ถ้าเอ่ยชื่อ มูจิ สาวกของโลก มินิมอล คงจะรู้จักกันดี ในฐานะแบรนด์เสื้อผ้าและเครื่องใช้ที่ออกแบบบนพื้นฐานคำว่า มินิมอล น้อย แต่ มาก อย่างแท้จริง

สำหรับประเทศไทย มูจิ เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2549 รวมแล้วก็เป็นเวลากว่า 13 ปีในประเทศไทย โดยกลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้ซื้อแฟรนไชส์มาทำตลาด

แม้มูจิจะเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยมายาวนานก็ตาม แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญของมูจิคือ ปี 2556 ที่ เรียวฮิน เคคาขุ จำกัด เจ้าของแบรนด์มูจิ รุกธุรกิจอย่างจริงจังมากขึ้น จากการมองเห็นโอกาสการเติบโตในไทย ด้วยการจับมือกับกลุ่มเซ็นทรัล จัดตั้งบริษัท มูจิ รีเทล (ประเทศไทย) ขึ้นมา เพื่อทำตลาดมูจิ ในประเทศไทยโดยเฉพาะ

ทำให้หลายปีที่ผ่านมาช็อป มูจิ ในประเทศเริ่มมีสีสันจากความหลากหลายของสินค้าที่นำเข้ามาจำหน่าย ที่มาพร้อมกับพื้นที่ร้านที่มีขนาดใหญ่ขึ้น บนการจัดวางสินค้าที่คงความมินิมอลเหมือนมูจิประเทศญี่ปุ่น

การรุกตลาดอย่างจริงจังของมูจิ ทำให้มูจิประเทศไทยมีการเติบโตด้านรายได้อย่างก้าวกระโดดต่อเนื่องทุกปี จาก 391 ล้านบาทในปี 2556 เป็น 871 ล้านบาทในปี 2560

แม้รายได้ของมูจิ ประเทศไทย จะเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่จุดอ่อนของมูจิ ประเทศไทย ก็คือ ราคาสินค้าที่สูงกว่าประเทศญี่ปุ่น เฉลี่ย 10-20% จากภาษีนำเข้าและอื่นๆ ซึ่งถือเป็นช่องว่างที่ทำให้มูจิ ประเทศไทย ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าระดับแมสได้เหมือนกับมูจิในประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งช่องว่างด้านราคานี้ ซาโตรุ มัทสึซากิ ประธานกรรมการผู้จัดการและตัวแทนผู้บริหาร บริษัท เรียวฮิน เคคาขุ จำกัด เคยกล่าวไว้เมื่อปี 2560 ในวันที่เดินทางมาเปิดมูจิแฟลกชิปสโตร์ประเทศไทย ถึงโร้ดแมปของมูจิ ประเทศไทยไว้ว่า เขามีความต้องการที่จะปรับราคาสินค้ามูจิที่จำหน่ายในประเทศไทยให้มีราคาเท่ากัน หรือใกล้เคียงกับมูจิประเทศญี่ปุ่น ภายในปี 2563

และถ้าซาโตรุ ลดแก็บช่องว่างด้านราคาได้สำเร็จ อาจจะทำให้ธุรกิจของมูจิ ประเทศไทย สามารถสร้างรายได้อย่างก้าวกระโดดยิ่งขึ้น จากการขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มพรีเมียมสู่แมส

โมเดลราคาสินค้าในประเทศไทยให้เท่ากับประเทศญี่ปุ่นมีความท้าทายไม่น้อย แต่ที่ผ่านมา แบรนด์ยูนิโคล่ ที่วางตัวเองเป็นสินค้าคุณภาพที่ทุกคนสามารถเข้าถึง ก็เคยปรับราคาสินค้าที่จำหน่ายในประเทศไทยให้เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับยูนิโคล่ ญี่ปุ่น มาแล้ว

และราคาที่ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น และกลยุทธ์การตลาดที่ยูนิโคล่ ประเทศไทย ทำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ยูนิโคล่ ประเทศไทย มีรายได้ในระดับหมื่นล้านบาท และกำไรที่มากกว่ารายได้ของมูจิเสียด้วย

 

 

Marketeer FYI

MUJI กับ กลยุทธ์สร้างแบรนด์โดยไม่มีแบรนด์

มูจิ เป็นแบรนด์สินค้าของบริษัท เรียวฮิน เคคาขุ จำกัด ที่เริ่มต้นธุรกิจในปี 2523 จากสินค้า 40 ไอเท็ม 

