รุ่นพ่อน่ะวิกฤต“ต้มยำกุ้ง”  ส่วนรุ่นลูกคือวิกฤต“โควิด-19”  

ดราม่า Story ของ 4 ตระกูลอสังหาฯชื่อดังของเมืองไทย

ชานนท์ เรืองกฤตยา “ความท้าทายเมื่อกลุ่มเป้าหมายหลักเจออุปสรรค”

ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหารบริษัทอนันดาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน)  เป็นลูกชายคนโตของชนัฎและเข็มทอง เรืองกฤตยา

ชนัฎ คือผู้ประกอบการอสังหาฯ ชื่อดังในอดีต  ถ้าย้อนเวลากลับไปในช่วงที่ดินย่านตะวันออกของกรุงเทพฯ บูมรับกระแสโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด เขาเคยเป็นเจ้าของที่ดินรายใหญ่ย่านในนั้นเช่นเดียวกับ คีรี กาญจนพาสน์, คุณหญิงประภา วิริยะประไพกิจ, สวัสดิ์  หอรุ่งเรือง ฯลฯ

สนามกอล์ฟ “กรีนวัลเลย์” และโครงการบ้านหรู “วิลมิลด์” ย่านถนนบางนา-ตราด คือผลงานหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงก่อนที่จะถูกมรสุมเศรษฐกิจกระหน่ำซัด

ชานนท์เริ่มเข้ามาช่วยผู้เป็นพ่อปรับโครงสร้างหนี้ให้บริษัท ด้วยดีกรี ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ University of California at Berkeley, U.S.A. ปริญญาโทด้านการเงินและการบัญชีระหว่างประเทศ จาก London School of Economics ประเทศอังกฤษ จนเสร็จเรียบร้อย   

หลังจากนั้นเขาต้องการทำโครงการที่เป็นของตนเองบ้าง แต่คราวนี้วิธีคิดของเขาต่างจากผู้เป็นพ่อ

ถ้าชนัฎขายรถเบนซ์ เ ชานนท์ก็จะขายรถโตโยต้า ที่มีกลุ่มเป้าหมายกว้างกว่า 

บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2542 จึงเริ่มจากการทำบ้านราคาปานกลางที่คนทั่วไปจับต้องได้ ก่อนมาแจ้งเกิดเต็มตัวกับคอนโดแบรนด์ IDEO เมื่อปี 2550

ก่อนที่จะเกิด แบรนด์อื่นๆตามมาอีกหลายแบรนด์ โดยโฟกัสชัดเจนกับความต้องการที่อยู่อาศัยของคนเจเนอเรชั่น “ซี” ที่มีวิถีการใช้ชีวิตที่ผูกติดกับ Digital Lifestyle โดยยึดแนวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นทำเลหลัก

กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2554 และสร้างยอดรายได้แตะหมื่นล้านบาทในปี 2557

ปี 2560 ชานนท์ยังตอกย้ำความเป็นบริษัทของคนรุ่นใหม่ด้วยแนวคิด “Property Tech Company” หรือ “พร็อพเทค” ภายใต้นโยบายขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่

ปี 2563 ก็ต้องเจอกับมรสุมของโควิด-19 ทั้งยอดขาย ยอดโอนลดฮวบ จนทำให้ยอดรายได้ลดลงเหลือเพียง 4,887 ล้านบาท และขาดทุนเป็นครั้งแรก

ในปีนั้นเขาต้องขายเงินลงทุนในสนามแข่งรถ พีระเซอร์กิตวัน และพีระคาร์ท ขายหุ้นส่วนหนึ่งให้กับ BTS โฮลดิ้ง และไม่เปิดโครงการใหม่เลย เพื่อเก็บเงินสดไว้ในมือให้ได้มากที่สุด

 ในขณะเดียวกันก็กลับมาเพิ่มน้ำหนักพอร์ตสินค้าแนวราบมากขึ้น โดยมีผู้บริหารมือเซียน “ประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต” จากค่ายพฤกษาเข้ามาเสริมทีม

วิกฤตโควิด-19 ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน กลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y และ Z ที่เป็นเป้าหมายหลักกำลังแพนิกกับความไม่มั่นคงของอนาคต

ประสบการณ์ในอดีตกำลังถูกชานนท์ทบทวนอย่างจริงจังอีกครั้งในวันนี้

ปีเตอร์ – พอลล์ กาญจนพาสน์ “หนักกว่านี้ก็เจอมาแล้ว”

