วันนี้เรื่องของ “ขยะ” กำลังกลายเป็นวาระแห่งชาติ
จำนวนประชากรบนโลกใบนี้ที่คาดว่าจะสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคนภายในปี ค.ศ. 2050 นำไปสู่ความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ขณะที่ทรัพยากรโลกมีจำกัด
ตลอดจนเมื่อสิ้นสุดวงจรการบริโภคก็มีการ “ทิ้ง” ที่ก่อให้เกิดปัญหา ”ขยะ” จนนำไปสู่ปัญหาสภาวะโลกร้อน ที่กำลังส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตบนโลก
แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เป็นระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและนำสินค้าที่ใช้แล้วจากการบริโภคกลับเข้ามาสู่กระบวนการผลิตอีกครั้ง (Make-Use-Return) ถือเป็นทางออกที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวซึ่งกำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน
นั่นคือเหตุผลสำคัญที่สุดที่ทำให้ เอสซีจี เป็นผู้นำในการจุดประกายความคิดเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy” โดยเริ่มคิกออฟมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมาด้วยการจัดงาน SD Symposium 2018
และในปี 2019 นี้ เอสซีจียังคงขับเคลื่อนแนวคิดดังกล่าว ผ่านการจัดงาน SD Symposium ภายใต้หัวข้อ SD Symposium 10 Years : Circular Economy-Collaboration for Action โดยผนึกกำลัง 45 พันธมิตรภาครัฐ เอกชน และประชาชน ทั้งระดับประเทศและระดับโลกได้จำนวนประมาณ 1,500 คน ระดมสมองลุยแก้วิกฤตทรัพยากรด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
รณรงค์การ “ใช้ให้คุ้ม แยกให้เป็น ทิ้งให้ถูก” เพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตลอดวงจรการผลิต การบริโภค และการนำกลับมาใช้ใหม่ หวังสร้างอุตสาหกรรมยั่งยืน แก้ปัญหาขยะในทะเล สร้างคุณภาพชีวิตของชุมชนให้ดีขึ้น
ข้อสรุปจากการสัมมนาครั้งนี้ได้ถูกนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้เข้ามาร่วมงานในช่วงเย็นวันนั้นทันที
4 แนวทางนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี
1. ยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานรองรับการบริหารจัดการขยะ โดยหน่วยงานภาครัฐควรมีบทบาทสนับสนุนให้เกิดระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ด้วยการยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานและจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การบริหารจัดการขยะแบบคัดแยกที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร ดังเช่นประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย
2. ผลักดันให้ภาคธุรกิจผลิตสินค้าที่เอื้อต่อการรีไซเคิล และมีส่วนรับผิดชอบจัดการซากสินค้าเมื่อสิ้นอายุการใช้งาน โดยกำหนดมาตรฐานการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่คำนึงถึงขยะที่จะเกิดขึ้นหลังการใช้งานว่าให้สามารถนำมาหมุนเวียนและเพิ่มมูลค่าได้ และสร้างมาตรฐานอุตสาหกรรมให้มีส่วนผสมของวัสดุรีไซเคิลในปริมาณที่เหมาะสม ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวของส่วนราชการและภาครัฐ
3. รณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนลดการสร้างขยะและเพิ่มการรีไซเคิล โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน เริ่มจากครอบครัวต้องปลูกฝังลูกหลาน โรงเรียนต้องบรรจุแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นหลักสูตรภาคบังคับในทุกระดับชั้น ส่วนภาครัฐ ภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน ต้องช่วยกันประชาสัมพันธ์การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า การคัดแยกขยะเปียกและขยะที่รีไซเคิลได้ และการไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง
4. การบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษที่มีอยู่อย่างจริงจัง โดยส่งเสริมการจัดการขยะเปียกในครัวเรือนให้มีประสิทธิภาพ การกำหนดวันจัดเก็บขยะตามประเภท การห้ามทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ การดูแลบ่อทิ้งขยะใกล้แหล่งน้ำเพื่อป้องกันขยะรั่วไหลสู่ทะเล
ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายมาตรฐานฉลากผลิตภัณฑ์ให้ผู้ผลิตต้องแจ้งข้อมูลวิธีการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์หลังใช้งานตามประเภทของวัสดุ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชน และภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายห้ามทิ้ขยะลงแหล่งน้ำอย่างเคร่งครัด จับจริง ลงโทษจริง
ปัจจุบันในเรื่องขยะ ภาครัฐจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเพื่อผลักดันการดำเนินการบริหารจัดการขยะ เช่น การจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559-2564) การจัดทำ (ร่าง) โรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ พ.ศ. 2561-2579 ซึ่งทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เห็นผลจริงภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วนต่อไป
