Shake Shack แบรนด์ฟาสต์ฟู้ดอเมริกันหน้าใหม่ที่อยากจะ “ลองของ” เมืองไทย
‘สวัสดีประเทศไทย! เราจะให้บริการ Shack Burgers ในดินแดนแห่งรอยยิ้มในเร็ว ๆ นี้’ หลังจากที่แบรนด์ Shake Shack (เชคแชค) โพสต์ข้อความนี้ลงในโซเซียลมีเดียในวันที่ 2 พฤษภาคม ภายในเพียงเวลาชั่วครู่ Shake Shack ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลามและเป็นที่ฮือฮากันอย่างมาก
แบรนด์ Shake Shack มีแพลนที่จะบุกตลาดฟาสต์ฟู้ดในประเทศไทย เปิดสาขาแรกในกรุงเทพฯ ภายในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งนำเข้าโดยบริษัท แม็กซิมส์ เคเทอร์เรอร์ จำกัด (Maxim’s Caterers Limited) และตั้งเป้าหมายว่าจะเปิดให้ได้ถึง 15 สาขาภายในปี 2032
Shake Shack เป็นร้านเบอร์เกอร์ที่เริ่มมาจากการขายรถเข็นฮอทดอกในปี 2001 หลังจากประสบความสำเร็จจึงได้ปรับเปลี่ยนเป็นร้านอาหารสไตล์ฟาสต์ฟู้ดและขยายสาขาไปทั่วโลก โดยปัจจุบันมีสาขามากกว่า 370 สาขาทั่วโลก และมีหุ้นอยู่ในตลาดหุ้นนิวยอร์กมูลค่าประมาณ 2.6 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 9.2 หมื่นล้านบาท
ก่อนที่จะไปรู้จักกับเมนูยอดนิยม มารู้จักกับแบรนด์ Shake Shack กันดีกว่า
Shake Shack ก่อตั้งเมื่อกรกฎาคม 2004 ในนิวยอร์กซิตี สหรัฐอเมริกา โดย Danny Meyer (แดนนี่ เมเยอร์) ซึ่ง Shake Shack เป็นร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแบบอเมริกัน โดยเริ่มแรกเน้นขายเมนูฮอทดอกอย่างเดียว แต่หลังได้รับความนิยมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงขยายเมนูจากฮอทดอกสไตล์นิวยอร์กไปเป็นเมนูแฮมเบอร์เกอร์ ฮอทดอก มันฝรั่งทอด และมิลค์เชค
นับตั้งแต่ก่อตั้ง Shake Shack เป็นหนึ่งในบริษัทที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นบริษัทมหาชนที่สามารถยื่นเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปได้ในช่วงปลายปี 2014 ซึ่งราคาเสนอขายเริ่มต้นของหุ้นอยู่ที่ 21 ดอลลาร์ และเพิ่มขึ้นทันที 132% เป็น 48.77 ดอลลาร์ทันทีในวันแรกของการซื้อขาย และหุ้นพุ่งขึ้นอีก 8% ในสองสามวันต่อมา ราคาซื้อขายที่มากกว่า 89 ดอลลาร์ต่อหุ้น
Danny Meyer ผู้ก่อตั้ง Shake Shack
Danny Meyer เกิดและเติบโตท่ามกลางครอบครัวที่ชื่นชอบอาหารเลิศรสในเมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี เขาจึงใช้เวลาส่วนใหญ่ในวัยเด็กไปกับการรับประทานอาหาร พร้อมความปรารถนาที่จะเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเองในอนาคต เมื่ออายุได้ 27 ปี Danny ได้เปิดร้านอาหารแห่งแรกของเขาที่ชื่อ Union Square Cafe (ยูเนี่ยนสแควร์คาเฟ่) ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในอาชีพของเขา
หลายปีต่อมา เขาได้ก่อตั้ง Danny’s Union Square Hospitality Group (USHG) ซึ่งเป็นองค์กรที่ดูแลธุรกิจของเขาโดยเฉพาะ โดยประกอบไปด้วยร้านอาหารมากมายที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รักในนิวยอร์กอย่าง Gramercy Tavern (แกรมมาซี่ ทาเวิร์น), The Modern (เดอะ โมเดิร์น), Maialino (ไมอาลิโน) และอีกมากมาย
Danny และ USHG ยังได้ก่อตั้ง Shake Shack ซึ่งเป็นร้านอาหารเบอร์เกอร์ริมถนนที่กลายเป็นบริษัทมหาชนในปี 2015 นอกจากนี้ USHG ยังให้บริการจัดงานขนาดใหญ่ บริการด้านอาหารสำหรับสถาบันของรัฐและเอกชน บริการให้คำปรึกษาด้านอุตสาหกรรม และโครงการด้านการศึกษาอีกด้วย
