เป็นข่าวครึกโครมอีกครั้งเมื่อ โยธิน บุญดีเจริญ ประธานกรรมการ บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) ประกาศขาย หุ้น GLAND ให้กลุ่มเซ็นทรัล หลังจากก่อนหน้านี้ได้ประกาศสร้างตึกสูงที่สุดในเมืองไทย The Super Tower สูงประมาณ 125 ชั้น ในโครงการ The Grand Rama 9 เมื่อปี 2557
โยธินไม่ใช่ “มือใหม่”ในวงการอสังหาริมทรัพย์แต่เคย เป็น “มือเก๋า” ของวงการพัฒนาที่ดินในเมืองไทยตั้งแต่ยุคแรกๆ เมื่อประมาณ 40 กว่าปีก่อน
เขาเป็นลูกชายคนโตของเจริญ บุญดีเจริญ เจริญเป็นพี่ชายของศิริวรรณ ภรรยาของมงคล กาญจนพาสน์ ดังนั้นเขาคือลูกพี่ลูกน้องของอนันต์ ผู้บุกเบิกการสร้างเมืองใหม่ในเมืองทองธานี และคีรีผู้เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าบีทีเอสและโครงการอสังหาริมทรัพย์อีกมากมายนั่นเอง
ความเป็นเครือญาติกับตระกูลกาญจนพาสน์ทำให้เจริญและลูกๆ 3 คนคือ โยธิน ธาตรี และอุทัย มีส่วนในการช่วยบริหารงานในธุรกิจที่ดินของกลุ่มเมืองทองตั้งแต่เริ่มแรก โดยเฉพาะโยธินที่จบการบริหารมาจากฮ่องกงหมาดๆ
ในช่วงปี 2516-2521 มงคลหลบไปอยู่ที่ฮ่องกงพักใหญ่เพราะปัญหาทางการเมือง พ่อลูกตระกูลบุญดีเจริญจึงยิ่งเป็นกำลังหลักที่สำคัญ
ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มบางกอกแลนด์ในธุรกิจพัฒนาที่ดินในทุกวันนี้จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า มีรากฐานสำคัญมาจากฝีไม้ลายมือของตระกูลบุญดีเจริญ ก่อนที่ลูกชายทั้ง 2 ของมงคลจะลอดลายมังกรกลับจากฮ่องกงมาต่อยอดธุรกิจในยุคที่ดินเมืองไทยบูมสุดๆ ประมาณปี 2530 จนถึงปัจจุบัน
แต่ในขณะเดียวกันประสบการณ์ที่ได้จากเมืองทอง รวมทั้งสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกลายเป็นหน่ออ่อนที่เติบโตแกร่งกล้าของโยธิน และธาตรีน้องชาย ที่ออกมาสร้างอาณาจักรด้านอสังหาริมทรัพย์ของตนเองคือ “ยูนิเวสท์กรุ๊ป” เมื่อประมาณปี 2524 ร่วมกับวัฒนศักดิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา บุรินทร์ วงศ์สงวน พิชัย วาศนาส่ง
โครงการพัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ที่เมืองเอก รังสิต ซึ่งมีคอนเซ็ปต์การสร้างสนามกอล์ฟในหมู่บ้านแล้วขายสิทธิการเป็นสมาชิกควบไปกับขายที่ดิน เป็นหนึ่งในผลงานของยูนิเวสท์กรุ๊ป
หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยการเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทสยามนำโชค ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้วของกลุ่มซีพี ที่ทำให้ในปี 2533 ทรัพย์สินรวมของยูนิเวสท์แลนด์เพิ่มขึ้นเป็น 3 หมื่นล้านบาท จุดสำคัญอย่างหนึ่งก็คือสยามนำโชคเป็นกลุ่มที่มีที่ดินอยู่ในมือมากมาย และได้ถูกยูนิเวสท์กรุ๊ปนำออกมาพัฒนา พร้อมกับขยายธุรกิจออกไปอย่างต่อเนื่อง
