GET ทำไมต้องรีแบรนด์เป็น gojek ล้วงลึกหาเหตุผลที่อาจเป็นมากกว่าเกมธุรกิจ (วิเคราะห์)

16 กันยายน 2563 เวลา 06.00 น. เป็นวันแรกที่ GET แอป Ride Hailing ที่มีจุดเด่นบริการซื้ออาหารออนดีมานด์รีแบรนด์ตัวเองจาก GET เป็น gojek GET เป็นที่เรียบร้อย

ทั้ง ๆ ที่GETเพิ่งแจ้งเกิดในตลาดได้เพียงปีกว่า และใช้เงินอย่างมหาศาลในการสร้าง Brand Awareness และความคุ้นเคยในการใช้งาน

และอะไรทำให้GETต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น gojek หลายคนคงสงสัย

เราขอวิเคราะห์ดังนี้

1. GETคือแอปชิมตลาดของ gojek

การเข้ามาทำธุรกิจของGET มาจากการสนับสนุนของ gojek แอป Ride Hailing ยักษ์ใหญ่จากประเทศอินโดนีเซีย ที่ทั้งลงกำลังเงินและเทคโนโลยีที่ให้บริการผ่านแอป

ซึ่งในเวลานั้นเรามองว่า gojek ยังไม่มั่นใจในตลาดประเทศไทย จึงต้องการเข้ามาทดลองตลาดเพื่อหาความเป็นไปได้ในธุรกิจและโอกาสทางการแข่งขัน

ซึ่งลำพังจะใช้ชื่อ gojek บุกตลาดตั้งแต่เริ่มต้นอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์ gojek อาจจะดูไม่ดีนัก ถ้าการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จ

gojek จึงเลือกวิธีการเข้าไปเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้กับGET ซึ่งเป็นแอป Ride Hailing

เรามองว่าในอดีต gojek อาจจะยังไม่มั่นใจในตลาดประเทศไทยมากนักจึงเลือกโมเดลการเข้าเป็นผู้สนับสนุนให้กับกลุ่มผู้บริหารคนไทยที่มีความต้องการทำตลาด Ride Hailing เช่นกัน

และทำให้ gojek เลือกที่จะสนับสนุน ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์, ก่อลาภ สุวัชรังกูร และอดิศร กาญจนวรงค์ เพื่อก่อตั้งGETขึ้นมาแข่งขันในตลาดแทน

ซึ่งการแข่งขันในตลาด Ride Hailing ในช่วงปีกว่าผ่านแบรนด์GET ผู้บริหารGETทำให้ gojek เห็นความเป็นไปได้ในตลาดที่มีการเติบโตอย่างมหาศาลผ่านพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมานิยมให้บริการ Ride Hailing ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการสั่งอาหารออนดีมานด์

เพราะในเวลาปีกว่าที่ผ่านมา นับตั้งแต่GETเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อกุมภาพันธ์ 2562 สามารถสร้างยอดบริการสะสม 20 ล้านออเดอร์ จากพาร์ตเนอร์คนขับ 50,000 คน พาร์ตเนอร์ร้านอาหาร 30,000 ร้าน และมียอดดาวน์โหลดแอปทั้งสิ้น 3 ล้านดาวน์โหลด

พร้อมยอดรายได้ที่รายงานกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าในนามบริษัท เวล็อคซ์ ดิจิตอล เป็นเงินมากถึง 133.16 ล้านบาท

เมื่อตลาดเป็นไปได้ gojek จึงต้องการเข้ามาทำตลาดด้วยชื่อตัวเองอย่างจริงจัง ทำให้ gojek เปลี่ยนชื่อGET เป็น gojek อย่างเป็นทางการในวันที่ 16 กันยายน 2563 ที่เรากล่าวมา และยังใช้ทีมผู้บริหารเดิมทั้งหมด

 

2. gojek ต้องการพาตัวเองสู่ Global Brand

ผู้บริหาร gojek กล่าวในวิดีโอพรีเซ็นต์ในวันที่ GET รีแบรนด์เป็น gojek ว่ากลยุทธ์หลักของ gojek คือต้องการเป็นโกบอลแบรนด์

การที่รีแบรนด์เป็น gojek ทำให้ gojek เป็นแอปที่เปิดให้บริการเพิ่มอีก 1 ประเทศคือประเทศไทย จากเดิมที่ gojek ให้บริการในประเทศอินโดนีเซีย ประเทศต้นกำเนิด ก่อนที่จะขยายไปยังเวียดนาม และสิงคโปร์

และทำให้ gojek มีพลังในการให้บริการอยู่ใน 215 เมือง มียอดดาวน์โหลด 170 ล้านดาวน์โหลด มีพาร์ตเนอร์ร้านต่าง ๆ รวมกันทั้งสิ้น 500,000 ราย โดย 96% เป็น SME และมีคนขับอยู่ในระบบมากถึง 2 ล้านคน

และศักยภาพของประเทศไทยจะช่วย gojek สามารถขยายดาต้าเบสของผู้ใช้ และพาร์ตเนอร์ร้านและคนขับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งการมีประเทศที่รองรับและจำนวนพาร์ตเนอร์ร้านและคนขับที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ใช้งาน gojek จากประเทศต่าง ๆ ที่เปิดให้บริการสามารถใช้บริการจากแอปเดียวกันในประเทศที่เปิดให้บริการได้ โดยไม่ต้องลงแอปอื่นเพิ่มเติม เพราะอย่างน้อยก็สามารถกันไม่ให้ผู้บริการดาวน์โหลดแอปคู่แข่งได้อีกทางหนึ่ง

 

