ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า ขายดี แต่โอกาสยังมีจำกัด และคาด Tesla อาจไม่ปัง
ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย ยอดขายเกินครึ่ง (59.2%) ใน SEA แต่โอกาสในภาคอุตฯ ยังจำกัด เหตุตั้งโรงงานคุ้มทุนยาก และ FTA ไทย-จีน ช่องโหว่หลัก แต่ภาพรวมยังโตได้ ทั้งคาด Tesla ไม่ปังเท่าหวัง เหตุราคาไม่เข้าถึงผู้บริโภคในวงกว้าง
KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เผยแพร่รายงาน หลักไมล์ต่อไปของยานยนต์ไทย เริ่มจากภาพรวมปี 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นปีทองของตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย
ทั้งการเข้ามาตั้งโรงงานของค่ายรถไฟฟ้าจีน ตามมาตรการสนับสนุนของรัฐ หรือข่าวใหญ่ปลายปี 2565 เมื่อ Tesla ตัดสินใจเปิดตลาดในไทย สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตลาดยานยนต์ ทั้งเทรนด์ผู้บริโภค และในภาคอุตสาหกรรม ที่จะเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นในปี 2566
ไทยครองแชร์ยอดขาย EV เกินครึ่งใน SEA
เริ่มจากส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ประเภท BEV และ PHEV มากที่สุด ใน 6 ประเทศแรกภูมิภาคอาเซียน (SEA) ไตรมาส 3/2022 เฉลี่ยจากตัวเลขยอดขายส่งโดยตรงจากโรงงานผู้ผลิตของแบรนด์
อ้างอิงข้อมูลจาก Counterpoint Research บริษัทวิเคราะห์ และจัดเก็บข้อมูลอุตสาหกรรมระดับโลก ในส่วนรายงาน Global Passenger Electric Vehicle Model Sales Tracker, Q3/2022
พบดังนี้ 1. ไทย 59.2%, 2. อินโดนีเซีย 25.2%, 3. สิงคโปร์ 11.8%, 4. มาเลเซีย 3.1%, 5. เวียดนาม 0.7% และ 6. ฟิลิปปินส์ 0.02%
อ่าน ไทยกวาดแชร์ 59.2% ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า Q3/2022 ใน SEA
Tesla โอกาสกินแชร์ตลาดรถยนต์ในไทยเพียง 4.5%
ขณะที่ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ KKP Research กับประมินว่ายังไม่สดใสเท่าดีมานด์จากผู้บริโภค เมื่อมองจากมุมของ Tesla ที่เป็นผู้เล่นสำคัญของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1. ไทยมีตลาดที่ค่อนข้างเล็กจากกำลังซื้อภายในประเทศที่มีจำกัด โดยราคา Tesla ในปัจจุบันสามารถเจาะตลาดไทยได้เพียง 30,000 คันต่อปี หรือคิดเป็น 4.5% ของตลาดรถยนต์ไทย
เพราะราคา Tesla ที่เปิดตัวในไทย เริ่มต้นอยู่ที่ 1.75 ล้านบาท (อ่าน: Tesla ลงสนามรถไทยเต็มตัว เคาะราคาเริ่มต้น 1.75 ล้าน)
ตลาดรถยนต์ในไทย
กระจุกตัวเรต 5-7 แสนบาท ส่ง Tesla โอกาสชิงแชร์น้อยนิด |
||
ยอดจดทะเบียนรถยนต์ในไทย แบ่งตามระดับราคา | % ส่วนแบ่งยอดขาย | |
5-7 แสนบาท | 58.2% | |
7 แสนบาท-1 ล้านบาท | 15.3% | |
1-1.5 ล้านบาท | 14.5% | |
ต่ำกว่า 5 แสนบาท | 7.6% | |
1.5-3 ล้านบาท | 2.3% | โอกาสของ Tesla ในตลาดรถยนต์ไทยอยู่เพียง 4.5% |
3-5 ล้านบาท | 2.0% | |
มากกว่า 5 ล้านบาท | 0.2% | |
ที่มา: กรมการขนส่งทางบก, KKP Research, 2023 |
2. การนำเข้าจากโรงงานจีนมีต้นทุนที่ถูกกว่า เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า จากประโยชน์ของความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-จีน และโอกาสถึงจุดคุ้มทุนจากการตั้งโรงงานผลิตขายในตลาดไทยมีน้อย
3. การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการผลิตโลก โดยมีความพยายามของนโยบายรัฐในประเทศพัฒนาแล้วในการดึงการสร้างฐานการผลิตกลับไปยังประเทศต้นทางมากขึ้น (Reshoring) ทำให้ความจำเป็นในการพึ่งพาตลาดเกิดใหม่มีน้อยลง
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าไทยหมดโอกาสเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เพราะประเด็นการตัดสินใจตั้งฐานการผลิตของค่ายรถยนต์จีนในไทย แตกต่างจาก Tesla และทำให้ไทยมีโอกาสดึงดูดค่ายจีนบางกลุ่มได้ เนื่องจากค่ายรถยนต์จีนมีสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวไทยมากกว่า
แบรนด์จีนครองแชร์
ยอดขาย EV ในไทย เกินครึ่ง |
|
แบรนด์ | ส่วนแบ่งยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV)
ม.ค.-พ.ย. 2022 |
1. ORA Good Cat | 42% |
2. MG | 31% |
3. แบรนด์รถยนต์พรีเมียม | 16% |
4. Tesla | 5% |
5. แบรนด์อื่น ๆ | 3% |
6. BYD | 2% |
ที่มา: กรมการขนส่งทางบก, KKP Research, 2023 |
