Tesla รุกทำเหมืองนิกเกิลในนิว แคลิโดเนีย แหล่งแร่นี้ใหญ่สุดติด Top 5 ของโลก และเปิด Deal ตั้งโรงงานผลิตแบตฯ ในอินโดฯ ตามแผน Elon Musk เพื่อดัมป์ราคารถรุ่นใหม่ ๆ
ค่ายดังแห่งวงการรถ EV รุกสู่ธุรกิจใหม่ที่จะเป็น ‘ขุมพลังตั้งต้น’ ตามแผนทำให้ราคารถรุ่นต่อ ๆ ไปเข้าถึงได้มากขึ้น โดยมีรายงานว่า Tesla เริ่มเดินหน้าเจรจาลงทุนในธุรกิจเหมืองแร่นิกเกิลของนิว แคลิโดเนีย แหล่งแร่ราคาแพงที่สำคัญต่อการผลิตแบตเตอรี่รถ EV ใหญ่ติด Top 5 ของโลก ปูทางสู่การผลิตแบตฯ ได้เอง และช่วยให้รถรุ่นใหม่ ๆ มีราคาถูกลง
แม้ไม่ได้เป็นผู้ก่อตั้ง Tesla แต่หลัง Elon Musk ซื้อหุ้นล็อตใหญ่และขึ้นนั่งเก้าอี้ CEO ค่ายรถ EV ที่ตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์คนดังคู่ปรับของ Thomas Edison ก็ ‘เครื่องแรง’ ขึ้นตามลำดับ จนเมื่อกลางปี 2020 เป็นข่าวดัง แซง Toyota ขึ้นครองแชมป์บริษัทยานยนต์มูลค่าสูงสุดในโลก
อย่างไรก็ตาม Tesla ยังมีปัญหาที่แก้ไม่ตก ทั้งเรื่องการผลิตให้ถึงมือผู้ซื้อตรงตามกำหนด และราคารถยังค่อนข้างสูง รวมถึงการต้องพึ่งพาบริษัทอื่น โดยเฉพาะแบตฯ ที่ยังต้องใช้ของ Panasonic, CATL และ LG Chem
ขณะเดียวกันตลาดรถ EV ที่มีแต่จะโตขึ้นยังจะทำให้โคบอลต์ แร่หลักที่ราคาแพงแต่จำเป็นต่อการผลิตแบตฯ ขาดแคลน
Elon Musk เห็นว่าหาก Tesla หันมาผลิตแบตฯ เองได้ และเปลี่ยนไปใช้แร่อื่น เช่น นิกเกิล แทน นอกจากลดการพึ่งพาบริษัทอื่นแล้ว ยังจะช่วยให้ในอนาคตรถรุ่นต่อ ๆ ไปของ Tesla มีราคาเข้าถึงได้มากขึ้น และเมื่อกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเขาออกมายอมรับอีกว่ากังวลแร่นิกเกิลในการผลิตแบตฯ จะขาดแคลน
ความกังวลของ Elon Musk ผลักดันให้โครงการใหม่ได้ ‘ออกสตาร์ท’ โดย Tesla ได้เข้าไปลงทุนในกิจการเหมืองของ นิว แคลิโดเนีย แหล่งแร่นิกเกิล ใหญ่อันดับ 4 ของโลก ทั้งในฐานะหุ้นส่วนทางเทคนิคที่ให้คำปรึกษา และทำสัญญาซื้อนิกเกิลระยะยาวจาก Vale บริษัทเหมืองสัญชาติบราซิลที่ถือเป็นบริษัทใหญ่ในนิว แคลิโดเนีย
ในเวลาไล่เลี่ยกันยังมีรายงานด้วยว่า Tesla เริ่มเจรจาตั้งโรงงานผลิตแบตฯ ในอินโดนีเซีย ประเทศที่มีแร่นิกเกิลมากสุดในโลก ซึ่งทางรัฐบาลเปิดไฟเขียวเต็มที่ เพื่อทำเงินมหาศาลเข้าประเทศจากความต้องการแร่ดังกล่าวที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพราะจำเป็นต่อทั้งอุตสาหกรรมรถ EV และ Smartphone
สำหรับนิกเกิล เป็นแร่หลักอีกชนิดที่สามารถนำผลิตแบตฯ ในอุตสาหกรรมรถ EV ถัดจากโคบอลต์ โดย 5 แหล่งนิกเกิลใหญ่สุดในโลกคือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รัสเซีย นิว แคลิโดเนีย และออสเตรเลีย
จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นนี้ ดันราคาพุ่งขึ้นไม่หยุด โดยปีนี้ราคาขึ้นสูงถึงตันละ 17,860 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 545,000 บาท) แล้ว
ส่วนนิว แคลิโดเนีย เป็นเกาะทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก แม้ Thomas Cook นักเดินเรือขาวอังกฤษ เป็นผู้ค้นพบและตั้งชื่อเกาะตามภาษาละตินที่ใช้เรียกสกอตแลนด์ แต่นับจากปี 1850 ก็ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส โดยมีความพยายามเรียกร้องเอกราชจากคนในเกาะมาตลอด
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