ภายใต้การนำของ Danny ทำให้ USHG ไม่เพียงมีชื่อเสียงในด้านร้านอาหารที่ได้รับการยกย่องเท่านั้น แต่ยังมีชื่อเสียงในด้านวัฒนธรรมที่โดดเด่นและโด่งดังของ Enlightened Hospitality ซึ่งเป็นหลักการในการจัดลำดับความสำคัญ โดยให้พนักงานสำคัญที่สุดเป็นอันดับแรก สิ่งเหล่านี้ได้ขับเคลื่อนและหล่อหลอมวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องของ USHG จากร้านอาหารกลุ่มเล็ก ๆ ไปสู่องค์กรอันยิ่งใหญ่ที่ให้บริการอย่างหลากหลายรูปแบบ
การเติบโตของแบรนด์ Shake Shack
จุดเริ่มต้นของShake Shackเริ่มมาจากในปี 2000 ตอนที่นิวยอร์กซิตีเริ่มสร้างเมดิสันสแควร์พาร์คขึ้นมาใหม่ Danny Meyer ได้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาสวนนี้ จึงได้ร่วมก่อตั้งองค์กรอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูพื้นที่
และให้ Randy Garutti (แรนดี้ กูรูตี้) ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของ Danny Meyer ซึ่งต่อมาเป็นซีอีโอของShake Shackเริ่มต้นขายรถเข็นฮอทดอกขึ้นใน Madison Square Park (เมดิสันสแควร์พาร์ค) ในปีต่อมาเพื่อช่วยในการระดมทุน ซึ่งนำฮอทดอกมาจากครัวของร้านอาหาร Eleven Madison Park หนึ่งในเครือของ Union Square Hospitality Group (USHG)
เมื่อเวลาผ่านไป 3 ปีรถเข็นขายฮอทดอกก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนในปี 2004 Danny Meyer ได้ตัดสินใจเปลี่ยนกิจการรถเข็นเป็นแบรนด์อาหารฟาสต์ฟู้ดShake Shackในเดือนกรกฎาคม
แม้ว่าจากจุดเริ่มต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นร้านค้าแห่งเดียวสำหรับนครนิวยอร์กโดยเฉพาะก็ตาม แต่เนื่องจากยอดขายยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง กลุ่มบริษัท USHG จึงคิดว่ามีกิจการนี้สามารถขยายตัวไปในท้องตลาดได้อย่างง่ายดาย
สำหรับชื่อแบรนด์Shake Shackนั้น Danny Meyer ได้มาจากการรับชม Grease ภาพยนตร์เพลงแนวโรแมนติกคอมเมดี้หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งคำว่าShake Shackนั้นมาจากฉากเต้นตอนจบในเพลง “You’re The One That I Want”
ใน 2 ปีต่อมา Danny Meyer เริ่มเปิดสาขาของShake Shackจากแมนฮัตตัน ศูนย์การค้าลินคอล์นโร้ด ย่านไมอามี่บีช ย่านโรงละคร และอัปเปอร์อีสต์ไซด์ จนไปสู่การเปิดสาขาในสนามบินแห่งแรกในปี 2013
ในไม่ช้าShake Shackก็ได้กลายเป็นร้านเบอร์เกอร์ยักษ์ใหญ่ที่มีร้านอาหารสาขามากมายไปถึงมอสโก อิสตันบูล และดูไบ
Shake Shackได้ดำเนินกิจการอย่างเป็นไปด้วยดีและเติบโตอย่างรวดเร็ว จนในปี 2015 Shake Shackได้กลายเป็นบริษัทมหาชนที่สามารถขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปได้สำเร็จ โดยมีแผนที่จะขยายธุรกิจในประเทศให้ได้ถึง 450 สาขาในเวลาประมาณ 25 ปี ต่อมาในปี 2016 Shake Shackได้เริ่มบริการรูมเซอร์วิสที่โรงแรม Chicago Athletic Association ซึ่งเป็นโรงแรมแห่งแรกในอเมริกาที่ให้บริการ Shake Shack ในห้องพัก
ความสำเร็จของShake Shackไม่เพียงแต่มาจากรสชาติของอาหารเท่านั้น แต่ยังมาจากเอกลักษณ์ของแบรนด์ โลโก้กราฟิกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการตกแต่งภายในร้านอาหาร ซึ่งมีแนวคิดดั้งเดิมคือShake Shackจะเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์เมืองในสวนสาธารณะ เห็นได้จากโลโก้ของShake Shackที่มีความทันสมัยที่เข้าถึงได้ง่ายอยู่เสมอ
นับตั้งแต่เปิดตัวShake Shackได้กลายเป็นหนึ่งในกิจการที่ใหญ่ที่สุดของ USHG โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี
ในปี 2018 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 28.0% เป็น 459.3 ล้านดอลลาร์ ยอดขายเพิ่มขึ้น 28.6% เป็น 445.6 ล้านดอลลาร์