ตัวอย่างเช่น ราคาที่ถูกกว่า Tesla จนมีฐานผู้บริโภคให้ทำตลาดที่กว้างกว่า ทำให้การตั้งโรงงานมีโอกาสถึงจุดคุ้มทุนเร็วกว่า และเป็นการกระจายความเสี่ยงจากประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับอเมริกา ที่อาจจะทำให้การขยายธุรกิจไปยังอเมริกาและยุโรป ยังมีอุปสรรคในอนาคต
ทั้งในปี 2022 ยังมีปัจจัยภายนอกและภายใน ช่วยดึงดูดค่ายจีนมาหาไทยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ EV ในประเทศจีนที่ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันที่สูงขึ้นในจีน
และการยกเลิกมาตรการเงินอุดหนุน พร้อม ๆ กับนโยบายของไทยที่ให้การสนับสนุนมากกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน KKP Research จึงเห็นการเข้ามาตั้งฐานการผลิตของค่ายรถยนต์จีนในประเทศไทยบ้างในปีที่ผ่านมา
การเข้ามาของโรงงานจีนอาจไม่ส่งผลบวกมากต่อเศรษฐกิจไทย
KKP Research ประเมินว่าการเข้ามาลงทุนทางตรงในช่วงที่ผ่านมาในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ยังสร้างผลบวกต่อเศรษฐกิจได้น้อยจาก 2 ประเด็นสำคัญ คือ
1. ขนาดการลงทุนยานยนต์ EV จากจีนยังมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ และยังน้อยกว่าการลงทุนทางตรงจากญี่ปุ่นเพื่อตั้งฐานการผลิตรถยนต์ในอดีต
2. มูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้จากการผลิตรถยนต์ EV มีน้อยลง และจำเป็นต้องนำเข้าชิ้นส่วนมากขึ้น อาจทำให้มูลค่าเพิ่มที่ไทยเคยสร้างได้ในประเทศหายไปมากกว่าครึ่ง
ขณะที่การเข้ามาทำธุรกิจขายรถยนต์ของ Tesla แม้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่มีตัวเลือกหลากหลายขึ้น แต่ไม่ได้มีผลบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก และสร้างความท้าทายมากขึ้นในระยะยาว ต่อค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่มีฐานการผลิตอยู่ในไทย
ในภาพรวมแม้ว่าการเข้ามาของโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจีน จะเป็นข่าวดีสำหรับประเทศไทย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งใหม่ ๆ อย่างอินโดนีเซีย ขนาดการลงทุนจากจีนมาไทย ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
โดยขนาดการลงทุนจากบริษัทจีนในอินโดนีเซีย อย่าง CATL ที่เป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่อันดับหนึ่งของโลก เพียงบริษัทเดียว มีมูลค่าการลงทุนมากกว่าครึ่งของมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ทั้งหมดของไทย
และมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในอินโดนีเซียในช่วงที่ผ่านมา มากกว่าไทยถึง 2 เท่า สะท้อนว่าไทยกำลังจะเจอการแข่งขันที่มากขึ้น และการดึงดูดให้เกิดการลงทุนในไทย จะเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายอย่างมาก
สงคราม EV ในไทย หลังจากนี้
1. สงครามราคาที่กดดันให้ราคา EV ถูกลงอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่เร่งให้ตลาดไทยเปลี่ยนมาใช้ EV ได้เร็วขึ้น
2. การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง
3. นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศเพื่อนบ้าน ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ไทย
สรุปภาพใหญ่ ตลาดรถไฟฟ้า KKP Research พบว่าในไทยถือว่ามีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา จากมาตรการภาครัฐที่สนับสนุนผ่านส่วนลดภาษีและเงินอุดหนุน และเติบโตได้เร็วกว่าหลายประเทศในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวการขยายตลาดรถยนต์ EV มายังตลาดรถยนต์ใหญ่ของไทยยังทำได้ยาก เนื่องจากราคารถยนต์ EV ที่ยังสูง อีกทั้งปัจจัยด้านอุปทาน ยังเป็นปัจจัยที่กำหนดความเร็วของตลาด EV
ไม่ว่าจะเป็นสถานีอัดประจุรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุม ภาวะขาดแคลนแผงวงจรไฟฟ้าทั่วโลกที่ทำให้ส่งมอบ EV ได้ช้า และที่สำคัญที่สุด คือการขาดแคลนสินแร่ที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV
อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของค่ายรถยนต์ EV ใหม่ ๆ ทั้ง Tesla และค่ายจีนยังสามารถช่วยเพิ่มการแข่งขันในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย และเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภคได้ ส่งผลให้ยอดขายรถยนต์ EV ในไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



