เย็นวานนี้ บางคนอาจจะได้ฟังไปบ้างแล้ว แต่อาจมีหลายๆ คนที่พลาดการรับฟังการแถลงข่าวด่วนของ “ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)” หรือบางคนก็อาจจะไม่ได้ฟังอย่างตั้งใจ
Marketeer อาสาถอดใจความสำคัญของแถลงการณ์เมื่อวานนี้ (16 มี.ค. 2563) มาให้คุณผู้อ่าน เพราะเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ในเรื่องความมั่นใจและการปฏิบัติตัวของคุณผู้อ่านเองและสังคมไทย โดยมี 7 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ศูนย์ข้อมูล Covid-19 เป็นศูนย์ข้อมูลหลักสำหรับประชาชน
ศูนย์ข้อมูลมาตรการแก้ไขปัญหาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2563 โดยมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ มีหน้าที่รวบรวมประสานข้อมูลจากทุกส่วนราชการ เผยแพร่ข้อมูล รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ชี้แจงต่อสาธารณชนให้ปฏิบัติตามมาตรการที่สาธารณสุขกำหนด พร้อมเชิญบุคคล/ขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับบริจาคเงิน สิ่งของตามระเบียบราชการ พร้อมทั้งรายงานสถานการณ์ต่อนายกรัฐมนตรีทุกวัน
นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังจะมีการจัดแถลงข่าวสถานการณ์และความคืบหน้าทุกวัน พร้อมกับมีการนำคำถามของประชาชนที่ผ่านมาทาง “สายด่วน 1111″ หรือทางเฟซบุ๊กแฟนเฟจ “ศูนย์ข้อมูล COVID-19″ มาตอบคำถาม
2. แถลงด่วนผลการประชุม “ศูนย์บริหารสถานการณ์ฯ Covid-19” ครั้งที่ 1
ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) เป็นศูนย์ระดับชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะกรรมการประกอบด้วยรัฐมนตรีจากหลายกระทรวงและบุคลากรที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน แต่สำหรับการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์ฯ ครั้งที่ 1 ได้เชิญรัฐมนตรีทุกกระทรวงเข้าร่วมประชุม รวมทั้งศาสตราจารย์ทางการแพทย์จากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ไม่ได้เป็นกรรมการมาเข้าร่วมประชุมด้วย จนได้มติเอกฉันท์หลายประเด็น
โดยบางเรื่องสามารถมีผลบังคับใช้ได้เลย เพราะเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีสาธารณสุขสามารถสั่งการได้ โดยอาศัยอำนาจใน พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ขณะที่บางเรื่องต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีในวันนี้ จึงจะมีผลบังคับใช้ในวันพรุ่งนี้ และมีบางเรื่องที่ต้องไปศึกษาเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักกฎหมาย
3. ที่ประชุมยืนยัน ไทยยังอยู่ในเฟส 2 ยังไม่เข้าสู่เฟส 3
การกำหนดเฟสหรือระยะของการแพร่ระบาดเป็นการกำหนดกฎเกณฑ์เองในประเทศไทยเพื่อให้บริหารจัดการได้ง่าย โดยอาศัยบรรทัดฐานที่คุ้นเคยจากประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดในการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต่างกัน
ในการจะเข้าสู่เฟส 3 ต้องเข้าเกณฑ์ 3 ข้อ ต่อไปนี้
1) เมื่อปรากฏว่ามีประชาชนชาวไทยรับเชื้อหรือติดต่อโรคกันเอง โดยสืบสาวราวเรื่องไม่ปรากฏว่าต้นตอนั้นมาจากประเทศที่มีแพร่เชื้ออยู่ก่อน หรือก็คือ เป็นการติดต่อกันในหมู่คนไทยในประเทศไทยโดยไม่พบว่าผู้แพร่เชื้อนั้นได้เดินทางไปต่างประเทศ
2) ปรากฏสถานการณ์อย่างเกณฑ์ข้อที่ 1 กับคนเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่แค่ 1-2 ราย
3) ปรากฏสถานการณ์อย่างเกณฑ์ข้อที่ 1 ในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งแปลว่าคับขันเกินกว่าจะอยู่ในระยะที่ 2 เพราะต้องการวิธีปฏิบัติ วิธีรักษา วิธีรับมือ อีกอย่างหนึ่ง
