KBank Private Banking (เคแบงก์ ไพรเวทแบงกิ้ง) สรุปพอร์ตปี 2565 รวมยอดลูกค้า 1.3 หมื่นราย AUM 8.72 แสนล้านบ. โดย 3 กองทุนเปิดตัวใหม่ปีนี้ สามารถระดมเงินลงทุนจากลูกค้าไปได้กว่า 5 พันล้านบาท (อัปเดต 1 ธ.ค.65) เดินหน้าเสริมแกร่ง ปี 2566 ผ่านโซลูชั่น 4 เสาหลัก

นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ เอ็กซคูทีฟ แชร์แมน, ไพรเวท แบงกิ้ง กรุ๊ป (Executive Chairman, Private Banking Group) ธนาคารกสิกรไทย เผยว่า การดำเนินธุรกิจของ KBank Private Banking ปี 2565 ให้บริการลูกค้ารวมประมาณ 13,000 ราย มีลูกค้าใหม่เพิ่ม 120 ราย เม็ดเงินเข้าใหม่ 17,000 ล้านบาท และอยู่ระหว่างการยกระดับจากลูกค้ากลุ่ม Wisdom

ขณะที่ สินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการทั้งหมด (AUM) อยู่ที่ประมาณ 872,000 ล้านบาท ลด 1% หรือประมาณ 22,000 ล้านบาท เหตุจากมูลค่าตลาดที่ปรับลงตามสินทรัพย์ผันผวน 

และจากการส่งมอบโซลูชั่นบริหารความมั่งคั่งที่ครบวงจร ทำให้ธนาคารได้รับ 11 รางวัล จาก 10 สถาบันระดับสากลทั่วโลก

ตลอดปี 2565 ที่ผ่านมา KBank Private Banking ในฐานะที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน ให้ความสำคัญกับการทำงานผ่าน 4 เสาหลักของโซลูชั่นการบริหารความมั่งคั่งครบวงจร 

ประกอบด้วย กองทุน K-ALLROAD Series นวัตกรรมการลงทุนขับเคลื่อนอัตโนมัติ บนหลักการ Risk-based Asset Allocation ที่ยังคงได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากลูกค้า จากจุดเด่นในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างยืดหยุ่น ตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป ทำให้กองทุนมีสมดุลด้านความเสี่ยง โดยทั้ง 3 กองทุนในซีรีส์นี้ สามารถระดมเงินลงทุนจากลูกค้าไปได้กว่า 5,400 ล้านบาท (อัปเดต 1 ธ.ค.65)

การนำเสนอนวัตกรรมการลงทุนทางเลือก เพื่อกระจายความเสี่ยง และเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในภาวะผันผวน โดยมุ่งนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และสำหรับ 3 กองทุนที่เสนอขายครั้งแรกในปี 2565 

ได้แก่ กองทุนหุ้นนอกตลาดทั่วโลก (K-GPE22B-UI) กองทุนตราสารหนี้และหุ้นนอกตลาดทั่วโลก (K-GPA22A-UI) และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทย นอกตลาด (ASP-APR-UI (KEX)) โดยทั้ง 3 กองทุน สามารถระดมเงินลงทุนรวมสูงถึง 5,000 ล้านบาท (อัปเดต 1 ธ.ค.65)

การลงทุนเพื่อความยั่งยืน เป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยสร้าง ทางรอด ให้กับโลก และการเติบโตที่มั่นคงให้กับทั้งธุรกิจ และการลงทุนในระยะยาว ซึ่งกองทุนหลักที่ธนาคารแนะนำ อย่าง กองทุนเปลี่ยนโลก (K-CHANGE) ยังคงมีผลตอบแทนที่ดี โดยกองทุนหลัก สามารถสร้างผลตอบแทนนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุน ได้สูงถึง 197% หรือเฉลี่ย 20.07% ต่อปี (อัปเดต 1 ธ.ค.65)

ด้าน บริการที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว ปัจจุบันให้บริการลูกค้า 790 ครอบครัว หรือราว 36% ของลูกค้าทั้งหมด และมีมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การดูแล ครอบคลุมทรัพย์สินครอบครัวทั้งธุรกิจและที่ดิน ประมาณ 180,000 ล้านบาท 

อ่าน KBank Private Banking ส่ง Family Office ยกระดับบริการ รับฐานลูกค้าโต 10% : https://marketeeronline.co/archives/289022 

ขณะที่บริการที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ให้บริการที่ปรึกษาครอบคลุมอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ารวม 320,000 ล้านบาท นอกจากนั้น ยังมีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการ Land Loan for Investment เพื่อแปลงทรัพย์สินที่ดิน มาเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน คิดเป็นมูลค่าสินเชื่อที่อนุมัติแล้ว 1,800 ล้านบาท

โดยในปี 2566 KBank Private Banking จะยังคงให้ความสำคัญกับการเสริมความแข็งแกร่งของโซลูชั่นใน 4 เสาหลัก ซึ่งประกอบไปด้วย การลงทุนบนหลักการ Risked-based Asset Allocation, การลงทุนในสินทรัพย์ทางเลือก, การลงทุนเพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว 

บริบทการลงทุน ปี 2565 และกลยุทธ์การลงทุน ปี 2566 ในมุมมองของจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ 

บริบทการลงทุนในปี 2565 มีความท้าทายเป็นอย่างสูง จากราคาที่ปรับตัวลงแรงในแทบทุกสินทรัพย์หลัก นับเป็นเพียง 3 ปี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ ปรับตัวลดลงพร้อม ๆ กัน 

โดยผลตอบแทนของตลาดหุ้นโลก และพันธบัตรรัฐบาลโลก นับจากต้นปี 2565 ปรับตัวลดลงถึง -17.9% และ -16.8% ตามลำดับ (อัปเดต 16 ธ.ค.65) 

อย่างไรก็ดี ในช่วงไตรมาส 4/2565 ตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น จากสัญญาณบวกหลายปัจจัย ทั้งผลประกอบการไตรมาส 3/2565 ที่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาด เงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่เริ่มอ่อนแอลง และมีแนวโน้มจะผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว 

รวมทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาชะลอตัว อาจส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด ลดความเร็วการขึ้นอัตราดอกเบี้ย

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปี 2566 แนะนำให้แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ การแตะจุดสูงสุดของบอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ ดังนี้

“ก่อน” บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุด

ลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น เน้นการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์คุณภาพสูง เช่น หุ้นบริษัทที่ความสามารถในการแข่งขัน และกำหนดราคา ทำให้สามารถเป็นผู้ชนะในภาวะเงินเฟ้อสูงได้ กระจายความเสี่ยงผ่านสินทรัพย์ทางเลือก เช่น กองทุน Hedge Fund กระจายการลงทุนไปยังสินทรัพย์นอกตลาดที่มีความผันผวนด้านราคาในระยะสั้นต่ำ

“หลัง” บอนด์ยีลด์ 10 ปีสหรัฐฯ แตะจุดสูงสุด

แตะจุดสูงสุด ลงทุนบางส่วนในทองคำ เนื่องจากดอลลาร์สหรัฐฯ จะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นอ่อนค่าลง หุ้นกู้เอกชนผลตอบแทนสูง (High Yield) จะกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น หากแนวโน้มการลดดอกเบี้ยเพื่อต้านทานภาวะเศรษฐกิจถดถอยชัดเจนขึ้น



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online