SME Think Tank/ดร.เกษม พิพัฒน์เสรีธรรม

วัยเราอาจจะงงกับหัวเรื่องบทความตอนนี้

แต่วัยรุ่นเขาเข้าใจดีว่า หมายถึง การโกหกแล้วโดนจับได้

เห็นข่าวนักการเมืองไทยที่ใช้วาทกรรมที่สร้างสรรค์ (หรือเปล่าไม่รู้) มาโกหกเรา ๆ ท่าน ๆ ในระยะนี้แล้ว เลยอยากจะเขียนบทความกึ่งวิชาการ ถึงที่มาที่ไปว่า ทำไมคนเราถึงอยากโกหก และการโกหกมีผลดี ผลเสียอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อลูกค้าจับได้ (โป๊ะแตก)

การเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลของเมืองไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เราได้เห็นนวัตกรรมการโกหก และคำอธิบายสาเหตุของการโกหก (เมื่อถูกจับได้) อย่างที่เราคาดไม่ถึงจริง ๆ (หลายท่านอาจจะบอกว่า..เขาทำกันประจำแบบไม่ต้องคาดหวังอะไรทั้งนั้น)

“ที่พูดไปนั้นเป็นเรื่องการหาเสียง เวลาทำจริงต้องลืมไปก่อน”

“สถานการณ์วิกฤต เราจำเป็นต้องกลืนเลือดที่เราเคยพูดไป”

“เราโกหกเพื่อชาติ”

“ถ้าพวกผมผิดพวกคุณก็ผิด”

“ผมไม่ผิดเพราะกฎหมาย กติกา มันผิด คนร่างมันไม่เป็นประชาธิปไตย”

ประโยคเหล่านี้ล้วนคุ้น ๆ หู แต่คนพูดกลับไม่รู้สึกผิด ทั้งยังทำเหมือนว่าสิ่งที่ทำที่พูดนั้นถูกต้อง

แบบว่าทำกันจนชินเป็นสัน…

เราลองมาดูว่านักจิตวิทยาระบุถึงสาเหตุหรือมูลเหตุที่ทำให้คนเราอยากโกหก และผลดี ผลเสีย ของการโกหกกันครับ

  1. การโกหกที่มาจากการเห็นอกเห็นใจ

นักจิตวิทยา Levine และ Schweitzer บอกไว้ในงานวิจัยของเขาว่า แม้คนเราส่วนใหญ่ไม่ชอบการโกหก ไม่อยากโกหก แต่หลายครั้งที่โกหกเพราะเป็นการแสดงความเห็นอกเห็นใจ และทำให้ตัวคนพูดโกหกดูดี และสามารถสร้างความสัมพันธ์ เครือข่าย ได้มากกว่าการพูดความจริง เรื่องแบบนี้คนไทยทำกันประจำจนเกือบจะเป็นลักษณะประจำชาติ (ในสายตาคนต่างชาติ) เช่น แม้ว่าเสื้อที่เขาเสนอขายคุณภาพไม่ดี แต่เราบอกว่าคุณภาพดีนะเหมาะกับการใช้งานแบบนั้นแบบนี้ เป็นต้น หลายคนบอกว่าเป็นการพูดทางบวก พูดให้กำลังใจ แม้จะพูดไม่จริง หรือจริงเพียงบางส่วนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม การพูดโกหกแบบนี้ไม่ได้รับผลดีเสมอไป เพราะการพูดโกหกแบบนี้ แบบเกินไปจนเกินที่ผู้ฟังจะเชื่อว่าเป็นไปได้ หรือพูดโกหก เป็นประจำ (บ่อย ๆ) แม้ว่าผู้ฟังอาจจะไม่แสดงอาการต่อต้านหรืออะไรที่มากไปกว่านั้น แต่ก็จะฟังแบบผ่าน ๆ ไม่ใส่ใจอะไรมาก

  1. การโกหกเพื่อหวังผลประโยชน์

การโกหกที่หวังผลประโยชน์ส่วนใหญ่มักได้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีเมื่อถูกจับโกหก (โป๊ะแตก) ได้  อย่างไรก็ตาม หลายคนที่โกหกแบบนี้เป็นประจำจนคิดว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม ก็ไม่คิดว่าผลลัพธ์ที่ได้เป็นผลเสีย นักการเมืองไทยหลายคนหลายพรรคทำเรื่องแบบนี้ประจำ และเป็นเหมือนโรคระบาดติดต่อกันในกลุ่มนักการเมืองแนวนี้ด้วยกัน “มีเรา ไม่มีลุง” “เราจะเพิ่มเงินสวัสดิการผู้สูงอายุเป็น 3,000 บาท” พูดกันไว้ตอนหาเสียงเพื่อหวังคะแนนจากประชาชน แต่พอทำจริงทำไม่ได้ก็หาวาทกรรมมาแก้ต่างแบบหน้าตาเฉย