4. แม้ยังไม่เข้าเฟส 3 แต่ต้องเตรียมตัวรับมือเพื่อไม่ให้การระบาดมีความรุนแรง
“ตอนนี้เรายังอยู่ในสถานการณ์ที่ค่อนข้างดี แต่เราต้องเตรียมในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดไว้ จึงเป็นที่มาว่าทำไมวันนี้ (16 มี.ค.) เราถึงเกิดการปรับมาตรการมากพอสมควร ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนจากเฟส 2 ไป 3 แต่มันมีสิ่งหนึ่งที่บอกว่า ถ้าเราไม่ทำมาตรการเหล่านี้ มีความเสี่ยงอย่างสูงที่จะเกิดความรุนแรงต่อไป” นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวงและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำ
โดยมาตรการเตรียมรับมือกับการเข้าสู่เฟส 3 แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่
4.1) มาตรการด้านสาธารณสุข รับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
- มีการเตรียมโรงพยาบาลทั้งของรัฐ เอกชน โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลทหาร-ตำรวจ ไว้พร้อม
- มีการเตรียมระดมแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงแพทย์ที่เกษียณอายุแล้ว และอาสาสมัครที่มีความรู้ด้านการแพทย์
- มีการเตรียมยาและเวชภัณฑ์ อย่างเพียงพอ
- อนุมัติค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์ในสถานการณ์นี้เป็นกรณีพิเศษ
4.2) มาตรการด้านเวชภัณฑ์ : หน้ากากอนามัย เจล แอลกอฮอล์ล้างมือ และชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) รับผิดชอบโดยกระทรวงพาณิชย์ และ สธ.
- ได้เร่งกำลังการผลิตหน้ากาก และชุด PPE มากขึ้น
- กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า บางประเทศพร้อมให้ความช่วยเหลือไทยในเรื่องหน้ากากและชุด PPE มากขึ้น
- กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงาน รับไปแก้กฎระเบียบเพื่อให้สามารถเร่งการผลิตเจลและแอลกอฮอล์ ได้มากขึ้น
- นำ “ของกลาง” (หน้ากาก เจล และแอลกอฮอล์) จำนวนมากที่ยึดมาได้จากการขายเกินราคาหรือที่เตรียมส่งออกโดยไม่ได้รับอนุญาต มาให้ศูนย์บริหารสถานการณ์ฯ นำไปแจกจ่ายให้โรงพยาบาลและประชาชน
4.3) มาตรการด้านข้อมูลข่าวสาร รับผิดชอบโดยสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
- ศูนย์ข้อมูล Covid-19 มีหน้าที่รับเรื่องจากประชาชน และตอบคำถามประชาชน
4.4) มาตรการด้านการต่างประเทศ รับผิดชอบโดยกระทรวงการต่างประเทศ (กต.)
- จากการยกเลิก Visa on Arrival หรือ Free Visa กต. ได้มีการประสานไปกับประเทศคู่กรณีถึงสิ่งที่ไทยทำ ไม่มีประเทศใดขัดข้อง
- ตั้งทีม Thailand ในทุกประเทศ โดยมีเอกอัครราชทูตแต่ละประเทศเป็นหัวหน้าทีม เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและประสานกับคนไทยในต่างประเทศ พร้อมทั้งประสานข้อมูลระหว่างไทยกับประเทศนั้น และรายงานสถานการณ์ของประเทศนั้นกลับมาไทยทุกวัน
4.5) มาตรการด้านการป้องกัน รับผิดชอบโดยกระทรวงมหาดไทย
ไม่มีการปิดเมืองปิดประเทศ แต่ใช้มาตรการเข้มงวดในการเข้าเมือง
- สำหรับคนที่เดินทางมาจากประเทศที่ไทยประกาศเป็น “ประเทศเขตติดโรค” ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ อิหร่าน อิตาลี ฮ่องกง และมาเก๊า ไม่ว่าคนไทยหรือต่างชาติ โดยใช้มาตรการเข้มงวดสูงสุด
- สำหรับประเทศที่นอกเหนือจาก 4 ประเทศและ 2 เขตปกครอง ข้างต้น เพิ่มความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการเข้าในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การจะได้ตั๋วโดยสาร ผู้เดินทางต้องมีใบตรวจโรคจากแพทย์ที่มีอายุไม่เกิน 3 วันต้องทำประกันสุขภาพ และเมื่อมาถึงประเทศไทยต้องยินยอมให้ทางการติดตั้งแอป (ถ้าไม่มีมือถือทางการจะมีซิมให้) เพื่อติดตามตัว หากจะเคลื่อนที่ไปจังหวัดอื่นใดต้องรายงาน และจะมีการสุ่มตรวจเป็นระยะ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ มาตรา 34 และ 39
