“ไปรษณีย์ไทยคือหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เป็นบริษัทขนส่งหลักของคนไทย สิ่งที่เราใส่ใจมากที่สุดคือ ‘การเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจและสังคมเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทย’ ถ้าทำภารกิจเหล่านี้ได้ เชื่อว่าไม่ใช่แค่ไปรษณีย์ไทยที่จะเติบโต แต่ระบบนิเวศของธุรกิจขนส่งทั้งหมดก็จะเติบโตไปด้วยเช่นกัน”

ประโยคที่ “ดร. ดนันท์ สุภัทรพันธุ์” แม่ทัพคนใหม่ที่เพิ่งเข้ามานั่งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด แบบสด ๆ ร้อน ๆ กล่าวกับ Marketeer

ด้วยมุมมองที่ว่า เป้าหมายของไปรษณีย์ไทยไม่ใช่แค่สร้างการเติบโต สร้างเม็ดเงินรายได้ หรือผลกำไรเท่านั้น แต่ต้องเป็นองค์กรที่สนับสนุนสังคมและคนไทยให้เติบโตไปพร้อมกับการได้รับบริการที่สะดวกสบายอย่างทั่วถึง บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อธุรกิจโลจิสติกส์ ทำให้การเคลื่อนไหวของไปรษณีย์ไทยในทุกย่างก้าวจากนี้ไปมีแต่เรื่องที่ท้าทาย

อีคอมเมิร์ซ: การเติบโตที่มาพร้อมกับความท้าทาย

จากการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ผลักดันให้ตลาดโลจิสติกส์เติบโต มีผู้ให้บริการหน้าใหม่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน จึงทำให้เกิดการแข่งขันห้ำหั่นกันด้วย “ราคา” เกมกลยุทธ์ที่ผู้บริโภคได้รับอานิสงส์ไปเต็ม ๆ

แต่สำหรับ ดร. ดนันท์ กลับมองว่าเกมราคาไม่ได้ส่งผลดีต่อสุขภาพการเติบโตของตลาดโลจิสติกส์ในระยะยาว

“ปัจจุบันผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะมีอำนาจต่อรองสูง เนื่องจากเป็นผู้กำหนดคุณภาพและราคาในการให้บริการ ซึ่งการที่จะเข้าถึงตลาดอีคอมเมิร์ซได้ เราต้องมีความเข้าใจผู้ประกอบการ พร้อมกับสามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบการนั้นได้อย่างครบวงจร ตรงนี้จะทำให้ตลาดโลจิสติกส์เติบโตอย่างยั่งยืนมากกว่า”

ในประเด็นนี้ ดร. ดนันท์ ได้กล่าวถึงสิ่งที่ไปรษณีย์ไทยดำเนินการว่า

“เราเห็นความสำคัญในการเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อให้มีทักษะในการทำธุรกิจบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ โดยในช่วงที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกับ Amazon Global Selling Thailand จัดสัมมนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ “Made in Thailand สร้างแบรนด์ไทย ส่งไกลทั่วโลก” เพื่อเพิ่มทักษะให้ผู้ประกอบการสามารถขยายตลาดจนก้าวไปสู่การขายบนแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Amazon.com ได้ ในระยะถัดไปเราจะเพิ่มเติมการให้บริการ รวมไปถึงแพลตฟอร์มที่จะช่วยสนับสนุนการขายสินค้าของผู้ประกอบการให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำ Digital Marketing หรือการใช้ CRM แพลตฟอร์มเข้ามาเป็นตัวช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถมีเวลาสำหรับการดูแลลูกค้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองได้มากขึ้น การที่ไปรษณีย์ไทยร่วมมือกับ Amazon ครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่เป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการทั้งหลายแล้ว ยังเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ Cross Border ของไปรษณีย์ไทยอีกด้วย

 “จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ หลายคนมองว่าคนอยู่บ้านเยอะขึ้น สั่งของมากขึ้น ธุรกิจโลจิสติกส์ต้องเติบโต ก็อาจจริงในบางส่วน แต่อย่าลืมว่าการแพร่ระบาดที่ยาวนานมีผลโดยตรงต่อเศรษฐกิจประเทศไทย ซึ่งปัจจุบัน GDP ลดลงมาเหลือ 2.56% นั่นหมายความว่ามันส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน และการขนส่งทั้งหมด”

