ตลาดรถ EV คึกคัก 2 ยักษ์อย่าง Sony และ Honda ยังร่วมแจม
ความตื่นตัวในพลังงานสะอาดและความสำเร็จระดับล้มยักษ์ที่ Tesla สร้างไว้ ทำให้ตลาด EV ทั่วโลกคึกคักอย่างมาก จนค่ายรถทุกค่ายทั่วโลกตั้งแต่ตลาดที่ผลิตเพื่อรองรับความต้องการของหมู่มาก (Mass Market) ไปจนถึงกลุ่มรถ Super Car ราคาแพง ต่างก็เผยแผนพัฒนา EV ออกมา
เสียงกระหึ่มของเครื่องยนต์ EV ที่ต่างจากเครื่องยนต์รถสัปดาปด้วยน้ำมันนี้ ดังไปถึงบริษัทใหญ่ ๆ นอกอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่มีศักยภาพ ความพร้อมและสาวกแบรนด์อยู่เป็นทุนเดิม นี่นำมาสู่การรุกสู่ตลาด EV ของบริษัทเทคโนโลยีเอเชีย อย่าง Foxconn และ Baidu รวมไปถึง Apple ที่แม้ยังเป็นแค่ข่าวลือแต่ก็หนาหูขึ้นเรื่อย ๆ
รูปแบบที่แบรนด์เทคโนโลยีเหล่านี้ใช้ในการรุกตลาด EV คือจับมือกับค่ายยานยนต์ โดย Sony เป็นแบรนด์เทคโนโลยีอีกแบรนด์ที่สนใจรุกตลาด EV เช่นกันผ่าน Vision-S รถต้นแบบ EV มาตั้งแต่ปี 2020
มาปีนี้ Sony พัฒนาแผนดังกล่าวให้จับต้องได้มากขึ้น โดยมีการเปิดตัว Vision-S 02 ตามด้วยประกาศจับมือกับ Honda และตั้งเป้าส่ง EV ลงถนนในปี 2025
ทว่าในรายละเอียด แผนรุกตลาด EV ของ Sony มีการร่างพิมพ์เขียวมาแล้ว 10 ปี และมีประเด็นเบื้องหลังที่น่าสนใจ
ทางท้าทายเส้นใหม่และพันธมิตร Walkman
การเข้ามาแบ่งเค้ก ต่อยอดธุรกิจ และการขยับขยาย คือเป้าหมายในการรุกตลาด EV ของแบรนด์เทคโนโลยี ทว่าลึกลงไป แต่ละแบรนด์ก็เผชิญปัญหามาก่อน และหวังให้การรุกตลาด EV เปิดทางทำธุรกิจใหม่ ๆ เพราะไม่อาจพึ่งพาธุรกิจหลักอย่างเดียวได้อีกต่อไป
อย่างในกรณีของ Foxconn ตัดสินใจรุกตลาด EV เพราะเห็นว่าตำแหน่งยักษ์โรงงานรับจ้างผลิต (OEM) ของตนกำลังสั่นคลอน โดยคาดว่าต่อไปการผลิต Smartphone อันเป็นแหล่งรายได้หลักมานาน จะไม่เปรี้ยงป้างเหมือนก่อน เนื่องจากอุปกรณ์สั่งการด้วยเสียง
และ Gadget เพื่อความสะดวกในบ้านอัจฉริยะ (Smart Home) จะแรงขึ้นมาแทน Smartphone แต่ขณะเดียวกันจะขยับไปสู่อุปกรณ์ Smart Home ทันทีเลยก็ไม่ได้
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ Foxconn กระจายความเสี่ยงด้วยการรุกตลาด EV พร้อมพัฒนาการที่น่าสนใจ เริ่มจากจับมือกับแบรนด์ยานยนต์ ซื้อโรงงาน ร่วมมือกับบริษัทใหญ่ ๆ ในเอเชีย เช่น จับมือกับ ปตท. ของไทย และผลิตรถภายใต้แบรนด์ตัวเอง
ด้าน Sony ที่แสดงให้เห็นความจริงจังในการรุกตลาด EV ผ่านการพัฒนาต่าง ๆ จนมาถึงการจับมือกับ Honda แต่ถ้าสืบย้อนไปจะพบว่าปัญหาก็มีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนาและกระจายความเสี่ยงเช่นกัน
ปี 2012 Kazuo Hirai หัวเรือใหญ่แผนก Sony Computer Entertainment Inc (SCEI) ที่ดูแล Video Game และ Computer ซึ่งมี Play Station เป็นความสำเร็จที่จับต้องได้ ขึ้นมาเป็น CEO ของ Sony โดยเขาได้สั่งยกเครื่องครั้งใหญ่ ตัดส่วนธุรกิจที่ขาดทุนอย่างโทรทัศน์ทิ้งไป และหันมาให้ความสำคัญกับ Play Station และเพลงที่ทำกำไร
นอกจากนี้ Kazuo Hirai ก็สั่งให้ทีมผู้บริหารมองธุรกิจที่จะเป็นอนาคตเผื่อเอาไว้ เพราะ ณ ขณะนั้นบรรดาแบรนด์ญี่ปุ่นกำลังเผชิญขาลง ซึ่งแบรนด์ที่แรงขึ้นมาคือแบรนด์เกาหลีใต้อย่าง Samsung โดยเวลาดังกล่าวเริ่มมีการพูดถึงการรุกตลาดยานยนต์
ปี 2017 Kenichiro Yoshida ที่ยังเป็นประธานฝ่ายการเงิน (CFO) และมือขวาของ Kazuo Hirai นำการรุกตลาดยานยนต์มาพูดถึงอีกครั้ง โดยเขาเพิ่มเติมว่าน่าจะเน้นไปที่ EV
