Digital Transformation เริ่มต้นที่ “คน”

ถ้าคนไม่พร้อม วางคนไม่ดี คนไม่มีกำลังใจ แม้จะใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในโลก ก็ทำได้แค่เพียงทำเพื่อไปโชว์ในสไลด์

รวิศ หาญอุตสาหะ CEO ศรีจันทร์ ได้กล่าวในงาน DAAT Day 2022 ใน Session Effectiveness in the real Business

รวิศ ยอมรับว่าในยุคปัจจุบันคนเป็นผู้นำองค์กร ผู้นำทีมสมัยนี้เหนื่อย

ทำอย่างไรถึงจะเหนื่อยน้อยลง

คำตอบคือ ต้องดีไซน์ทีมที่เข้มแข็งให้ได้

ทีมที่เข้มแข็งไม่ได้หมายถึงทีมที่มีคนเก่ง แต่เป็นทีมที่ทำงานได้ดีและมีความยืดหยุ่น

นึกถึงทีมฟุตบอล

หัวหน้าทีมฟุตบอลคือผู้จัดการทีม ซึ่งผู้จัดการทีมเปรียบเสมือน CEO ในองค์กร ที่ส่วนใหญ่เตะฟุตบอลไม่เก่ง หรือเคยเตะเก่ง แต่อายุมากขึ้นผันตัวมาเป็นผู้จัดการทีม ถ้าให้ผู้จัดการทีมมาเตะฟุตบอลไม่สามารถสู้นักเตะในสนามได้สักคน

แม้ผู้จัดการฟุตบอลเตะบอลไม่เก่ง แต่สามารถควบคุมคน ควบคุมทีมได้

เพราะผู้จัดการทีมไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเก่ง และไม่ควรทำทุกอย่างเก่งด้วย

และควรจ้างคนที่เก่งกว่าทำงานให้

เช่น จ้าง CMO ที่เก่งกว่าเรื่องไฟแนนซ์ จ้าง CTO ที่เก่งกว่าเรื่องเทคโนโลยี

การเล่นฟุตบอลมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือต้องยิงประตูให้ได้และเสียประตูให้น้อยที่สุด

จะเล่นบอลสวยครองบอลมากแค่ไหนก็ตาม ไม่มีประโยชน์ถ้ายิงประตูไม่ได้ เพราะอย่างไรก็ไม่ชนะ

 

การเล่นฟุตบอลกับการบริหารองค์กรเหมือนกันคือ เป้าหมายองค์กรต้องชัด

หน้าที่ของ CEO คือทำอย่างไรให้พวกเขามองเห็นภาพเดียวกันทั้งหมด

เพราะความท้าทายที่หลายองค์กรเผชิญคือ เมื่อจบการประชุมและนำพนักงานแต่ละคนมาคุยเป็นการส่วนตัว ว่าการประชุมที่ผ่านมาได้ผลการประชุมว่าอะไร

จำนวนมากจะตอบคนละทิศละทาง เพราะต่างคนต่างมีสิ่งที่ต้องทำของตัวเอง และคิดว่าเรื่องนี้ต้องทำแบบนี้ เช่น บัญชี จะมองเพียงเรื่องความถูกต้องของเอกสาร เพราะกลัวฝ่ายตรวจสอบเล่นงาน เซลมองว่าต้องทำยอดให้ถึง เอกสารปล่อยไปก่อน, คนจัดซื้อก็มี framework อีกอย่าง

การ Align Goals ให้ประสบความสำเร็จจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

 

11 ตัวจริงในสนามฟุตบอล กองหน้าควรเป็นกองหน้า ไม่ควรเอาผู้รักษาประตูมาเป็นกองหน้า

การทำงานในแต่ละองค์กร ผู้นำควรวางคนที่เหมาะกับแต่ละตำแหน่ง ซึ่งถ้าวาง Position ผิด ทีมก็จะไม่มีประสิทธิภาพ หรือแป๊กได้

 

ไม่ควรเก็บคน Toxic ไว้ในทีม

บางสโมสรจะมีนักเตะที่เก่ง เป็นซูเปอร์สตาร์และซื้อมาด้วยค่าตัวที่สูง แต่นักเตะคนนั้นไม่ค่อยซ้อม หรือมีพฤติกรรมด่าทอคนอื่นอยู่เสมอ

ในทางฟุตบอลพิสูจน์ว่า ยิ่งเก็บคนเหล่านี้ไว้นานเท่าไร ยิ่งลงเหว เพราะคน 1 คนที่เป็น Toxic แม้จะเก่งแค่ไหน ก็สามารถทำลายทีมสปิริตลงได้

