บริษัท 100 ปี มีดีอะไร ? วิเคราะห์ความสำเร็จขององค์กรไทยที่ทำธุรกิจมากว่า 1 ศตวรรษ
กว่าจะสร้างองค์กรให้มีอายุเป็น 100 ปีได้ ไม่ได้เดินมาแบบสวยๆ แล้วย่อตัวลงรับมง แต่ละบริษัทต้องเจออะไรมากมาย บทเรียนของการเดินทาง ย่อมไม่ธรรมดาแน่นอน
เมืองไทยมีบริษัทที่อายุ กว่า 100 ปีหลายบริษัท แต่ 5 บริษัทข้างล่างนี้ “ใหญ่” จริงทั้ง “รายได้ และกำไร” มากว่าศตวรรษ
บริษัท 100 ปี ?
139 ปี ไปรษณีย์ไทย
ประเทศไทยได้มีการเปิดบริการไปรษณีย์ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2423 ก่อนเปลี่ยนเป็นบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เมื่อปี 2546
เป็นองค์กร 100 ปี องค์กรหนึ่งที่ต้องดิ้นรนหาหนทางเพื่อความอยู่รอดมาตลอด กว่าจะยืนหยัดอยู่ได้ในวันนี้ ท่ามกลางคู่แข่งมากมายหลายแพลตฟอร์มที่ดาหน้าเข้ามาทั้ง Grab, GET, LINE MAN ที่เป็นเดลิเวอรี่ออนดีมานด์ แล้วยังมีบริการ “ส่งด่วน” Kerry, J&T, Flash, Best ยังไม่รวมอีมาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ ทั้งลาซาด้าและช้อปปี้ รวมทั้งร้านค้าปลีกต่างๆ ก็มีบริการโลจิสติกส์ของตัวเองแล้ว
เมื่อ 10 ปีก่อนธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับไปรษณีย์ไทย 70% อยู่ที่กลุ่มธุรกิจสื่อสาร ประกอบด้วย การจำหน่ายแสตมป์ ไปรษณียบัตร การจัดส่งพัสดุ และจดหมายด่วน
นอกจากเทศกาลฟุตบอลโลกแล้ว ไปรษณีย์ไทยก็ชื่นชอบเทศกาลเลือกตั้งเป็นที่สุด เพราะจะมีรายได้จากการขนบัตรเลือกตั้งเข้ามาช่วยเสริม
ในปี 2549 แค่จดหมายธรรมดาก็มียอดการจัดส่ง 1,690 ล้านชิ้น พัสดุไปรษณีย์ 11 ล้านชิ้น และบริการพิเศษ 128 ล้านชิ้น ทำรายได้ให้ ปณท ปีละนับหมื่นล้านบาท
เป็นเจ้าเดียวที่แทบจะผูกขาดกิจการนี้มานานนับศตวรรษ
วันนั้นเทคโนโลยียังไม่เข้ามาดิสรัปธุรกิจชัดเจน คู่แข่งก็ยังไม่เห็นแต่ ปณท ก็มีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง
1 มกราคม 2549 ปณท ทำการ Re-brand เพื่อเปลี่ยนภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ที่สุดของไปรษณีย์ไทย โดยว่าจ้างบริษัท Enterprise IG ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำ “Corporate Identity” หรือ CI ให้กับองค์กรชั้นนำเพื่อช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้แบรนด์ไปรษณีย์ให้ดีขึ้น
เมื่อรายได้จากการส่งจดหมาย ขายแสตมป์ ลดลง แต่รายได้ของ ปณท ยังไม่ลด จดหมายไม่มีส่งก็เน้นในเรื่องส่งพัสดุ รวมทั้งแหนมเนือง ขนมไหว้พระจันทร์ และของกินอื่นๆ ตามแคมเปญ “อร่อยทั่วไทย”
โชคดีที่อานิสงส์ของอีคอมเมิร์ซขยายตัวอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับการเข้ามาของคู่แข่ง
บริการอื่นๆ นอกจากการส่งของเลยออกมารัวๆ เพื่อดึงคนเข้าไปใช้บริการ เช่น บริการ Prompt Post เตรียมการฝากส่งล่วงหน้าได้จากที่บ้าน ไม่ต้องเสียเวลาในการมารอคิว ชำระเงินค่าสินค้าและบริการต่างๆ ครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ เช่น สาธารณูปโภค ธุรกิจเช่าซื้อ บัตรเครดิต, จับมือกับไปรษณีย์ญี่ปุ่น จัดส่งอาหารแช่แข็งจากแดนปลาดิบ จองตั๋วการเดินทาง รถทัวร์ บขส. และรถร่วมบริการ ตลอดจนตั๋วการแสดงและกีฬา บริการโอนเงินด่วนระหว่างประเทศ เวสเทิร์น ยูเนี่ยน ทั้งฝากส่งและรับเงิน ภายใต้ความร่วมมือระหว่างบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด กับบริษัท เวสเทิร์น ยูเนี่ยน