- คณะกรรมการยังไม่ประกาศประเทศเขตติดโรคเพิ่มเติม โดยจะประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน
- ใช้มาตรการเข้มงวดในการเข้าประเทศ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และต้องย้อนดูไปถึงประเทศก่อนหน้าประเทศต้นทาง เพื่อสืบว่าเดินทางไปประเทศใดบ้างก่อนจะมาถึงประเทศต้นทาง
มาตรการเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing)
- เทศกาลสงกรานต์ จากที่เคยให้หยุดตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย. ประกาศใหม่ให้วันที่ 13-15 เม.ย. ไม่ใช่วันหยุด โดยเลื่อนไปก่อนและจะประกาศหยุดชดเชยให้ภายหลัง เพื่อลดความเสี่ยงจากการที่ประชาชนจำนวนมากเดินทางไปแออัดในจุดเดียวกันหรือพาหนะเดียวกัน และเพื่อป้องกันการนำเชื้อไวรัสจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัด ซึ่งการดูแลรักษาและการควบคุมการระบาดจะยุ่งยากกว่าในกรุงเทพฯ
- ปิด หยุด หรือระงับการเปิดสถานที่ที่เข้าข่าย 1 ใน 2 เกณฑ์ ดังต่อไปนี้
1) เป็นสถานที่ที่มีคนชุมนุมเป็นกิจวัตร มีกิจกรรมที่มีโอกาสสูงที่จะมีการแพร่เชื้อจากการส่งเสียง และสัมผัสสารคัดหลั่งทางระบบการเดินหายใจ (น้ำลาย น้ำมูก) ยากที่จะจัดที่นั่งให้ห่างกัน 1-2 เมตร และหากมีทางเลือกหรือทางเลี่ยง ทางชดเชยการมาชุมนุมได้ อาทิ มหาวิทยาลัย โรงเรียน สถานกวดวิชา โดยให้เลี่ยงไปเปิดสอนออนไลน์ หรือเลื่อนการกวดวิชาออกไปก่อน โดยใช้มาตรการเยียวยาลูกค้าเช่นเดียวกับสายการบิน
ล่าสุดที่ประชุม ครม. วันนี้ (17 มี.ค.) มีมติให้ปิดมหาวิทยาลัย โรงเรียนนานาชาติ สถาบันกวดวิชาและสถานศึกษาทุกสถาบัน ชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 63 เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์
2) เป็นสถานที่มีคนมาชุมนุมคราวละมากๆ และทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกันที่มีการร้องตะโกน ส่งเสียงเชียร์ มีโอกาสสัมผัสสารคัดหลั่งฯ ก็จะมีการเสนอ ครม.ให้ปิดชั่วคราว เพื่อไปตรวจสถานที่และหามาตรการป้องกันต่อไป เช่น สนามมวย สนามกีฬาบางประเภท รวมถึงโรงภาพยนตร์อาจจะเข้าข่ายนี้ ซึ่ง สธ.จะหารือร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
ที่ประชุม ครม. วันนี้ มีมติให้ปิดสถานที่บางส่วนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้แก่ สนามมวย สนามกีฬา สนามม้า โดยให้ปิดเป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์คลี่คลาย และให้ปิดผับ สถานบันเทิง สถานบริการ ฟิตเนส นวดแผนโบราณ โรงมหรสพ เป็นเวลา 14 วัน เริ่มตั้งแต่ 18-31 มี.ค. 63 แต่อาจจะมีการขยายเวลาหากสถานการณ์แย่ลง
ศูนย์การค้า สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ อาคารสำนักงาน และออฟฟิศต่างๆ ให้มีมาตรการป้องกันด้วยการคัดกรองอุณหภูมิ มีแอลกอฮอล์หรือสบู่ล้างมือ รวมทั้งให้พยายามลดความแออัดของสถานที่ นอกจากนี้ ยังให้งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนหมู่มาก เช่น คอนเสิร์ต งานแสดงสินค้า กิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรม และกีฬา ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ในต่างจังหวัดต้องขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าราชการจังหวัด
- ร้านค้าและร้านอาหารที่ไม่เข้าเกณฑ์ เปิดได้ตามปกติ แต่ต้องมีมาตรการป้องกัน คือ 1) ยิงเลเซอร์ตรวจอุณหภูมิ 2) มีเจลหรือสบู่ให้ล้างมือ 3) พนักงานมีหน้ากากอนามัยปิดปาก ร้านที่ฝ่าฝืนจะถูกสั่งปิด
