ช่วงเทศกาลเช่นนี้ มีชื่อเทศกาลมากมายผ่านหูมาให้ได้ยิน บางชื่อหลายคนรู้จักมาก่อนหน้า แต่บางชื่อก็อาจยังสับสนว่าเป็นงานจากฟากฝั่งเอเชียเราหรือตะวันตก

เทศกาลดนตรีบางงานสร้างเงินสะพัดมากกว่า GDP ของบางประเทศ  มูลค่าตลาดเทศกาลดนตรีสดทั่วโลกคาดว่าจะสูงถึง 34,230 ล้านดอลลาร์ในปี 2024 ส่วนใหญ่เป็นเทศกาลในสหรัฐอเมริกา ราว 16,980 ล้านดอลลาร์ และจะขึ้นไปถึง 37,220 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2028 โดยมีอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR 2024-2028) ที่ 2.12%

วันนี้ Marketeer จะพาไปทำความรู้จักเทศกาลชื่อดังที่เราได้ยินชื่อบ่อยในช่วงนี้ ว่าแต่ละเทศกาลมีที่มาจากไหน

 

  • Rolling Loud

เป็นเทศกาลดนตรีฮิปฮอปนานาชาติ ที่เริ่มมาปี 2012 ที่จัดขึ้นในเอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ยุโรป และออสเตรเลีย ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้เข้าร่วมงานครั้งหนึ่งมากกว่าสองแสนคน

เทศกาลนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 2015 โดย Matt Zingler และ Tariq Cherif จากการเริ่มจัดจากงานปาร์ตี้เกี่ยวกับแร็ปและขยายสเกลงานไปสู่งานแสดงดนตรีสดที่เป็นทางการมากขึ้น แต่ขณะนั้นเทศกาลดนตรีเฉพาะทางยังไม่เป็นที่นิยมในวงกว้างเท่าใด Zingler และ Cherif เริ่มสังเกตเห็นความจำเป็นของการมีเทศกาลดนตรีเฉพาะแนวเพลง


ชื่อ Rolling Loud เกิดขึ้นมาครั้งแรกในไมอามี รัฐฟลอริดา ในปี 2012 มีกองทัพศิลปิน เช่น Schoolboy Q, Juicy J, Currensy และ Action Bronson มาร่วมในงานวันนั้น ที่จัดขึ้นใน Soho Studios ย่าน Wynwood ของเมือง กระแสตอบรับเป็นอย่างดี เพราะคนตื่นเต้นกับเทศกาลแนวใหม่นี้

ทำให้ในปีถัดมา Rolling Loud ได้ลองไปจัดในศูนย์การประชุม Mana Wynwood ที่ใหญ่ขึ้นอีกเท่าตัว และนำโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงขึ้นไปอีก Ty Dolla $ign, Young Thug และ Future นับแต่นั้นเป็นต้นมาเทศกาลก็ได้ขยายไปเมืองอื่น ๆ ต่อเนื่อง ทั้ง Rolling Loud Bay Area และ Rolling Loud Southern California, Rolling Loud Australia และ Rolling Loud NYC มีผู้เข้าร่วมงานแต่ละครั้งมากกว่า 200,000 คน

และในปี 2022 บริษัท มอร์รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ MORE ได้ทุ่มเงินพันล้านบาทซื้อลิขสิทธิ์การจัดงาน Rolling Loud ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2023 ถึงปี 2028 พร้อมสิทธิ์ขาดในการจัดงานในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเมืองไทยจัดขึ้นครั้งแรกวันที่ 13–15 เมษายน 2023


  • Tomorrowland

เป็นเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ขนาดใหญ่ของปี อีกหนึ่งเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกจัดขึ้นที่แอนต์เวิร์ป ประเทศเบลเยียม เปิดตัวครั้งแรกปี 2005 โดยพี่น้อง Manu และ Michiel Beers เป็นเทศกาลที่นำเสนอเพลงแนวป๊อป ฮิปฮอป แดนซ์  EDM ไว้อย่างหลากหลาย งานนี้ยังได้รับการโหวตให้เป็น “งานดนตรีที่ดีที่สุดแห่งปี” ห้าครั้งติดต่อกันในงาน International Dance Music Awards มีผู้เข้าร่วมงานสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่สามารถจำหน่ายตั๋วได้ 400,000 ใบ และตั๋วขายหมดในหนึ่งชั่วโมง

ความสำเร็จของ Tomorrowland นำไปสู่การสร้างเทศกาลที่แยกออกมา เช่น Tomorrowland Winter ฉบับฤดูหนาว ที่จัดขึ้นใจกลางรีสอร์ตโอลิมปิกที่ Alpe d’Huez ประเทศฝรั่งเศส


รายชื่อศิลปินคนดังที่เคยขึ้นเวทีงานนี้ อาทิ Tiësto, Budweiser, Axwell Λ Ingrosso, Martin Garrix, The Chainsmokers, Dimitri Vegas & Like Mike, Alan Walker และ ASAP Rocky