ปี 2563 ไปรษณีย์ไทยกำลังเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านอีกครั้ง เมื่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ “สมร เทิดธรรมพิบูล” จะหมดวาระในเดือน ม.ค. 2563
สู้ต่อไป ไปรษณีย์ไทย!
137 ปี บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (“บีเจซี”)
ประวัติศาสตร์บทที่ 1 เริ่มต้นเมื่อปี 2454 ชาวสวิส 2 คนคือ อัลเบิร์ต ยุคเกอร์ และเฮนรี่ ซิกก์ ตั้งบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าขึ้นมาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในปี 2508 ได้เปลี่ยนเป็นชื่อ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด ถัดมาในปี 2518 เป็นหนึ่งในเจ็ดบริษัทแรกที่เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย
สินค้าที่ บีเจซี เป็นตัวแทนจำหน่ายและคนไทยคุ้นหูกันดี เช่น กระดาษชำระอเนกประสงค์ เซลล็อกซ์ เครื่องเขียน BIC กาวยู้ฮู แปรงสีฟันตราวิคตอรี่ และยังมีการผลิตสินค้าเอง เช่น สบู่หอมตรานกแก้ว สบู่หอมโรเซท เดอร์มาพอน
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของบริษัทนี้เกิดขึ้นเมื่อกลุ่มของเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้นใหญ่ โดยปัจจุบันให้ “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล “เขยเล็ก” สามี ฐาปณี บุตรสาวคนสุดท้อง เป็นผู้บริหาร และเป็นกำลังหลักในการขยายตลาดไปยังภูมิภาค
ดีลสำคัญที่ลือลั่นเมื่อปี 2559 คือการที่ “บีเจซี” เข้าไปซื้อกิจการ “บิ๊กซี” มูลค่า 2 แสนล้านบาท ส่งผลให้กลุ่มบริษัทบีเจซีเป็นผู้ให้บริการธุรกิจค้าปลีก 1 ใน 3 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ณ สิ้นปี 2561 บิ๊กซีมีจำนวนสาขาครอบคลุมทั่วประเทศไทยกว่า 1,131 สาขา วันที่ 4 ธันวาคมนี้จะไปเปิดสาขาที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา
ในขณะที่โครงสร้างธุรกิจก็เปลี่ยนไป จากลงทุนกลายเป็นขยายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ “ต้นน้ำ” เริ่มจากโรงงานที่เป็นฐานทัพการผลิตสินค้าทั้งสิ้น 13 แห่ง ครอบคลุมในประเทศไทย เวียดนาม ลาว เมียนมา กัมพูชา และมาเลเซีย
“กลางน้ำ” มีระบบการจัดจำหน่ายผ่านบริษัทในเครือ ก่อนจะตอกย้ำด้วย “ปลายน้ำ คือร้านค้าปลีก ที่ไปเทกโอเวอร์มา และจากออฟไลน์กำลังขยายเข้าสู่ออนไลน์ เป็นบิ๊กซี ช้อปปิ้งออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มของ Shopee ซึ่ง ณ สิ้นปี 2561 ร้านค้าบิ๊กซี ช้อปปิ้งออนไลน์ มีรายการสินค้าพร้อมบริการกว่า 32,000 รายการ บิ๊กซี เฟรชเอ็กซ์เพรสให้บริการส่งสินค้าอาหารสดกว่า 4,300 รายการ
เป้าหมายต่อไปของ BJC คือการเข้าไปเป็นบริษัทชั้นนำในภูมิภาคอย่างแข็งแกร่ง
128 ปี โอสถสภา จำกัด (มหาชน)