ไม่รู้สึกว่าโกหกอะไรไว้ ผมคงไม่ต้องสาธยายต่อเพราะเขียนอีกหลายหน้ากระดาษก็คงไม่พอ

แม้ว่าการโกหกแบบนี้เป็นเรื่องไม่ดี แต่ในบางองค์กรผู้พูดโกหกแบบนี้แล้วทำผลประโยชน์ให้องค์กร อาจจะได้รับรางวัลแทนการลงโทษ ในทางการเมืองคนที่โกหกเก่ง หาเสียงเก่ง พูดเก่ง อาจได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี แม้ความสามารถจะไม่ถึงก็ตาม หรือ พนักงานขายที่โกหกโดยอ้างลูกค้าแล้วบริษัทขายได้ดีขึ้น ก็อาจจะได้รับรางวัล เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยของ Gino และ Ayal และ Ariely ระบุไว้ว่า คนในกลุ่มที่ชอบโกหกแบบนี้อาจจะเลิกโกหกเมื่อสังคมส่วนใหญ่เริ่มแสดงความไม่เห็นด้วยและต่อต้าน อย่างภาพโฆษณาที่เกินจริง ไม่ตรงปก หรือในบางกรณีอาจมีกฎ กติกา มาควบคุม

ในเรื่องการเมืองบ้านเรา ประชาชนต้องแสดงออกถึงความไม่พอใจของการโกหก แล้วใช้กระแสสังคมต่อต้าน ไม่ต้องรอถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า นักจิตวิทยาพบว่า คนที่โกหกแบบนี้จะทำประจำต่อเนื่อง เพราะเขาถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา และเขาสามารถหาคำแก้ตัวได้เสมอ และสังคมก็เฉย ๆ ไม่ว่าอะไร และลืมกันไปในที่สุด

  1. การโกหกเพื่อให้ตัวเองดูดี

หลายคนชอบพูดโกหกหรือทำอะไรเกินที่ตัวเองทำได้ หรือสัญญาเกินจริง ในสังคมปัจจุบันท่านจะพบเห็นได้บ่อย ๆ กับคนที่มักอวดความเก่ง ความร่ำรวย มีความรู้สูง เกินความเป็นจริง และพยายามแสดงออกด้วยการเข้าสังคม เครือข่ายที่ช่วยให้การโกหกนั้นดูน่าเชื่อถือ หลายคนอาศัยความเชื่อทางศาสนา มาเป็นเครื่องมือเพื่อโกหกให้ตนเองดูดี ตามงานวิจัยของ Gino และ Wiltermuth

แต่หากทำประจำจนเคยชินก็มีผลเสียตามมา เช่น คนส่วนใหญ่ในสังคมเชื่อว่าเป็นจริงตามที่โกหก จนคนที่โกหกต้องโกหกไปเรื่อยและหลงตัวเองว่าเป็นแบบที่โกหกจริง ๆ จนสุดท้ายเข้าตาจนแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้

แม้ว่าการโกหกอาจจะมีผลดีบ้าง แต่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะเมื่อโป๊ะแตก จะมีผลเสียมากกว่าผลดี

เพราะฉะนั้นในการทำธุรกิจ (ไม่ใช่การเมือง) ท่านไม่ควรโกหกลูกค้า และรู้จักบริหารความคาดหวังและความเชื่อของลูกค้า

ท่านต้องทำอย่างที่พูด ไม่พูดเกินจริง พูดไม่หมด เพราะหากลูกค้าจับได้ จะทำลายความน่าเชื่อถือ

การทำดี พูดจริงกับลูกค้าหลายครั้งอาจถูกทำลายความเชื่อถือด้วยการโกหกเพียงครั้งเดียว และลูกค้าจะไม่คาดหวังว่าท่านจะพูดจริงอีก

ท่านต้องพูดจริงตั้งแต่เริ่มต้นและรักษาคำพูดนั้น

ท่านต้องไม่ทำลายความน่าเชื่อถือ ความคาดหวังของลูกค้าด้วยการ หลอกลวง หรือพูดเกินจริง

โฆษณาหรือสัญญาในสิ่งที่ท่านทำไม่ได้ หรือทำได้เพียงบางส่วน

ท่านควรบอกถึงข้อเสียของงานบริการหรือผลิตภัณฑ์ของท่านให้ลูกค้าทราบก่อนตัดสินใจซื้อ

ท่านต้องซื่อสัตย์เพื่อรักษาลูกค้า และสร้างให้เป็นลูกค้าประจำ

การทำธุรกิจแม้จะเล็กกว่าการทำงานการเมืองมาก แต่ผลได้เสียถึงตัวท่านโดยตรงและเร็วกว่า

เพราะฉะนั้นท่านไม่ควรเอานักการเมืองที่ไม่ดีเป็นตัวอย่าง

บทความตอนนี้อาจจะพาดพิงเรื่องการเมืองมากไปหน่อย

เพราะผมรู้สึกแย่กับการเมืองสมัยนี้จริง ๆ



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online