Google Cloud ในไทย ตลาดนี้ใหญ่แค่ไหน Google จึงได้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์
วันนี้ Google ประกาศเตรียมดำเนินการสร้าง Cloud Region เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อเป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่เติมเต็มภาพ Cloud Region ของ Google ให้เชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์ขึ้น
Cloud Region ที่เตรียมดำเนินการสร้างในประเทศไทย ถือเป็น Cloud Region แห่งที่ 12 ในเอเชียแปซิฟิกของ Google
ในปัจจุบัน Cloud Region ทั้ง 11 แห่งของ Google ในเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง ไต้หวัน พื้นที่ละ 1 แห่ง และออสเตรเลีย 2 แห่ง (ที่ซิดนีย์และเมลเบิร์น) อินเดีย 2 แห่ง (ที่มุมไบและเดลี) ญี่ปุ่น 2 แห่ง (โตเกียวและโอซากา)
และ Google มี Cloud Region ทั่วโลกอยู่ด้วยกัน 34 แห่งในปัจจุบัน
โดยคำว่า Cloud Region ของ Google คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อให้บริการกับองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศที่เข้ามาใช้บริการGoogle Cloudโดยเฉพาะ
ส่วน Google Cloud คือแพลตฟอร์มที่ให้บริการพื้นที่จัดเก็บ จัดการ ประมวลผล ป้องกันข้อมูลให้กับองค์กร ที่สามารถปรับแต่งและปรับใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ได้
และ Google Cloud ยังเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงบริการขององค์กรกับผู้บริโภคที่เป็น End User ด้วย
และที่ผ่านมาบริการ Google Cloud มีรายได้ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากรายงาน IR ของ Google พบว่า รายได้ของGoogle Cloudทั่วโลกมีการเติบโตเกือบ 50% ในแต่ละประเทศ
2562 8,918 ล้านดอลลาร์
2563 13,059 ล้านดอลลาร์ เติบโต 46.4%
2564 19,206 ล้านดอลลาร์ เติบโต 47.1%
ส่วนในปี 2565 Google มีรายได้จากคลาวด์สองไตรมาสที่ผ่านมาดังนี้
Q1/65 5,821 ล้านดอลลาร์
Q2/65 6,276 ล้านดอลลาร์
ส่วนรายได้ของ Google Cloud ในแต่และภูมิภาค Google ไม่ได้รายงาน
สำหรับประเทศไทย Google ให้เหตุผลการลงทุน Cloud Region ในประเทศไทย ว่ามาจาก
1. คนไทยมีพฤติกรรมสู่การใช้งานดิจิทัล จากข้อมูลของ Google พบว่าคนไทย 9 ใน 10 คุ้นเคยกับการใช้งานสมาร์ตโฟน และมีการใช้ดิจิทัลในด้านต่าง ๆ รวมถึงการวางแผนในอนาคต เช่น การเดินทาง สั่งอาหารเดลิเวอรี่ และธุรกรรมออนไลน์
นอกจากนี้ เราค้นหาข้อมูลจากรายงาน e-Conomy SEA Report 2021 ของ Google ยังพบว่าในประเทศไทยยังเกิดผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัลรายใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านคน นับตั้งแต่โควิด-19 แพร่ระบาดในปี 2563 จนถึงครึ่งปีแรก 2564
และมีอัตราการใช้บริการดิจิทัลสูงถึง 90% ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต และสูงเป็นอันดับสองในภูมิภาค ซึ่งผู้ใช้งานดิจิทัลเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะใช้ต่อไปในอนาคต
2. ประเทศไทยมีโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และส่งมอบระบบโครงสร้างคลาวด์ที่จำเป็นต่อการปรับเปลี่ยนและเติบโตของภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสามารถทำงานในรูปแบบไฮบริด ที่มีแพลตฟอร์มที่ยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงในตลาดที่มีการพัฒนาอยู่เสมอ
3. ภาครัฐยังคงผลักดันประเทศไทยขับเคลื่อนสู่ดิจิทัล 4.0 บนแผนแม่บท 20 ปี ที่มาพร้อมกับการเติบโตด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่ง Google เชื่อมั่นว่าหากประเทศไทยใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล ในปี 2573 อาจสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อปีได้สูงถึง 79,500 ล้านดอลลาร์ ให้แก่ประเทศไทย หรือเทียบเท่ากับ 16% ของ GDP ประเทศไทยปี 2563
และเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2573 ด้วยเช่นกัน
–
Website : Marketeeronline.co /
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