April’s Bakery ผู้ผลิตขนมเปี๊ยะลาวาใน 7-Eleven  ของ “อร กนกกัญจน์” นักธุรกิจที่ขายสินค้าด้วยความเชื่อ อยู่ได้ด้วยความพยายาม ประสบความสำเร็จด้วยวินัย

เมื่อเดือนเมษายนมาเยือน อยากพาทุกคนไปรู้จักกับร้านเบเกอรี่ในชื่อเดียวกัน “APRIL’S BAKERY” (เอพริล เบเกอรี่) ของ อร กนกกัญจน์ มธุรพร นักธุรกิจหญิงแกร่ง เจ้าของ ขนมเปี๊ยะลาวาที่โด่งดังในโลกโซเชียล

รู้หรือไม่ ขนมเปี๊ยะ เป็นขนมมงคล ที่ซ่อนความหมายของความพรั่งพร้อม สมบูรณ์ และความสมหวัง แต่เบื้องหลังของผู้สร้างขนมจะสมบูรณ์ พรั่งพร้อม สมหวัง เหมือนชื่อขนมหรือไม่

อร กนกกัญจน์ มธุรพร จากอดีตแอร์โฮสเตสที่ตัดสินใจลาออกมาทำธุรกิจ ล้มลุกคลุกคลานมาด้วยตนเอง จนมีบทเรียนมากมาย ที่เมื่อนำมารวมกันคงตีพิมพ์หนังสือได้เป็นเล่ม ๆ และถ้าจะให้บอกธีมของหนังสือ คงเหมือนกับเดือนเมษายนที่ร้อนระอุ แต่ก็มีพายุกระหน่ำเป็นบางช่วง

คุณอรเริ่มเล่าให้ฟังว่า ชีวิตหลังเรียนจบปริญญาตรีคณะบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ตนกลับไปช่วยงานที่บ้านอยู่นครสวรรค์ซึ่งทำธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง แต่มีพี่ชายเป็นคนบริหารเป็นหลักอยู่แล้ว จึงไม่มีหน้าที่อะไรให้เธอทำมากนัก อย่างมากก็นั่งคิดเงิน ทอนเงิน เช็กของ แต่เธอไม่ชอบเอาเสียเลย จึงลองไปค้นหาวิธีทำขนมใน Google แล้วลองทำไปขายตลาดนัด โดยตื่นมาตั้งแต่ตี 4 เพื่อทำแป้งขนม เสร็จช่วงบ่ายก็ขนไปขายในตลาดนัด ใช้ชีวิตวนลูปอยู่เช่นนี้ทุกวัน

ยอดขายตกเดือนละ 8-9 หมื่นบาท ระหว่างนั้นก็ร่อนใบสมัครแอร์โฮสเตสไปด้วย เพราะอยากทำงานที่ได้ไปเที่ยวด้วย สุดท้ายก็ได้ตอบรับจากสายการบินไต้หวัน เมื่อทำงานก็ยังคงอาชีพแม่ค้าไว้อยู่ หารายได้ในตอนนั้นไปด้วยกับงานหลัก แต่อาชีพแอร์โฮสเตสงานไม่ได้มั่นคง พอคิดว่าอยู่ครบสัญญาก็ต้องหาที่ใหม่ไปเรื่อย ๆ ไม่มั่นคงแน่นอน เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานทั้งที่ยังไม่ครบสัญญา

Turning point แรก

หลังลาออกจากงาน ก็มาตั้งหลักทำธุรกิจส่วนตัวโดยใช้เงินเก็บที่มี ซึ่งธุรกิจไม่กี่อย่างที่พอจะนึกออกคือคาเฟ่ จึงเอาเงินเก็บมาลงทุน ขณะนั้นค่าเช่าก็ราคาสูงมากเกินหลักแสนบาท แต่ร้านไซซ์เล็กเพียง 15 ตารางเมตร อยู่ที่ CDC

แต่ทุกอย่างมาจากการวาดฝัน  ไม่ได้คิดแผนอะไรก่อน แค่คิดว่าหากขายเบเกอรี่ได้ 4 หมื่นบาท กาแฟอีก 4 หมื่น เธอก็คง happy แล้ว แต่ทุกอย่างไม่ได้เป็นเหมือนที่คิด กลายเป็นว่าคาเฟ่ขายไม่ได้ จากวันหนึ่งยอดขาย 2-3 พัน เหลือหลักร้อย แต่ทั้งที่พยายามเซฟต้นทุนอย่างมาก คุณอรลงแรงไปขายเองไม่มีพนักงาน ชงเครื่องดื่มขาย ทำความสะอาดร้าน แต่ก็ยังขาดทุนไปเรื่อย ๆ แต่ปัญหาจริง ๆ อยู่ที่การขายกาแฟ แต่ไม่ดื่มกาแฟ เลยไม่รู้รสนิยมของคนที่ดื่มกาแฟจริง ๆ คุยกับลูกค้าไม่ได้ ส่วนเบเกอรี่ก็ขายไม่ได้เพราะหน้าตาไม่มีลูกเล่น

