ชนัตถ์ ปิยะอุย เปิดแฟ้มประวัติหญิงเหล็กผู้สร้างตำนาน ดุสิตธานี
อาลัยท่านผู้หญิง ชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ของดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล สตรีผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมที่ได้รับการยกย่องในเวทีโลก
ท่านเสียชีวิตเมื่อเย็นวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ด้วยวัย 99 ปี โดยมีกำหนดพระราชทานน้ำหลวงอาบศพในวันอังคารที่ 5 พฤษภาคม ณ ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
เป็นผู้หญิงเก่งคนหนึ่งของเมืองไทย ที่เริ่มเป็นที่รู้จักเมื่อโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ เปิดตัวในปี 2513 ในยุคที่ความคิดของคนไทยในช่วงเวลานั้นมองภาพโรงแรมว่าเป็นสถานที่สำหรับหาความสำราญ
แต่เธอสามารถทำให้โรงแรมมีเอกลักษณ์และความเป็นไทย จนได้รับการยกย่องว่าเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว อันหรูหราแห่งแรก และยังเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทยขณะนั้นอีกด้วย
ท่านผู้หญิงชนัตถ์หรือชื่อเดิมว่า “หยก แซ่หวัง” เป็นลูกสาวของพ่อค้าไม้ชื่อดังในภาคกลางและภาคเหนือ ส่วนแม่ประกอบการค้าข้าว มีพี่น้องด้วยกัน 6 คน คือ สุภา ปิยะอุย, สุนียรัตน์ เตลาน (ใช้นามสกุลแม่) ชนัตถ์ ปิยะอุย, ชนาภรณ์ ปิยะอุย, พ.ท. วรพงษ์ ปิยะอุย และสมพจน์ ปิยะอุย
เป็นอดีตนักเรียนเตรียมธรรมศาสตร์รุ่นที่ 4 หลังสงครามโลกครั้งที่สองเธอเดินทางไปอเมริกาเพื่อไปเรียนต่อต่างประเทศ มีนิสัยชอบเที่ยว รักอิสระ จากการไปใช้ชีวิตในต่างประเทศทำให้เธอมีความใฝ่ฝันมากว่าต้องเป็นเจ้าของโรงแรมให้ได้
และได้เปิดโรงแรมปริ๊นเซสเป็นแห่งแรกในปี 2492 กลายเป็นทุนรอนสำคัญในการสร้างโรงแรมดุสิตธานีในเวลาต่อมา
จากความสำเร็จของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ได้ทำการพัฒนาธุรกิจด้วยการเปิดตัวโรงแรมระดับ 5 ดาวที่มีจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่สำคัญทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
รวมทั้งยังได้ก่อตั้งวิทยาลัยดุสิตธานี สถาบันการศึกษาด้านการโรงแรมและบริหารการท่องเที่ยวในปี 2536 และโรงเรียนสอนประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต ซึ่งเป็นการร่วมธุรกิจกับสถาบัน เลอ กอร์ดอง เบลอ ของประเทศฝรั่งเศส ในปี 2550
ด้วยความอุทิศตนในการพัฒนาการท่องเที่ยวและการศึกษาของไทย ท่านผู้หญิงชนัตถ์ยังได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ โดยได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น “ท่านผู้หญิง” เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2543
ในปีที่ผ่านมาท่านยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติ SHTM Lifetime Achievement Award จาก The Hong Kong Polytechnic University (PolyU) สถาบันการศึกษาด้านการท่องเที่ยวและโรงแรม ที่จัดขึ้นที่ฮ่องกงอีกด้วย
50 ปี ผ่านไปโรงแรมดุสิตธานีกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมืองไทยและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
กว่าดุสิตธานีจะมาได้จนถึงวันนี้ ท่านผู้หญิงได้ฝ่าวิกฤตและอุปสรรคของการทำธุรกิจโรงแรมมาหลายครั้ง โดยเฉพาะในช่วงต้มยำกุ้ง ปี 2540 ที่กลุ่มดุสิตธานีขาดทุนทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและผลการดำเนินงาน ส่งผลให้ขาดทุนสุทธิทันที 1,185 ล้านบาท
ปี 2562 เครือดุสิตทำรายได้ทั้งหมด 6,120 ล้านบาท กำไร 320 ล้าน โดยยังมีชื่อบริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด ถือหุ้นใหญ่ 49.74%
ปัจจุบันดุสิตธานีอยู่ภายใต้การนำทีมของ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้ซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก ชนินท์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล ทายาทของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ให้เข้ามารับผิดชอบในการบริหารงาน
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