ชื่อเดิมของบริษัท โอสถสภา คือ “เต๊กเฮงหยู” ที่คนรุ่นคุณพ่อคุณแม่อาจจะคุ้นหูกันดี แต่คนรุ่นใหม่จะรู้กันว่า บริษัทโอสถสภาเป็นของอาจารย์ เพชร โอสถานุเคราะห์ เจ้าของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเอกชนที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ และเจ้าของเพลงดังข้ามรุ่น “ฉันไม่ใช่ผู้วิเศษ” “ดิ้นกันมั้ยลุง” ที่มีสไตล์เป็นเอกลักษณ์ด้วยทรงผมหยิกฟูได้ใจนักศึกษา ที่ชี้ให้ดูกันอย่างภูมิใจว่า “นั่นไง อาจารย์เพชร”
เพชร เป็นผู้บริหารองค์กรในรุ่นที่ 4 ต้นตระกูลของเขาคือ นายแป๊ะ โอสถานุเคราะห์ เจ้าของร้านขายยาโบราณเล็กๆ ย่านสำเพ็งที่ตั้งขึ้นเมื่อปี 2434 เป็นเจ้าของสูตรยาจีนโบราณแบรนด์ดัง “กฤษณากลั่นตรากิเลน” รวมทั้งยาธาตุ, ยาแก้ไอ, ยาอมวัน-วัน, ยาอมโบตัน และยาทัมใจ
ปี 2517 บริษัทเติบโตขยายธุรกิจและมาเปิดสำนักงานบนถนนรามคำแหง บนเนื้อที่กว่า 70 ไร่ และปี 2538 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บริษัท โอสถสภา จำกัด
ด้านหนึ่งเพชรคือผู้บริหารมหาวิทยาลัยเอกชนที่ทันสมัย แต่อีกด้านหนึ่ง คือผู้บริหารองค์กรเก่าแก่กว่า 100 ปี เป็น Family Business ที่หลายคนมองว่าไม่ทันสมัย
ปี 2559 ครบรอบ 125 ปี ของโอสถสภา เลยมีการผ่าตัดองค์กรครั้งใหญ่ ดึงนักบริหารมืออาชีพที่เก่งในเรื่องการเงินและการตลาดระดับต้นๆ ของประเทศ 2 คนมาร่วมทีมคือ “กรรณิกา ชลิตอาภรณ์” อดีตผู้บริหาร “ยูนิลีเวอร์ ประเทศไทย” และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ “ธนาคารไทยพาณิชย์” เข้ามานั่งเป็นประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร”
และ “วรรณิภา ภักดีบุตร” ลูกหม้อคนสำคัญของยูนิลีเวอร์ ไทยเทรดดิ้ง ที่ดำรงตำแหน่งสูงสุดถึง “รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคลและอาหาร” เคยเป็นลูกน้องเก่าของกรรณิกา เข้ามานั่งเป็น “แม่ทัพ” คนใหม่ของโอสถสภา ในตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการใหญ่”
พอร์ตสินค้าที่มีอยู่มากมายในมือถูกจัดทัพกันใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารจัดการในเรื่องจัดการข้อมูล การบริหารการตลาดร้านค้าและการทำการตลาดดิจิทัล
โดยมีหมวดเครื่องดื่ม เช่น เอ็ม-150 ลิโพวิตัน-ดี ฉลาม โสมอิน-ซัม เป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทฯ ถึงร้อยละ 76
และกลุ่มเพอร์ซันนอลแคร์ เช่น เบบี้มายด์ ทเวลฟ์พลัส เป็นสินค้าหลักที่สำคัญ และใช้งบการตลาดตอกย้ำแบรนด์ให้ชัดเจนมากขึ้น
พร้อมๆ กับการปรับองค์กรให้กระชับ เพื่อเร่งสปีดเตรียมรับมือกับการแข่งขันในโลกดิจิทัล และการบุกตลาดต่างประเทศ
เดือนตุลาคม ปี 2561 ที่ผ่านมา โอสถสภาได้เข้าไปเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
วันนี้ครึ่งหนึ่งของคณะกรรมการบริหารยังเป็นคนในครอบครัว แต่อีกครึ่งคือนักบริหารมืออาชีพ เป็นตัวเทพๆ ระดับประเทศ เพื่อเป็นพลังสำคัญขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง
106 ปี บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัทปูนซิเมนต์ไทยก่อตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2456 ตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นวัสดุก่อสร้างสำคัญในการพัฒนาประเทศในขณะนั้น
