วันที่ 15 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา นายธนินท์ เจียรวนนท์ ให้สัมภาษณ์ในรายการสุทธิชัยไลฟ์ ในหัวข้อ “มุมมองธนินท์ เจียรวนนท์ โควิดกับทางออกของประเทศไทย” โดยพิธีกรคือ นายสุทธิชัย หยุ่น เปิดประเด็นว่า ได้สัมภาษณ์บุคคลจากหลายภาคส่วน และวันนี้จะเป็นการพูดคุยกับนายธนินท์ในบทบาทภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และ แนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทย ที่นายธนินท์เน้นย้ำว่า เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศไทย ซึ่งวิกฤตโควิดเป็นเหมือนสงครามโลก (โรค) ครั้งที่ 3 ก็ว่าได้ เพราะทุกประเทศในโลกได้รับผลกระทบทั้งหมด แต่หากประเทศใดปรับตัวได้ ก็จะก้าวกระโดด แต่หากประเทศไทยขาดนโยบายที่มีความพร้อม และมีการเปลี่ยนแปลงไม่เร็วพอ ก็จะตกขบวน ตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ในสถานการณ์ที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลง และยังไม่แน่ใจว่า ฟ้าจะกลับมาสว่างอีกครั้งเมื่อใด ทั้งนี้ นายธนินท์ ได้กล่าวถึง 4 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญ ได้แก่ 1) ปากท้อง 2) ป้องกัน 3) รักษา 4) อนาคต 

ประเด็นแรกคือเรื่อง “ปากท้อง” โดยนายธนินท์กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน คนได้รับความลำบากมาก คนลำบากในต่างจังหวัดยังพอมีญาติ มีอาหารมาแบ่งปัน ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ยังพอประทังชีพได้ แต่คนมีรายได้น้อยในเมืองและคนที่มีภาระ เมื่อเจอเข้ากับวิกฤตที่ต้องกักตัว ไปทำงานไม่ได้ จะทำให้ลำบากมาก แม้กระทั่งอาหาร บางครั้งยังไม่เพียงพอ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาครัฐต้องมีมาตรการมาดูแล แต่ในส่วนของภาคเอกชน เราทำได้เพียงช่วยแบ่งเบาภาระ โดยเครือซีพีมีโครงการครัวปันอิ่ม แจกอาหาร 2 ล้านกล่องในเวลา 2 เดือน ร่วมกับ 100 พันธมิตรอาสาสมัครไปแจกให้กับชุมชน โดยอาหารจำนวน 1 ล้านกล่องจากจำนวนทั้งหมดจะสั่งซื้อจากร้านอาหาร ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และขนาดจิ๋ว เป็นการช่วยเหลือจากปัญหาร้านถูกปิด เพื่อให้ร้านต่าง ๆ พออยู่ได้ และยังช่วยให้ชุมชนต่าง ๆ ที่ลำบากเข้าถึงอาหารและหน้ากากอนามัย ที่แจกในคราวเดียวกัน นอกจากนี้ จะทำการคัดเลือกร้านที่สะอาด ปลอดภัย และช่วยโปรโมตร้านอาหาร พร้อมใส่เบอร์โทร หากใครสนใจก็สั่งซื้อจากร้านได้โดยตรงอีกด้วย 

