ธนาคารไทยเครดิต สินเชื่อเพื่อพ่อค้า แม่ค้า ในตลาดสด ถึงเวลาเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) หรือ “CREDIT” ก็ได้เวลาเข้าไปโลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์ฯ

เป็นธนาคารแรกในรอบทศวรรษที่เข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นไทย

เริ่มต้นธุรกิจจากการเป็นธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี 2550

ก่อนที่กระทรวงการคลังจะยกระดับให้เป็นธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2566

กลายเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ

ในปี 2563-2565 ธนาคารไทยเครดิตมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 6,370 ล้านบาท 8,493 ล้านบาท 11,052 ล้านบาท ตามลำดับ

มีกำไรสุทธิ 1,372 ล้านบาท 1,935 ล้านบาท 2,352 ล้านบาท ตามลำดับ

ส่วนปี 2566 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 13,330 ล้านบาท มีกำไร 3,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2% ทำสถิติสูงสุดในประวัติการณ์

จุดแข็งที่แตกต่างจากธนาคารทั่วไปของธนาคารไทยเครดิต มี 2 เรื่อง คือ

1. การปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้า 2 กลุ่มหลักที่หลายแบงก์ไม่กล้าลงมาเล่นด้วย เพราะมีความเสี่ยงหนี้เสียสูง คือ

1.1 สินเชื่อธุรกิจไมโครเอสเอ็มอี (MSME) ธุรกิจขนาดเล็ก ๆ มีลูกจ้าง 3-5 คน วงเงินกู้ส่วนใหญ่อยู่ที่ 3-5 ล้านบาท

1.2. สินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อคนค้าขาย (Nano and Micro Finance) ซึ่งเป็นกลุ่มเจ้าของร้านขายของชำ หรือแผงร้านค้าขายผัก ขายหมู ในตลาดสดที่มีอยู่ทั่วประเทศ

ตลาดสดไหนมีศักยภาพเป็นแหล่งรวมของอร่อย ของดี  ไทยเครดิตรวบรวมไว้ในพอร์ตทั้งหมด หลังจากนั้นก็จะมาเปิดสาขาใกล้ ๆ ตลาด แล้วจ้างคนในพื้นที่เป็นพนักงาน

หน้าที่สำคัญของพนักงาน คือ เดินตลาดทุกวัน คอยทำความรู้จักกับลูกค้า ประเมินการให้สินเชื่อ ตลอดจนการเก็บเงินด้วย

ปัจจุบันกลุ่มนี้เป็นลูกค้าของ ธนาคารไทยเครดิต อยู่ประมาณ 2.5 แสนราย หรือคิดเป็น 80% ของลูกค้าสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร

2. ทีมวิเคราะห์สินเชื่อและบริหารความเสี่ยง ที่สะสมประสบการณ์ ความรู้ ความชำนาญมานาน

เมื่อเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ไม่มีสินทรัพย์ให้ยึด การปล่อยสินเชื่อจึงต้องดูจากการประเมินความสามารถในการหารายได้ของลูกค้าเป็นหลัก

เรื่องประสบการณ์ของทีมจึงสำคัญมาก

ปัจจุบันธนาคารมีทีมวิเคราะห์สินเชื่อและบริหารความเสี่ยงผ่านสาขาการให้บริการกว่า 527 แห่ง ในจำนวนตลาดที่มีศักยภาพทั้งหมดประมาณ 4 พันแห่ง

และได้นำเอาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มมาสนับสนุนโมเดลในการประกอบธุรกิจ ซึ่งทำให้สามารถขยายขีดความสามารถของพนักงานในการดูแลลูกค้าได้มากขึ้น

สำหรับตัวเลขมูลค่าการตลาดในการกู้ยืมของธุรกิจเอสเอ็มอีในระบบมีอยู่ประมาณ 6.7 ล้านล้านบาท

ส่วนตัวเลขการกู้ยืมนอกระบบคาดว่ามีอยู่ประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท (อ้างอิงจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารไทยเครดิต)

ถ้าพลิกไปดูรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ พบว่า โครงสร้างเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ในปี 2566 ของธนาคารไทยเครดิต จำนวนทั้งหมด 144,157 ล้านบาท

แบ่งเป็นสินเชื่อไมโคร เอสเอ็มอี 67.8% เป็นสินเชื่อนาโนและไมโครเครดิตเพื่อการค้าขาย 15.5% เป็นสินเชื่อบ้าน 15.2% อื่น ๆ อีก 2.2%

ผู้บริหารของธนาคารยืนยันว่า แม้จะเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ แต่ธนาคารยังคงยึดมั่นในการให้บริการและสนับสนุนกลุ่มลูกค้าหลักกลุ่มเดิม

การเป็นธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบจะช่วยให้ธนาคารสามารถเปิดกว้างในการให้บริการและสนับสนุนลูกค้ากลุ่มอื่น ๆ รวมถึงลูกค้าเดิมของธนาคารที่เติบโตขึ้นได้

จากจุดเริ่มต้นของไทยเครดิตฯ ในฐานะแบงก์เล็ก คือการหาตำแหน่งของตัวเองจนเจอ และสามารถเติบโตอย่างรวดเร็ว 20-30% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

วันนี้ ได้เวลาเติบโตต่อยอด โดยเงินที่ได้จากการระดมทุน ธนาคารไทยเครดิตบอกว่าจะนำไปใช้ขยายพอร์ตสินเชื่อเพื่อสร้างความแข็งแกร่งต่อไป

ส่วนราคาหุ้นที่ยังปิดต่ำกว่าราคาจอง แนะนำให้ติดตามกันต่อไป

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online