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเพื่อความอยู่รอดขององค์กรใหญ่แห่งนี้มีอยู่หลายครั้ง
เหตุการณ์หนึ่งที่ควรบันทึกและตอกย้ำไม่ให้องค์กรหลงระเริงไปกับความสำเร็จ คือเมื่อครั้งเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540
หลายคนคงไม่เชื่อว่าองค์กรที่ว่าแน่ๆ อย่าง เอสซีจี ซึ่งมียอดขายในปีที่ผ่านมา 505,307 ล้านบาท กำไร 44,748 ล้านบาท ปีนั้นจะเคยมียอดหนี้เงินกู้สูงถึง 246,700 ล้านบาท และมีผลขาดทุนกว่า 52, 551 ล้านบาท เป็นบริษัทที่มีหนี้สินสูงติดอันดับต้นๆ ของประเทศเลยทีเดียว
เหตุผลเพราะขยายการลงทุนที่เกินตัว เงินไม่มีก็ไปกู้หนี้ต่างประเทศ พอค่าเงินบาทลอยตัว หนี้สินก็เลยพุ่งกระฉูด
จนต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษาที่มีชื่อเสียงระดับโลกมาช่วยในเรื่องปรับโครงสร้างธุรกิจด้วย เช่น McKinsey, Goldman sachs, Deutsche Bank, และ Chase Manhattan Bank เพื่อให้สามารถทำธุรกิจต่อไปได้
ในยุคของ กานต์ ตระกูลฮุน ที่ขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ เมื่อปี 2549 เป็นอีกยุคหนึ่งที่ทำให้เส้นทางเดินขององค์กรแห่งนี้มีความชัดเจน ด้วยการประกาศว่าต้องเป็นองค์กรนวัตกรรม เพื่อสร้างสรรค์สินค้าที่มีจุดต่างจากคู่แข่งและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ และต้องเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน
Culture ก็ต้อง Change จาก “นายกับลูกน้อง” มาเป็น “พี่กับน้อง” การสร้างวัฒนธรรมคิดนอกกรอบ การทุ่มงบประมาณในเรื่อง R&D ขึ้นมาเป็น 1% ของยอดขาย และการเคี่ยวกรำทำความเข้าใจเรื่องนวัตกรรมเลยเกิดขึ้นอย่างหนัก เป็นการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิถีในการทำงานของคนเอสซีจีอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กลายเป็นแรงเหวี่ยงสำคัญในการส่งต่อองค์กรไปในศตวรรษหน้า
รวมทั้งการปรับภาพลักษณ์แบรนด์ จากตราช้าง มาเป็น SCG เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น และสร้างหลักสูตรใหม่ๆ ในการพัฒนาคนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง
พร้อมๆ กับปรับโครงสร้างองค์กรเป็น 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจเคมิคอลส์ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง
องค์กรใหญ่ปรับตัวอย่างไรก็ยังไม่ทันใจ ยุคของ รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ก็เลยเปิดบริษัทใหม่ “AddVentures by SCG” เพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพในองค์กร และไปร่วมทุนกับบริษัทสตาร์ทอัพอื่นๆ ทั่วโลก
การไม่ยอมอยู่ใน Comfort Zone และเปลี่ยนแปลงตัวเองตลอดเวลา คือคัมภีร์สำคัญของการเป็น Big Brand ของเอสซีจี
113 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
เป็นธนาคารไทยแห่งแรก ที่ก่อตั้งขึ้นโดยพระบรมราชานุญาตเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2449 อยู่คู่คนไทยมาอย่างยาวนาน แต่ไม่เคยยอมแก่ไปตามกาลเวลา เป็นธนาคารหนึ่งที่ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ทันสมัยอยู่หลายครั้ง