จุดเริ่มต้นของมูจิมาจากที่ ​เซจิ ซึซูมิ เจ้าของห้าง ประธานห้างสรรพสินค้าเซยู ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ประสบปัญหาจากการแข่งขันลดราคาสินค้าเพื่อหนีตายจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวของญี่ปุ่น
เชจิได้มองว่า การรักษาธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัยได้นั้น จำต้องหาธุรกิจใหม่ๆ ที่มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาเป็นตัวช่วยพยุงให้ธุรกิจอยู่รอด

เขาจึงได้สร้างแบรนด์มูจิขึ้นมา เพื่อเป็นแบรนด์ที่เน้นคุณภาพจากการคัดสรรวัตถุดิบ แต่ตัดส่วนปลีกย่อยที่ไม่จำเป็นออกเพื่อให้ต้นทุนต่ำ ทำให้สินค้าของมูจิมีความเรียบง่าย ทั้งดีไซน์ และบรรจุภัณฑ์ พร้อมวางตัวเองเป็นสินค้าสำหรับทุกคนในราคาที่จับต้องได้

เพราะคำว่า MUJI มีที่มาจากคำว่า Mujirushi Ryohin ในภาษาญี่ปุ่น มีความหมายว่า “สินค้าคุณภาพดีที่ไม่มีแบรนด์

กลยุทธ์การสร้างแบรนด์ไม่มีแบรนด์ เป็นการสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจในยุคนั้น และได้กลายเป็นกลยุทธ์สร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งของมูจิจวบจนวันนี้

สินค้าของมูจิไม่มีการติดแบรนด์อยู่ในนั้น แต่ด้วยดีไซน์เรียบง่าย แต่มีรายละเอียดและฟังก์ชันในการใช้งาน บนคอนเซ็ปต์ Less is more เป็นคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนแตกต่างจากคู่แข่ง เพื่อนำดีไซน์เป็นกลยุทธ์สร้างการจดจำแทนโลโก้ที่แบรนด์ทั่วโลกนิยมให้เป็นกลยุทธ์การตลาดในการสร้างการจดจำกับลูกค้า

เพราะดีไซน์ของมูจินี่เอง ทำให้สามารถสื่อสารให้ลูกค้าของมูจิรู้ได้ทันทีว่าสินค้าที่อยู่ตรงหน้าเป็นสินค้าของแบรนด์มูจิ

นาโอโตะ ฟุคาซาวา ดีไซเนอร์ท่านหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับมูจิ เคยให้สัมภาษณ์เมื่อมาเยือนเมืองไทยว่า หัวใจการออกแบบของมูจิมาจาก 4 แนวทางหลักคือ

  1. ดีไซน์เรียบง่าย
  2. เน้นฟังก์ชันการใช้งาน
  3. ราคาสมเหตุสมผล
  4. วัตถุดิบในการผลิตมาจากธรรมชาติ

นอกจากนี้มูจิยังมีกลยุทธ์ด้านดีไซน์ที่น่าสนใจคือ การเปิดให้ลูกค้าของมูจิเข้ามาออกแบบสินค้ามูจิ ซึ่งถ้าแบบไหนเข้าตากรรมการจะมีการนำสินค้าไปผลิตเพื่อจำหน่ายภายใต้แบรนด์มูจิต่อไป ซึ่งกลยุทธ์นี้ถือว่าเป็นการสร้างความใกล้ชิดกับผู้บริโภค และสร้างความภักดีกับแบรนด์ด้วยการดึงผู้บริโภคเข้ามามีส่วนร่วมกับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

ในปี 2560 มูจิ มีรายได้ทั่วโลก 379.55 พันล้านเยน เติบโตจากปี 2559 มากกว่า 10% จากสาขา 700 แห่งทั่วโลก และสินค้ากว่า 7,000 รายการ โดย 3 หมวดสินค้าที่ขายดีที่สุดได้แก่เครื่องเขียน สุขภาพความงาม และเฟอร์นิเจอร์

ส่วนปัจจุบัน มูจิมีสาขามากกว่า 928 สาขา ใน 28 ประเทศทั่วโลก ที่มาพร้อมกับธุรกิจใหม่ๆ อย่างเช่น โรงแรม หมู่บ้าน โคเวิร์กกิ้งสเปช ร้านขายของชำ ร้านขายอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน และรถยนต์ไร้คนขับ เป็นต้น

 

 

 

 

 

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online