เพราะฟุตบอลเล่นคนเดียวไม่ได้

เปรียบได้กับถ้าองค์กรมีคนเก่ง มี Performance มาก ๆ ทำทุกอย่างได้ดีหมด แต่ Toxic สุด ๆ ไปที่ไหนป่าราบไปหมด คนพวกนี้ทำลายองค์กรได้มากกว่าคนไม่ทำงาน

 

การออกแบบทีมจึงต้องเข้าใจสตรักเจอร์ของการทำงาน

รวิศ ให้แนวทาง 10 เรื่อง 3 State ที่ผู้นำองค์กรควรสร้าง ในองค์กรควรประกอบด้วยอะไรบ้าง

State Satisfied Employees พนักงานมีความพึงพอใจพอสมควรในการทำงานที่องค์กร ซึ่งเป็น State ที่ควรทำให้ได้

ประกอบด้วย

1. มีพื้นที่ปลอดภัยในการทำงาน ความปลอดภัยด้านจิตใจ สามารถพูดเรื่องที่อยู่ในใจได้ เช่น พี่คนนี้ลำเอียงมาก ทำไมต้องมีดับเบิลสแตนดาร์ด

รวิศมองว่าความปลอดภัยด้านจิตใจเป็นสิ่งสำคัญและมีวิธีสร้างความปลอดภัยด้านจิตใจหลายรูปแบบ แต่ที่ดีที่สุดคือหัวหน้าทีมหาช่วงเวลาที่พนักงานผ่อนคลาย เช่น ชวนทีมไปกินข้าว กินกาแฟ เพื่อให้พนักงานกล้าพูดความในใจ หรืออีกวิธีหนึ่งคือ ส่งสายลับเข้าไปสอดส่อง

2. เครื่องมือต้องพร้อม

3. ไม่ทำงานเหมือนระบบราชการ เช่น ซื้อปากกา 1 ด้าม ต้องมีคนเซ็นอนุมัติ 4 คน

4. ได้รับผลตอบแทนที่ดี และไม่ใช่ผลตอบแทนเรื่องเงินอย่างเดียว แต่รวมถึงการเคารพในการเป็นคนของผู้อื่น เช่น เมื่อทำงานดีมีการชมต่อหน้าเพื่อนร่วมงาน เป็นต้น

 

State Engagement Employees ซึ่งถ้าสามารถทำถึง State นี้ได้ถือเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จแล้ว

5. เป็นส่วนหนึ่งของทีม รวิศบอกว่าเมื่อถามถึงเหตุผลการลาออกของพนักงาน ส่วนใหญ่จะตอบว่าเพราะหัวหน้า หรือทีมเพื่อนร่วมงาน และการอยู่กับองค์กรก็เช่นกัน อยู่เพราะหัวหน้าและทีมเพื่อนร่วมงานดี ไม่ค่อยมีใครตอบว่าเพราะงานเท่าไรนัก

6. มีอิสระในเรื่องที่จะทำ รวิศยกตัวอย่างความคิดของซิกเว่ เบรกเก้ CEO เทเลนอร์ ในการบริการองค์กรว่าต้องทำแบบ แน่น หลวม แน่น

คำว่าแน่นในความหมายแรกคือเป้าหมายองค์กรต้องตรงกัน

หลวม คือวิธีการ อย่าไปบังคับวิธีการ แต่ให้คิดเอาเองว่าจะทำอย่างไร

แน่น สุดท้ายคือการวัดผล

7. มีพื้นที่ในการเรียนรู้และเติบโต ให้รู้สึกว่าทำงานที่องค์กรนี้และมีการพัฒนาตัวเอง เก่งขึ้นในทุก ๆ ปี

8. ธุรกิจที่มีอิมแพ็กกับใครสักคน เช่น ธุรกิจเอเจนซีโฆษณามีอิมแพ็กกับลูกค้าที่ช่วยให้ขายของได้ดีขึ้น

 

 State Inspired Employees เป็นการพัฒนาองค์กรที่ถึงขีดสุด

ประกอบด้วย

9. มิชชันองค์กรฟังแล้วฮึกเหิม เช่น Mission Google Organize the World’s Information and Make it Universally Accessible and Useful.

10. ผู้นำองค์กรมี Inspire ทีมงานได้ และพนักงานจะทำงานเพื่อองค์กร

 

ทั้งหมดนี้เป็นพื้นฐานที่สำคัญมากในการเตรียมทีมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่สุดโหด และถ้าผู้นำองค์กรทำได้จะพาองค์กรให้ประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก

เพราะอย่างน้อยพนักงานมีพลังในการช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้เดินหน้าต่อไป



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online