Apple กำลังจะย้ายฐานการผลิตออกจากจีน จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปและใครจะได้ส้มหล่นจากเรื่องนี้

โควิด ต้นทุนที่สูงขึ้น และอุณหภูมิการเมืองที่ร้อนระอุ ล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ Apple ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตจากจีน ที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยนิยามตัวเองว่าเป็นดั่งโรงงานของโลก (เนื่องจากค่าแรงถูก ไม่มีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง) แต่บัดนี้จีนได้เปลี่ยนตัวเองไปเสียจนหมดสิ้นเมื่อพวกเขาเรียนรู้เทคโนโลยีจนช่ำชอง และก็กำลังจะเปลี่ยนตัวเองให้กลายเป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีเสียเอง นั่นแปลว่าค่าแรงในการรับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ก็จะไม่ได้มีราคาถูกอีกต่อไป

การแตกหน่อเครือข่ายฐานการผลิตไปยังอินเดียตอนใต้ถือเป็นปฐมบทใหม่ของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างApple ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาและทำรายได้ให้Appleเพิ่มขึ้น 70 เท่า, ราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 600 เท่า มูลค่าตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 2.4 ล้านล้านดอลลาร์

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกลยุทธ์อันเฉียบคมของAppleที่ใช้การเดิมพันครั้งใหญ่ด้วยการจ้างโรงงานในจีนผลิตสินค้า (ซึ่งตอนนี้เลิกผลิตผลิตภัณฑ์ไปแล้วกว่า 90% และเริ่มทำตลาดกับผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งในหลายปีที่ผ่านมากลยุทธ์นี้สามารถทำให้รายได้ให้กับ Apple ถึง 1 ใน 4

 

ยามเมื่อลมเปลี่ยนทิศ

แต่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและภูมิศาสตร์ทางการเมืองกำลังบีบให้Appleต้องเริ่มมองหาพาร์ตเนอร์ในด้านการผลิตใหม่เร่งด่วน และการหันหลังให้กับจีนถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับความเสี่ยง และอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจุดหนึ่งของเศรษฐกิจโลก

ด้านหลังกล่องบรรจุภัณฑ์ของAppleระบุว่า “Designed by Apple in California” หรือ “ออกแบบโดยAppleแคลิฟอร์เนีย” แต่อุปกรณ์ต่าง ๆ ของAppleถูกประกอบเข้าด้วยกันตามห่วงโซ่อุปทานที่ทอดยาวจาก เมือง Amazonas ไปจนถึงใอง Zhejiang ประเทศจีน ซึ่งเอาเฉพาะแค่ในจีนก็มีซัปพลายเออร์รายใหญ่ของAppleอยู่มากกว่า 150 ราย ที่ผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับApple

Tim Cook เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดในส่วนงานโอเปอเรชัน ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นซีอีโอของApple ในปี 2011 เขาเป็นผู้ริเริ่มแนวทางในด้านการผลิตตามสัญญา Tim Cook นั้นเยือนจีนเป็นประจำ ทั้งยังรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลจีน โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดในการลบแอปและเก็บข้อมูลของผู้ใช้ชาวจีนในพื้นที่ ซึ่งทำให้เจ้าหน้าที่สามารถค้นหาข้อมูลของประชากรจีนได้

แต่ทว่าตอนนี้การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่กำลังเริ่มต้นขึ้น สื่อหลายสำนักเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า Tim Cook ไม่ได้ไปปรากฎตัวที่จีนมาตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่Appleกำลังเฟ้นหาพันธมิตรรายใหม่มาแทนที่จีน

 

อินเดียและเวียดนาม

ในช่วงเดือนพฤษภาคม Tim Cook ได้เชิญนายกรัฐมนตรีของเวียดนาม Pham Minh Chinh ไปเยี่ยมชมสำนักงานใหญ่ของAppleที่ Cupertino นอกจากนี้ ในปี 2023 คาดว่า AppleจะเปิดApple Store แห่งแรกในอินเดีย (ว่ากันว่านายกรัฐมนตรี Narendra Modi ของอินเดียชื่นชอบของ iPhone สีทองมากเป็นพิเศษ)

ทั้งเวียดนามและอินเดียเป็น 2 ประเทศที่จะได้รับผลประโยชน์หลังการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ของApple

ในช่วงปี 2017 Appleได้จดทะเบียนซัปพลายเออร์รายใหญ่ 18 รายในอินเดียและเวียดนาม โดยจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าในปี 2021 จำนวนของซัปพลายเออร์ในทั้ง 2 ประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 37 ราย