ในปี 2563 ที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยมีรายได้ 24,210 ล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ 385 ล้านบาท ลดลงจากปีที่แล้วถึง 37%

จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่หดตัวลง ส่งผลกระทบให้จำนวนชิ้นงานไม่ได้โตขึ้นมาก ประกอบกับการมีผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้น ยิ่งทำให้เกิดการแข่งขันเพื่อดึงชิ้นงานด้วยเกมราคาสูงขึ้นไปด้วย

ตลาดเติบโต แต่กำไรท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับลดลง กลายเป็นโจทย์ใหญ่ที่แม่ทัพคนใหม่ต้องเร่งแก้ไข และ ‘เรื่องเร่งด่วน’ ที่ไปรษณีย์ไทยต้องรีบจัดการเร็วที่สุดคือ

ลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้เร็วที่สุด

จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน  การแพร่ระบาดดังกล่าวก็ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการให้บริการโลจิสติกส์ด้วย เนื่องจากบุคลากรที่เป็นทรัพยากรหลัก ได้รับผลกระทบจากการทำงาน ซึ่งยิ่งทำให้ต้องมีการบริหารจัดการให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับในบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมาก จะส่งผลให้การนำส่งของมีความล่าช้าหรือไม่สามารถให้บริการได้ นับเป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศ และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการและประชาชน เพราะฉะนั้น ไปรษณีย์ไทยเอง จึงได้กำหนดมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนดอย่างเคร่งครัด

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญเป็นอย่างแรกคือ ‘ความปลอดภัยของพนักงาน’ เพราะความปลอดภัยของพนักงานนั้นเท่ากับความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการ”

ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ไปรษณีย์ไทยเน้นย้ำให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของมาตรการในการให้บริการเพื่อสร้างความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน โดยการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือทุกครั้งหลังมีการสัมผัสกับจดหมาย พัสดุ นอกจากนี้ ไปรษณีย์ไทยยังเร่งให้พนักงานที่เป็นบุคลากรด่านหน้าที่ต้องพบปะให้บริการแก่ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในการเข้าใช้บริการ

นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการให้บริการสำหรับจุดบริการหลัก อย่างเช่น ที่ทำการไปรษณีย์ มีการให้บริการโดยยึดหลัก Social Distancing ยกระดับมาตรฐานด้านชีวอนามัย จัดเตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดตามมาตรการอย่างครบครัน

สำหรับการดำเนินงานภายในศูนย์ไปรษณีย์ต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นเส้นเลือดใหญ่ของการให้บริการ เนื่องจากเป็นสถานที่สำหรับคัดแยกและส่งต่อสิ่งของจำนวนมาก เราจัดให้มีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคบนสิ่งของฝากส่งทางไปรษณีย์ขาเข้าที่มาจากพื้นที่เสี่ยงและจากต่างประเทศทุกชิ้นก่อนกระจายส่งออกไปยังประชาชน เรามีการแบ่งกลุ่มทำงานออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ โดยให้มีการเหลื่อมเวลาทำงานไม่ให้ทับซ้อนกัน รวมถึงให้มีการแยกสถานที่ทำงานกันอย่างชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด

“มาตรการที่เป็นมาตรฐานขั้นต้นเพื่อรักษาความปลอดภัยเหล่านี้ คือเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องรีบจัดการอย่างรอบคอบ รัดกุม และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ประชาชนผู้ใช้บริการมีความมั่นใจว่าสิ่งของและพัสดุทุกชิ้นจะถูกส่งถึงปลายทางด้วยความปลอดภัย ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วที่สุด”

จากมาตรการต่าง ๆ ที่ถูกคิดขึ้นมารองรับสถานการณ์ในช่วงเวลาที่ผ่านมาที่เราสามารถประเมินได้ เป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ ดร.ดนันท์ คาดว่าจะทำให้ไปรษณีย์ไทยผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ โดยยังคงประสิทธิภาพของการให้บริการไว้ได้มากที่สุด