ยูนิเวสท์กรุ๊ป “โตแล้วแตก” ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 เพราะขาดสภาพคล่องทางการเงิน จนต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
ชื่อของ โยธิน บุญดีเจริญ หายเงียบไปนานเกือบ 10 ปี
ปี 2552 “โยธิน” กลับคืนวงการอีกครั้งหนึ่ง ด้วยการส่ง บริษัท เจริญกฤษ เอ็นเตอร์ไพร้ส์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวบุญดีเจริญ เข้าไปถือหุ้นใหญ่ใน GLAND ของ “กลุ่มรัตนรักษ์” พันธมิตรเก่าแก่ตั้งแต่สมัยพัฒนาที่ดินให้กลุ่มเมืองทอง ที่ถือหุ้น GLAND ผ่าน บมจ.กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ อยู่แล้วแต่เดิม
หลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์พร้อมเพิ่มทุนจดทะเบียน รวมถึงปรับโครงสร้างธุรกิจแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2554 จุดแข็งของ GLAND ก็คือการที่กลุ่มบุญดีเจริญยังมีที่ดินในมือหลายแปลง ส่วนกลุ่มรัตนรักษ์ก็คือแลนด์ลอร์ดกระเป๋าหนักคนหนึ่งของเมืองไทย
The Grand Rama 9 อภิมหาโปรเจ็กต์ของ GLAND ในพื้นที่ 73 ไร่ใจกลางถนนพระราม 9 ตัดกับถนนรัชดาภิเษก ถูกพัฒนาไปแล้วหลายโครงการ เช่น โครงการยูนิลีเวอร์เฮ้าส์ จีทาวเวอร์แกรนด์พระราม 9 เบ็ลแกรนด์พระราม 9 โดยมีไฮไลต์สำคัญสุดท้ายคือ The Super Tower อาคารที่ตั้งเป้าจะให้เป็นแลนมาร์กของเมืองไทยที่มีความสูงที่สุดในอาเซียน ประกอบไปด้วยอาคารสำนักงาน, โรงแรมระดับ 6 ดาว, ห้องประชุม, ภัตตาคาร และชั้นบนสุดจะเป็นจุดชมวิว
เป็นความท้าทาย ความหวังครั้งสำคัญของโยธินในวัย 70 กว่าปี เขามั่นใจว่าคราวนี้เป็นการพัฒนาโครงการที่ถูกที่ ถูกเวลา เพราะอสังหาริมทรัพย์กำลังตื่นตัวอย่างมากในเมืองไทย
วันนี้ เขาคงไปไม่ถึงฝัน เพราะเพิ่งเทขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับกลุ่ม CPN รวมมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท แม้ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ และบริษัทย่อยสำหรับปี 2560 ซึ่งมีรายได้จำนวน 2,855.36 ล้านบาท และมีผลกำไรสุทธิจำนวน 1,069.89 ล้านบาท และโครงการ The Super Tower จะลงมือก่อสร้างในส่วนของอาคารจอดรถและพื้นที่ค้าปลีกไปบ้างแล้วก็ตาม
แต่ตัวเลข ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา จะพบว่ามีตัวเลขหนี้สินรวมจะอยู่ที่ 11,733 ล้านบาท ในขณะที่รายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 919 ล้านบาทเท่านั้น
The Super Tower มูลค่าการลงทุนสูงเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ยังต้องใช้เงินจำนวนมากในขณะที่ผู้ร่วมทุนก็ยังไม่ชัดเจน
การขายหุ้นออกไปเพื่อให้บิ๊กแบรนด์มืออาชีพกระเป๋าตุงอย่างเซ็นทรัลพัฒนาที่สามารถผนึกรวมโครงการเป็นเนื้อเดียวกับโครงการ เซ็นทรัลพระราม 9 ได้นั้น น่าจะเป็นทางออกที่สวยงามที่สุดของเขาในวันนี้
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



