สแกนอ่าน QR Code เริ่มต้นจากการแก้ปัญหาในโรงงานของนายช่างโตโยต้า สู่นวัตกรรมเปลี่ยนโลกเทคฯ อ่านข้อมูล
เริ่มต้นที่แดนอาทิตย์อุทัย
คิวอาร์โค้ด (QR Code: Quick Response Code) ถูกพัฒนาขึ้นในปี 1992 โดย บริษัทเดนโซ เวฟ (Denso Wave Incorporated) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้นดำเนินงานด้านโรงงานผลิตอะไหล่รถยนต์ ในเครือของโตโยต้า (Toyota)
ก่อนแยกแผนกออกมาเป็นบริษัทผลิตเครื่องอ่านQR Codeและชิ้นส่วนหุ่นยนต์ สำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรม อาทิ ยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ตั้งแต่ปี 2001
โดย คุณมาซาฮิโระ ฮาระ (Masahiro Hara, เกิดปี 1957) ช่างเทคนิคชำนาญการ และทีมพัฒนา ที่ทำงานอยู่ในแผนกวิจัยและพัฒนา (R&D) เครื่องอ่านบาร์โค้ดของบริษัทตอนนั้น ได้รับโจทย์ใหม่มาจากหัวหน้างาน
ให้แก้ปัญหาด้านการจัดการ และตรวจสอบข้อมูลอะไหล่ ที่มีปริมาณชุดข้อมูล เพิ่มขึ้นมา 5-6 เท่า จากการที่โรงงานหันมาเน้นผลิตอะไหล่น้อยลง แต่มากประเภทขึ้น จากที่เคยมุ่งผลิตอะไหล่ไลน์ประกอบเดียว ในปริมาณมาก
โดย บาร์โค้ด (Barcode) หรือ รหัสแท่ง ประกอบด้วยเส้นที่มีความเข้ม (มักเป็นสีดำ) และเส้นสว่าง (มักเป็นสีขาว) วางเรียงกันเป็นแนวดิ่ง แสดงรหัสแทนตัวเลข และตัวอักษร ที่ทางโรงงานใช้งานอยู่ในขณะนั้น
มีขีดจำกัดด้านการใส่ชุดข้อมูลที่เพียง 20 ตัวอักษร ส่งผลให้คนงาน ต้องอ่านชุดข้อมูลหลายครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลการผลิตและจัดเก็บอะไหล่ที่ครบถ้วน ทำให้ประสิทธิภาพและความแม่นยำของการทำงานในขณะนั้น ลดลงอย่างมาก
ไทย หนึ่งในภาษาใช้ทดลองผลิต QR Code
จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ คุณ มาซาฮิโระ เริ่มคิดจะสร้างบาร์โค้ดเวอร์ชันอัปเกรด ซึ่งสามารถใส่ข้อมูลตัวเลข-อักษร ได้เยอะขึ้น เขาเผยว่า ช่วง 3-4 เดือนแรกของการ R&D หมดไปกับการแก้ปัญหาให้เครื่องสแกน สามารถแยกโค้ด ออกจากตัวอักษร โดยต้องทำให้ตัวอักษรมีเอกลักษณ์ จึงจะใช้งานได้
เลยได้ทดลองใช้สัดส่วนของโค้ด มาเปรียบเทียบกับเนื้อที่ของตัวอักษรในแต่ละภาษาทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น, อังกฤษ, เกาหลี, จีน, ไทย และอาหรับ
ต่อมาก็เป็นการเปรียบเทียบสีขาวดำของรูปสี่เหลี่ยม เพื่อให้ได้อัตราส่วนที่น้อยที่สุด แต่ยังสามารถสแกนอ่านได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องสแกนผ่านรัศมีใด ในพื้นที่ 360 องศา รอบ QR Code แบบเฉพาะเจาะจง
อัตราส่วนทองคำ
โดยใช้การเทียบความกว้างของสีดำอันที่อยู่นอกสุด เท่ากับ 1 สีขาว ชั้นต่อมาก็จะเท่ากับ 1 สีดำ ชั้นต่อมาจะเท่ากับ 3 รวมกันเป็นอัตรา [1:1:3:1:1] ซึ่งเป็นความบังเอิญเจอระหว่าง R&D ของคุณมาซาฮิโระ และทีม ที่นับว่าโชคดีมาก ๆ