ร่วมมือกับพันธมิตร สร้างบริการใหม่

“สิ่งที่เราเห็นในช่วงโควิด-19 ที่ตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตจากความต้องการของผู้ใช้บริการที่มากขึ้น เราเรียนรู้ว่าผู้ให้บริการเพียงรายหนึ่งรายใดนั้นไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เพียงลำพัง จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการนำทรัพยากรและความเชี่ยวชาญของผู้ให้บริการแต่ละรายมาใช้ร่วมกันเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง สร้างความต่อเนื่องในการให้บริการได้มากขึ้นและเร็วขึ้น”

ประกอบกับเราเห็นว่าตลาดของการขนส่งควบคุมอุณหภูมิมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 จากความต้องการในการส่งของสดหรือของที่ต้องการรักษาอุณหภูมิ เช่น อาหารทะเล ผักผลไม้ หรือธุรกิจอาหารที่ต้องมีการขนส่งระหว่างสายการผลิต ระหว่างสาขาร้านอาหารต่าง ๆ รวมถึง ยาเวชภัณฑ์ เพราะฉะนั้นไปรษณีย์ไทยเองได้เล็งเห็นว่าเราสามารถสร้างบริการควบคุมอุณหภูมิที่มีคุณภาพ ครบวงจร ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการได้ จึงร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อให้บริการโลจิสติกส์ขนส่งควบคุมอุณหภูมิแบบครบวงจร ภายใต้ชื่อ FUZE POST

ดร. ดนันท์กล่าวต่อว่า “ความร่วมมือในการให้บริการขนส่งควบคุมอุณหภูมินั้น เป็นการเตรียมการเพื่อรองรับความต้องการของผู้ประกอบการในช่วงเวลาที่ทุกคนประสบกับความยากลำบาก พ่อค้าแม่ขายไม่สามารถขายของในตลาดหรือในร้านค้าได้ตามปกติ จากที่ไม่เคยต้องพึ่งพาการขายของผ่านช่องทางออนไลน์มาก่อน ก็ต้องย้ายไปขายบนช่องทางออนไลน์ การขนส่งสินค้าจึงเข้ามามีบทบาทแทนการส่งมอบสินค้าที่หน้าร้าน การให้บริการในลักษณะนี้จึงเป็นส่วนสำคัญและจำเป็นที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้”

ต่อยอดจุดแข็งให้เป็นธุรกิจใหม่

“หากมองจาก Outside In ไปรษณีย์ไทยเป็นแบรนด์ที่เติบโตพร้อมกับสังคมไทยมากว่า 138 ปี คนไทยเห็นตู้ส่งจดหมายสีแดงมาตั้งแต่เด็ก เราสร้างความผูกพันกับคนไทยมานาน บุรุษไปรษณีย์ไม่ใช่แค่คนส่งจดหมาย แต่เป็นเหมือนเพื่อน เหมือนพี่น้องในชุมชน ตรงนี้คือความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง แน่นแฟ้นกับลูกค้า ซึ่งกลายมาเป็นความเชื่อมั่น ไว้วางใจ และเป็นจุดแข็งสำคัญของไปรษณีย์ไทย”

“เมื่อไปรษณีย์ไทยเติบโตมาพร้อมกับสังคมไทย นั่นหมายถึงไปรษณีย์ไทยต้องอยู่คู่กับสังคมไทยได้ทุกยุคทุกสมัย ในวันนี้เป็นสมัยของอีคอมเมิร์ซ เป็นสมัยของเทคโนโลยี เพราะฉะนั้น การที่เราจะเข้าถึงผู้คนในสมัยนี้ได้ เทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ”

