Whoscall แอปพลิเคชันระบุตัวตนสายเรียกเข้าที่ไม่รู้จักและป้องกันสแปม สำหรับสมาร์ตโฟน เผยรายงานประจำปี 2566 พบมิจฉาชีพทำงานหนักก่อกวนคนไทยเพิ่มขึ้น 12.2 ล้านครั้ง คนไทยรับข้อความหลอกลวงมากที่สุดในเอเชียถึง 58 ล้านข้อความ ซึ่งแนบลิงก์ปลอม ลิงก์ขอล็อกอินปลอม การดาวน์โหลดมัลแวร์ อันตราย และเพจปลอมหลอกขายของหลอกลวง

รายงานประจำปี 2566 โดย Whoscall จัดทำขึ้นเพื่อศึกษาพฤติการณ์มิจฉาชีพหลอกลวงผ่านสายโทรเข้า ข้อความ และลิงก์จากข้อความ พบว่าคนไทยยังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะได้รับข้อความหลอกลวงมากถึง 58.3 ล้านข้อความ ด้วยกลโกงต่าง ๆ เกี่ยวกับเงินกู้และเว็บพนันมากที่สุด เตือนระวังมุกใหม่ แอบอ้างผู้ให้บริการส่งสินค้า หน่วยงานรัฐ เช่น การไฟฟ้า เพื่อหลอกเหยื่อ

 ภาพรวมการหลอกลวงในเอเชียคลี่คลายลง

ข้อมูลจากรายงานปี 2566 พบว่ามีการหลอกลวงทั้งจากสายโทรเข้าและข้อความ SMS รวม 347.3 ล้านครั้ง ลดลงจากปีก่อนหน้า 14% (405.3 ล้านครั้ง ในปี 2565) ลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เนื่องจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยการหลอกลวงออนไลน์

 คนไทยเสี่ยงถูกหลอกมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่เทรนด์การหลอกลวงในเอเชียดูเหมือนจะคลี่คลายลง ปี 2566 คนไทยกลับเสี่ยงโดนหลอกจากสายโทรเข้าและข้อความ รวม 79 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 18% จากยอดรวม 66.7 ล้านครั้ง ในปี 2565 จำนวนสายโทรเข้า 20.8 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้น 22% จาก 17 ล้านครั้ง ในปี 2565 และข้อความหลอกลวงเพิ่มขึ้น 17% สูงถึง 58.3 ล้านข้อความ จาก 49.7 ล้านข้อความ ในปี 2565

 คนไทยรับ SMS หลอกลวงมากที่สุดในเอเชีย

Whoscall เผยจำนวนข้อความหลอกลวง เฉลี่ยคนไทย 1 คน ต้องรับ SMS ที่น่าสงสัย 20.3 ข้อความ ซึ่งมากที่สุดในเอเชีย โดยอันดับ 2 คือ ฟิลิปปินส์ จำนวน 19.3 ข้อความ และฮ่องกง จำนวน 16.2 ข้อความ แนวโน้มดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าปัญหานี้กำลังเพิ่มขึ้นในภูมิภาค ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์พยายามเตือนให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังเพื่อป้องกันการหลอกลวงและความเสี่ยงที่อาจทำให้สูญเสียเงิน

มิจฉาชีพยังคงพุ่งเป้าส่ง SMS หลอกลวงคนไทย โดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องพนันออนไลน์และหลอกปล่อยเงินกู้ คีย์เวิร์ดสำคัญ อาทิ ยูสใหม่ แจกฟรี ฟรี 500 ฝากครั้งแรกรับ และสร้างการหลอกลวงใหม่ ๆ โดยแอบอ้างบริษัทขนส่ง และหน่วยงานรัฐ อาทิ พัสดุของท่านเสียหาย เคลมค่าเสียหายติดต่อ จดตัวเลขมิเตอร์ผิด ประกันมิเตอร์ เป็นต้น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online