สุดท้าย หมุนเงินไม่ทัน ค้างค่าเช่า ต้องปิดตัวลงไป แต่ก่อนที่จะปิดตัว มีโอกาสเอาขนมไปนำเสนอกับเซ็นทรัล และได้ที่ในเซ็นทรัลพระราม 3 มา จึงปิดร้านที่ CDC แล้วไปเปิดที่พระราม 3 แทน

“ในตอนเริ่มขายที่เซ็นทรัล ก็รับขนมจากที่อื่นมาขายด้วย เป็นสินค้าพวกผักโขมอบชีส เราก็คิดเองอีกว่าน่าจะขายดี คนไทยน่าจะชอบ วันแรกก็ตามที่คิด ขายดีมาก 2-3 หมื่นบาท แต่เป็นแค่ช่วงหนึ่ง ยอดขายดีเพราะเราเชียร์ขายสินค้า คนก็เลยซื้อ ณ ตอนนั้น แต่ไม่กลับมาซื้ออีก เพราะไม่ได้มีรสชาติถูกจริตคนไทย  พอขายไม่ได้ก็เปลี่ยนโปรดักส์ไปเรื่อย ๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จสักที”

คุณอรเล่าต่อว่า เธอมีโอกาสได้ไปเที่ยวฮ่องกงพอดี แล้วได้ลองขนมเปี๊ยะหมูแดงฮ่องกง (ที่ฮ่องกงเรียกว่าพายหมูแดง) พอได้ลองก็อยากกลับมาทำ แต่ใช้เวลาคิดสูตรนานถึง 3 เดือน เนื่องจากของคาวเป็นอาหารที่เธอไม่ถนัด

เธอตื่นนอนตั้งแต่ตี 3 เพื่อมาทำขนม แต่ละวันได้พักผ่อนเพียง 2-3 ชั่วโมง มั่นใจว่าอร่อย ต้องขายได้ดีแน่ ความรู้สึกหนึ่งที่เมื่อมาลองทำขนมขายเอง คือ เธอมีความรู้สึกร่วม มั่นใจในสินค้าของตน ต่างจากที่รับคนอื่นมาขาย

เมื่อความเชื่อก่อตัวขึ้นอีกครั้ง ปี 2553 ร้าน April’s Bakery จึงกำเนิดขึ้น

“ตอนเป็นแอร์โฮสเตสสายการบินต่างประเทศ เขาบังคับให้ต้องมีชื่อภาษาอังกฤษ เราไม่รู้จะชื่ออะไร นึกขึ้นได้ว่าเกิดเมษายน เลยตั้งชื่อไปว่า April ละกัน ก็นำชื่อตรงนั้นมาตั้งเป็นชื่อร้านด้วยเลย และชื่อโรงงาน “สิงหาฟู้ด” ก็เป็นชื่อของลูก ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะทุกคนเกิดเดือนสิงหาคมหมดเลย”

Turning point อายุน้อยร้อยล้าน

ตอนทำขนมเปี๊ยะบริษัทเริ่มรับพนักงานมากขึ้น ประสบปัญหากระแสเงินสด หมุนเงินทุนไม่ทัน จนคุณอรต้องขนทรัพย์สินส่วนตัวที่ตนหวงแหนมีไปขายทีละอย่าง

“ขาดทุนตลอด 3 ปี ฝืดเคือง แต่ก็เอาตัวรอดแบบถู ๆ ไถ ๆ มาได้  อรเอารถยนต์ไปรีไฟแนนซ์  เอาของที่เราไม่กล้าคิดเลยว่าจะขาย ก็นั่งมอเตอร์ไซค์แล้วไปปั๊มมือขาย เพราะตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าเดี๋ยวของเราก็ขายได้ เพราะมั่นใจในสินค้าตัวเองมาก รอจนเกือบจะหมดหนทางแล้ว โชคดีที่จังหวะนั้นมีลูกค้าติดต่อมาขอซื้อแฟรนไชส์ ช่วยให้มีเงินสดมาต่อลมหายใจ พอขยายสาขาแรกได้ สาขาต่อไปก็ขยายไม่หยุด จนมีลูกค้าแฟรนไชส์ 50 ราย”

