รายได้เมเจอร์ปี 64 พร้อมกลยุทธ์ปั๊มรายได้ปี 65 หนังภาคต่อและป๊อปคอร์น

เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ปิดการดำเนินการธุรกิจตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รอบแรกตั้งแต่ 18 มีนาคม 2563 ถึง 31 พฤษภาคม 2563 

เมื่อจอดำ เเละลานโบว์ลิ่งปิด ทำให้ปี 2563 มีรายได้เพียง 3,936 ล้านบาท ขาดทุน 527 ล้านบาทเป็นการขาดทุนครั้งแรกหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์มานานถึง 25 ปี

ปี 2562 มีรายได้ 10,822 ล้านบาท กำไร 1,170 ล้านบาท

ปี 2564 หนักกว่าเดิม ปิดตั้งแต่ 3 เมษายน 2564 ถึง 30 กันยายน 2564

คิดว่าปีที่แล้วเมเจอร์จะอวสานแบบไม่แฮปปี้เอนดิ้งเสียแล้ว

แต่เมื่อผู้บริหารแก้เกมโดยขายหุ้นบริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอป (SF) ให้กับบริษัท “เซ็นทรัลพัฒนา” เป็นจำนวนเงิน 7,766 ล้านบาท

ได้เงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ ลดดอกเบี้ย และช่วยเสริมสภาพคล่องช่วงวิกฤตโควิด

ทำให้ปี 2564 เมเจอร์สามารถพลิกมามีกำไรสุทธิ 1,581 ล้านบาท

รายได้เมเจอร์ปี 64 ยังดี ส่วนปี 2565 ฟ้าเริ่มเปิด หนังฟอร์มยักษ์จ่อคิวเพียบ

ปี 2565 ในขณะที่มาตรการของรัฐเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง หนังฟอร์มยักษ์ที่แฟน ๆ ชาวไทยรอคอยก็เตรียมรอฉายอยู่หลายเรื่อง เช่น “Doctor Strange” จอมเวทย์มหากาฬ  “Jurassic World Dominion 2022”

แอนิเมชั่นฟอร์มยักษ์จากดิสนีย์และพิกซาร์ “Lightyear” หรือ “Top Gun MaverickW ภาคต่อของ Top Gun (1986) ที่ถูกเลื่อนกำหนดฉายมาหลายครั้ง

รวมทั้งอวตาร ภาค 2 และสไปเดอร์แมนภาคการ์ตูน

รายได้จากการขายตั๋วหนังและธุรกิจอื่น ๆ น่าจะค่อย ๆ ฟื้นตัว

ความเคลื่อนไหวอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของเมเจอร์ คือเรื่องป๊อปคอร์น คัลเจอร์

ป๊อปคอร์นความคลาสสิกในการเข้าถึงผู้บริโภคของค่ายเมเจอร์  

ตอนเข้าตลาดหลักทรัพย์ใหม่ ๆ รายได้จากขายป๊อปคอร์นประมาณ 8-9% เท่านั้นหากเทียบกับรายได้การขายตั๋วหนัง แต่ปัจจุบันรายได้จากส่วนนี้สูงถึง 30%

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เมเจอร์ได้ลุยขายป๊อปคอร์น Delivery อย่างจริงจัง รวมทั้งได้แตกไลน์สินค้าป๊อปคอร์นเกรดพรีเมียม รสชาติต่าง ๆ  

ที่สำคัญเมเจอร์มีแผนจะนำป๊อปคอร์นเข้าขายใน 7-11 ใน Q2/2565 นี้ใน 12,000 สาขา จากสาขาทั้งหมดที่มีอยู่ราว 13,000 สาขา และจะขยายไปในโมเดิร์นเทรดและคอนวีเนียนสโตร์อื่น ๆ

รวมถึงเดลิเวอรี่ จากเดิมมีขายใน Lazada และ Shopee ก็จะเพิ่มในช่องทาง Grab และออนไลน์ของบริษัทเอง ซึ่งจะเป็นรายได้ช่องทางใหม่

ในเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา เมเจอร์ยังเข้าไปลงทุน 540 ล้านบาท  สัดส่วนถือหุ้น 4.94% ใน บมจ. เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 4

และลงทุน 523 ล้านบาท สัดส่วนถือหุ้น 4.22% ใน บมจ. เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ ปัจจุบันเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 4

บมจ. เถ้าแก่น้อยมีจุดแข็งในเรื่องช่องทางการจัดจำหน่ายอาหารรับประทานเล่น ส่วน บมจ. เวิร์คพอยท์ คือผู้ผลิตคอนเทนต์บันเทิงรายใหญ่ 

ในเร็ว ๆ นี้เราจึงน่าจะได้เห็นความร่วมมือเพื่อการต่อยอดธุรกิจที่มากขึ้น และแตกต่างไปจากเดิมโดยไม่จำเป็นต้องฝากไว้กับธุรกิจโรงหนังอย่างเดียวอีกต่อไป

เพราะรู้ ๆ อยู่ว่า ธุรกิจโรงหนังยังมีความไม่แน่นอนจากการแข่งขันของธุรกิจสตรีมมิ่ง และไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปและคาดเดายากขึ้นทุกที  

ภาคต่อของเมเจอร์หลังฝ่าวิกฤตมาได้ จะเป็นยังไงต้องติดตาม

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online