ในปี 2019 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 29.4% เป็น 594.5 ล้านดอลลาร์ ยอดขายเพิ่มขึ้น 29.0% เป็น 574.6 ล้านดอลลาร์
ส่วนในปี 2020 รายได้รวมลดลง 12.1% เป็น 522.9 ล้านดอลลาร์ ยอดขายลดลง 11.9% เป็น 506.3 ล้านดอลลาร์
และในปี 2021 รายได้รวมเพิ่มขึ้น 41.5% เป็น 739.9 ล้านดอลลาร์ ยอดขายเพิ่มขึ้น 41.2% เป็น 715.0 ล้านดอลลาร์
ในไตรมาสแรกปี 2022 รายได้รวม 203.4 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 31.0% ยอดขายเพิ่มขึ้น 35.6% เป็น 309.5 ล้านดอลลาร์
จุดเด่นที่ใครได้ยินต้องตกหลุมรัก Shake Shack
สิ่งที่Shake Shackโดดเด่นกว่าใคร ๆ ก็คือแนวคิดในการรับประทานอาหารรสเลิศ จึงเน้นวิจัยและวิเคราะห์ให้อาหารมีความอร่อยและความซับซ้อนในรสชาติ รวมถึงรูปลักษณ์ของอาหารที่ชวนน่ารับประทาน
Shake Shackยังให้ความสำคัญกับคุณภาพและวัฒนธรรมของการรับประทานอาหารรสเลิศ โดยเสิร์ฟอาหารที่ปรุงจากวัตถุดิบคุณภาพสูงในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นกันเอง และสนุกสนาน
นอกเหนือจากส่วนผสมทุกอย่างที่มีคุณภาพอย่างดีแล้วนั้น Shake Shackยังปรุงอาหารสดใหม่ทุกจานตามคำสั่งซื้อที่เข้ามา โดยไม่แช่แข็งอาหารและปรุงไว้ก่อนที่ลูกค้าจะมาสั่งซื้อ
ด้วยภูมิหลังด้านอาหารรสเลิศของShake Shackจึงเป็นที่มาของเครือข่ายอาหารรสเลิศ Shake Shack ได้ทำงานร่วมกับเซฟจำนวนมากที่เก่งที่สุดในโลกอย่างเซฟ April Bloomfield (เอพริล บลูมฟิลด์), Daniel Boulud (ดาเนียล บูลูด), David Chang (เดวิด ชาง), Massimo Bottura (แมสซิโม บ็อตตูรา) และอีกมากมาย ซึ่งนำไปสู่การสร้างสรรค์เบอร์เกอร์ลิมิเต็ดเอดิชั่นแสนอร่อย เช่น The Piggie Shack เบอร์เกอร์เนื้อวัวที่ราดด้วยหมูฉีกบาร์บีคิว หรือ Momofuku Shrimp Stack ชีสเบอร์เกอร์ราดด้วยกุ้งย่างรมควัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ร้านShake Shackแต่ละแห่งจะมีเมนูที่แตกต่างกันเล็กน้อยเพื่อเอาใจคนในท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างในเมืองฟิลาเดลเฟีย จะให้บริการลิเบอร์ตี้เชลล์ ซึ่งเป็นคัสตาร์ดวานิลลาที่ราดด้วยสตรอว์เบอร์รี่ หรือในเมืองโบกาเรตัน จะให้บริการ Dog Miester ฮอทดอกราดด้วยซอสชีสอเมริกัน
เมนูยอดนิยมของ Shake Shack
แน่นอนว่าหนึ่งในเมนูที่โดดเด่นของShake Shackนั่นก็คือเบอร์เกอร์ Shack Burger เบอร์เกอร์เนื้อย่างชุ่มฉ่ำชิ้นหนาพร้อมโปะด้วยชีสละลายลงบนเนื้ออย่างลงตัว เข้าคู่ไปกับมะเขือเทศและผักกาดที่สดอร่อย อีกทั้งยังมีซอสสูตรเด็ดลับฉบับของShake Shackอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานที่ลงตัวอย่างพลาดไม่ได้เลยทีเดียว
หรือจะเป็นเบอร์เกอร์ไก่อย่าง Chicken Shack เบอร์เกอร์อกไก่ทอดกรอบชิ้นใหญ่พร้อมราดด้วยซอสมายองเนส และผักต่าง ๆ อย่างผักกาดและแตงกวาดองที่เข้าคู่กับไก่ทอดกรอบช่วยให้รสชาติออกได้อร่อยอย่างลงตัว
สำหรับคนรับประทานอาหารวีแกนShake Shackก็พร้อมให้บริการ Crispy Shallot Burger เบอร์เกอร์หอมแดงกรอบ ซึ่งการร่วมมือกับเชฟ Neil Rankin (นีล แรนกิน) ในการสร้างสรรค์เบอร์เกอร์วีแกนขึ้นมา โดยผสมผสานเห็ดย่าง หัวหอม ข้าวสาลี และส่วนผสมของเครื่องเทศ ราดด้วยหอมแดงอบกรอบและซอสที่ช่วยเพิ่มรสชาติให้อร่อยยิ่งขึ้น
เมนูแนะนำสุดท้ายที่ใครมารับประทานShake Shackแล้วไม่สั่งก็เหมือนมาไม่ถึง นั่นก็คือ Cheese Fries เฟรนช์ฟรายส์มันฝรั่งกรอบราดด้วยซอสชีสแบบเข้มข้นสไตล์อเมริกาที่หอมอร่อยจนต้องติดใจนั่นเอง
ที่มา:
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



