมสรฟุตบอลในยุโรป แต่จีนกลับอนุญาตและสนับสนุนให้บริษัทเอกชนในประเทศเข้าซื้อธุรกิจด้านเทคโนโลยีขั้นสูงที่สามารถทำให้จีนมีข้อได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่างเช่นธุรกิจการผลิตเครื่องบิน หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรและการผลิตหนัก
การตอบโต้ของจีน
ทางด้านกระทรวงการต่างประเทศของจีนเมื่อทราบถึงความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาแถลงการณ์เชิงตอบโต้และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ทบทวนเรื่องดังกล่าว
“การกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นการบีบบังคับทางเศรษฐกิจต่อจีนอย่างเห็นได้ชัดและเป็นการจงใจกลั่นแกล้งจีนไม่ให้มีการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเจตนาที่แท้จริงของสหรัฐฯ คือการกีดกันจีนออกจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี”
แถลงการณ์อีกฉบับโดยโฆษกกระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าวว่า จีนมีความกังวลอย่างมาก เกี่ยวกับกฎดังกล่าว และจีนขอสงวนสิทธิ์ในการดำเนินมาตรการเพื่อตอบโต้การกระทำของรัฐบาลสหรัฐฯ
“คำสั่งดังกล่าวเบี่ยงเบนไปจากหลักการโดยธรรมชาติของเศรษฐกิจตลาดและการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างร้ายแรง อีกทั้งยังเป็นการทำลายห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก”
เมื่อเจอแบบนี้จีนก็ต้องตอบโต้การกระทำของสหรัฐฯ บ้างด้วยการ ‘จำกัดการส่งออกแร่ธาตุสำคัญบางชนิดที่ใช้ทำชิปคอมพิวเตอร์’
ผลกระทบที่ตามมา
Bauerle Danzman ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัย Indiana บอกว่า แม้สหรัฐฯ จะพยายามกำหนดขอบเขตการจำกัดการลงทุนเฉพาะในเทคโนโลยีที่สุ่มเสี่ยงจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศแล้วก็ตาม แต่มันก็มีเรื่องที่ทับซ้อนกันในบางประเภทของเทคโนโลยี ซึ่งใช้ในทางการด้วยและผู้คนทั่วไปก็ใช้เทคโนโลยีนี้ด้วย นั่นหมายความว่าถ้ากฎนี้ถูกบังคับใช้ประชาชนชาวสหรัฐฯ ก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วยก็ได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจสร้างความเสียหายให้กับสหรัฐฯ ด้วยการไปเพิ่มต้นทุนสำหรับธุรกิจต่าง ๆ และทำให้ประเทศหลุดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
“สิ่งนี้จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องระวังอย่างมากที่จะไม่ปล่อยให้สิ่งนี้ขยายวงกว้างออกไป และจำเป็นต้องหาทางให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในลักษณะที่ไม่ท้าทายต่อความมั่นคงของชาติ เพื่อที่เราจะไม่ตัดขาดจากโอกาสในการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ใหม่ ๆ ”
จุดมุ่งหมายที่สำคัญอีกประการของกฎนี้คือการจำกัดการเข้าถึงของจีนใน “สิ่งที่จับต้องไม่ได้” อาทิ ความรู้ทางเทคนิคหรือความสัมพันธ์กับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่อยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งมักจะมาพร้อมกับการลงทุนจากบริษัทร่วมทุน (Venture Capital) หรือไม่ก็กองทุนส่วนบุคคล
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ กล่าวว่า ที่จริงแล้วจีนไม่ได้ต้องการเงินจากการลงทุนของสหรัฐฯ เพราะจีนรวยอยู่แล้ว แต่สิ่งที่พวกเขาไม่มีคือความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ดังนั้น กฎนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องการรั่วไหลของเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านการทหาร
‘แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากที่กฎนี้มีผลบังคับใช้จริง ๆ’ ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด สินค้าจากจีนจะถูกเอามารีแพ็กเกจจิ้งและส่งผ่านประเทศที่สามต่อไปยังอเมริกาอีกทอดหนึ่ง ข้อมูลในช่วงสิ้นปี 2022 ของกระทรวงพาณิชย์ของอเมริกาพบว่าซัปพลายเออร์ในสินค้าประเภทโซลาร์เซลล์รายใหญ่ 4 รายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังหาทางทำให้สินค้าไม่ถูกจับได้ว่าผลิตมาจากจีน ทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรเกิดขึ้นสำหรับสินค้าจีน ในส่วนสินค้าอื่น เช่น โลหะหายาก (Rare-Earth Metal) ของจีนยังคงเป็นปัจจัยการผลิตที่ยากที่จะหาอะไรมาทดแทนได้