3. แอปสั่งอาหารออนดีมานด์ในไทยแข่งขันรุนแรง แต่มีโอกาส

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าบริการสั่งอาหารออนดีมานด์ผ่านแอปในปีที่ผ่านมามีมูลค่ามากถึง 33,000-35,000 ล้านบาท เติบโต 14% และธุรกิจนี้ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี จากพฤติกรรมของคนไทยที่อยากกินของอร่อยแต่รักสบายไม่อยากไปซื้อเองมากขึ้น

และข้อมูลจาก gojek พบว่า คนกรุงเทพ 55% ซื้ออาหารผ่านแอปสั่งอาหารออนดีมานด์

เมื่อพฤติกรรมคนไทยเปลี่ยนและเปอร์เซ็นต์สั่งอาหารออนดีมานด์ผ่านแอปยังมีช่องว่างในกรุงเทพฯ มากถึง 45% ที่ผู้บริโภคสามารถหาลูกค้าใหม่ ๆ จากสัดส่วนตรงนี้ได้

ประกอบกับในปลายปี 2563 มีการเปิดให้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารออนดีมานด์ ที่พัฒนาโดยหน่วยงาน Srartup ของธนาคารพาณิชย์ ถึง 2 แห่ง ได้แก่ แอปโรบินฮู้ด ของธนาคารไทยพาณิชย์ และแพลตฟอร์ม Eatable ของธนาคารกสิกรไทย ที่มีจุดเด่นไม่คิดค่าธรรมเนียมร้านค้า

ไม่รวมคู่แข่งคนสำคัญอย่าง Grab และ Food Panda ที่เป็นคู่แข่งเดิมที่พร้อมจะเผาเงินเพื่อดึงฐานลูกค้าและความถี่ในการใช้บริการ

การแข่งขันในตลาดสั่งอาหารออนดีมานด์จึงร้อนระอุขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้

เมื่อตลาดแข่งขันกันดุเดือดจากคู่แข่งทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่พร้อมลุยเดือดในธุรกิจ การรีแบรนดิ้งจาก GET เป็น gojek จึงเป็นหนึ่งในหมากที่ช่วยให้แข่งขันในตลาดไทยอย่างมีชั้นเชิงขึ้น

โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีให้บริการ เพราะการเปลี่ยนเป็น gojek เป็นการยกเลิกระบบเทคโนโลยีหลังบ้านเดิมที่ GET มีอยู่ เพื่อใช้ระบบเดียวกับ gojek ที่มีการใช้งานอยู่ในหลายประเทศ

การเปลี่ยนเป็น gojek ทำให้GETก้าวข้ามข้อจำกัดของผู้พัฒนา เพราะที่ผ่านมาระบบGETกับ gojek เป็นระบบหลังบ้านที่มีการทำงานแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถดึงนักพัฒนาจาก gojek มาช่วยในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้บริการในอนาคต หรือนำเทคโนโลยีที่พัฒนาจาก gojek ในประเทศต่าง ๆ มาปลั๊กอินเพื่อใช้งานร่วมกันได้

นอกจากนี้ พลังของ gojek จากฐานลูกค้าในประเทศต่าง ๆ ยังทำให้ gojek (GET) ประเทศไทย สามารถขยายฐานลูกค้าจากผู้ใช้บริการในประเทศต่าง ๆ ที่เดินทางเข้ามาไทยในอนาคตได้

นอกจากนี้ การเปลี่ยนเป็น gojek ยังปรับเปลี่ยนและเพิ่มบริการใหม่ ๆ เข้ามา เช่น บริการสั่งอาหารผ่านแอปและไปรับหน้าร้าน การแนะนำร้านอาหารให้เพื่อน โดยเพื่อนสามารถกดสั่งได้ทันที การจดร้านอาหารที่อยากรับประทานใน Wishlist และอื่น ๆ

รวมถึงการเพิ่มแอป GoPartner แอปสำหรับคนขับ gojek ที่ให้ผู้สนใจสมัครเป็นคนขับใหม่ได้ทันที่ผ่านแอป, แอป GoBiz สำหรับพาร์ตเนอร์ร้านอาหาร พร้อมกับฟีเจอร์ใหม่ เช่น ‘Chat Head Notifications’ แจ้งเตือนออเดอร์ใหม่ให้ร้านอาหารทราบแม้ในขณะที่ปิดแอป เป็นต้น

ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือแรงที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างน่าสนใจ

แต่ทั้งนี้การเปลี่ยนชื่อจากGETเป็น gojek ก็มีความท้าทายไม่น้อย เพราะตลอดปีกว่าที่ผ่านมา แบรนด์ GET สามารถสร้าง Awareness เป็นที่รู้จักของผู้บริโภค โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่GETเปิดให้บริการ

ส่วนแบรนด์ gojek คือเป็นแบรนด์ใหม่ที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยมากนัก เท่ากับว่าผู้บริหาร gojek ประเทศไทย จะต้องลงแรงอีกครั้งเพื่อสร้าง Brand Awareness gojek ให้เกิดขึ้น

และชื่อ gojek สำหรับคนไทยไปพร้องเสียงคล้าย ๆ กับ เจ๊ก ที่เป็นชื่อเรียกคนจีนในทางลบ ทำให้ผู้บริโภคที่เป็น Conservative อาจจะไม่ค่อยชอบชื่อนี้เท่าไรนัก

ทั้งนี้การเปลี่ยนสู่ gojek ในวันนี้อาจจะดูไม่คุ้นเคยในสายตาคนไทย

แต่เชื่อว่า ในอนาคต gojek จะเป็นแอปที่ใคร ๆ ก็พูดถึง

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online