ฟื้นจากวิกฤตใหญ่ได้ไม่ทันไร ธุรกิจซูชิจานหมุนของญี่ปุ่นก็ต้องมาเจอการทำเรื่องป่วนอวดกันผ่านสื่อโซเชียลที่ฉุดให้หุ้นของเบอร์ต้นๆในวงการถึงกับร่วง

ต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หุ้นของ Sushiro เชนร้านซูชิจานหมุนรายใหญ่ในญี่ปุ่น ร่วงลงไป 5% หลังคลิปวัยรุ่นแอบเลียจุกซอสส่วนกลางที่ให้ลูกค้าเติมได้ด้วยตัวเอง รวมไปถึงจานชามและถ้วยกาแฟของสาขาที่เมืองกิฟุ กลายเป็นไวรัล มียอดวิว 40 ล้านครั้งบนทวิตเตอร์

และในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีคลิป เลียช้อนแล้วจุ่มลงไปในกล่องใส่ผงชาเขียวหรือบีบวาซาบิให้ท่วมหน้าซูชิของวัยรุ่นอีกคนแล้วส่งกลับขึ้นสายพานไปให้ลูกค้าคนอื่นๆ

แน่นอนว่า Sushiro ไม่อาจอยู่นิ่งเฉยต่อพฤติกรรมดังกล่าวที่เรียกกันว่า กลุ่มก่อการป่วนซูชิ โดยได้มีการเก็บจานช้อนและเครื่องปรุงออกจากจุดวางส่วนกลางทั้งหมด แล้วเปลี่ยนไปให้กับลูกค้าแยกเป็นคนๆ เมื่อมานั่งที่โต๊ะแทน  

พร้อมกันนี้ยังลดจานอาหารบนสายพาน และให้ลูกค้าสั่งผ่านแทบเล็ตที่โต๊ะหรือสมาร์ทโฟนของลูกค้าแทน ส่วนลูกค้าวัยรุ่นคนที่ก่อเรื่อง Sushiro จะยังเดินหน้าดำเนินคคี แม้ผู้ปกครองได้พาไปขอโทษถึงร้านแล้วก็ตาม

ส่วนร้านอื่นๆ ในธุรกิจเดียวกัน ต่างก็ต้องปรับเปลี่ยนทั้งเพื่อตัดไฟแต่ต้นลมและป้องกันไม่ให้มีใครกล้าทำอีก เพราะธุรกิจก็เพิ่งฟื้นจากสถานการณ์โควิดได้ไม่นาน ความสะอาดสำคัญต่อธุรกิจร้านอาหารมาก

และทุกคลิป ทุกภาพที่ไปปรากฏบนสื่อออนไลน์ ย่อมทำให้ชื่อเสียงของร้านเสื่อมเสีย และสร้างความกังวลกับลูกค้าชาวญี่ปุ่น รวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่กำลังกลับเข้ามาหลังเปิดประเทศ

สำหรับซูชิจานหมุนหรือซูชิสายพานของญี่ปุ่น เริ่มขึ้นครั้งแรกที่ร้านชูชิแห่งหนึ่งในเมืองโอซาก้าเมื่อปี 1958 แม้ถูกต่อต้านจากบรรดาคอซูชิตัวจริงและเชฟซูชิขณะนั้น แต่ก็ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะทำให้ซูชิและอาหารญี่ปุ่นเมนูต่างๆ ราคาเข้าถึงได้มากขึ้น ต่างจากร้านแบบเดิมที่ราคาแพง

ปัจจุบันมีร้านซูชิจานหมุนอยู่ราว 4,000 แห่งในญี่ปุ่น ท่ามกลางมูลตลาดของซูชิจานหมุนในญี่ปุ่นสูงถึง 5,700 ล้านดอลลาร์ (ราว 191,000 ล้านบาท) ซึ่งเชนใหญ่สุดคือ Sushiro ที่เกิดเรื่องนั่นเอง

ส่วนอนาคตในมีแนวโน้มว่าร้านชูชิจานหมุนจะหันไปใช้ระบบอัตโนมัติหรือเทคโนโลยีต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้เสิร์ฟได้รวดเร็ว และยังเป็นการรับมือกับปัญหาแรงงานขาดแคลนที่สืบเนื่องมาจากประชากรสูงวัยมากแต่อัตราเกิดน้อย ได้อีกด้วย / theguardian 



ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ

.
Marketeer ฉบับดิจิทัล : อ่านบน Ookbee / อ่านบน meb
.
Marketeer ฉบับ PDF : https://marketeermagazine.com/
.
Marketeer ฉบับกระดาษ : สั่งซื้อทางไปรษณีย์ Inbox มาที่ เพจ Marketeer Online