AACSB (The Association of Advance Collegiate School of Business) และ EFMD (European Foundation for Management Development) สองสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษานานาชาติ ที่มีชื่อเสียงของโลกจากอเมริกาและยุโรป ได้ให้การรับรองหลักสูตรการศึกษาของ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ยกฐานะเทียบเท่ามหาวิทยาลัย ฮาร์วาร์ด, สแตนฟอร์ด และเอ็มไอที
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงเหตุผลสำคัญในการตัดสินใจยื่นขอรับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติจาก AACSB และ EFMD คือต้องการผลักดันให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงในการทำงานภายในคณะเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการเป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของภูมิภาค และรองรับกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังทำให้เอเชียกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก
จากแนวความคิดดังกล่าวนำมาสู่การตัดสินใจยื่นขอรับการรับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติจาก AACSB และ EFMD และได้รับการรับรองจากทั้งสองสถาบันพร้อมกันในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เป็นสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจแห่งเดียวและแห่งแรกในไทยที่ได้รับรองคุณภาพมาตรฐานการศึกษาระดับโลกครบทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ซึ่งหมายความว่าบัณฑิตที่จบออกไปจากคณะในทุกระดับมีคุณภาพมาตรฐานทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ในโลก
ในลำดับแรกทางคณะฯ ได้ยื่นขอการรับรองมาตรฐานจาก AACSB ก่อนเนื่องจากมีชื่อเสียงเก่าแก่กว่า และในระหว่างนั้นทีมผู้บริหารคณะฯ ได้ยื่นขอการรับรองมาตรฐานเฉพาะหลักสูตรจาก EFMD อีกแห่ง ซึ่งทั้งสององค์กรให้การรับรองในเวลาไล่เลี่ยกัน โดย AACSB ให้การรับรองหลักสูตรทั้งคณะ ขณะที่ EFMD ให้การรับรองหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงิน (หลักสูตรภาษาอังกฤษ) เป็นเวลา 3 ปี และหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งถือเป็นเรื่องน่ายินดีอย่างยิ่งสำหรับคนไทย เพราะหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตเป็นหลักสูตรเดียวที่เปิดสอนนอกยุโรป แล้วได้รับการรับรองนาน 5 ปี“สถาบันการศึกษาที่เป็น Business School ทั่วโลกกว่าสามหมื่นแห่งต่างใฝ่ฝันอยากจะได้รับการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาจากสององค์กรนี้ แต่มีน้อยมากที่ได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Business School ที่ได้รับการรับรองจาก AACSB มีไม่ถึง 5% การที่คณะพาณิชศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เข้าไปอยู่ใน 5% นี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจมากสำหรับเรา บัณฑิตที่จบจากคณะฯ มีศักดิ์และสิทธิ์เทียบเท่าบัณฑิตจากฮาร์วาร์ด สแตนฟอร์ด หรือเอ็มไอที เป็นตัวแทนไทยที่จะไปสร้างชื่อให้ประเทศเป็นที่รู้จักในวงกว้างของโลก” รศ.ดร.พสุ กล่าว
ผลที่ได้รับจากการรับรองของสถาบันระดับโลก
การได้ใบรับรับรองจาก 2 สถาบันดังกล่าวนอกจากเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการทำงานในคณะฯ แล้ว ยังกลายเป็นเครื่องมือในการทำให้องค์กรมีความทันสมัยเทียบเท่านานาชาติ มีแนวทางในการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่งชัดเจน และยังส่งผลดีในอีกหลายๆ ด้านคือ
1. ทำให้คณะฯ มี โอกาสได้เข้าไปร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศมากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านั้น มีความมั่นใจในความเป็นมาตรฐานเดียวกัน
2. เป็นโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนอาจารย์จากต่างประเทศเข้ามามากขึ้น รวมทั้งจะได้อาจารย์จากต่างประเทศเข้ามาช่วยสอนที่คณะด้วย
3. เป็นผลดีกับตัวนิสิตของคณะเองในการไปสมัครงานหรือไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอื่นๆ เพราะเป็นนิสิตที่จบจากสถาบันที่มีการรับรองมาตรฐานระดับโลก
คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ กล่าวต่อว่าความสัมพันธ์ที่ดีและการสนับสนุนของนิสิตเก่าที่มีต่อคณะเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการขอการรับรองมาตรฐานจากทั้งสององค์กร เนื่องจาก ต้องรายงานอย่างละเอียดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่นิสิตเก่ามีส่วนร่วม รวมทั้งการสัมภาษณ์ศิษย์เก่าของคณะกรรมการตรวจเยี่ยม ในส่วนนี้ คณะฯ มีความสัมพันธ์และได้รับการสนับสนุนจากนิสิตเก่าอย่างดียิ่ง ซึ่งศิษย์เก่าให้การสนับสนุนคณะฯ ทั้งอย่างเป็นส่วนตัว การสนับสนุนผ่านองค์กรที่ทำงาน และการสนับสนุนในรูปแบบสมาคมนิสิตเก่า ซึ่งมี 3 สมาคมด้วยกัน ได้แก่ สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สมาคมนิสิตเก่า MBA และสมาคม MMP
อย่างไรก็ตามการรับรองคุณภาพดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นโดยคณะฯ จะมีแผนปรับปรุงคุณภาพและมีนวัตกรรมในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อชื่อเสียงของสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจของไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก และพร้อมแนะแนวทางให้สถาบันการศึกษาอื่นที่มีความประสงค์ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้านบริหารธุรกิจเพื่อการก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