เพราะการวางสี่เหลี่ยมไว้ที่ 3 มุมแบบนี้ จะทำให้รู้ลักษณะภายนอกของรหัส และการปล่อยมุมว่างไว้หนึ่งมุม ก็ทำให้สามารถแบ่งแยกโค้ด กับพื้นหลังได้
กำเนิดQR Code
หลังจาก R&D มาประมาณ 2 ปี ในที่สุด ปี 1994 คุณมาซาฮิโระ และทีม ก็ได้ให้กำเนิด บาร์โค้ด 2 มิติ (2 Dimension Barcode) หรือ คิวอาร์โค้ด (QR Code: Quick Response Code) หมายถึง โค้ดที่สามารถอ่าน และเก็บข้อมูล ที่ประกอบไปด้วยตัวเลข-อักษร ได้อย่างรวดเร็ว
โดยQR Codeเวอร์ชันแรกสุดสามารถอ่านข้อมูลได้รวดเร็ว และเก็บข้อมูลได้มากกว่า 7,000 ตัวเลข-อักษร ทั้งแสดงผลได้ กระทั่งตัวอักษรคันจิ ที่มีความซันซ้อน
ถึกทน ใช้ได้แม้พื้นผิวเสียหาย 30%
ด้วยความที่ถูก R&D มาเพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม จึงมีการให้ความสำคัญต่อการใช้งาน ในกรณีที่เกิดคราบสกปรก หรือความเสียหายของพื้นผิวเอาไว้อย่างดี ทำให้QR Codeตั้งแต่เวอร์ชันแรก สามารถอ่านข้อมูลได้อย่างถูกต้อง แม้พื้นผิวของโค้ด จะเสียหายไปมากถึง 30% ก็ตาม
แพร่หลายอย่างก้าวกระโดด เพราะไม่คิดค่าลิขสิทธิ์
แม้จะเป็นนวัตกรรมระดับโลก แต่หลังจากคุณมาซาฮิโระ และทีมพัฒนาในนามบริษัทเดนโซ เวฟ ได้จดสิทธิบัตรQR Codeแล้ว ก็ได้นำนวัตกรรมนี้ มาเผยแพร่สู่สาธารณชน ให้นำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่คิดค่าลิขสิทธิ์ จนเกิดการพัฒนาต่อกันมาในวงกว้าง
ซึ่งทางคุณมาซาฮิโระ ให้เหตุผลว่า ทั้งเขาและทีม ไม่ได้ตั้งใจทำมาเพื่อหารายได้แต่แรก เพียงต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงงาน ตามหน้าที่รับผิดชอบ และยังต้องการให้สามารถนำไปช่วยแก้ปัญหาให้กับคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่อไป
ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้นวัตกรรมQR Codeกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการคิดค้นเทคโนโลยีอ่านข้อมูลใหม่ ๆ ซึ่งเติบโตไปทั่วโลก และแพร่กระจายในวงกว้าง จนได้รับการยอมรับในมาตรฐานสากล ISO ต่อมา
QR Codeถูกนำไปใช้ต่อยอดใน ภาคการศึกษา, อีคอมเมิร์ซ, การรักษาความปลอดภัย, บริการทางการแพทย์, ท่องเที่ยว, การตลาด และการบริการลูกค้า เป็นต้น
ทั้งส่งผลให้บริษัทเดนโซ เวฟ สามารถเก็บผลประโยชน์ปลายน้ำ จากการเผยแพร่นวัตกรรมQR Codeอย่างใจกว้างสุด ๆ นี้ ด้วยการเป็นบริษัทผลิต และจัดจำหน่ายเครื่องอ่านQR Codeระดับต้น ๆ ของตลาด
ชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรก ที่ได้รางวัล นักประดิษฐ์แห่งยุโรป
ความสำเร็จของนวัตกรรม QR Code ส่งผลให้คุณมาซาฮิโระ และทีมผู้พัฒนา กลายเป็นชาวญี่ปุ่นกลุ่มแรกที่ได้รับรางวัล European Inventor Award ในปี 2014
