กองทุน 500 Tuktuks   เปิดตัวไปเมื่อเดือนเมษายน 2558   จนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้ประกาศ ลงทุนใน Startup ไปแล้ว 2 ราย แล้วยังได้ซื้อเพิ่มอีกประมาณ 7-8  ราย  คาดว่าจะประกาศรายชื่อได้ทั้งหมดก่อนสิ้นปีนี้   โดยมีแผนการจะลงทุนปีละประมาณ 15-20 บริษัท กับบริษัทที่เพิ่งเริ่มต้น (Seed) ในวงเงินลงทุนเริ่มต้นที่ 1.5-6 ล้านบาท หรือประมาณ 5.2 หมื่นเหรียญ

500 Tuktuks  เป็นเครือข่ายของกลุ่ม 500 Startups จากซิลิคอน วัลเลย์ สหรัฐอเมริกา  มีมูลค่ากองทุนประมาณ 300 ล้านบาท เป็นการระดมทุนมาจากนักลงทุนหลายส่วน โดย 500 Startups  ลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท ที่เหลือเป็นของนักลงทุนไทย เช่น  “ต๊อบ” อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์ CEO  เถ้าแก่น้อย  โยธิน ดำเนินชาญวณิชย์  CEO ดับเบิ้ลเอ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด  และนักลงทุนจากประเทศ ญี่ปุ่น  โดยมี กระทิง พูนผล (อดีตพนักงาน Google ) และ ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้ง Ookbee  เป็นผู้บริหารกองทุน โดยโฟกัสธุรกิจเทคโนโลยีสตาร์ทอัพเป็นหลัก

ก๊อปปี้โมเดล หาจุดแข็งแล้วทำขาย

กระทิงให้ความเห็นว่า Startup ที่น่าสนใจจะเป็นแพลตฟอร์มของบิสสิเนสโมเดลที่ก๊อปปี้มาจากต่างประเทศก็ได้  เป็นโมเดลที่สามารถในการทำซ้ำไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด และนี่คือข้อแตกต่างระหว่าง Startup กับเอสเอ็มอี และที่สำคัญ Startup  เป็นเรื่องของเทคโนโลยี

“เมืองไทย Startup ไม่ต้องหวือหวา อินเทอร์เน็ตอย่างเดียวก็ยังมีอะไรให้ทำเยอะมาก  ก๊อปปี้ให้ดี ทำให้เร็ว หาจุดแข็ง บริหารจัดการให้ได้ อย่างที่อเมริกามีบิสสิเนสโมเดลแข่งกันเป็นพันแบบ  แล้วถูกคัดจนเหลือเพียง 20 แบบก็แสดงว่าธุรกิจนั้นถูกปรู๊ฟไปแล้ว  ไม่ต้องไปนั่งคิดใหม่  มีข้อมูลวิเคราะห์ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จมากมายหลายชิ้น อ่านให้หมด แล้วเอามาทำที่เมืองไทย  แต่ต้องทำให้เร็ว เพราะถ้าไม่เร็วคู่แข่งก็จะบี้เอา”

90% โมเดล Startup  ที่เกิดขึ้น คือบิสสิเนสโมเดลที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากที่อื่น  ถูกปรับปรุงให้เหมาะกับประเทศไทย และเซ้าท์อีสต์เอเชีย อย่างแกร็บแท็กซี่ที่เลียนแบบโมเดลของฮูเบอร์มา  รวมทั้ง  Ookbee, Wongnai และ Priceza

“ถ้ามีโปรดักท์เหมือนกัน ไอเดียคล้ายๆ กัน 4-5 ตัว เราต้องเลือกทีมที่แข็งที่สุดทำได้เร็วที่สุด ใส่เงินเข้าไป เพื่อให้เขาไปได้เร็วเร่งการเติบโตจนคู่แข่งตามไม่ทัน”

เขาบอกว่า ถ้าเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีซื้อมาขายไปคงไม่สนใจ  และ Startupเป็นอีกโลกหนึ่ง เป็นการดูว่ารอบหน้าบริษัทนี้ในอนาคตจะมีมูลค่าไปอีกประมาณเท่าไร มูลค่าที่ได้เปรียบเทียบกับบริษัทประเภทเดียวกัน และวิเคราะห์ดูว่าความแข็งแกร่งเป็นอย่างไร

            “ในรอบของผม รายได้ที่แท้จริงยังไม่มี  เอารายได้มาวิเคราะห์ไม่ได้ รอบของซีรี่ส์เอเขาอาจจะมองรายได้บ้าง แต่คงสนใจท็อปไลน์มากกว่า อเมซอนขาดทุน 8  ปี กูเกิ้ล 7-8 ปีที่ไม่มีกำไร แต่ทีนี้พอเปิดปั๊ป  ก็ทำเงินทันทีมหาศาลเหมือนกัน”

