ตลาดความงาม 2565 มีแววกลับมารุ่ง Beauty Tech คือตัวหนุน กรณีศึกษา ลอรีอัล
ลอรีอัล ชี้แนวโน้มอุตสาหกรรมความงาม และกลยุทธ์บริษัทหลังยุคโควิด 19 พร้อมสรุปข้อมูลอุตสาหกรรมความงาม ตลอดจนผลประกอบการทั่วโลกในปี 2564 และการเติบโตของบริษัทในตลาดอีคอมเมิร์ซ พร้อมเผยแนวทางการรุกธุรกิจในอนาคต ด้วยการค้นคว้าวิจัย และการพัฒนานวัตกรรมที่ล้ำสมัย เสริมแกร่งความเป็นผู้นำด้าน “Beauty Tech” อย่างแท้จริง
ในปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดความงามกลับมาคึกคักอีกครั้งด้วยมูลค่าตลาดรวมกว่า 1.447 แสนล้านบาท ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลผิวยังครองส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้สูงที่สุดที่ 57.5 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่กลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 21 เปอร์เซ็นต์ ผลิตภัณฑ์กลุ่มเมคอัพยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 3 ที่ 15.5 เปอร์เซ็นต์ ด้านกลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำหอมมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 6 เปอร์เซ็นต์
โดยตลาดความงามในประเทศไทยมีขนาดเป็นอันดับที่ 2 ในภูมิภาค SAPMENA (เอเชียแปซิฟิกใต้ ตะวันออกกลาง และ แอฟริกาเหนือ) และ ลอรีอัล ประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 5 ตลาดหลักในภูมิภาคดังกล่าว โดยยังสามารถคงอัตราการเติบโตเหนือตลาด และครองส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา กล่าวว่า ปี 2564 นับเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์สำหรับลอรีอัล กรุ๊ป และปีที่น่าประทับใจของลอรีอัล ประเทศไทยในการครองส่วนแบ่งการตลาดที่สูงขึ้น วิกฤตโควิด-19 และกระแสความท้าทายของดิจิทัลที่รุกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ลอรีอัลได้เดินหน้าเปลี่ยนแปลงองค์กรและปรับเปลี่ยนทิศทางในการดำเนินธุรกิจให้ก้าวล้ำตลาด ตลอดจนปฏิวัติวงการความงามอย่างไม่หยุดยั้ง
โดยบริษัทให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและความปลอดภัย ดำเนินงานอย่างโปร่งใส โดยยึดหลักวิทยาศาสตร์ ความยั่งยืน และการประยุกต์ใช้ดิจิทัลในทุกมิติเป็นสำคัญ ขณะเดียวกันก็เดินหน้าวางรากฐานความมั่นคงให้กับตลาดความงาม ด้วยการส่งมอบนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ล้ำสมัยให้กับผู้บริโภค ขับเคลื่อนตลาดด้วยแบรนด์ดังมากมาย อีกทั้งยังเสริมสร้างความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานของลอรีอัลอย่างต่อเนื่อง
ด้วยแนวทางการดำเนินงานเหล่านี้ ส่งผลให้ในปีที่ผ่านมา ลอรีอัล ประเทศไทย สามารถสร้างผลงานได้อย่างน่าประทับใจ ด้วยอัตราการเติบโตสูงกว่าตลาดและส่วนแบ่งการตลาดที่เพิ่มขึ้น โดยแผนกที่โดดเด่นมาก คือแผนกผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่สามารถเติบโตเป็นสองเท่าได้ในเวลาไม่ถึง 3 ปี
ช่องทางจัดจำหน่ายออฟไลน์ตามห้างร้านกลับมาเติบโตอีกครั้ง และเป็นช่องทางหลักสำคัญในด้านการส่งมอบประสบการณ์ Beauty Tech และสร้างแรงบันดาลใจด้านความงามให้กับผู้บริโภคได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น บริษัทยังสามารถทำยอดขายได้เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มตลาดอีคอมเมิร์ซอีกด้วย
การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคนับเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจของลอรีอัล ปัจจุบันบริษัทได้ทุ่มเททั้งด้านงบประมาณและทรัพยากรให้กับงานด้านการค้นคว้าวิจัย และการพัฒนานวัตกรรม 3 ด้านได้แก่ 1) รังสรรค์สูตรผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยี AI 2) ประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม 3) ลงทุนในการสร้างพันธมิตรด้าน data ในบริษัทแนวหน้า โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยในการกำหนดอนาคตอุตสาหกรรมความงาม และตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภคทั่วโลก