เป็นเวลาเดียวกับที่ได้ออกรายการอายุน้อยร้อยล้าน นับจากนั้นมาก็ขายแฟรนไชส์ได้ทุกวัน มีเงินสดไหลเข้ามือทุกวัน จึงทำให้เริ่มขยับขยายโรงงาน มีพนักงาน เครื่องจักรมากขึ้น

Turning point สำคัญ เข้า 7-Eleven

เมื่อถึงจุดหนึ่งที่แฟรนไชส์อิ่มตัว ขยายต่อไม่ได้แล้ว ก็ต้องหาลูกค้าเพิ่ม เพื่อผลักดันยอดขายให้โตไปได้มากกว่านี้ ในตอนนั้นคุณอรก็คิดว่าหากขนมเข้าไปวางขายใน 7-Eleven ได้คงจะดีไม่น้อย

เพียงแค่คิด โอกาสก็เข้ามาเยือนตามที่หวัง เธอได้โอกาสนำเสนอขนมให้กับ 7-Eleven แต่ติดตรงที่โรงงานยังไม่มี GMP จึงต้องกลับมาดำเนินการให้แล้วเสร็จ ซึ่งก็ใช้เวลาไปอีก 2 ปี จึงค่อยกลับไปหา 7-Eleven ได้

“ขณะนั้นกระแสเปี๊ยะลาวามาแรง ได้โจทย์จาก 7-Eleven มาว่า ให้ทำขาย 4 ชิ้น ในราคา 39 บาท จากเดิมที่เราเคยทำขาย 4 ชิ้น 100 บาท คนก็โจมตีว่าขายถูกจนน่าสงสัย ใช้ของไม่ดีมาทำหรือเปล่า ซึ่งจริง ๆ เราใช้วัตถุดิบคุณภาพทั้งหมด ทั้งแป้ง เนย นม แต่ที่ตั้งราคาถูกได้ เพราะทำในสเกลโรงงานมันควบคุมต้นทุนได้”

วันแรกที่เข้าร้านสะดวกซื้อได้ คำสั่งซื้อแรกคือ 40,000 กว่ากล่อง แต่ขณะนั้นระบบหลังบ้านก็ยังไม่ได้ดีมาก มีพนักงานอยู่เพียง 40-50 คน กำลังการผลิตอยู่ที่ 40,000-50,000 ชิ้นพอดี

“ใครก็คิดว่าเข้าเซเว่นอีเลฟเว่นได้แล้ว จากนั้นก็เป็นเรื่องง่ายแล้ว แต่ความจริงคือ หลังเข้าไปแล้ว เราเจอกับการแข่งขันสูงมาก เพราะพื้นที่บนเชลฟ์มีคู่แข่งรอแย่งมากมาย”

ต้องอาศัยการกระตุ้นด้วยการเติมสินค้าใหม่เข้าไป แต่เมื่อไม่ใช่บริษัทใหญ่ พนักงานน้อย ทำให้เสียโอกาส เพราะกว่าจะพัฒนาสินค้าเพิ่มตัวหนึ่งต้องใช้เวลานับปี ระหว่างที่รอสินค้าใหม่พัฒนาออกมา ก็ทำให้บริษัทเข้าสู่สภาวะตึงเครียดไม่น้อย เพราะสินค้าที่อยู่บนเชลฟ์เริ่มขายไม่ได้แล้ว

“ขนมเราเหมือนแฟชั่น เข้าไปตอนแรกคนตื่นเต้นขายได้ แต่พอนานไปยอดขายก็ค่อย ๆ ลดลง ลูกค้าไม่ได้กินขนมเปี๊ยะทุกวัน เมื่อนานวันเข้ายอดสั่งซื้อก็ลดลงเหลือเพียงวันละ 2,000 กล่อง”