- จะมีการพิจารณามาตรการดังกล่าวเป็นรายจังหวัด โดยให้อำนวจผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการตามตาม พ.ร.บ. โรคติดต่อ มาตรา 35 (1)
- ให้มีการเหลื่อมเวลาทำงาน เหลื่อมเวลารับประทานอาหารเที่ยง เหลื่อมเวลาเดินทาง และสั่งการให้ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง ทบวงกรม รวมถึงรัฐวิสาหกิจ กำหนดมาตรการในการทำงานที่บ้าน
4.6) มาตรการด้านการเยียวยา รับผิดชอบโดยกระทรวงการคลัง
- เห็นควรให้เลื่อนการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจดทะเบียนออกไปได้ หรือใช้การประชุมทางไกล ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 74/2557 แต่ถ้ายังจะจัดประชุม บริษัทต้องมีมาตรการป้องกันครบทั้ง 4 ข้อคือ 1) มีการวัดอุณหภูมิ 2) มีเจลล้างมือ 3) แจกหน้ากากอนามัย และ 4) จัดที่นั่งให้ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
- กระทรวงอุตสาหกรรมงดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบางตัวของโรงงาน
- กระทรวงการคลังรับไปเจรจาลดหย่อนค่าเช่าที่ดิน อาคาร และสถานที่ ที่เป็นที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ รัฐวิสาหกิจ กรุงเทพมหานครหรือท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนรายใหญ่ เพื่อให้ลดหย่อนผ่อนผันกับผู้เช่า
- การบังคับคดี ขายฝาก หรือหนี้นอกระบบ เรื่องใดที่สามารถผ่อนผันการเร่งรัดชำระหนี้ได้ก็ให้ไปดำเนินการ เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อผู้ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์นี้ รวมถึงมาตรการเยียวยาหนี้ส่วนบุคคล เช่น หนี้บ้าน ฯลฯ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาออกมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยประชาชนทั่วไป
รองนายกรัฐมนตรีวิษณุ เครืองาม ทิ้งท้ายด้วยประโยคสำคัญจากที่ประชุมที่ว่า “สถานการณ์ขณะนี้การป้องกันและการดูแลรักษาเรื่อง Covid-19 มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การค้าขาย อุตสาหกรรม ฯลฯ สำคัญเป็นอันดับสอง เราต้องเอาชีวิตประชาชนรอดเอาไว้ก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ข้างหน้าศึกนี้จะหนักขนาดไหน เมื่อศึกนี้บรรเทาเบาบางลง เราสามารถฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจได้ แต่ขณะนี้เรื่องภยันตรายจาก Covid-19 ต้องมาก่อนเป็นอันดับแรกและเป็นเรื่องเร่งด่วน”
5. เอาชนะ Covid-19 ด้วย Social Distancing
จากภาพนี้ นายแพทย์รุ่งเรืองอธิบายว่าโรคไข้หวัด รวมถึง Covid-19 นี้ติดต่อกันด้วย 2 กรณี 1) การสัมผัสสารคัดหลั่งทางระบบทางเดินหายใจ (น้ำมูก น้ำลาย) กับ 2) การไอหรือจาม ซึ่งจะเป็นฝอยขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ได้ปลิวไปไกลเหมือนละอองขนาดเล็ก แต่เมื่อฝอยขนาดใหญ่ตกอยู่กับสิ่งของแล้วมือไปสัมผัสสิ่งของนั้น แล้วมือนั้นสัมผัสอาหารเข้าปาก หรือขยี้ตา แคะจมูก ก็มีโอกาสติดเชื้อได้
วิธีการป้องกันคือ คนป่วยทุกคน ต้องใส่หน้ากากป้องกันโรค การใส่หน้ากากสำคัญเพื่อป้องกันการไอจามใส่คนอื่น แต่สำคัญกว่าหน้ากากคือ การหมั่นล้างมือ และสิ่งที่สำคัญกว่าการล้างมือ คือคนป่วยทุกคน ขอให้พักแยกตัวอยู่บ้าน ส่วนคนที่ป่วยเป็น Covid-19 ให้รีบมาโรงพยาบาลเพื่อไม่ให้เกิดการติดต่อเป็นวงกว้าง การเพิ่มระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ไม่ว่าจะเป็นการแยกตัว การเดินยืนหรือนั่งห่างกันเกิดกว่า 3 ฟุต ถือเป็นมาตรการในการควบคุม