“ซุยฮัง” หรือปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ขึ้นรับตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทบางกอกแลนด์   ส่วน “ซุยพาง” พอลล์  กาญจนพาสน์ รับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา

แทนอนันต์ผู้เป็นพ่อที่เสียชีวิตไปเมื่อเดือนเมษายน 2563

อนันต์สร้างเมืองทองธานีในพื้นที่ประมาณ 4,000 ไร่ มาตั้งแต่ประมาณปี 2531

30 ปี ผ่านไป นอกจากศูนย์แสดงสินค้าอิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ยังมีคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน บ้านจัดสรร  โรงแรม โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ มีคนอาศัยแล้วประมาณ 3-4 หมื่นครอบครัว มีคนอาศัยประจำไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน

แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ย้อนกลับไปปี 2540 ขณะที่หลายโครงการกำลังปูพรมตอกเสาเข็มก่อสร้างบางกอกแลนด์ ถูกวิกฤตต้มยำกุ้งกระหน่ำซัดอย่างจัง ทำให้หนี้สินของบริษัทสูงถึง 65,000 ล้านบาท

หวิดสิ้นชื่อโครงการ

ปีเตอร์กับพอลล์ 2 พี่น้องได้เข้ามาช่วยผู้เป็นพ่อทำงานแล้วในเวลานั้น

ปีเตอร์ผู้พี่จบปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บริหารจากประเทศอังกฤษ  ส่วนพอลล์ เข้ามาช่วยงานพ่อไล่เลี่ยกับพี่ชาย เขาจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจ จากประเทศอังกฤษ  แ 

 3 คนพ่อลูกต้องทำงานกันอย่างหนักทั้งในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สิน การขายที่ดินแปลงต่าง ๆ เพื่อเอาเงินสดออกมา และการเดินสายขายโครงการต่าง ๆ ด้วยตัวเอง  

จนกระทั่งรายได้และกำไรเกิดขึ้นได้อีกครั้งหนึ่ง

ต้นปี 2563 เกิดโควิด -19 พร้อม ๆ การเสียชีวิตของผู้เป็นพ่อ 

งบปี 2563 (31/03/63) รายได้ 7,442  ล้านบาท กำไรยังอยู่ที่ 1,217 ล้านบาท แต่งบปี 2564 (31/03/64) พลิกกลับไปขาดทุน 801 ล้านบาท

ตัวเลขการขาดทุนหลัก ๆ มาจากยอดรายได้ที่ลดลงของศูนย์ประชุมที่ต้องปิดตัวลงตามมาตรการโควิด

และวันนี้ อิมแพ็ค-ชาเลนเจอร์ที่เป็นรายได้หลักก็เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลบุศราคัม เพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ชั่วคราว

ปีเตอร์กับพอลล์คงต้องรอวันให้มรสุมโควิดพัดผ่านไป กำลังซื้อกลับคืนมา พร้อมกับเตรียมแผนพัฒนาเมืองต่ออีกในพื้นที่ 600 ไร่ ให้จบสมบูรณ์

ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม “หยุด Aggressive แต่ไม่ Conservative”

วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ศุภาลัยขาดทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท

ในปีนั้น ไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)  ลูกชายของประธานกรรมการบริหารบริษัท ประทีป ตั้งมติธรรม มีอายุเพียง 18-19 ปีกำลังศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 ที่ประเทศออสเตรเลีย

แม้ไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกอบกู้บริษัทร่วมกับผู้เป็นพ่อในช่วงแรก ๆ แต่พิษต้มยำกุ้งก็ กระหน่ำซัดชีวิตเขาเต็ม ๆ เมื่อผู้เป็นแม่โทรมาบอกว่าให้กลับไปเรียนต่อที่เมืองไทยเพราะที่บ้านส่งต่อไม่ไหว

ไตรเตชะเลือกที่จะไม่กลับ แล้วหางานส่งตัวเองเรียนจนสามารถจบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์และการตลาดจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ก่อนกลับมาต่อปริญญาโทจากศศินทร์

เขากลับมาช่วยพ่อทำงานเมื่อปี 2544 ภายใต้นโยบายบริษัทที่ไม่ Aggressive เหมือนเดิมแต่ไม่ Conservative เช้นกัน

