ทั้งที่รัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนโล่งอกได้ไม่ทันไร หลังวิกฤตโควิดผ่านพ้น การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ และสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนแม้ยังยืดเยื้อแต่ก็แทบไม่ขยายวงแล้ว ก็มีเหตุการณ์ใหญ่ให้ต้องกังวลกันอีกจนได้ 

ตุลาคมปีนี้กลุ่มฮามาสในปาเลสไตน์เปิดฉากโจมตีอิสราเอล ทำให้อิสราเอลโต้กลับอย่างหนัก จนส่งผลต่อประชาชนทั้งสองประเทศและชาวต่างชาติที่ไปทำงานในอิสราเอล โดยจำนวนนี้มีชาวไทยเสียชีวิตและถูกจับเป็นตัวประกันรวมอยู่ด้วย

ผลกระทบอีกอย่างที่คนทั่วโลกกำลังหวาดหวั่นคือราคาน้ำมัน เพราะแถบตะวันออกกลางคือแหล่งน้ำมันใหญ่สุดของโลก โดยสื่อยุโรปวิเคราะห์ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ (ราว 3,600 บาท) ต่อบาร์เรล

แต่ธนาคารโลกเตือนว่า ระดับราคาดังกล่าวเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ต่ำเกินไป โดยธนาคารโลกประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้ไว้ 3 ระดับ ระดับแรกคือผลกระทบน้อย แบบเดียวกับสงครามกลางเมืองลิเบียปี 2011

ที่จะทำให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกลดลงไป 5 แสน ถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดันราคาขึ้นอยู่ที่ระหว่าง 93 -102 ดอลลาร์ (ราว 3,300-3,600 บาท) ต่อบาร์เรล

ถัดมาคือผลกระทบปานกลาง แบบเดียวกับสงครามอิรักปี 2003 ซึ่งจะฉุดให้ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกหายไป 3-5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดันราคาให้เพิ่มขึ้นอีกไปอยู่ที่ระหว่าง 109-121 ดอลลาร์ (ราว 3,900–4,300 บาท) ต่อบาร์เรล

ส่วนถ้าสถานการณ์รุนแรงที่สุด ขยายวงกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างประเทศในตะวันออกกลางกับอิสราเอล ซึ่งจะมีประเด็นทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวด้วย จนเหตุการณ์บานปลาย สู่สงครามอิสราเอลที่ประเทศตะวันตกหนุนหลังกับกลุ่มฮามาสและปาเลสไตน์ที่ประเทศตะวันออกซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นมุสลิมสนับหนุน

แบบเดียวกับสงครามยัมคิบปูร์ปี 1973 ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกจะลดลงไปมากถึง  6-8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ดันราคาให้พุ่งไปอยู่ที่ 140-157 ดอลลาร์ (ราว 5,000-5,600 บาท) ต่อบาร์เรล

หากไปถึงขั้นนั้น ราคาน้ำมันโลกจะเจอผลกระทบรุนแรงจากสองสถานการณ์พร้อมกัน (Dual shock) เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ  

Indermit Gil หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกวิเคราะห์ว่าสถานการณ์ตอนนี้อ่อนไหวมาก และสามารถยกระดับหรือขยายไปเป็นเหมือนยุค 70 ได้ทุกเมื่อ ดังนั้น รัฐบาลทั่วโลกจึงต้องหูไวตาไวและเตรียมมาตรการรับมือให้พร้อมเอาไว้

Ayhan Kose รองหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลก ย้ำว่าการเตรียมมาตรการรับความขัดแย้งในตะวันออกกลางครั้งนี้จำเป็น เพราะถ้าขยายวงและยืดเยื้อ นอกจากน้ำมันอันเป็นต้นทุนการผลิตและขนส่งจะแพงขึ้นแล้ว ราคาอาหารและวัตถุดิบต่าง ๆ ก็ย่อมแพงขึ้นตามไปด้วย/theguardian  



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online