ทั้งนี้ หลังการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการมารวมตัวของคนหมู่มาก จึงได้ต้องมีการประกาศใช้มาตรการ Socila Distancing ตามที่ปรากฏในมาตรการด้านการป้องกัน (4.5) ที่กล่าวไปแล้ว
6. ตรวจ Covid-19 กรณีไหนฟรี เคสไหนเสียเงิน
กรณีที่ 1) ผู้ที่มีอาการไข้ ไอจาม และมีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ Covid-19 เช่น สัมผัสกลุ่มเสี่ยง อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยยืนยัน หรือกลับจากประเทศเสี่ยง สิ่งที่ต้องทำคือ ใส่หน้ากาก ล้างมือ แล้วรีบไปโรงพยาบาล โดยแจ้งเจ้าหน้าที่ด้านหน้าสุดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง โดยขอให้ไปโรงพยาบาลตามสิทธิที่มี เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิบัตรทอง สิทธิข้าราชการ โดยค่าตรวจและค่ารักษาฟรีหมด (หากมีโรงพยาบาลใดเก็บค่าใช้จ่ายให้โทรสายด่วน 1111)
กรณีที่ 2) หากยังไม่มีอาการ แต่มีประวัติสัมผัสผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยง ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของคุณหมอว่าควรตรวจหรือไม่ (คุณหมอจะมีเกณฑ์ในการวินิจฉัยที่ชัดเจน) ซึ่งหากคุณหมอให้ตรวจ ก็จะตรวจฟรี รวมถึงรักษาฟรีหากพบเชื้อ
กรณีที่ 3) หากไม่มีอาการใดๆ เลย และไม่มีความเสี่ยงเลย แล้วไปตรวจ จะต้องเสียเงินค่าตรวจเอง แต่หากตรวจแล้วเจอ จะได้รับเงินค่าตรวจคืนและรักษาฟรี
แต่ทั้งนี้ คุณหมอแนะนำว่า เคสที่ 3 นี้ไม่ควรไปตรวจเลย เพราะนอกจากจะเสียเงินเอง ยังต้องนั่งวิตกกังวลไปอีก 2-3 วันกว่าผลจะออก อีกทั้งยังเป็นการทำให้ผู้ที่ป่วยจริงต้องรอคิวยาวขึ้น และทำให้แพทย์ต้องเสียเวลาและเหนื่อยเพิ่มขึ้น
กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ให้เข้าโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด (ไม่ว่ากรณีโรคอะไร) จะสามารถรักษาฟรี 72 ชั่วโมงอยู่แล้ว จากนั้นคุณหมอจะพิจารณาเองว่าจะควรตรวจเชื้อ Covid-19 หรือไม่ แต่ถ้าตรวจ ผู้ป่วยจะไม่เสียค่าตรวจ แล้วถ้าตรวจพบเชื้อ ผู้ป่วยสามารถเลือกได้ว่าจะย้ายหรืออยู่โรงพยาบาลนั้นต่อก็ได้ โดยไม่เสียค่ารักษาทั้งสองกรณี (แต่ถ้าเป็นโรคอื่นและไม่ได้ติดเชื้อ Covid-19 ให้ย้ายไปใช้โรงพยาบาลตามสิทธิ)
7. มาตรการของ สธ. “ยังเอาอยู่” แต่สังคมต้องช่วยกัน
มาตรการสำคัญในการป้องกันการระบาดของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) 5 มาตรการ คือ 1) เฝ้าระวังและติดตามอย่างเข้มข้น 2) เข้าติดตามผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันทุกราย บางเคสต้องติดตามถึง 270 ราย 3) ระบบการแพทย์พร้อม ทั้งหมอ โรงพยาบาล เตียง และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ 4) มาตรการด้านการสื่อสาร โดยมีศูนย์ข้อมูล covid เป็นศูนย์หลักที่ตอบเรื่องทั้งหมดโดยมี สธ. เข้ามาช่วย และ 5) มาตรการทางสังคม ด้วยการ “เปลี่ยนความกลัวเป็นความรู้ที่ถูกต้อง ร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และมีพฤติกรรมที่ดี”
“ไม่ว่าจะอยู่เฟสใดไม่สำคัญ สิ่งที่เราต้องทำคือ พยายามไม่ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะถึงตอนนั้นที่เคยพูดว่าคนเจ็บคนตายไม่มาก ตัวเลขจะเปลี่ยนทันทีเพราะระบบสาธารณสุขของเราจะรองรับไม่ได้ จะเสียหายมหาศาล ดังนั้น เพื่อลดการสูญเสียลงให้มากที่สุด เราต้องช่วยลดการแพร่เชื้อให้มากที่สุด … โรคนี้ป้องกันได้ รักษาได้ มียา เราผ่านสถานการณ์นี้ไปได้” นายแพทย์รุ่งเรืองทิ้งท้าย
ที่มา: รูปและเนื้อหามาจาก Youtube ช่อง : ไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