ปี 2553 ธนาคารไทยพาณิชย์อายุครบ 103 ปี พร้อมกับขยายสาขาได้ครบ 1,000 สาขา เป็นธนาคารแรกและธนาคารเดียวที่มีช่องทางการบริการลูกค้าผ่านทางสาขาและเครื่อง ATM มากที่สุดในเวลานั้น
ปี 2555 ธนาคารไทยพาณิชย์สร้างผลประกอบการสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 106 ปี และยังสามารถสร้างเม็ดเงินกำไรสูงสุดอย่างต่อเนื่องให้กับองค์กร และยังเป็นสถิติที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอีกด้วย
นั่นหมายถึงว่ายุทธศาสตร์ขยายสาขากวาดลูกค้าเข้าแบงก์ เดินมาถูกทาง
ต่อมาในปี 2561 ในยุคดิจิทัลดิสรัปชัน ธนาคารออกมาประกาศลดจำนวนสาขาเหลือ 400 สาขา ในปี 2563 จากที่ปีนั้นมีถึง 1,153 สาขา
การเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องสาขาเป็นผลมาจากในปี 2559 ไทยพาณิชย์ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ ผ่าน “SCB Transformation” ทั้งๆ ที่ในปีนั้นผลประกอบการของธนาคารยังแข็งแกร่ง แต่ธนาคารกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากกลุ่มธนาคารด้วยกันและจากธุรกิจอื่นๆ ที่เข้ามานำเสนอบริการทางการเงินในหลายด้าน รวมทั้งสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความผันผวน
ปี 2561 ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าบนดิจิทัลแพลตฟอร์มได้อย่างก้าวกระโดด ขณะเดียวกันธนาคารได้ทำงานร่วมกับบริษัทในกลุ่มของธนาคาร ทั้งดิจิทัล เวนเจอร์ส และ เอสซีบี อบาคัส เพื่อให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นนำ นำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมหาศาล (Big Data) มาปรับใช้ในการออกผลิตภัณฑ์ดิจิทัล และใช้กับธุรกิจของธนาคาร
ปี 2562 ธนาคารจะยังคงสานต่อยุทธศาสตร์กลับหัวตีลังกา (Going Upside Down) ผลักดันองค์กรให้เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วและสมดุลใน 5 ด้าน ได้แก่ (1) การลดต้นทุนการให้บริการ รวมถึงการปรับรูปแบบองค์กรให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (2) การเพิ่มปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าปัจจุบันและขยายฐานลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะลูกค้าบนระบบดิจิทัล (3) การสร้างรายได้จากธุรกิจสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง ทั้งสินเชื่อลูกค้าบุคคลและสินเชื่อธุรกิจขนาดเล็ก ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม (4) การสร้างขีดความสามารถและวัฒนธรรมด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในทุกภาคส่วนขององค์กร และ (5) การปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ธนาคารเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการต่างๆ
ทุกการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 100 กว่าปี ไม่ใช่แค่เพียงการอยู่รอดของธนาคารเท่านั้น แต่เพื่อเป้าหมายของการเป็น “The Most Admired Bank” ในใจคนไทยด้วย
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