สุดท้าย นายกรัฐมนตรีได้ยืนยันในงานสัมมนาครั้งนี้ว่า สิ่งที่ทุกท่านได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมความคิดในวันนี้ ไปส่งเสริมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปรับใช้ ตลอดจนสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้ เพื่อร่วมกันผลักดันสู่การลงมือปฏิบัติจริงให้ได้ต่อไป
Circular Economy ไม่ใช่ทางเลือกของธุรกิจ แต่เป็นกุญแจสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน
การนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ จะช่วยก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อธุรกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต สร้างความสามารถในการแข่งขัน และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่การลดการพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ สร้างคุณค่าให้แก่องค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
ในปีที่ผ่านมาเอสซีจีจึงได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจจำนวนมาก เพื่อขับเคลื่อนให้ผู้มีส่วนได้เสียตลอดห่วงโซ่การทำธุรกิจ โดยมุ่งหวังให้เป็นต้นแบบของธุรกิจที่มีส่วนช่วยรักษาทรัพยากร และสามารถเผยแพร่แนวปฏิบัตินี้ไปยังพันธมิตรต่างๆ ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ เช่น
กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง
เอสซีจี เป็นองค์กรผู้ร่วมก่อตั้งกับ 14 องค์กรชั้นนำในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ การผลิต การติดตั้ง จนถึงการนำของเสียที่เหลือกลับมาหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพ
ร่วมกับบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) ดำเนิน “โครงการ Recycle Concrete Road”
ร่วมกับบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ดำเนิน “โครงการ Construction Waste Reducing Project”
อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์
ร่วมกับธุรกิจต่างๆ นำกล่องและเศษกระดาษที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิล ได้แก่
ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ – เทสโก้ โลตัส, CP All, MAKRO, CPN, Family Mart, วิลล่ามาร์เก็ต, Super Cheap, CJ Express, อิออน (ไทยแลนด์)
ธุรกิจบริการขนส่ง – DHL, Lazada express
ธุรกิจการเงินการธนาคาร – KBANK
ธุรกิจกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค – ไทยเบฟเวอเรจ, กลุ่มธุรกิจ CP
ร่วมกับ S&P ปรับโฉมบรรจุภัณฑ์กรีน ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรคุ้มค่าให้กับผู้บริโภค
ชุดของขวัญส่งมอบความสุขให้กับผู้บริโภค
อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์
ร่วมกับ IKEA ในการทำศูนย์รีไซเคิลเพื่อสร้างแรงจูงใจในการรีไซเคิล โดยเอสซีจีช่วยออกแบบวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อประกอบการใช้งานในศูนย์
ร่วมกับกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย ดำเนินโครงการ “Recycle Plastic Road”
ความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาขยะในทะเล
เอสซีจี ร่วมก่อตั้งภาคีเครือข่ายองค์กรภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม โดยนำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาประยุกต์ใช้เพื่อจัดการขยะพลาสติกในประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยมีเป้าหมายในการนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ร้อยละ 100 ภายในปี 2570 และลดปริมาณขยะพลาสติกในทะเลไทยลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2570
นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือกับภาครัฐ และความร่วมมือกับชุมชนอีกหลายเรื่อง หลายชุมชน เช่น ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกลุ่มประมงพื้นบ้าน ดำเนิน “โครงการบ้านปลารีไซเคิล เปลี่ยนขยะพลาสติกให้เป็นบ้านปลา” ร่วมกับชุมชน ต.บ้านสา และ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ดำเนิน “โครงการจัดการขยะชุมชน”
ทั้งหมดที่เอสซีจีทำมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกภาคส่วนร่วมรับรู้และเข้าใจว่าระบบเศรษฐกิจนี้มีพลังในการเปลี่ยนโลกธุรกิจและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีพลังมหาศาล
ในขณะเดียวกัน ได้สร้างความตื่นตัวในเรื่องนี้กับคนในเอสซีจีเอง โดยมีการกระตุ้นและเชิญชวนพนักงานและชุมชนให้นำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันตามแนวทาง SCG Circular way ที่เน้นการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่อย่างคุ้มค่าด้วย
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



