ช้อปปี้ อัดส่วนลดดับเบิลเดย์ 9.9 ปีนี้ กว่า 1 พันล้านบาท ส่ง Flash Deals เจาะกลุ่ม Cinderella Shoppers ได้ อิงฟ้า วราหะ ประเดิมงานแบรนด์แอมบาสเดอร์ ผ่านหนังโฆษณาชุดใหม่
สุชญา ปาลีวงศ์ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ (Shopee) ประเทศไทย ในเครือ Sea Group ประเทศไทย กล่าวว่า ผลสำรวจผู้ใช้งานช้อปปี้ ประเทศไทย ไตรมาส 2/2566 พบว่า 91% คาดว่าจะช้อปปิ้งในระดับเท่าเดิม หรือเพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลา 6 เดือนข้างหน้า
สะท้อนความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นของนักช้อปชาวไทยที่เตรียมจับจ่ายในช่วงเวลาครึ่งหลังปี 66 ทั้ง 99% ของผู้ใช้เป็นการเข้าใช้งานผ่านแอปฯ บนสมาร์ทโฟน
เทรนด์หลัก ๆ ที่ผู้บริโภคมองหาช่วงดับเบิลเดย์ในตลาดอีมาร์เก็ตเพลส อาทิ เปรียบเทียบการจับจ่ายที่คุ้มค่า สอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น, ยินดีจ่ายให้กับตัวเลือกที่ประกันของแท้ 100%, ปลอดภัยจากภัยคุกคามทางไซเบอร์และการหลอกลวงทางออนไลน์
และจากการอัปเดตราคาสินค้าอัตโนมัติตามดีลใหม่ ๆ แบบเรียลไทม์ของแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลส ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่ มักเลือกออเดอร์สินค้าเข้าใส่ตะกร้าไว้ล่วงหน้า ก่อนมาชำระเงินทีเดียวในช่วงดับเบิลเดย์
ดับเบิลเดย์ 9.9 ปีนี้ช้อปปี้จัดแคมเปญที่ดีที่สุดในรอบปีเช่นเคย อาทิ โค้ดรับเงินคืน 90%, โค้ดลด 50% ทุกไลฟ์, Flash Deals ลด 50% ช่วงเที่ยงคืนถึงตีสอง วันที่ 9 ก.ย. นี้เท่านั้น เพื่อเจาะกลุ่ม Cinderella Shoppers โดยรวมส่วนลดตลอดแคมเปญ 9.9 วันที่ 4-11 ก.ย. 66 จะอยู่ที่กว่า 1,000 ล้านบาท
ปีนี้ช้อปปี้ยังทำตลาดผ่านอินฟลูเอนเซอร์อย่าง อิงฟ้า วราหะ ผู้ชนะการประกวดมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ปี 2022 ซึ่งมาประเดิมเปิดตัวเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ผ่านหนังโฆษณาชุดใหม่
ที่สร้างเอนเกจเมนต์บนโซเชียลมีเดียผ่าน #99ShopeeENGFA ทะลุ 1,000,000 โพสต์ภายในระยะเวลา 4 วัน (4-7 ก.ย. 66) และสร้างไวรัลคอนเทนต์ด้วยแฮชแท็กติดเทรนด์ #อิงฟ้าเอวS
ช้อปปี้ประเมินว่า ดับเบิลเดย์ 9.9 ปีนี้จะมีอัตราเติบโตกว่าปีที่แล้วแน่นอน ซึ่ง 9.9 ปี 2565 ช้อปปี้มียอดขายสูงสุดต่อครั้งถึง 160,000 ชิ้น
ภาพรวมการแข่งขัน สุชญา เสริมว่า “ช้อปปี้เป็นผู้เล่นที่ครองมาร์เก็ตแชร์อีมาร์เก็ตเพลสในไทยอันดับหนึ่ง ส่วนการเข้ามาของผู้เล่นใหม่ ๆ ในตลาด มองว่าช่วยส่งเสริมการแข่งขันในเชิงบวก และช่วยให้ตลาดขยายตัวขึ้น ซึ่งช้อปปี้ในฐานะผู้เล่นรายแรก ๆ ของดับเบิลเดย์ก็จะได้รับการส่งเสริมให้มีโอกาสใหม่ ๆ พร้อมกันต่อไป”
อนึ่ง ช้อปปี้เข้ามาทำตลาดในประเทศไทยครั้งแรกปี 2558 อ้างอิงข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าช้อปปี้ใช้เวลา 7 ปีกว่าจะทำกำไรได้เป็นครั้งแรกเมื่อปีที่ผ่านมา
ผลประกอบการ 3 ปีหลังสุด
2563 รายได้ 5,812.79 ลบ. ขาดทุน 4,170.17 ลบ.
2564 รายได้ 13,322.18 ขาดทุน 4,972.56 ลบ.
2565 รายได้ 21,709.71 กำไร 2,380.27
อ้างอิง Similarweb พบว่า เม.ย. 66 แอคทีฟยูสเซอร์ต่อเดือนของช้อปปี้อยู่ที่ 55.1 ล้านยูสเซอร์ ผู้ใช้งานเข้าถึงแพลตฟอร์มโดยตรงผ่านการกดเข้าแอปฯ หรือพิมพ์ Url Website 63.1% อายุของลูกค้ากลุ่มหลัก คือ 25-34 ปี
ด้านมูลค่าสินค้ารวม (GMV) อีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปี 2565 อ้างอิง Momentum Works อยู่ที่ 99,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท) โดยไทยมีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 อยู่ที่ 14,400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5.1 แสนล้านบาท) จากฐานประชากรในประเทศ 72 ล้านคน
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