ซาฟารีเวิลด์ และ ดรีมเวิลด์ ธุรกิจมอบความสุขที่กำลังหมดรอยยิ้ม (บทวิเคราะห์)

ผิน คิ้วคชา “นักสร้าง” “นักฝัน” ที่ไม่ยอมหมดไฟ               

The World of Happiness คือ มอตโต้สำคัญของ ผิน คิ้วคชา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ในวันที่ ซาฟารีเวิลด์ สวนสัตว์เปิด เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2531

ผินคิดการใหญ่ ทำธุรกิจที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในเมืองไทย และยังวางเป้าหมายให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียอีกด้วย

วันแรกที่เปิดตรงกับช่วงเทศกาลตรุษจีนของปีนั้น สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจนี้ตั้งความหวังไว้กับนักท่องเที่ยวชาวจีนตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งเป็นการคาดการณ์ที่ถูกต้อง

ถึงแม้ปีแรกๆ ซาฟารีเวิลด์จะยังไม่ประสบความสำเร็จนัก จนเขาต้องทยอยขายที่ดินในโครงการ จากประมาณ 4 พันกว่าไร่ออกไป (ปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 430 ไร่) เพื่อไปต่อให้ได้อย่างอดทน

 เขาก็สามารถสร้างฐานะการเงินให้แข็งแกร่งขึ้นมาได้หลังจากเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2537

แต่หลังจากนั้นเพียง 3 ปีก็เกิดเหตุการณ์ซัดกระหน่ำการท่องเที่ยวของประเทศอย่างต่อเนื่อง

เช่น วิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 ถัดมาในปี 2542 เขาก็ดันโครงการภูเก็ต แฟนตาซี ธีมปาร์ควัฒนธรรมไทยแห่งแรกให้เกิดขึ้นจนได้ เพราะหวังการกลับมาของนักท่องเที่ยวเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น

แต่หลังจากนั้น มรสุมลูกอื่นๆ ก็ตามมา เช่น การระบาดของโรคซาร์ส ในปี 2546 โรคไข้หวัดนกในปี 2547 การก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2548 และการยึดอำนาจโดยคณะปฏิรูปการปกครอง ในปี 2549-2550 เป็นต้น 

แน่นอนเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลง ปี 2541-2549 ซาฟารีเวิลด์เลยมีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง 

จนหุ้น SAFARI ถูกพักการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2550 

10 ปี ผ่านไปแสงสว่างรำไรกำลังจะเกิดขึ้นกับหุ้นตัวนี้เมื่อผลประกอบการ 3 ปีหลังดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ปี 62 ที่ผ่านมากลับลดลงมาเหลือรายได้ที่ 1,851 ล้านบาท จากรายได้ที่ 1,956 เมื่อปี 61 ส่วนกำไรลดลงเหลือ 57 ล้านบาทจาก 148 ล้านบาทเมื่อปีก่อนหน้านี้

เหตุผลสำคัญมาจากในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ได้เกิดเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวชาวจีนประสบอุบัติเหตุในเดือนกรกฎาคม ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนถอนตัวการมาเยือนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดภูเก็ตเป็นจำนวนมาก กระทบต่อโครงการภูเก็ตแฟนตาซีอย่างจัง

มิหนำซ้ำในปี 2559 ผินยังได้ไปลงทุนสร้างคาร์นิวัลเมจิกธีมปาร์ค แห่งใหม่ โดยใช้เงินลงทุนไปกว่า 5 พันล้านบาท 

วางแผนอย่างสวยหรูว่าจะเปิดประมาณปลายปี 2562 และตั้งความหวังไว้อย่างมากว่า จุดเด่นของโครงการคาร์นิวัลเมจิก ที่เป็นธีมปาร์คแสดงแสงสีของดวงไฟแห่งแรกของโลก จะขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และจะเป็นเม็ดเงินสำคัญที่จะเข้ามาหล่อเลี้ยงกลุ่มซาฟารีเวิลด์ รวมทั้งเป็นการตอกย้ำแบรนด์ซาฟารีเวิลด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น

ผินให้สัมภาษณ์นักข่าวในวันเปิดตัวโครงการนี้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมว่า คาร์นิวัลเมจิกธีมปาร์ค จะดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างชาติได้มากถึง 1-2 ล้านคนต่อปี และคาดว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาทต่อปี และหวังลูกค้าต่างชาติ 70% และคนไทย 30%

โดยกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติหลัก คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย   

เพราะพิษโควิด-19 ทำให้ความหวังครั้งนี้พังไปอีกครั้ง ทุกโครงการในเครือยังต้องปิดต่อไปไม่มีกำหนด 

ในปี 2561 ซาฟารีเวิลด์มีจำนวนพนักงานทั้งหมดรวม 2,392 คน โดยได้จ่ายผลตอบแทนให้แก่พนักงานดังกล่าวในปีนั้น 698.25 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันยังมีสัตว์ในโครงการอีกมากมายที่ต้องกินอาหารทุกวัน ทุกครั้งผินสามารถก้าวข้ามวิกฤตการณ์มาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า หวังว่าคราวนี้ก็เช่นกัน