อเมริกาและชาติตะวันตกรู้ดีว่าการผงาดขึ้นมาของจีนกำลังทำให้ทิศทางการค้าและการลงทุนไหลไปสู่แผ่นดินใหญ่ หน่วยงานความมั่นคงของอเมริกาและชาติตะวันตกจึงจำเป็นต้องปกป้องความมั่นคงของชาติ โดยจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีระดับสูงของจีน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มแสนยานุภาพทางการทหารให้กับกองทัพจีนได้
และในกรณีที่จีนไม่สามารถทำการค้ากับสหรัฐฯ ได้สะดวกสบายเหมือนอย่างเช่นในอดีต ทำให้จีนจำเป็นต้องสร้างห่วงโซ่อุปทานทางเลือกในพื้นที่ที่จีนมีอิทธิพลเหนือกว่า อย่างเช่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างการเข้ามาตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่และรถยนต์ในไทย การเข้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างรถไฟความเร็วสูงในประเทศลาว ความร่วมมือทางการค้ากับกัมพูชา และความร่วมมือทางด้านพลังงานกับเมียนมา เหล่านี้ล้วนทำให้จีนมีทางเลือกทางการค้ากับประเทศอื่น ๆ และกระจายความเสี่ยงไปยังกลุ่มประเทศเล็ก ๆ
นโยบายกีดกันการค้ากับจีนออกมาในรูปแบบกำแพงภาษีศุลกากรที่สูงขึ้น หมายความว่าสินค้าจากจีนที่เข้าไปขายในอเมริกาและยุโรปจะมีราคาแพงทันทีขึ้นเมื่อเทียบกับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ ถัดมาก็คือเรื่องการลงทุนและการควบคุมการส่งออกที่มุ่งเป้าไปที่จีน
นโยบายลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในยุค โจ ไบเดน เป็นครั้งแรก แต่มันเคยเกิดขึ้นมาแล้วภายใต้รัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ สอดคล้องกับเมื่อไม่นานมานี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอเมริกา นางเจเน็ต เยลเลน ได้เดินทางไปยังกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม เพื่อใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ทางด้านการทูตและเป็นการส่งสัญญาณให้บรรดาซีอีโอของบริษัทต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ที่กำลังทำการค้ากับจีนเปลี่ยนใจจากจีนมาทำธุรกิจกับอเมริกาแทน
แม้ว่ามาตรการ “ลดความเสี่ยงด้านการลงทุนเทคโนโลยีกับจีน” จะทำให้ศักยภาพทางการค้าของสหรัฐฯ ลดลง แต่เมื่อสังเกตจากถ้อยแถลงของทีมงานของนายไบเดน จะพบว่ากฎดังกล่าวจะช่วยจำกัดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่จีนมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและวิทยาการด้านการทหารที่ก้าวหน้าในอนาคตได้
นักวิเคราะห์คาดการณ์ผลที่ตามมาหลังการออกกฎนี้ว่า แทนที่อเมริกาจะสามารถปกป้องประเทศจากภัยด้านความมั่นคง กลับกันกฎระเบียบนี้จะทำให้เกิดความตึงเครียด และทำให้เสถียรภาพทางการค้าของอเมริกาสั่นคลอน และซ้ำร้ายกลับยิ่งทำให้ห่วงโซ่อุปทานของโลกต้องเผชิญกับความโกลาหลและความคลุมเครือมากขึ้น เนื่องจากต้องปรับตัวให้เข้ากับกฎนี้
ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจโดยตรงระหว่างจีนกับอเมริกากำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ อย่างในปี 2018 มูลค่าการนำเข้าสินค้ากว่า 2 ใน 3 หรือกว่า 75% ของการนำเข้าสินค้าต้นทุนต่ำของอเมริกาล้วนมาจากจีน แต่ในปี 2022 อเมริกาหันไปนำเข้าสินค้าต้นทุนต่ำจากอินเดีย เม็กซิโก และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน ในสัดส่วนกว่า 50% ของสินค้าต้นทุนต่ำทั้งหมด
ที่มา NYpost
จากเสิ่นเจิ้นสู่ศรีเปรัมบูดูร์
พูดถึงเรื่องของการลงทุน บริษัท Apple เริ่มมีข่าวว่าจะย้ายฐานการผลิตบางส่วนซึ่งเป็นส่วนใหญ่ออกจากจีนตั้งแต่ในช่วงปลายปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ก็มีข่าวว่า โรงงานฟ็อกซ์คอนน์ซึ่งเป็นผู้รับผลิตสินค้าให้กับ Apple เริ่มเดินกำลังการผลิต iPhone 15 ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองศรีเปรัมบูดูร์ รัฐทมิฬนาฑู ประเทศอินเดียแล้ว อันเป็นการส่งสัญญาณกลาย ๆ ว่า Apple เองก็ไม่ได้คิดจะงัดข้อต่อนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งก็จำเป็นที่จะต้องกระจายฐานการผลิตบางส่วนไปที่อินเดียและเวียดนาม นอกเหนือจากการใช้จีนเป็นฐานการผลิตหลัก
มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกาในอินเดียในปี 2022 อยู่ที่ 10,300 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกาในจีนเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 179,500 ล้านดอลลาร์ อินเดียถือเป็นประเทศที่น่าจับตามองว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นประเทศที่สหรัฐฯ ไปลงทุนด้วยมากขึ้นในอนาคตหรือไม่ หลังจากที่ปัจจุบันรั้งอันดับที่ 11 สำหรับการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ ในขณะที่จีนอยู่ในอันดับที่ 2 ในเรื่องของการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐฯ
มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกาในอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 7,700 ล้านดอลลาร์ในปี 2021 และ 4,900 ล้านดอลลาร์ในปี 2020 การเติบโตของโครงการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกาในอินเดียเป็นผลมาจากปัจจัยหลายประการ ได้แก่ เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของอินเดีย ตลาดที่มีขนาดใหญ่และประชากรที่ยังหนุ่มสาว นโยบายที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ และโครงสร้างพื้นฐานที่ดีขึ้น
แม้จะมีมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐอเมริกาในจีนที่สูงกว่าอินเดียมาก แต่จากประเด็นที่สหรัฐฯ ต้องการที่จะกีดกันจีนออกจากวงจรการลงทุนด้านเทคโนโลยี ดังนั้น สหรัฐฯ มีสิทธิ์สั่งให้บริษัทในชาติของตนไม่ไปคบค้าสมาคมกับจีนก็เป็นได้
เรื่องกระแสการลงทุนเราจะเริ่มได้เห็นการเปลี่ยนทิศทางแน่นอนหลังจากอเมริกาออกกฎใหม่ อย่างในปี 2016 บรรดาบริษัทและนักลงทุนสหรัฐฯ มีการลงทุนในจีนมูลค่ากว่า 48,000 ล้านดอลลาร์ 6 ปีผ่านไป (2022) ตัวเลขการลงทุนลดลงเหลือเพียง 3,100 ล้านดอลลาร์เท่านั้น นี่เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 40 ปีที่จีนไม่ได้เป็น 1 ใน 3 จุดหมายปลายทางการลงทุนสำหรับนักลงทุนอเมริกันอีกต่อไป
แต่ถ้าเจาะลึกลงไปในเรื่องการพึ่งพาทางการค้า เราจะพบว่าสหรัฐฯ ยังคงพึ่งพาการนำเข้าและการผลิตสินค้าจากจีนอยู่มากและแทบไม่เปลี่ยนแปลงเลย จริงอยู่ที่อเมริกาอาจเปลี่ยนทิศทางทางการค้าการลงทุนจากจีนไปยังประเทศอื่นก็จริง
แต่ในภาคการผลิตโดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีหลาย ๆ ประเทศที่อเมริกาหันหน้าเข้าหาก็ยังต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิตของจีนอยู่ดี และมากกว่าที่เคยเป็นมาด้วย และเนื่องด้วยจากการส่งออกของสินค้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปยังอเมริกาในระยะหลังเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศเหล่านั้นยิ่งต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตในขั้นกลางจากจีนก็เพิ่มขึ้นเป็นลูกโซ่ด้วย
ที่มา: techwireasia.com
หลายครั้งที่กฎระเบียบที่เข้มงวดถูกประกาศออกมาจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม กลับไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศในภาพจริงเสียเท่าใด เพราะอย่าลืมว่านี่คือความเสรีทางการค้า กลไกตลาดย่อมหาทางปรับตัว เพื่อหาช่องทางที่ดีที่สุดในการจัดหาสินค้าให้กับผู้บริโภค และในหลายครั้งเราจะพบว่า จีน นั้นเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านปริมาณและต้นทุนแรงงาน รวมไปถึงต้นทุนค่าขนส่งที่มีราคาถูกและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น จีนจะยังคงเป็นซัปพลายเออร์ที่ดีที่สุดสำหรับผู้ค้าเสมอ
ดังนั้น แม้กฎใหม่ของอเมริกาอาจมีอำนาจมากพอในการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานระหว่างจีนกับอเมริกาได้ แต่อเมริกาจะไม่สามารถกำจัดอิทธิพลของจีนที่มีต่อห่วงโซ่อุปทานของโลกใบนี้ได้ และสำหรับประเทศที่มีฐานะยากจนหลายประเทศ การได้รับการลงทุนจากจีน ทั้งในแง่การผลิตสินค้ากลางน้ำและการส่งออกสินค้าสำเร็จรูปไปยังอเมริกาถือเป็นแหล่งงานและสร้างรายได้ให้กับประเทศเหล่านั้น และถ้าพวกเขาต้องเลือกระหว่างจีนกับอเมริกา แน่นอนว่าพวกเขาคงไม่เลือกอเมริกา
อ้างอิง
https://www.economist.com/leaders/2023/08/10/joe-bidens-china-strategy-is-not-working
https://www.nytimes.com/2023/08/09/us/politics/biden-ban-china-investment.html
https://www.bbc.com/news/business-66454313
https://nypost.com/2023/08/09/biden-to-ban-us-firms-from-investing-in-china-tech-companies/
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