เวลากาแฟ โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
อันที่จริง ตั้งใจจะเสนอ (ดูเหมือนจะเป็น) ตอนต่อจากคราวที่แล้ว เรื่องราวกำลังเข้มข้น ทว่าสถานการณ์ไม่เป็นใจเสียจริงๆ จำต้องคั่นเวลา ขัดจังหวะ ด้วยบางเรื่องราวให้เข้ากับสถานการณ์ COVID–19 อันพรั่นพรึง
“เวลากาแฟ”@คาเฟ่ ในห้วงเวลาดังว่า น่าจะเงียบเหงาไปมาก ว่าไปแล้ว หนึ่งในปรากฏการณ์แห่งวัฏจักรอันผันแปรอยู่เสมอ ตามกฎสรรพสิ่ง กระแสแปรเปลี่ยนอยู่ไม่ขาด อย่างที่เห็นและเป็นมา ไม่ว่าเหตุปัจจัยในระดับโลก หรืออารมณ์ความรู้สึกของปัจเจก
ไม่ว่าจะอย่างไร “คอกาแฟ” กับวัตรปฏิบัติคงดำเนินไปดังสายธารไม่หยุดยั้ง ไม่ที่ใด ก็คงที่ไหนสักแห่ง
เป็นไปได้ว่า กระแสคลื่นหลัก “เวลากาแฟ”@บ้าน และบางเวลา @สำนักงาน … คงขยายตัวและยกระดับขึ้น
ถือเสียว่า คาเฟ่แห่งยุคสมัย ผ่านช่วงเวลาอันน่าทึ่ง ได้มาถึงอีกช่วงหนึ่ง เป็นบททดสอบอันท้าทาย คาเฟ่แห่งยุคสมัย เคยค้นคิด สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อันตื่นตา ตื่นเต้น ท่ามกลางกระแสกาแฟคลื่นใหม่แห่งทศวรรษ คงต้องทำงานกันต่อไป ในมิติและบริบทที่แตกต่าง
อย่างแผนการเชื่อมโยงคาเฟ่เข้ากับ “เวลากาแฟ”@บ้าน@สำนักงาน … เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ พลิกแพลง เป็นจริงเป็นจังขึ้นอีก นอกเหนือไปจากบางสิ่งเสริมกับบางอย่าง ตามโมเดลและระบบพื้นฐานอยู่แล้ว ไม่ว่า Drive–thru หรือ Delivery
ขณะที่อีกหลายๆ คน คงให้ “เวลากาแฟ”@บ้าน อย่างเต็มที่ เต็มรูปแบบมากขึ้น เป็นความแตกต่างเฉพาะตัว ไม่อาจลอกเลียน หากแชร์ประสบการณ์กันได้ ในฐานะชิ้นส่วนอันกระจิริด ดังที่กำลังจะนำเสนอ
ได้เวลาทบทวน มองย้อนกลับไป เชื่อมโยงหลายๆ ชิ้นส่วนเล็กๆ เข้าด้วยกัน ให้เป็นภาพใหญ่ มีเรื่องราวเฉพาะตน แค่คนคนหนึ่ง มีจุดเริ่มต้นและบทสรุปอย่างที่ควร
คีย์เวิร์ดเคยว่าไว้ “ดำเนินชีวิตช้าลง และเรียบง่ายขึ้น กับกาแฟแบบน้ำหยด” เมื่อกว่า 5 ปีที่แล้ว ในอีกความหมายเป็นจุดเปลี่ยนตั้งต้น “เวลากาแฟ”@บ้าน อย่างจริงจัง ตามพัฒนาการอย่างผสมผสาน
ว่าด้วยกระบวนการอันตื่นเต้น ตั้งต้นด้วย เครื่องบดกาแฟด้วยมือ-Kyocera (ภาพ 1) แห่งญี่ปุ่น ใช้เป็นประจำมาตั้งแต่ปี 2554 เพิ่มเติมใหม่ให้เข้าชุด ด้วย กาต้มน้ำ (Coffee drip Kettle) กับ กรวยวางกระดาษกรอง (Coffee Dripper) แบรนด์ Hario เข้ากันอย่างดีกับชิ้นส่วนสุดท้าย ภาชนะเสิร์ฟกาแฟ (Coffee Server) ของเก่าเก็บรางวัล Good design (1990)