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการประโคมข่าวว่า Appleนั้นผลิต iPhone 14 ในอินเดีย ซึ่งก่อนหน้านี้ทางAppleใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตเฉพาะ iPhone รุ่นเก่า ๆ เท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า Appleจะเริ่มผลิต MacBook ในเวียดนามในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากฮาร์ดแวร์ตัวทอปอย่าง MacBook และ iPhone จะเริ่มมีการผลิตในอินเดียและเวียดนามแล้ว อุปกรณ์เสริมบางอย่างของApple เช่น หูฟัง AirPod จำนวนเกือบครึ่งถูกผลิตในเวียดนาม JPMorgan Chase คาดการณ์ว่าตัวเลขการผลิตสินค้าของAppleนอกประเทศจีนอยู่ที่น้อยกว่า 5% แต่ภายในปี 2025 ตัวเลขจะจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 25%

เหตุผลที่ Apple ต้องไป

เมื่อAppleตัดสินใจย้ายออกจากจีน เหล่าบรรดาซัปพลายเออร์ของพวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะอยู่ในจีนอีกต่อไปสิ่งที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือสัดส่วนการถือครองของสินทรัพย์ระยะยาวที่บริษัทฮาร์ดแวร์เทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ของไต้หวันที่ตั้งอยู่ในจีน ในปี 2017 ตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ 43% ในขณะที่ปีที่แล้วลดลงเหลือ 31%

แรงจูงใจที่ทำให้Appleย้ายฐานการผลิตออกจากจีนก็คือ เรื่องของค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น มีรายงานว่าค่าจ้างเฉลี่ยในจีนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในปี 2020 คนงานด้านการผลิตชาวจีนได้รับรายได้ $530 ต่อเดือน ซึ่งมากเป็นสองเท่าของคนงานในอินเดียหรือเวียดนาม ตามการสำรวจของ Jetro ซึ่งเป็นหน่วยงานอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น

แต่สิ่งที่ต้องยอมรับหากAppleต้องการจะย้ายฐานการผลิตไปที่อินเดียก็คือ โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่ค่อยจะดีเท่าใดนัก ถนนไม่ดีและโครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่ก็ได้มีการปรับปรุงให้ดีขึ้นบ้างแล้ว และรัฐบาลอินเดียก็สัญญาว่าจะให้เงินสนับสนุนในด้านนี้

ในส่วนของเวียดนามก็ไม่แพ้กัน โดยรัฐบาลเวียดนามเสนอการคืนภาษี ร่วมทำข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งหมายรวมถึงข้อตกลงที่เพิ่งลงนามกับสหภาพยุโรปเมื่อไม่นานมานี้ แม้ระบบราชการเกี่ยวกับวีซ่าและศุลกากรยังคงเป็นเรื่องที่ยังมีความกังวลอยู่บ้าง แต่จรรยาบรรณในการทำงานคล้ายกับในประเทศจีนนั่นคือ “ขงจื๊อยังคงพาพวกเขาลุกจากเตียงในตอนเช้า” ผู้บริหารต่างชาติคนหนึ่งในเวียดนามกล่าว

 

ความเสี่ยงที่ Apple ต้องแบกรับ

นอกจากนี้ Appleยังมองว่าหากพวกเขาไปตั้งโรงงานและร้านค้าอย่างเป็นทางการในประเทศใดนั้น คนในท้องถิ่นนั้นผู้มีโอกาสเป็นลูกค้าของพวกเขามากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอินเดีย ซึ่งเป็นตลาดสมาร์ตโฟนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก Gadget ของAppleนั้นแพงเกินไปสำหรับชาวอินเดียส่วนใหญ่ แต่เรื่องนี้กำลังจะเปลี่ยนไป ในเดือนกรกฎาคมมีรายงานว่ารายรับของAppleในอินเดียเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในไตรมาสที่แล้ว เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้แรงหนุนมาจากเครื่องจักรชิ้นสำคัญอย่างยอดขายของ iPhone

สิ่งนี้กำลังลดทอนความสำคัญเชิงสัมพันธ์ของจีนในฐานะผู้ใหญ่บริโภครายใหญ่ที่สุดในโลก มีข้อมูลว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2015 รายได้ของAppleที่มาจากการบริโภคจากประเทศจีนคิดเป็น 25% ของรายได้ต่อปีของApple ซึ่งมากกว่าประเทศในยุโรปรวมกันทั้งหมด แต่นับตั้งแต่นั้นมาส่วนแบ่งรายได้ของAppleที่มาจากจีนก็หดตัวลงเรื่อย ๆ จนมาเหลือ 19% ในปีล่าสุด