ประเด็นที่สองคือ “ป้องกัน” โดยนายธนินท์เน้นความสำคัญของวัคซีน ยิ่งฉีดได้ครอบคลุมรวดเร็วมากเท่าไร ก็จะลดผลกระทบได้มากเท่านั้น ตัวอย่างมีให้ดูหลายประเทศ เช่น อังกฤษ พอฉีดได้จำนวนมากก็กลับมาเปิดประเทศ ถึงแม้ว่าจะติดเชื้อเพิ่ม แต่ก็ไม่ตาย ไม่เจ็บหนัก ก็จะทำให้ประเทศสามารถเดินต่อไปได้ ซึ่งต้องตั้งเป้าหมายฉีดให้ครบ 100% ไปเลย โดยนำเข้าวัคซีนทุกยี่ห้อ ในตอนหนึ่งของการสัมภาษณ์ นายสุทธิชัย หยุ่น ได้ถามว่า นายธนินท์ หรือซีพี มีส่วนในการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลหรือไม่  ซึ่งนายธนินท์ได้ตอบอย่างเคลียร์ชัดว่า ไม่เกี่ยวข้องแน่นอน เพราะการผลิตวัคซีนทั้งหมดของซิโนแวคต้องส่งให้กับรัฐบาลจีน และต่อให้เอกชนอยากซื้อก็ซื้อไม่ได้ พนักงานเครือซีพีในประเทศจีนยังไม่สามารถซื้อซิโนแวคมาฉีดให้พนักงานได้เลย ขึ้นอยู่กับรัฐบาลจีนทั้งหมด นายธนินท์กล่าวเสริมที่มาของประเด็นซิโนแวคว่า ตอนที่บริษัทซิโนแวคตั้งต้นจะทำวิจัยวัคซีนป้องกันโควิดอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ มีเงินไม่พอ ต้องการระดมทุนเพิ่ม หลานชายซึ่งรู้จักกับหมอและนักวิจัยด้านยาก็ได้รับเชิญชวนให้เข้าไปช่วยลงทุนในยามที่บริษัทนี้เงินไม่พอ ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ซึ่งอยู่ในเครือฯ ของซิโนแวคก็ให้เป็นหุ้นบริษัทคืนแก่หลานชายในประเทศจีนมา 15% ในอัตราเท่ากับนักวิจัยที่มีหุ้นกันคนละ 15% ซึ่งในช่วงนั้น จริง ๆ เป็นการช่วยเหลือนักวิจัยในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ  แต่ไปสั่งการอะไรไม่ได้ จะขอซื้อวัคซีนก็ทำไม่ได้แน่นอน ซึ่งในประเทศไทยซีพียังต้องสั่งซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มมา 1 แสนโดส มาดูแลพนักงานของบริษัทเอง โดยซื้อจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จะซื้อตรงก็ยังทำไม่ได้ เพราะวัคซีนถูกควบคุมทั้งหมด นอกจากนี้ วัคซีนทุกยี่ห้อ หากผู้ผลิตกล้าฉีดให้คนประเทศของเขา ก็มั่นใจได้ว่า มีความปลอดภัยระดับสูง โดยนายธนินท์เองก็ฉีดวัคซีน แอสตราซิเนกา เพราะคนอังกฤษฉีดกัน ยอดผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตก็ยังน้อย ดังนั้น ต้องนำเข้าวัคซีนหลาย ๆ ยี่ห้อเข้ามาฉีด ของทางอเมริกา ยุโรป ก็มีเทคโนโลยีที่ดี และประเทศเหล่านั้นได้ฉีดให้คนของเขาจำนวนมาก เราจะกลัวอะไร ยิ่งมีทางเลือกมาก ประชาชนก็มั่นใจ และฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น 

ประเด็นที่สามคือ “รักษา” โดยกล่าวถึงการรักษาที่ต้องเร็ว ถึงแม้ว่าผู้ป่วย 90% หายได้ด้วยการดูแลตัวเอง แต่การที่ผู้ป่วยต้องอยู่บ้านเป็น Home Isolation มากขึ้น ยังจำเป็นต้องดำเนินการคู่กับหมอทางไกล Telehealth และต้องเข้าถึงยาโดยเร็ว หากคนไข้ได้ปรึกษาอาการกับหมอ มีหมอออนไลน์ จะมีกำลังใจ นอกจากนี้ นายธนินท์ได้ย้ำว่าเรื่องการเข้าถึงยามีความสำคัญอย่างมาก อย่ารอให้คนไข้มีอาการหนัก และควรกระจายยาอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอน ยุคนี้ต้องเร็วและมีคุณภาพ สำหรับเครือซีพีคงช่วยได้บ้างในเรื่องการปลูกฟ้าทะลายโจรในโครงการ ปันปลูก ฟ้าทะลายโจร แจกฟรี 30 ล้านเม็ด ในพื้นที่ 100 ไร่ ใน 100 วัน เราจะปลูกเพื่อแจกจ่ายฟรี เพราะตอนนี้ฟ้าทะลายโจรขาดตลาดมาก เป็นเพียงเข้าไปเสริมในตลาด ทำให้ผู้ประกอบการเดิมไม่กระทบ ดังนั้น เราเป็นการเติมซัปพลาย เข้าไปลดความขาดแคลนเท่านั้น โดยเป็นการแจกฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแน่นอน จะปลูกโดยควบคุมเป็นแบบปลอดสารพิษทั้งหมด และจะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้เกษตรกร ชาวบ้าน โดยมีอิสระในการปลูก การขาย และขยายผล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ทั้งนี้ การบริโภคฟ้าทะลายโจรต้องรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมตามคำแนะนำของสาธารณสุข 

ประเด็นที่ 4 คือ “อนาคต” ซึ่งนายธนินท์ชี้ประเด็นประเทศไทยเสี่ยงถดถอย หากภาครัฐไม่มีมาตรการรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ปัจจุบันธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก กลาง ใหญ่ ล้วนได้รับผลกระทบ และหากต้องล้มหายตายจากไป หลังพ้นวิกฤต บริษัทที่จะจ่ายภาษีให้ประเทศได้จะมีจำนวนลดน้อยลง และเครื่องจักรเศรษฐกิจ เช่น ท่องเที่ยว ส่งออก จะใช้เวลาฟื้นตัวช้า หากมีการปิดกิจการไปแล้ว ดังนั้น ต้องดูแลให้ธุรกิจทุกระดับอยู่รอด และปรับตัวสู่ธุรกิจอนาคต โดยเฉพาะธุรกิจ 4.0 และที่สำคัญต้องเตรียมพร้อมเรื่องคน วันนี้ประเทศไทยแข่งเรื่องแรงงานราคาถูกกับประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้แล้ว เพราะเรายังต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น ไทยต้องขยับไปสู่ธุรกิจไฮเทค แต่ก็ตามมาเรื่องคน คนเราพร้อมหรือไม่ รัฐบาลพูดไปแต่ยังขับเคลื่อนได้ช้า เราต้องออกไปเชิญชวนการลงทุนมาเพื่อสร้างงานในประเทศไทย ดึงดูดนักลงทุน ให้มาลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศไทย ไม่ใช่ไปประเทศเพื่อนบ้าน ทุกบริษัทระดับโลกด้านไฮเทค ล้วนเนื้อหอม ทุกประเทศอยากดึงบริษัทเหล่านี้ไปลงทุนในประเทศกันทั้งนั้น  แล้วประเทศไทยจะมีมาตรการเชิงรุกอะไรในการไปดึงบริษัทเหล่านี้เข้ามา ดึงคนเก่งทั่วโลกมาอยู่เมืองไทย มาใช้จ่ายที่ประเทศไทย มาจ่ายภาษีให้ประเทศไทย เหมือนเช่นอเมริกาดึงคนยุโรป จีน อินเดีย ญี่ปุ่น ไปอยู่อเมริกา หรือคนสิงคโปร์มีประชากรครึ่งหนึ่งเป็นคนจากต่างประเทศที่เข้าไปลงทุน เศรษฐกิจใหม่ก็จะเกิดขึ้น แต่ที่พูดมาทั้งหมด ต้องทำควบคู่กันทั้งหมด ยามมืดสุดต้องคิดว่า เมื่อสว่างแล้วประเทศจะเป็นอย่างไร 

ดังนั้น ทั้ง 4 ประเด็น ตั้งแต่ปากท้องที่ต้องดูแล ป้องกันโดยการหาวัคซีนให้มากและเร็วที่สุด หากเอกชนจะช่วยนำเข้า รัฐควรรีบสนับสนุน วัคซีนยี่ห้อไหนดี ต้องพยายามนำเข้ามาทั้งหมด การรักษาที่ต้องรวดเร็ว ต้องเข้าถึงยา อย่าปล่อยให้หนัก และสุดท้ายคือ ต้องมองเรื่องอนาคตควบคู่ ทั้ง 4 เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำพร้อมกัน ในยามวิกฤต จะใช้ขั้นตอนแบบเดิมไม่ได้ ต้องรวดเร็วและมีคุณภาพ นายธนินท์ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิกฤตครั้งนี้คือความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง การปรับตัว หากใครไม่สามารถปรับตัวได้ก็จะไม่สามารถอยู่รอดได้ ไม่ว่าบริษัทจะใหญ่หรือเล็ก ประเทศใดปรับตัวได้จะเป็นผู้นำใหม่ ประเทศที่เคยเป็นผู้นำ หากปรับตัวไม่ได้ก็จะกลายเป็นผู้ตาม และนี่แหละคือ สงครามโลก (โรค) ครั้งที่ 3 ที่ทุกหย่อมหญ้า ได้รับผลกระทบอย่างเท่าเทียม



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online