หลังจากเที่ยวบิน WE268 หาดใหญ่ – กรุงเทพ บินจอดลงสนามบินสุวรรณภูมิ เวลา 22.20 น. ในวันที่ 31 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา เป็นที่เรียบร้อย

ถือเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่เราจะได้เห็นสายการบินไทยสมายล์บินเหนือน่านฟ้า หลังจากที่ไทยสมายล์ลำแรกได้บินทะยานขึ้นฟ้าให้บริการเมื่อ 7 กรกฎาคม 2555 เส้นทาง ไป-กลับ กรุงเทพ-มาเก๊า ด้วยเครื่องบินแบบแอร์บัส A320-200

และส่งมอบธุรกิจไปยังการบินไทย ภายในมกราคม 2567 ตามแผนปรับโครงสร้างองค์กรฟื้นฟูกิจการที่การบินไทยได้วางไว้

การรวมไทยสมายล์ทำให้การบินไทยมี Economy of Scale ที่มากขึ้น ที่สามารถมีอำนาจในการต่อรองต่าง ๆ ได้ดีกว่าเดิม

 

ทั้งในเรื่องการบริหารภายใต้ใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) เหลือเพียงใบเดียว ใช้รหัสสายการบิน TG เหมือนกันทั้งหมด จะเพิ่มขีดความสามารถในการกำหนดเครือข่ายเส้นทางการบินตอบสนองความต้องการและความสะดวกของผู้โดยสารในการเชื่อมต่อ (Hub & Spoke) ได้มากขึ้น จากจำนวนเส้นทางการบินที่มากขึ้นจากการควบรวม

ลดต้นทุนในการสื่อสารการตลาดที่ต้องสื่อสารผ่านสองบริษัท และลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ

รวมถึงการใช้งานเครื่องบินไม่หนักจนเกินไป จากที่ผ่านมาอ้างอิงจาก 31 มีนาคม 2566 การบินไทยและไทยสมายล์มีเครื่องบินที่ใช้ทำการบินรวมกัน 65 ลำ แบ่งเป็นไทยสมายล์ 20 ลำ

ซึ่งเครื่องบินของการบินไทยมีการบินเฉลี่ย 14 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนไทยสมายล์ 9 ชั่วโมงต่อวัน เมื่อการบินไทยและไทยสมายล์นำเครื่องบินมารวมกันจะให้บริการเฉลี่ย 12.3 ชั่วโมงต่อวัน

ก่อนที่ไทยสมายล์จะถูกรวมกับการบินไทยในวันนี้

มองไปในอดีต ไทยสมายล์ เคยเป็น Sub Brand ที่เป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของการบินไทยมาตั้งแต่ปี 2554 ภายใต้แนวคิด Trendy-Friendly-Worthy เพื่อแข่งขันในตลาดสายการบินต้นทุนต่ำ หรือ Low Cost Airline

การจัดตั้งไทยสมายล์ได้เกิดหลังจากที่การบินไทยไม่ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งสายการบินไทยไทเกอร์ในประเทศไทย สายการบินที่มาจากการจับมือของการบินไทย และ ไทเกอร์ แอร์เวยส ประเทศสิงคโปร์ เพื่อลงเล่นธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ เพราะเหตุผลต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม

ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2555 ไทยสมายล์เริ่มให้บริการเที่ยวบินปฐมฤกษ์เที่ยวบินที่ TG 750  เส้นทาง ไป-กลับ กรุงเทพ-มาเก๊า ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320-200 และใช้รหัส TG ให้บริการอย่างต่อเนื่อง

จนในปี 2556 ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ DD การบินไทยในเวลานั้น นำหน่วยธุรกิจไทยสมายล์ออกจากการบินไทย จัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ ชื่อบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 1,800 ล้านบาท มีการบินไทยถือหุ้น 100%

10 เมษายน 2557 สายการบินไทยสมายล์บินด้วยรหัสสายการบิน WE ของตัวเองครั้งแรก 10 เส้นทางในประเทศ จากสนามบินสุวรรณภูมิ และเริ่มขยายเส้นทางให้บริการไปสนามบินดอนเมืองเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสารในวันที่ 8 สิงหาคม 2557

และเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างประเทศ 25 ตุลาคม 2557 เพื่อแข่งขันให้ตลาดสายการบินต้นทุนต่ำทั้งในและต่างประเทศ

หลังจากที่ไทยสมายล์ให้บริการที่สนามบินดอนเมืองเพียงสองปีกว่าได้ย้ายเที่ยวบินดอนเมืองกลับมาสุวรรณภูมิในปี 2560 ด้วยเหตุผลตามแผนยุทธศาสตร์เครือการบินไทยที่เตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวของเส้นทางใหม่ ๆ

และเพราะการบริหารของการบินไทยที่ขาดทุนต่อเนื่อง พร้อมหนี้สะสมจำนวนมาก ในปี 2563 ศาลล้มละลายกลางประกาศให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการบนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จำเป็นต้องปิดประเทศ งดการเดินทางต่าง ๆ ในเวลานั้น

ส่วนไทยสมายล์ก็ขาดทุนต่อเนื่องเช่นกัน

ผลประกอบการบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่า

ปี 2557 มีรายได้รวม 3,068.60 ล้านบาท ขาดทุน 577.47 ล้านบาท

ปี 2558 รายได้รวม 4,762.23 ล้านบาท ขาดทุน 1,852.78 ล้านบาท

ปี 2559 รายได้รวม 7,531.54 ล้านบาท ขาดทุน 2,081.05 ล้านบาท

ปี 2560 รายได้รวม 10,182.15 ล้านบาท ขาดทุน 1,626.75 ล้านบาท

ปี 2562 รายได้รวม 14,573.68 ล้านบาท ขาดทุน 112.58 ล้านบาท

ปี 2563 รายได้รวม 5,451.09 ล้านบาท ขาดทุน 3,266.91 ล้านบาท

 

และไทยสมายล์เริ่มมองหารายได้ใหม่ ๆ ที่เข้ามาจุนเจือรายได้ที่หายไปจากการจำกัดการเดินทาง เช่น การเปิดบริการ Smile Cargo บริการขนส่งทางอากาศ ในปี 2564 เป็นช่วงปีเดียวกันกับที่การบินไทยยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ

แต่แล้วปีที่ผ่านมาการบินไทยได้ประกาศรวมไทยสมายล์มาอยู่ภายใต้การบินไทย จากการปรับโครงสร้างองค์กรตามแผนฟื้นฟูกิจการตามที่ได้กล่าวมา

พร้อมกับผลประกอบการที่ยังคงขาดทุนต่อเนื่อง

เพราะในปี 2564 ไทยสมายล์มีรายได้รวมเพียง 3,762.97 ล้านบาท ขาดทุน 3,792.10 ล้านบาท

และปี 2565 รายได้รวม 8,760.33 ล้านบาท ขาดทุน 4,248.46 ล้านบาท

ส่วนวันข้างหน้าธุรกิจการบินของการบินไทยเมื่อไม่มีสายการบินไทยสมายล์รหัสสายการบิน WE และบริษัทที่ชื่อ ไทยสมายล์แอร์เวย์ จำกัด จะเป็นอย่างไร คงต้องดูกันต่อไป



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online