ไปรษณีย์ไทยมีระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการ เช่น การใช้เครื่องคัดแยกแบบ Cross Belt Sorter และ Mixed Mail Sorter ในการรับฝาก-คัดแยก-ส่งต่อ-นำจ่าย เพื่อสร้างกระบวนการจัดส่งที่มีคุณภาพรองรับปริมาณงานได้จำนวนมาก ทำให้มีการนำส่งได้รวดเร็วขึ้น การขยายช่องทางบริการการเงินในประเทศด้วย Digital Wallet บริการเก็บเงินปลายทาง COD การพัฒนารถขนส่งพลังงานไฟฟ้า (EV) ในการนำจ่ายพัสดุ การให้บริการรับฝากนอกสถานที่ (Pick Up Service) ผ่านช่องทาง Line@ThailandPost บริการตู้รับพัสดุอัตโนมัติหรือ Automated Postal Machine ตลอดจนการพัฒนาประสบการณ์การใช้บริการทั้งออนไลน์และออฟไลน์อย่างต่อเนื่อง

“จากการที่เทคโนโลยีมีการเติบโต ทำให้วิถีการสื่อสารของคนมีการเปลี่ยนแปลงไป สมัยก่อนผู้คนใช้จดหมายเพื่อสื่อสารระหว่างกัน ในขณะที่ปัจจุบันมีวิธีการสื่อสารหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์ม การสื่อสารผ่านอีเมล หรือแม้กระทั่งการสื่อสารผ่านช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ ทำให้การส่งจดหมายหรือไปรษณียภัณฑ์มีปริมาณที่ลดลง จากการเปลี่ยนแปลงนี้เอง ไปรษณีย์ไทยจึงเข้าสู่การพัฒนาการให้บริการ Total Document Handling (TDH) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ที่ไปรษณีย์ไทยจะเป็น ‘ตัวกลาง’ ในการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชนที่เป็นมาตรฐาน มีระบบพิสูจน์ยืนยันตัวตน ซึ่งก็จะเป็นทางเลือกในการสื่อสารอีกทางเลือกหนึ่ง โดยเฉพาะการส่งจดหมายจากหน่วยงานราชการถึงประชาชนที่มีความจำเป็นในการยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งหากใช้บริการ TDH จะสามารถส่งเอกสารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่หากประชาชนไม่สะดวก ไปรษณีย์ไทยก็สามารถแปลงเอกสารอิเล็กทรอนิกส์นั้นให้อยู่ในรูปแบบจดหมายและนำส่งแทนได้เช่นกัน อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ไปรษณีย์ไทยกำลังดำเนินการนั้นเป็นการสร้าง Digital Touch to Human Touch ได้อย่างไร้รอยต่อ

นอกเหนือไปจากการใช้เทคโนโลยีในการเข้าถึงสังคมแล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีและความผูกพันที่คุ้นเคยกันมายาวนานของบุรุษไปรษณีย์เป็นจุดแข็งสำคัญในการเป็น Human Networking ที่มีความแม่นยำสูง ทำให้เราไม่ต่างกับการเป็น Facebook Offline ซึ่งสามารถนำไปสร้างเป็น Marketing Network ที่เข้มแข็งได้ จุดแข็งนี้เองคือ ‘ไม้เด็ด’ ที่ ดร. ดนันท์ จะนำมาต่อยอดให้กลายเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของไปรษณีย์ไทย

“ผมมองว่านี่คือโอกาสทางธุรกิจที่น่าสนใจและสอดคล้องกับ Next Normal ที่ต่อไปคนจะอยู่บ้านมากขึ้น ใช้บริการ Delivery หรือขนส่งมากขึ้น เราต่อยอดจากจุดแข็งที่มี เปลี่ยนเป็นทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่ไปรษณีย์ไทยจะสร้างคุณค่าให้กับผู้บริโภค ซึ่งจุดนี้เองจะทำให้ภาพจำของ ‘บุรุษไปรษณีย์’ ที่เคยเป็น Last-mile Delivery กลายเป็น First-mile Service ให้กับคนในชุมชน ซึ่งอันที่จริงเราได้เริ่มโมเดลธุรกิจนี้ผ่านแคมเปญ “สะดวก ง่าย พี่ไปรฯ มาเติมเงินให้ถึงบ้าน” ที่ไปรษณีย์ไทยจับมือกับ ผู้ให้บริการเครือข่ายอย่าง AIS และ TRUE แล้ว”