ในอีกมิติ Coffee drip Kettle กับ Coffee Dripper (ภาพ 2) มาบรรจบเข้าชุดกัน โดยระบบซื้อสินค้าออนไลน์ ครั้งแรกๆ (ปี 2558) จากกระบวนการสั่งซื้อที่บ้าน จนของมาส่งถึงที่เดียวกัน
การซื้อสินค้าออนไลน์ กับ ”เวลากาแฟ”@บ้าน เป็นกลไกทำงานต่อเนื่อง จากชิ้นส่วนกระบวนการหนึ่ง สู่กระบวนการใหม่ จากอุปกรณ์กระบวนการ สู่ผลิตภัณฑ์กาแฟหลากหลายซึ่งต้องเติมอยู่ไม่ขาด
ปี 2559 หน้าร้อนที่ร้อนมากๆ “ปรับตัวเข้ากับฤดูและสถานการณ์ด้วยชุดทำกาแฟเย็นสไตล์ญี่ปุ่น ว่ากันว่า ประยุกต์จากแบบฉบับเกียวโตดั้งเดิมซึ่งมีประวัติยาวนาน 3-400 ปี ดื่มกาแฟเย็น ต้องใจเย็นๆ” Hario “Mizudashi” Cold Brew Coffee Pot (ภาพ 3) เพียงชิ้นหนึ่งที่มาถึง ทว่าเป็นทั้งกระบวนการกาแฟใหม่ (เรื่องราวอย่างเจาะจง โปรดอ่าน “กระแสกาแฟเย็น@Edinburgh”)
ห้วงเวลานี้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ขณะอากาศก็ร้อนมากขึ้น “เวลากาแฟ” ช้าๆ ปรับตามจังหวะ ระหว่าง กาแฟน้ำหยด (Pour Over coffee) กับ กาแฟเย็น (Cold Brew Coffee) เป็นไปตามแบบแผน “อย่างแรกมาก (ครั้ง) หน่อย อย่างหลังน้อย (ครั้ง) หน่อย” สลับกันอย่างตั้งใจ
อย่างแรกมาก (ครั้ง)หน่อย มีลีลามากหน่อยด้วย มีทั้ง Hario Coffee Dripper ทำจากพลาสติกใช้กระดาษกรองตามมาตรฐาน กับ แบบไม่ใช้กระดาษ ตัวกรองถาวรเป็น Stainless Steel คุณภาพ ให้น้ำมันกาแฟผ่านได้ ดูเรียบง่ายขึ้น (ภาพ 4) อีกบางจังหวะเวลา สลับไปมา ระหว่าง Hario สู่ Kalita (ภาพ 5) อีกแบรนด์ถือเป็นต้นตำรับ สร้างแรงกระตุ้นเป็นกระแสอันทรงพลังให้กับ Pour Over coffee แห่งยุคสมัยกาแฟศตวรรษที่ 20 สะท้อน “ศูนย์กลางวัฒนธรรมกาแฟ และความพิถีพิถันของญี่ปุ่น”
กับ Kalita มีความตั้งใจให้แตกต่างเพิ่มขึ้น เมื่อใช้ ผ้ากรองกาแฟใยกัญชง (ภาพ 6) อ้างอิงวงจรธรรมชาติ ตั้งแต่การปลูกแบบตามวิถีดั้งเดิมของชนเผ่า ตามด้วยกระบวนการปราศจากสารเคมี และเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิล (เรื่องราวเพิ่มเติม อ่าน “ธรรมชาติ” เป็นใจ )
