ไม่ว่าใครก็อยากเลี่ยงความขัดแย้ง และต่างก็หวังให้การใช้กำลังทหารไว้เป็นทางเลือกสุดท้าย แต่ดูเหมือนว่าความขัดแย้งที่บานปลายสู่การสู้รบยังเกิดอยู่เสมอ โดยปีนี้โลกเผชิญศึกสองด้าน ด้านหนึ่งคือสมรภูมิในยุโรประหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งใกล้จะครบ 2 ปี

และอีกด้านหนึ่งคือความขัดแย้งในฉนวนกาซาระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสที่บานปลายเป็นการใช้กำลังทหารและสงครามย่อม ๆ โดยภาพใหญ่ดันให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น ซึ่งธนาคารโลกเตือนว่า หากยืดเยื้อน้ำมันอาจแพงถึง 157 ดอลลาร์ (ราว 5,600 บาท) ต่อบาร์เรล

ส่วนเฉพาะในระดับประเทศ แน่นอนนอนว่าอิสราเอลได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยทางเศรษฐกิจ สำนักข่าว Bloomberg ของสหรัฐฯ ประเมินว่า ความเสียหายอยู่ที่วันละ 260 ล้านดอลลาร์ (ราว 9,100 ล้านบาท)

และหลังสถานการณ์ดำเนินมาครบเกือบ 1 เดือนเมื่อปลายตุลาคม ค่าเงินชาเกลอิสราเอลเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ก็ร่วงไปต่ำสุดในรอบ 11 ปี

อุตสาหกรรมเทคโนโลยีในอิสราเอลก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความขัดแย้งรอบนี้ หลังบรรดาเซียนเทคพากันเก็บกระเป๋าไปทำงานต่างประเทศ โดยภาวะสมองไหลดังกล่าวถือว่ารุนแรง

เพราะแม้มีคนทำงานในอุตสาหกรรมนี้เพียง 10% จากสัดส่วนแรงงานทั้งประเทศ แต่รายได้เกิน 50% จากการส่งออกของอิสราเอลมาจากภาคเทคโนโลยี

และอุตสาหกรรมนี้ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นจากวิกฤตระดับโลกใหญ่ ๆ อย่างวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มจากภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ รวมไปถึงวิกฤตโควิดเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ได้เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ  

ตลาดแรงงานและครอบครัวทั่วอิสราเอลก็ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งในฉนวนกาซา เนื่องจากคนวัยทำงานกลุ่มใหญ่ต้องถูกกองทัพเรียกตัวไปรบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชายจึงทำให้ผู้หญิงต้องขึ้นมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัวแทน

ภาคการเกษตรของอิสราเอลก็ได้รับผลกระทบอย่างมากจากความขัดแย้งครั้งนี้ เพราะแรงงานต่างชาติคือกำลังหลักของภาคเกษตร ที่ทำหน้าที่เก็บพืชผลกับเลี้ยงดูและรีดนมในฟาร์มปศุสัตว์มาตั้งแต่ยุค 90 หลังอิสราเอลเข้มงวดกับชาวปาเลสไตน์มาทำงาน สืบเนื่องจากความขัดแย้ง

ซึ่งแรงงานต่างชาติกลุ่มใหญ่สุดในภาคการเกษตรอิสราเอลคือชาวไทย โดยตามข้อมูลระบุว่าก่อนเกิดความขัดแย้งครั้งล่าสุดมีแรงงานชาวไทยในภาคการเกษตรอิสราเอลมากถึง 6,000 คน

ด้าน CNN รายงานว่าผลจากความขัดแย้งครั้งล่าสุดทำให้แรงงานหลายหมื่นคนหายไปจากภาคเกษตรของอิสราเอล ซึ่งมีทั้งหนีกลับประเทศ ถูกจับเป็นตัวประกันหรือโชคร้ายต้องเสียชีวิต

ทางแก้ของอิสราเอล คือหาอาสาสมัครในประเทศและติดต่อให้แรงงานจากเนปาลเข้ามาทำงานแทน

การท่องเที่ยวและแวดวงการแพทย์ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ในฉนวนกาซาเช่นกัน โดยวงการแรกไม่มีรายได้เข้ามาเลย เพราะไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนอยากเสี่ยงชีวิตเข้ามาท่ามกลางความไม่สงบ ส่วนวงการหลังมีสถานการณ์ใกล้เคียงกับวงการเทคโนโลยี

แพทย์อิสราเอลจำนวนมากติดต่อขอใบรับรองจากรัฐบาลเพื่อเดินทางไปทำงานต่างประเทศ โดยที่หมายลำดับต้น ๆ คือสหรัฐฯ และบรรดาแพทย์ที่หนีไปทำงานต่างประเทศนี้มีระดับหัวกะทิที่ไม่พอใจนโยบายของรัฐบาลเช่นเดียวกับกลุ่มนักวิทยาศาสตร์และเซียนเทคโนโลยี รวมอยู่ด้วย

จากทั้งหมดนี้ จึงกล่าวได้ว่าอิสราเอลต้องเร่งจัดการกับความขัดแย้งในฉนวนกาซา เพราะยิ่งยืดเยื้อก็จะบั่นทอนเศรษฐกิจและฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศ/dw, cnn



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online