“การที่บุรุษไปรษณีย์เข้าใจความต้องการ รู้จักคนในชุมชน รู้จักไลฟ์สไตล์ และรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของชุมชน จำนวนคนอยู่อาศัยในบ้าน ณ ขณะนั้น ข้อมูลเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ ทำให้ไปรษณีย์ไทยเปรียบเสมือน ‘ทะเบียนบ้านแบบไดนามิกส์’ ซึ่งเป็นคุณสมบัติในการนำไปต่อยอดให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ได้”

ดร. ดนันท์ ฉายภาพให้เข้าใจมากขึ้นว่า “จากการที่เรามีบุรุษไปรษณีย์เป็น Marketing Network ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ผนวกกับข้อมูลที่เรามี มาวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละราย เพื่อให้สามารถแนะนำบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างถูกต้องมากที่สุด ตรงนี้เองที่จะทำให้ไปรษณีย์ไทยกลายเป็น Offline Marketing Platform ขนาดใหญ่ ที่เป็นแพลตฟอร์มตอบสนองการส่งสินค้าของผู้ประกอบการได้ตรงตามความต้องการของผู้รับที่เป็นลูกค้าเป้าหมาย”

ไปรษณีย์ไทย เคียงคู่คนไทย เคียงคู่ชุมชน

ในช่วงระยะเวลาที่มีการระบาดของโควิด-19 ซึ่งประชาชนทุกคนได้รับความเดือดร้อน ไปรษณีย์ไทยได้เข้าไปมีส่วนร่วม ช่วยเหลือและดูแลสังคมอย่างต่อเนื่อง ด้วยความพร้อมเป็นกลไกในการขับเคลื่อนความเป็นอยู่และช่วยลดความเสี่ยงของสังคมไทยให้รอดพ้นภัยไปด้วยกัน

“เวลานี้ที่พวกเราทุกคนกำลังเผชิญกับสถานการณ์ในภาวะวิกฤต ‘กำไร’ จึงไม่ใช่สิ่งที่สำคัญลำดับแรกอีกต่อไป แต่การยืนอยู่เคียงคู่คนไทย เคียงข้างชุมชน คือสิ่งที่เป็นภารกิจหลักของรัฐวิสาหกิจอย่างไปรษณีย์ไทย”

“เรามีกิจกรรมและการดำเนินการส่งพลังความห่วงใยและส่งความช่วยเหลือแก่สังคมมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนเกษตรกร โดยการรับขนส่งผลไม้ด้วยอัตราพิเศษ แบ่งเบาภาระค่าขนส่งเพื่อพยุงไม่ให้ราคาผลผลิตตก การร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ในการเป็นช่องทางนำผลไม้ตามฤดูกาลมาจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ thailandpostmart.com และช่องทางออฟไลน์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขและสังคม  โดยการเป็นผู้นำส่งเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลและบุคลากรด่านหน้าทางการแพทย์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ การเป็นช่องทางจัดส่งยาและเวชภัณฑ์ในโครงการ Home Isolation/Community Isolation การให้ความร่วมมือกับสำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์พักคอยโรงเรียนการไปรษณีย์ เขตหลักสี่ เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง การร่วมมือกับหน่วยงานเอกชนในการจัดส่งเตียงกระดาษ รวมถึงสิ่งของที่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงการรวบรวมกล่อง/ซองกระดาษที่ไม่ใช้แล้วจากคนไทย มา Reuse เป็นอุปกรณ์จำเป็นทางการแพทย์เพื่อส่งให้หน่วยงานสาธารณสุขทั่วไทยต่อไป”

ดร. ดนันท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ไปรษณีย์ไทยไม่ได้มุ่งดำเนินธุรกิจเพื่อหาผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่อีกหนึ่งภารกิจหลักที่สำคัญคือการสนับสนุนผลักดันและสร้างคุณค่าแก่สังคมให้เติบโตขับเคลื่อนไปด้วยบริการที่ดี มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง ไปรษณีย์ไทยจะเป็นเพื่อนแท้ร่วมทางที่อยู่เคียงคู่ประชาชนคนไทยต่อไปอย่างยั่งยืน”



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online