ซึ่งตัวเลขยอดขายที่ตกลงของAppleดูจะทำให้ Xi Jinping ประธานาธิบดีดูพึงพอใจอยู่พอสมควร โดยเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม ณ ที่ทำการพรรคคอมมิวนิสต์ ประธานาธิบดี Xi เรียกร้องให้จีนมีการพึ่งพาตนเองในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น โดยมีการกล่าววลีว่า “ผู้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสัญชาติจีน แน่นอนว่าเขาเอาจริงเพราะมีการกล่าววลีนี้มากถึง 5 ครั้งเลยทีเดียว

สิ่งนี้ชี้ให้เห็นถึงเหตุผลสุดท้าย แต่ที่สำคัญที่สุดสำหรับการเปลี่ยนแปลงของAppleคือ เรื่องภูมิศาสตร์การเมือง ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและอเมริกาทำให้จีนเป็นสถานที่ที่น่าอึดอัดในการทำธุรกิจมากขึ้น ความอ่อนไหวทางการเมืองของจีนที่เพิ่มขึ้นได้เพิ่มความขัดแย้งในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น ฤดูร้อนนี้ มีรายงานว่า Appleต้องขอให้ผู้ผลิตชาวไต้หวันติดฉลากผลิตภัณฑ์ของตนว่า “Made in Chinese Taipei” เพื่อเอาใจเจ้าหน้าที่ศุลกากรจีนคนใหม่ที่จู้จี้จุกจิกมากกว่าเดิม

 

อเมริกาอยู่เบื้องหลัง?

ในส่วนของอเมริกานั้นมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นในการแข่งขันกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีจากประเทศจีน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2022 สหรัฐฯ ประกาศห้าม “บุคคลสัญชาติอเมริกัน” ทำงานให้กับผู้ผลิตชิปชาวจีนบางราย ในวันเดียวกันนั้นทางการสหรัฐฯ ได้ทำการเพิ่มรายชื่อบริษัทสัญชาติจีน 30 ราย ให้อยู่ในรายชื่อของบริษัทที่ “ไม่ได้รับรับรอง”

มีรายงานว่า Appleกำลังจะลงนามในข้อตกลงซื้อชิปหน่วยความจำ iPhone จาก 1 ในบริษัทที่อยู่ในลิสต์ดัง

กล่าวว่า YMTC เพราะสามารถเสนอราคาต่ำได้ ส่วนหนึ่งที่ทำแบบนั้นได้เพราะมีเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจีน หนังสือพิมพ์ Nikkei ของญี่ปุ่นรายงานว่า ภายหลังการควบคุมการส่งออกของอเมริกาทำให้ข้อตกลงดังกล่าวกลายเป็นหมันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

คำถามคือการย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอหรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงการถูกปราบปรามในอนาคต และแม้ว่าAppleจะผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกประเทศจีนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบริษัทที่เป็นเจ้าของของจีนในการสร้างอุปกรณ์ดังกล่าว แต่กลับขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะเหมารวมว่าบริษัทจีนก็คือบริษัทจีน ไม่ว่าจะไปผลิตอยู่ที่ไหน ถ้าพวกเขาจะไม่เอาซะอย่างอย่างไรก็มีความเสี่ยง

มีรายงานว่า Luxshare และ Goertek ซัปพลายเออร์ของ Apple กำลังเริ่มกระบวนการผลิต AirPods ในประเทศเวียดนาม โดยได้รับอานิสงส์จากคู่แข่งในไต้หวัน อย่าง Inventec ที่เริ่มลดขนาดงานของพวกเขาที่ทำให้กับAppleในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

สื่ออินเดียรายงานเมื่อเดือนกันยายนว่ารัฐบาลอินเดียอาจอนุญาตให้บริษัทจีนบางบริษัทตั้งโรงงานผลิตในอินเดียได้ โดยส่วนแบ่งการผลิตชิ้นส่วนของ iPhone ของบริษัทจีนจะเพิ่มขึ้นจาก 7% (2022) เป็น 24% ภายในปี 2025

ด้วยทิศทางของความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกาและจีนที่ดูจะกลับมาตรึงเครียดอีกครั้ง ทำให้Appleประเมินแล้วว่าการจะวางเดิมพันอยู่ข้างผู้ชนะย่อมมีเปอร์เซ็นต์ที่ธุรกิจของพวกเขาจะอยู่รอดปลอดภัยมากกว่า ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจ ณ วันนี้ทิศทางลมของเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนแปลงอีกครั้งแล้ว ความรุ่มรวยเทคโนโลยีอาจเริ่มแผ่ไพศาลเข้ามาสู่เอเชียใต้แล้วก็เป็นไปได้

 

อ้างอิง

The end of Apple’s affair with China | The Economist

อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ 
Website : Marketeeronline.co / Facebook : www.facebook.com/marketeeronline



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online