พอปีถัดมา Kenichiro Yoshida ขึ้นเป็น CEO ต่อจาก Kazuo Hirai เขาก็สั่งให้เริ่มเดินหน้าแผนนี้ และให้ Izumi Kawanishi รองประธานที่มีความรู้ความสามารถด้าน AI และเคยคุยเรื่องพัฒนารถกันอยู่มานานเป็นคนดูแล
แผนพัฒนารถของ Sony ปรากฏให้เห็นผ่านก้าวเล็ก ๆ อย่างการอัปเกรดหุ่นยนต์น้องหมา AIBO ซึ่งเป็นการสื่อว่า Sony จะให้น้ำหนักกับการพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่าตัวรถนั่นเอง จากนั้น Izumi Kawanishi ก็นำทีมรถและซอฟต์แวร์ต่าง ๆ ในรถ มาเงียบ ๆ
ที่สุดเริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างในปี 2020 ผ่าน Vision-S ต้นแบบ EV รุ่นแรก และต่อเนื่องด้วย Vision-S 02 เมื่อมกราคมปีนี้
จากศักยภาพและการเป็นแบรนด์เทคโนโลยีประวัติยาวนาน จึงทำให้ EV ต้นแบบทั้งสองรุ่นของ Sony ได้รับความสนใจ แต่ก็ยังมีข้อกังขาว่า Sony จะสามารถผลิตรถออกมาเองได้จริงหรือไม่ ที่สุดข้อกังขานี้ก็ตกไปด้วยการที่ Sony ประกาศจับมือกับ Honda หนึ่งในค่ายรถยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น
Kenichiro Yoshida – CEO ของ Sony กล่าวว่า Honda คือมิตรแท้ ขณะที่ Toshihiro Mibe – CEO ของ Honda กล่าวว่า เราจะร่วมกันฟันฝ่าอุปสรรคและแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการใหม่ ๆ
การกล่าวชมกันและกันของ CEO- Sony และ Honda ดังกล่าวมีความหมายลึกซึ้ง สืบย้อนไปไกลถึงช่วงเริ่มต้นของแต่ละแบรนด์ และยังเชื่อมโยงกับประวัติ Gadget สร้างชื่อให้ Sony อีกด้วย
Masaru Ibuka ผู้ก่อตั้ง Sony กับ Soichiro Honda ผู้ก่อตั้ง Sony โดยทั้งคู่รู้จักกันตั้งแต่สมัยต่างฝ่ายเพิ่งเริ่มก่อตั้งบริษัท และพัฒนาเป็นเพื่อนสนิท โดยว่ากันว่า หากใครถูกให้ร้ายอีกฝ่ายจะแก้ต่างให้เสมอ
เวลาต่อมาความสนิทและถ้อยทีถ้อยอาศัยกันของทั้งคู่ยังพัฒนาสู่ความร่วมมือกันของ Sony กับ Honda โดยยุค 60 Sony ผลิตโทรทัศน์แบบพกพาสำหรับการไปแคมปิ้ง Honda ก็ผลิต E330 เครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบพกพาออกมารองรับ
และในยุค 70 Soichiro Honda บ่นว่าเบื่อที่ไม่มีอะไรทำระหว่างต้องเดินทางไกล ๆ ก็จุดประกาย Masaru Ibuka ให้ไปผลักดันให้ทีมวิศวกรพัฒนา Walkman ซึ่งต่อมากลายเป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่ดังมากในยุค 80
Kenichiro Yoshida – CEO คนปัจจุบันของ Sony เชื่อว่าจากนี้การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์รวมไปถึงพาหนะที่อำนวยความสะดวกในการคมนาคมจะกลายเป็นเทรนด์สำคัญ ที่ไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป จนทุกบริษัทต้องเข้ามามีส่วนร่วม ดังนั้นนี่จึงถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
หากประสบความสำเร็จ Sony ตัวรถอาจครองใจสาวก Sony ได้ไม่ยาก และยังจะสามารถเข้ามาแบ่งเค้กในส่วนของซอฟต์แวร์กับระบบในรถได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การรุก ตลาดรถ EV ที่ Sony หวังฝากอนาคตไว้นี้ก็เต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งจากค่ายรถต่าง ๆ และแบรนด์เทคโนโลยีคู่แข่งที่ต่างก็จะใช้จุดแข็งของตนมาใส่ในรถ/nikkei, wapcar, wikipedia
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