แต่เธอก็ยังมีความเชื่อว่า อย่างไรทุกอย่างก็จะผ่านไปได้ด้วยดี จึงอดทนพยายามแก้ไข พัฒนา ปรับปรุงไป จนกระทั่งได้รสชาติใหม่ ๆ เข้าไปสร้างความตื่นเต้นให้ผู้บริโภคก็ช่วยกระตุ้นยอดขายกลับมาดี  โดยยอดขายขนมเปี๊ยะลาวาเพียงตัวเดียว ขายดีจน 7-Eleven ต้องปิดคลังสินค้า และเกิดกระแสขาดตลาด คนตามหาซื้อไม่เจอ จากเดิมที่คำสั่งซื้อ 40,000 ชิ้นต่อวัน กระโดดมาเป็น 400,000 ชิ้นต่อวัน สินคาที่จัดจําหน่าย ได้แก่ เปี๊ยะโมจิลาวาไข่เค็ม ซึ่งเป็นสินค้าเรือธงที่ยอดขายไม่เคยตกแม้ขายมา 3 ปีแล้ว ตามด้วยเปี๊ยะโมจิลาวาโอวัลติน เปี๊ยะหมูแดง เปี๊ยะจิ๋วไส้ถั่ว และอื่น ๆ อีกมากมายอีกกว่า 8 sku

เกิดมาพร้อมวิญญาณแม่ค้า

คุณอรเล่าถึงวัยเด็กที่เคยผ่านมาด้วยแววตาเปี่ยมสุขเมื่อนึกถึง เธอกล่าวว่า เมื่อตอนยังเด็กชื่นชอบการค้าขายมาก อะไรที่ทำแล้วได้เงินเธอจะพยายามสรรหามาขายทุกอย่าง ไล่ไปตั้งแต่แค็ตตาล็อก เรียงเบอร์ จับฉลากขูด โดยที่ไม่มีใครบอกให้ทำ มีกลุ่มลูกค้าคือ เพื่อน พนักงานในร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างของครอบครัว คนรอบข้างทุกคน

“อรจะปั่นจักรยานไปขายสินค้าตรงบ้านพักพนักงานของที่บ้าน แล้วก็ขายดีมาก จนคุณแม่ต้องเอ่ยปากห้ามปรามให้หยุด เพราะพนักงานซื้อของอรจนไม่มีเงินเหลือแล้ว แต่เราไม่ได้ขายเพราะอยากเอาเงินไปใช้อะไรเลยนะ แค่รู้สึกว่าอยากขายของ ทำแล้วมีความสุข นึกย้อนกลับไปยังจำไม่ได้เลยว่าเอาเงินไปทำอะไร พอเริ่มโตก็ยังเป็นเหมือนเดิม ตอนได้ช่วยธุรกิจที่บ้าน คอยเขียนบิล รับลูกค้า อรขายปูนได้เป็นหมื่น แม้ไม่ได้ส่วนแบ่งสักบาท แต่เราก็ดีใจ เพราะชอบค้าขายมาก”

ก้าวต่อไปในตลาดต่างประเทศ

April’s Bakery ได้เริ่มต้นในตลาดต่างประเทศมาสักพักเเล้ว ไปประเทศเวียดนาม ลาว ผ่านดิสทิบิวเตอร์  กัมพูชามีร้านแฟรนไชส์ รวมยอดขายในต่างประเทศขณะนี้น่าจะอยู่ที่ราว 1-2 ล้านบาทได้แล้ว

บทเรียนราคาแพง

“มีครั้งหนึ่งตอนไปบุกต่างประเทศ เราเข้าไปตั้งโรงงานเลย ทุ่มเงิน 30 ล้านบาท ซึ่งประเทศนั้นนำเข้าเนื้อสัตว์ไม่ได้ ประกอบกับของหวานขายดีกว่าของคาว ทำให้ต้องล้มเลิกไปก่อน เงินก้อนนั้นก็ซื้อบทเรียนว่า ต่อจากนี้ในการบุกตลาดต่างประเทศ เราจะไปแบบออนไลน์เพื่อโยนหินถามทางก่อน”

Key Success ของหญิงสาวที่ใช้ชีวิตด้วยระเบียบวินัย

คุณอรคิดว่าสิ่งที่ทำให้ตัวเธอเองประสบความสำเร็จเช่นทุกวันนี้ มาจากการเป็นคนมี “วินัย”

เธอตื่นตีสี่มาปั้นขนมในทุกวัน แม้จะเป็นวันที่เธอเหนื่อยมากเพียงใดก็ตาม ก็ยังคงตื่นมาทำเช่นนี้ทุกวันโดยไม่อิดออด ไม่เคยมีคำว่าผัดวันประกันพรุ่ง ตารางเวลาชีวิตค่อนข้างถูกจัดไว้อย่างมีระเบียบ