กระทิงยังมีความเห็นว่า การลงทุน Startup ความเสี่ยงสูงมากกว่าเอสเอ็มอี   สมมุติว่าลงทุนไป 10 บริษัท เจ๊งไป 5 บริษัท อีก 3 บริษัทเป็นซอมบี้ แต่ 2 บริษัทที่เหลือเราก็หวังว่ามันจะโตเร็วเหมือน Grab Taxi คือโตเป็นพันเท่าภายในเวลา 3 ปี คือเสน่ห์ของสตาร์ทอัพเกม แต่ต้องห้ามพลาดสำหรับบริษัทที่กำลังจะโต”

ความสำเร็จของ Startup ไม่ใช่แค่มี VC มาซื้อ

หลายคนอาจจะสงสัยว่าจุดไหนคือความสำเร็จของ Startup  แค่แต่งตัวให้สวยๆ มี VC มาซื้อไปคือความสำเร็จหรือเปล่า โดยที่หลังจากนั้นบริษัทจะเป็นอย่างไร  VC ต้องรับผิดชอบเอง กระทิงอธิบายว่า

“ถ้า Startup มองอย่างนั้นจะผิดทันทีเลย และถ้าคุยแล้วเขามีความคิดนี้ผมจะไม่ลงทุนเลย  จริงๆแล้วพอ VC ลงเงินไปปุ๊ปคือจุดเริ่มต้นชีวิตของทีมงานจะเปลี่ยนไปทันทีเพราะ VC จะลงมาดูเลย บางทีเขาก็จะไปนั่งเป็นบอร์ดด้วย คือคอยประกบว่าคุณทำได้ตามเป้าหรือเปล่า ส่วนจุดสิ้นสุดคือการที่เขาขายบริษัทออกไป หรือขายไอพีโอ หรือไม่ก็เจ๊ง  การที่สตาร์ทอัพคนไหนได้เงินจาก VC แล้วแผ่ว แบบนั้นก็ไม่ใช่ เวลาเริ่มคุยเราก็รู้ว่าเด็กอยากได้เงินไปเพื่ออะไร ต้องดู  Vision กับ Passion ของเขาว่ามีขนาดไหน”

กระทิงย้ำว่า นี่คือ Startup Games  แต่จะเป็นเกมที่มี High Risk, High Return เขาย้ำว่าไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะกับ   Startup และ Startup ก็ไม่ใช่โมเดลเดียวที่จะประสบความสำเร็จด้วย  เพราะสตาร์ทอัพความเสี่ยงเยอะ แต่ถ้าสำเร็จก็มหาศาล

Blisby และ Omise บทพิสูจน์ยกแรก

Blisby.com  เป็นตลาดออนไลน์ที่ขายสินค้าทำมือที่ได้มาจากเอสเอ็มอี  ซึ่งปัจจุบันในเมืองไทยมีอยู่ประมาณ 2 แสนกว่าเจ้า  บิสสิเนสโมเดลเมื่อเป็นออนไลน์มาร์เก็ตเพลส สเกลสามารถขยายต่อไปได้เรื่อยๆ และมีโอกาสโตได้มาก คล้ายกับเว็บเอสซี่ของสหรัฐฯ ซึ่งตัวนั้นมูลค่าธุรกิจเกือบ  2 พันล้านเหรียญ  6 หมื่นกว่าล้านบาท

“เริ่มแรกเขามีโปรดักท์อยู่แล้วๆ ต้องการขยาย ผมมองว่าอย่างน้อยก็ต้องไปได้ดีในอาเซียน  Startup ทุกตัว Exit คือขายต่อให้บริษัทอื่น หรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ ส่วนตัวนี้เราหวังว่า เป็นไปได้อย่างมากว่าจะถูกซื้อไป”

อีกตัวคือ Omise โอมิเสะ เป็นเปย์เม้นท์เกตเวย์ที่ตอนนี้ได้นักลงทุนเป็นธนาคารแห่งหนึ่งในประเทศอินโดนีเซียเข้ามาร่วมทุน ทำให้สามารถขยายไปอินโดนีเซียได้เลย แผนการต่อไปของ Omise คือ ต้องการให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดการใช้เงินสดเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ ในอนาคต Omise อาจจะบุกตลาดออฟไลน์ เช่น เครื่องรับบัตรเครดิต หรือจุดรับจ่ายเงิน (Point of Sale – POS) ครบวงจร

ส่วนฺ Blisby เพิ่งเริ่มต้น ยังพูดไม่ได้ว่าจะไปถึงไหนแต่เห็นการเติบโตแล้ว มากกว่าที่คาดไว้อีก  และทุกตัวที่ลงทุนก็คาดว่าอย่างน้อยต้องโตให้ถึง 10 เท่าให้ได้     ทั้ง 2 ตัวนี้ลงทุนไปแล้วประมาณ 6 ล้านบาท