รวมถึง King Philippe และ Queen Mathilde ก็เคยเดินทางเข้าร่วมงานด้วย

นอกจากการตอบรับของบรรดาคอคอนเสิร์ตที่เดินทางมาชมการแสดงสดแล้ว ยอดสตรีมการแสดงสดของเทศกาลนี้บนโซเชียลมีเดียยังมียอดผู้ชมมากกว่า 1.2 พันล้านครั้ง จากผู้คนกว่า 200 ล้านคน

 

  • Coachella

ชื่อเต็ม ๆ คือ เทศกาลดนตรีและศิลปะ Coachella Valley เป็นเทศกาลดนตรีและศิลปะประจำปีที่ก่อตั้งโดย Paul Tollett และ Rick Van Santen ในปี 1999 จัดขึ้น ณ Empire Polo Club ในอินดิโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย จุดเด่นของงานคือจะจัดในทะเลทราย และมีงานศิลปะและประติมากรรมจัดแสดงอยู่ทั่วอาณาบริเวณ


จัดโดย Goldenvoice ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ AEG Presents ไลน์อัปศิลปินมาจากหลากหลายสายดนตรี ทั้งร็อก ป๊อป อินดี้ ฮิปฮอป และดนตรีอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์

จัดขึ้นครั้งแรกปี 1999 ช่วงแรกจัดเพียงสองวัน ก่อนค่อย ๆ เพิ่มวัน จนกระทั่งปัจจุบันอยู่ที่สุดสัปดาห์สามวันติดต่อกัน

ไลน์อัปศิลปินที่มาภายในงานค่อนข้างหลากหลาย และจะมีศิลปินหน้าใหม่ที่น่าจับตามองไปร่วมแสดงบนเวทีนี้ด้วย เป็นเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียงในสหรัฐฯ มากที่สุด อีกทั้งทำกำไรได้มากที่สุดอีกด้วย มีผู้เข้าร่วมรวม 250,000 คน ทำรายได้เกินหลัก 100 ล้านดอลลาร์

ความสำเร็จของ Coachella ยังทำให้ Goldenvoice เล็งเห็นการต่อยอดเทศกาลอื่น ๆ ขึ้นมา เช่น ดนตรีคันทรี่ Stagecoach เริ่มเมื่อปี 2007 เทศกาล Big 4 แทรชเมทัล ในปี 2011 และ Desert Trip แนวร็อกคลาสสิกในปี 2016

 

  • Summer Sonic

เทศกาลนี้กำเนิดขึ้นในญี่ปุ่นปี 2000 นาโอกิ ชิมิซุ เป็นผู้ก่อตั้ง จัดขึ้นพร้อมกันในสองเมืองใหญ่ ได้แก่ คันโตและคันไซ มีศิลปินเข้าร่วมมากมาย เคยมีวงดนตรีระดับตำนานอย่าง Guns N’ Roses เคยขึ้นแสดงมาแล้วด้วย

นอกจากศิลปินดังที่มาเป็นเฮดไลเนอร์ ผู้จัดงานยังพยายามนำศิลปินญี่ปุ่น kpop และต่างประเทศมารวมตัวกันให้หลากหลายทุกแนว เช่น Radiohead, Blur, Oasis, Blackpink, Metallica, Linkin Park, Daft Punk, New jeans และ Queen จะเห็นว่ารายชื่อศิลปินคือระดับตัวพ่อตัวแม่ของวงการดนตรี ทำให้งานนี้มักถูกจับตาไลน์อัปศิลปินเป็นประจำทุกปี

มีผู้เข้าร่วมงานหลัก 300,000 คนทั้งในโตเกียวและโอซากา และงานในปี 2022 ที่จัดขึ้นครั้งแรกหลังการแพร่ระบาด  ตั๋วเข้างานจำหน่ายหมดเกลี้ยงทั้งโอซากาตะวันออกและตะวันตก สะท้อนการเป็นเทศกาลที่โด่งดังระดับนานาชาติ

และจะเปิดการแสดงในไทย 24-25 สิงหาคมปีนี้  ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

เทศกาลดนตรี S2O

S2O Festival ย่อมาจาก Songkran Electronic Dance Music Festival เป็นงานเทศกาลดนตรีอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ที่จัดขึ้นช่วงสงกรานต์ เริ่มครั้งแรกในปี 2015 โดย บริษัท เอสทูโอ แฟคทอรี่ จำกัด โดยมีบริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ จำกัด เป็นผู้จัด ถือเป็นเทศกาลดนตรีสัญชาติไทยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

.

อ่าน: สองพี่น้อง “มิลินทจินดา” เจ้าของงาน S2O ตั้งเป้าปี 2022 ต้องไม่อยู่แค่ในเอเชีย


ศิลปินดังที่เคยมาร่วมแสดงบนเวที อาทิ NICKY ROMERO, SHOWTEK, KNIFE PARTY, YELLOW CLAW, FAT BOY SLIM, STEVE AOKI, TIËSTO, KREWELLA, OLIVER HELDEN, ANDREW RAYEL, KASKADE เป็นต้น

เคยส่งออกเทศกาลไปยังประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันช่วงฤดูร้อนมาแล้ว ผู้จัดงานยังตั้งเป้าให้ S2O เป็นหนึ่งในเทศกาลของวงการ EDM Festival ด้วย



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online