“คนที่เป็นครูของอร คือ หนังสือสร้างแรงบันดาลใจ อรชอบฟังคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วเอามาปรับใช้กับตัวเอง อรเชื่อในกฎแรงดึงดูดและความพยายาม ถ้าเราเชื่อว่าเราทำได้  มันจะทำได้เสมอ อย่างเช่น อรมองเห็นคอนโดหนึ่งแล้วรู้สึกว่าอยากครอบครองสุดท้ายก็ได้มันมา อรอยากพาขนมเข้าร้านสะดวกซื้อ แม็คโคร ขยายไปต่างประเทศ สิ่งที่อรคิดไว้ มันได้มาหมดเลย แต่อาจไม่ได้ใช้เวลาวันสองวันแล้วได้มันมานะ อาจใช้เวลามากกว่านั้น บางครั้งอาจนานแรมปี แค่เราต้องไม่ยอมแพ้”

บอกเคล็ดลับสักข้อให้คนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจของตัวเอง

ธุรกิจทุกวันนี้ทำยาก การแข่งขันสูง แต่เด็กรุ่นใหม่มีความเก่งฉลาด ไอเดียล้ำเลิศ เป็นนักสร้างสรรค์พัฒนา แต่ทว่าความอดทนยังน้อย หากเพิ่มความอดทนควบคู่ไปกับความเก่งกาจก็จะช่วยให้คนรุ่นใหม่ไปได้ไกลมาก

“ถ้าธุรกิจที่ทำมันยังไม่เห็นตัวเลขชัดเจน ก็ต้องหางานเสริมหลาย ๆ อย่าง ยิ่งในยุคนี้ออนไลน์สะดวกสบายยิ่งขึ้น ก็ควรลองทำหลาย ๆ อย่าง เราอาจไม่ได้ประสบความสำเร็จอยู่กับงานแค่งานเดียวก็ได้  ทุกความขยัน ตั้งใจ มีคนมองเห็นเสมอ”

 

นักธุรกิจที่ดีต้องรีสตาร์ตเก่ง

คุณอรเล่าว่าเธอมีคุณแม่เป็นต้นแบบ คุณแม่ในภาพจำของเธอคือนักธุรกิจหญิงแกร่งที่บริหารธุรกิจจนร้านก่อสร้างของครอบครัวแทบจะรวยอันดับต้นของนครสวรรค์ แต่พอเจอวิกฤตปี 40 ก็เจ๊ง แต่คุณแม่ก็รีสตาร์ตธุรกิจกลับมาใหม่ได้ ทำหน้าที่ในฐานะแม่และนักธุรกิจได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง

“อย่าเพิ่งบอกว่าตัวเองไม่มีเวลา คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน อรใช้เวลาทุกวินาทีได้อย่างคุ้มค่าเต็มเม็ดเต็มหน่วย ถ้าเราพยายาม ความสำเร็จจะรออยู่ปลายทางเสมอ มันเป็นเรื่องจริง ทุกอย่างถ้าเราไม่พยายาม ไม่ทำ ไม่มีทางเป็นไปได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเราจะเอา จะทำให้ได้ ยังไงผลลัพธ์ก็ออกมาประสบความสำเร็จเสมอ”

ร่างภาพฝันต่อไปของผู้หญิงที่สร้างธุรกิจ April’s Bakery ยิ่งใหญ่ด้วยความเชื่อ

ในปีนี้เตรียมพบกับสินค้าใหม่ 7-8 ตัว และจำหน่ายสินค้ากลุ่มโฟรเซ่นฟู้ดในแม็คโคร ทั้งนี้ ได้เปิดแบรนด์ใหม่ “หยวนเป่า” แบรนด์แฟรนไชส์ร้านขายขนมในหมวดของทอด ตั้งเป้าขยายสาขาให้ได้มากที่สุด เปิดแห่งแรกแล้วที่บิ๊กซีราชดำริ ตามด้วยสาขาเดอะมอลล์บางกะปิเป็นลำดับถัดไป  พร้อมทั้งตั้งเป้าเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2570 เพื่อขยายโรงงานไปในสเกลที่ใหญ่ขึ้น รองรับดีมานด์จากทั้งในและนอกประเทศ

บทสรุปของธุรกิจที่มีทั้งวันฟ้าเปิด แสงแดดรำไร เมฆบดบัง ฝนกระหน่ำ พายุซัดสาด สลับวันกันไป หากเชื่ออย่างถึงที่สุดว่าวันของเราจะมาถึง ทุ่มเทด้วยระเบียบวินัย พยายามอย่างเต็มที่ และอดทนรอวันที่ผลลัพธ์เบ่งบาน คือสูตรลับธุรกิจที่ อร กนกกัญจน์ มธุรพร ใช้ในการทำธุรกิจ

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online