เพิ่มความชัวร์ด้วยการคิดเร็วทำเร็ว เช่นเป็นบริษัทอสังหาฯ รายแรก ๆที่โฟกัสการพัฒนาคอนโดมิเนียมริมทางรถไฟฟ้า และรถใต้ดินเกือบทุกสาย การหาตลาดใหม่ ๆ ในภูธร รวมทั้งกระจายความเสี่ยงไปลงทุนในต่างประเทศ

ในปี 2564 นี้ศุภาลัยประกาศเปิดใหม่ 31 โครงการ โฟกัสที่แนวราบเป็นหลัก 27 โครงการเพื่อรองรับยุค New Normal ที่ลูกค้าต้องการที่พักอาศัยแบบรักษาระยะห่าง 

แน่นอนการหาที่ดินสร้างบ้านแนวราบในกรุงเทพฯ และปริมณฑลไม่ใช่เรื่องง่าย ในปีนี้ศุภาลัยเลยเตรียมบุกอีก 19 จังหวัด

หนี้เป็นพันล้านเมื่อรุ่นพ่อยังผ่านมาได้ รุ่นลูกยังมีกำไรอยู่ตุงกระเป๋าก็น่าจะไม่ใช่เรื่องยากที่ศุภาลัยจะฝ่าไปได้ อีกครั้ง

ผศ. ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ “ชื่อของเสนาฯไม่เงียบอีกต่อไป

ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2539 ธีรวัฒน์ ธัญลักษณ์ภาคย์ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทเสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กำลังเริ่มทำโครงการบ้านเดี่ยวขนาดใหญ่เป็นโครงการแรก 

โดยกู้เงินจากต่างประเทศมาทำธุรกิจเพราะดอกเบี้ยต่ำมาก และไม่คิดว่าจะมีความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ไม่คิดว่ารัฐบาลจะลอยตัวค่าเงินบาท แต่ในที่สุดจากกู้มา 25 บาท/ดอลลาร์   กลายเป็น 57 บาท/ดอลลาร์ ต้นทุนเลยเพิ่มกว่าเท่าตัว

กว่าจะผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ทำให้บริษัทต้องชะลอการทำโครงการไปพักใหญ่

ปี พ.ศ. 2547 เขาป่วยหนัก ลูกสาวคนโต “ดร. ยุ้ย” ผศ. ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่กำลังสนุกอยู่กับงานสอนหนังสือ ต้องกลับมาช่วยงานผู้เป็นพ่อ

เธอจบปริญญาตรีที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จบปริญญาโท M.BA University of California, ปริญญาโท M.A. (Economics) Claremont Graduate University 

และต่อปริญญาเอก โดยได้ทุนจากจุฬาฯ พอเรียนจบกลับมาก็ได้ใช้ทุนเป็นอาจารย์ภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังจากนั้นก็นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2522 ก็มีการขยายธุรกิจทั้งแนวราบ แนวดิ่งอย่างต่อเนื่อง

ชื่อของเสนาฯ ไม่เงียบอีกต่อไป และ ดร. ยุ้ย ก็เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วยกลยุทธ์สำคัญของเธอ คือการจับมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นอย่าง ฮันคิว ฮันชิน พร็อพเพอร์ตี้ส์คอร์ป มาร่วมกันพัฒนาโครงการ

รวมทั้งแนวความคิดในเรื่อง GO Green เดินหน้าพัฒนาโครงการที่ใช้พลังงานสะอาดแบบ 100 เปอร์เซ็นต์

โดยการติดตั้ง Solar Rooftop ให้กับบ้านทุกหลังในโครงการและในพื้นที่ส่วนกลางของคอนโดมิเนียม โครงการทาวน์โฮมติดโซลาร์รับกระแส Work From Home

และทำคอนโดต่ำล้านเพื่อคนรายได้จำกัดที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

กลายเป็นไฮไลท์สำคัญทำให้ ปี 2563 เสนาฯ ยังทำรายได้ถึง 4,237 ล้านบาท กำไร 1,119 ล้านบาท ฝ่าวิกฤตโควิดปีแรกมาได้

เมื่อรุ่นพ่อเคยล้มแล้วลุก รุ่นลูกก็ไม่ยอมแพ้กันง่าย ๆเช่นกัน



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online