นอกเหนือจากนวัตกรรมด้านการวิจัยค้นคว้าและพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อม ลอรีอัลยังเดินหน้าตอกย้ำการเป็นผู้นำด้าน Beauty Tech ด้วยการลงทุนด้านข้อมูลและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มากมาย หนึ่งในนั้นคือการเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ เช่น การเป็นพันธมิตรกับเวริลี (Verily) บริษัทด้านสุขภาพที่มีความแม่นยำสูงในเครืออัลฟาเบ็ท (Alphabet) เพื่อทำความเข้าใจและอธิบายกลไกการร่วงโรยของผิวพรรณและเส้นผมให้ดียิ่งขึ้น
ปัจจุบันลอรีอัล ประเทศไทย มีนวัตกรรมความงามด้าน Beauty Tech มากกว่า 12 นวัตกรรม และยังคงนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาให้ผู้บริโภคชาวไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านผิวหนัง เส้นผม และเมคอัพ
โดย ตลาดความงาม 2565 หลากหลายแบรนด์ชั้นนำ อาทิ เซราวี (CeraVe) เคเรสตาส (Kérastase) ลอรีอัล โปรเฟสชั่นแนล (L’Oréal Professionnel) อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Laurent) และ คีลส์ (Kiehl’s) ต่างก็พร้อมตบเท้าเข้ามาสร้างความตื่นเต้นและครองใจผู้บริโภคชาวไทยด้วยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ มากมาย
ขณะเดียวกันลอรีอัลยังมุ่งมั่นสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคในโลกดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ด้วยจำนวนช่องทางโซเชียลมีเดียทั้งหมด 59 ช่องทางจากทั้งหมด 15 แบรนด์ชั้นนำ โดยในปีนี้ลอรีอัล ประเทศไทยยังได้เตรียมวางแผนสร้างความตื่นเต้นให้กับอุตสาหกรรมด้วยแคมเปญอีกกว่า 500 แคมเปญอีกด้วย
“ในยุคหลังวิกฤตโควิด 19 ที่ทุกองค์กรต้องพร้อมรับมือกับทุกความท้าทายที่เข้ามา ความว่องไวในการปรับตัวและการไม่หยุดนิ่งที่จะก้าวไปข้างหน้านับเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตธุรกิจได้ในระยะยาว ลอรีอัลพร้อมสำหรับช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นนี้ และจะเดินหน้าเต็มกำลังในการเป็นผู้นำด้าน Beauty Tech ของประเทศไทย” นางอินเนส คาลไดรา กล่าวทิ้งท้าย
โอกาสเดียวกันนี้ นางอินเนสได้กล่าวอำลาตำแหน่ง โดยมีนายแพทริค จีโร มาทำหน้าที่แทน ในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการคนใหม่ ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา
…………
สรุปตัวเลขอุตสาหกรรมความงามประเทศไทยปี 2564
(อ้างอิงข้อมูลจาก: Euromonitor, 2021)
ภาพรวมอุตสาหกรรมความงาม
ปี 2564 เติบโต 5% มูลค่ารวม 1.447 แสนล้านบาท แบ่งเป็น
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare) 57.5%
- ผลิตภัณฑ์ผม (hair) 21%
- เครื่องสำอาง (makeup) 15.5%
- น้ำหอม (fragrance) 6%
ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare)
ปี 2564 เติบโต 7.3% มูลค่ารวม 8.34 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า 81%
- ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวกาย 12%
- ผลิตภัณฑ์กันแดด 6%
- ผลิตภัณฑ์ดูแลริมฝีปาก 1%
สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (makeup)
ปี 2564 ลดลง มูลค่ารวม 2.26 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น
- เครื่องสำอางสำหรับผิวหน้า 57%
- เครื่องสำอางสำหรับริมฝีปาก 25%
- เครื่องสำอางสำหรับดวงตา 17%
- เครื่องสำอางสำหรับเล็บ 1%
ตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม (hair)
ปี 2564 เติบโต 5.6% มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น
- ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม 74%
- ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม 15%
- ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม 5%
- ผลิตภัณฑ์โกนหนวดชาย 6%
ส่วนตลาดผลิตภัณฑ์น้ำหอม (fragrance)
ปี 2564 เติบโต 1% มูลค่ารวม 8.6 พันล้านบาท
……..
รายได้ของลอรีอัลในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
ปี 2562 รายได้รวม 11,542.35 ล้านบาท กำไร 1,538.12 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 9,457.03 ล้านบาท กำไร 700.97 ล้านบาท
และปี 2564 รายได้รวม 9,038.95 ล้านบาท กำไร 403.82 ล้านบาท
ที่มา : กรมพัฒนาธุรกิจ
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