“Startup  เป็นการลงทุนที่น้อยกว่าธุรกิจทั่วไป อย่าง Blisby  ไม่ต้องมีสินค้าคงคลัง ให้คนอื่นแบกสินค้าคงคลัง แล้วตัวเองสร้างแพลตฟอร์ม สร้างตลาด  แล้วก็เก็บค่าเช่าตลาดไป  โอมิเสะก็เหมือนกันไม่ได้ ถือเงินเลย แต่เขาเป็นตัวกลางในการส่งผ่านเงินให้  แล้วก็ชาร์จเปอร์เซ็นต์  เป็นธุรกิจที่ดีเพราะช่วยให้ 2 ฝั่งคือทั้งผู้ซื้อและผู้ขายได้หรือผู้ส่งผ่านเงินกับผู้รับเงิน  มีความสะดวกในการส่งผ่านกันมากขึ้น แล้วก็ทำหน้าที่ให้มัน ดูปลอดภัย เซฟตี้  ให้สะดวก    ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่ดีมาก คือถ้าจะให้ผมไปลงธุรกิจที่ต้องมีสินค้าคงคลัง  สินค้าทั่วไปที่จับต้องได้ คงไม่ทำ

ถึงแม้ว่าสเกลของ Startup ไปต่างประเทศไม่ได้ แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ใหญ่ กินมาร์เก็ตแชร์ 80% ของตลาดเมือไทย 500 Tuktuks  ก็มีความสนใจ

ปัญหา Startup ไทย ในสายตา Tuktuks

กระแสของการเกิดขึ้นของ VC ทำให้ Startup เกิดขึ้นมากมาย กระทิงเล่าว่า เพียงแค่เวลา 3 เดือนที่กองทุน 500 Tuktuks มาเปิดที่เมืองไทย มี Startup  มาเสนอตัวถึง 200 ราย แต่ตัดสินใจลงทุนเพียง 2 รายเท่านั้น   สิ่งที่ยังเป็นปัญหามีอยู่ 3 เรื่องหลักคือ

1. บิสสิเนสโมเดลที่เป็นเอสเอ็มอี  โอกาสโตแบบก้าวกระโดดไม่มี   สเกลก็เล็ก โอกาสขยายไปต่างประเทศไม่ได้ หรือได้ก็ต้องใช้เวลา

2. หลายคนที่เข้ามา มีแต่ไอเดีย แต่ยังไม่มีโปรดักท์

3. ทีมยังไม่พร้อม

“ที่ผมเจอมากที่สุดคือข้อแรก คือธุรกิจน่าจะขึ้นไประดับหนึ่ง แต่ไม่น่าจะโตต่อได้อีกแล้ว อีกอย่างที่สำคัญมากคือเขาโฟกัสแค่ตลาดประเทศไทย  คือธุรกิจที่ผมจะลงมันต้องขยายตลาดไปที่เซ้าท์อีสท์เอเชียได้”

เขาย้ำว่า สิ่งแรกที่เขาตัดสินใจที่จะร่วมลงทุนด้วยคือ ทีมต้องแข็ง ต้องดี ถ้ามีประสบการณ์ทำธุรกิจอื่นมาก่อนยิ่งดี เพราะถ้าไอเดียดี แต่ทีมไปกันไม่ได้ก็ไม่ใช่

ที่สำคัญการเข้ามาของ 500 Startup  ไม่ได้เอาเงินมาลงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำเอา  Global  แพลตฟอร์ม โนฮาว และคอนเนคชั่นมาด้วย

หรือต่อไปถ้า 500 Tuktuks มีStartup ประมาณ 20 บริษัท ก็สามารถดึงผู้แนะนำ ฝึกสอนระดับโลก ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องต่างๆ มาสอนได้ พอธุรกิจขยายไปเซ้าท์อีสท์ก็มีกองทุนรองรับ หรือหากขยายไประดับโลกก็มีกองทุนใหญ่ของบริษัทแม่  100 กว่าล้านเหรียญไว้รองรับเช่นกัน   เป็นรันเวย์ที่ช่วยทำให้ Startup ไปได้เร็วขึ้น

เสน่ห์ของ Startup เมืองไทย ทำให้กระทิงวางแผนไว้ว่า อีก 3 ปีข้างหน้าจะลงทุนอีกกองหนึ่ง ซึ่งจะมีขนาดของการลงทุนจะใหญ่ขึ้น และมูลค่าการลงทุนที่สูงขึ้น

4 เรื่องสำคัญที่เข้าตา  500 Tuktuks  

1. ความพร้อมและความแข็งแรงของทีม ทั้งทีมที่ดูเรื่องธุรกิจ ทีมที่เป็นโปรแกรมเมอร์  เป็นทีมที่รู้ใจ และร่วมงานกันนานแค่ไหน

2. เป็นโปรดักท์ที่พร้อมแล้ว มีผู้ใช้ มีลูกค้าอยู่แล้วประมาณหนึ่ง  ไม่ได้มีแค่เพียงแนวคิด

3. ตลาดต้องใหญ่  อย่างน้อยก็ต้องเป็นตลาดในอาเซียน  มีศักยภาพในการขยาย และมีมูลค่าธุรกิจประมาณ  1 พันล้านเหรียญขึ้นไปเป็นมูลค่าตลาด

4. ต้องเป็นบิสสิเนสโมเดลที่ขยายตลาดได้อย่างรวดเร็ว สามารถทำซ้ำได้ในหลายๆ ที่ทั่วโลก

 

เรื่อง : อรวรรณ บัณฑิตกุล

Marketeer ฉบับเดือนตุลาคม 2558



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online