“สิ่งของ” แห่งลีลาที่ว่าทั้งหลายทั้งปวง ไม่ได้เสาะแสวงหาให้ยุ่งยากอย่างที่คิด เพียงแค่สัมผัสด้วยปลายนิ้ว@บ้าน อีกเช่นกัน “เวลากาแฟ” @บ้าน จึงหมุนไปไม่หยุดนิ่งและมีสีสันมากกว่าที่เคย
หากจะเปรียบเทียบ ชิ้นส่วนสำคัญประหนึ่ง “เข็มนาฬิกา” เหมือนจะหมุนเร็วยิ่งขึ้น ผ่านทางเลือกและความเป็นไปได้ยิ่งกว่า
นั่นคือ ผลิตภัณฑ์กาแฟในโลกการค้าออนไลน์ ด้วยหลากหลายมิติ มาจากหลายแหล่งเชิงภูมิศาสตร์ และในหลายช่วงห่วงโซ่คุณค่า (value chain)
การจัดหาผลิตภัณฑ์กาแฟ เป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นๆ จากช่วงก่อน 5 ปีที่ว่า ไม่ค่อยพิถีพิถันนัก มักฝากบุตรซื้อมาจากต่างประเทศ (บังเอิญพวกเขาเรียนในต่างประเทศ เป็นช่วงติดต่อกันนานกว่า 10 ปี) สู่ช่วงใหม่ ผ่านระบบค้าออนไลน์มากขึ้นๆ จากเครือข่ายเจ้าของ platform ใหญ่ สู่บางส่วนบางกระบวนการ กับผู้ค้ารายย่อยรายเล็กๆ
จากกาแฟเมล็ดคั่วแล้ว โรงคั่วที่ไหนไม่รู้ สู่โรงคั่วขนาดเล็กซึ่งรู้จักดี (เฉพาะเรื่องนี้ จะหาโอกาสนำเสนออย่างเจาะจงต่อไป) แหล่งกาแฟภูมิศาสตร์อย่างกว้างๆ จากแหล่งยอดนิยมระดับโลก ค่อยๆ ปรับให้แคบลง สู่ระดับภูมิภาคและท้องถิ่น อย่างดินแดนอดีตอาณาจักรล้านนา-ล้านช้าง ความสนใจมีมากยิ่งขึ้นไปอีก กับแหล่งปลูกขนาดเล็กๆ ซึ่งพยายามทำความรู้จัก มักคุ้น
จากกาแฟเมล็ดคั่ว สู่สารกาแฟ (Green Coffee) ตามแหล่งภูมิศาสตร์หลากหลาย จากระดับทวีป ประเทศ สู่ภูดอย และฟาร์ม ในความพยายามทดลองคั่วเอง แบบง่ายๆ กว่าจะใช้ได้นับว่ายากพอควร ให้ต้องกับรสนิยม และเติมสีสันประสบการณ์
มีบ้างเหมือนกัน นานๆ ครั้ง ตั้งใจติดตามความเคลื่อนไหว ไว้เทียบเคียง อ้างอิง ขณะปรับจังหวะเปลี่ยนบรรยากาศ ปรับอารมณ์ “เวลากาแฟ”@บ้าน จึงผิดแผกจากธรรมเนียม ลิ้มรสกาแฟที่แตกต่างหลายมิติ จากคาเฟ่ใกล้ๆ บ้าน ผ่านระบบ และ platform ยุคสมัย
–
อ่านทุกเรื่องของ “เวลากาแฟ” ที่นี่
วิรัตน์ แสงทองคำ คอลัมนิสต์ ธุรกิจอิสระ ด้วยวัตรปฏิบัติ 4 ทศวรรษกับผลงานนับพันชิ้น งานบางส่วนปรากฏใน https://viratts.wordpress.com/และ https://www.facebook.com/วิรัตน์-แสงทองคำ เบื้องหลังฉาก “เวลากาแฟ” ดำเนินไปเป็นกิจวัตร ด้วยเรื่องราวและความคิดที่แตกต่าง เพิ่งจะเปิดสู่วงกว้างครั้งแรก @Marketeer online
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