พัณณิน กิติพราภรณ์ “กำไร” อยู่ที่ “รอยยิ้ม” คนดู 

วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม 2519 กรุงเทพฯ มีแหล่งท่องเที่ยวใหม่ คือ แดนเนรมิต สวนสนุกกลางแจ้งแห่งแรกของประเทศไทย

วันนั้น ถนนพหลโยธิน ลาดพร้าว คือย่านชานเมืองกรุงเทพฯ ที่เงียบเหงา แดนเนรมิต ได้มาปลุกความคึกคักให้เกิดขึ้น ก่อนที่เซ็นทรัลลาดพร้าวจะตามมาเปิดเมื่อปี 2526

28 พฤษภาคม 2543 แดนเนรมิตปิดตัวเพราะหมดสัญญาเช่า ตระกูล กิติพราภรณ์ (เจ้าของโรงหนังพาราเมาท์-ฮอลลีวู้ด-โคลีเซียม ที่เด็กรุ่นใหม่ แทบจะไม่รู้จัก) ได้ย้ายไปสร้างสวนสนุกแห่งใหม่ “ดรีมเวิลด์” ย่านคลอง 3 ปทุมธานี ซึ่งเป็นชื่อที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยมากขึ้น

เพราะดรีมเวิลด์เปิดตัวเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2536 ในพื้นที่ 160 ไร่ งบลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท โดยมี พัณณิน กิติพราภรณ์ เป็นกรรมการผู้จัดการสวนสนุกดรีมเวิลด์

แต่ด้วยโลเคชั่นที่ค่อนข้างไกล ภายในโครงการยังไม่ร่มรื่นพอ ทำให้ช่วง 2-3 ปีแรกขาดทุนหนักมาก ยิ่งขาดทุนก็ต้องยิ่งลงทุนเพิ่มเพื่อดึงลูกค้า กว่าจะคืนทุนได้ใช้เวลาประมาณ 10 ปี  

เธอเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าในปี 2560-2561 ที่ผ่านมามีคนเข้ามาปีละประมาณ 2 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเป็นชาวต่างชาติ ประมาณ 20% (จีน เกาหลีใต้ อาเซียนชาติอื่นๆ)

หลังจากนั้น ความฝันของเธอเลยใหญ่ขึ้น โดยขยับขยายธุรกิจไปจับเรื่องโชว์ศิลปวัฒนธรรมไทยในชื่อ “สยามนิรมิต” เป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงตามแบบลาสเวกัส ในโรงละครขนาดใหญ่จุคนกว่า 2 พันคน โดยทุ่มทุนกว่า 2,500 ล้านบาท ตรงข้ามศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2548

เป็นความใฝ่ฝันของผู้หญิงคนนี้ ที่จะให้คนไทย และคนต่างชาติเห็นถึงคุณค่าของวัฒนธรรมไทย

โดยมีกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมาย คนไทยที่มีเพื่อนต่างประเทศ ชาวต่างประเทศในไทย และนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่มาเที่ยวไทย

หลังการเปิดแสดงในรอบแรกๆ ของสยามนิรมิต กรุงเทพ เธอเคยให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า

“เหนื่อยจนแทบจะอาเจียนเป็นเลือด ถึงเปิดแสดงแล้วก็ยังแก้อยู่ตลอด นิดหน่อยก็แก้ไป คนดูอาจไม่รู้สึก เราทำโจทย์ให้มันยากเอง คืออยากให้คนไทยได้ดู ตื่นเต้น รู้คุณค่าของที่มีอยู่แล้ว เป็นเรื่องยากและท้าทาย ถึงได้พิถีพิถันขนาดนี้ เหมือนทำอาหารให้คนไทยรับประทาน ซึ่งยากกว่าให้ฝรั่งรับประทาน เพราะยังไงฝรั่งก็ชอบของแปลกใหม่อยู่แล้ว”

ลองแล้วลองอีกกว่าทุกอย่างจะลงตัว ต้นทุนก็เพิ่มไปเรื่อยๆ

ความท้าทายของเธอเริ่มขึ้นอีกครั้งเมื่อขยายไปเปิดที่ภูเก็ต ในปี 2554 ด้วยงบลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท

เป็นความหวังครั้งใหม่กับเมืองที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว และตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนก็เพิ่มขึ้นทุกปี

แต่ตัวเลขความสวยงามของนักท่องเที่ยวก็พร้อมจะผันผวน จากปัญหาการเมืองในประเทศ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินบาทแข็ง 

ล่าสุดโรคระบาดโควิด-19 เป็นคลื่นลูกใหญ่ ที่แรงกระเพื่อมของมันกระจายไปไกล และใช้เวลานานกว่าทุกครั้ง ได้แต่หวังว่าเธอจะฝ่ามาได้เหมือนทุกๆ ครั้งเช่นกัน 

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline

 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online