โดยเป็นการมอบรางวัลที่จัดขึ้นทุกปี จากสำนักงานสิทธิบัตรแห่งสหภาพยุโรป (European Patent Office)
เพื่อเป็นเกียรติกับผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยยกระดับภาคเทคโนโลยี สังคม และเศรษฐกิจของโลก ผ่านการวัดผู้ชนะ ด้วยคะแนนโหวตสูงสุดจากสาธารณชนโลก
QR Code ปัจจุบันมีถึง 40 เวอร์ชัน
ปัจจุบันขนาดของข้อมูลที่สามารถบันทึกลงไปในQR Codeขึ้นอยู่กับเวอร์ชันที่ใช้งาน ซึ่งมีตั้งแต่เวอร์ชัน 1-40 โดยในแต่ละเวอร์ชัน ก็มีข้อแตกต่างตามขนาดของข้อมูลที่สามารถบันทึกได้
และระดับความสามารถในการแก้ไขข้อผิดพลาดในการอ่าน และคืนค่าข้อมูล ในกรณีที่รหัส มีคราบสกปรก หรือเกิดความเสียหาย ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ระดับ คือ L / M / Q / H
โดยสามารถคืนค่าข้อมูลจากการอ่านรหัสผิดพลาด ตั้งแต่ 7%, 15%, 25% และ 30% ตามลำดับ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถเลือกตามความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมในการใช้งานได้เลย
อ่าน : ไทยนิยมใช้ QR Code ติดอันดับ 5 ของโลก รับกระแส Cashless Society
แพร่หลายในไทยจากเทรนด์ Cashless Society
QR Code เริ่มถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย เพราะวัตถุประสงค์เพื่อการชำระเงิน และเป้าหมายในการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society)
โดยเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมมือกับผู้ให้บริการเครือข่ายบัตรระดับโลก 5 แห่ง ได้แก่ American Express, JCB, Mastercard, VISA และ UnionPay
และผู้ให้บริการทางการเงินในไทย ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย, สภาสถาบันการเงินของรัฐ, สมาคมธนาคารนานาชาติ, สมาคมการค้าผู้ให้บริการชําระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ไทย, สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, บริษัท National ITMX จํากัด และบริษัท Thai Payment Network จํากัด


รูป 9
ร่วมมือกันใช้QR Codeเพื่อการชําระเงิน โดยมีการตกลงใช้มาตรฐานเดียวกันในการให้บริการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการมีQR Codeหลายอัน ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยาก
และเอื้อให้ผู้บริโภคกับร้านค้า สามารถรับ-จ่ายเงินในรูปแบบ QR Code Payment ผ่านบัตรเครดิต, บัตรเดบิต, บัญชีเงินฝากธนาคาร หรือ บริการของกลุ่มที่ไม่ใช่ธนาคาร ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ได้เต็มรูปแบบ
คนไทยใช้ QR Code ติดทอป 5 โลก
ด้านภาพรวมการใช้QR Codeของคนไทย ทั้งเพื่อรับข้อมูลข่าวสาร, ยืนยันตัวตน และชำระเงิน ผลสำรวจล่าสุดจาก We Are Social บริษัทเอเจนซีโฆษณาจากสหราชอาณาจักร ที่ได้เผยแพร่รายงาน Digital 2023 Global Overview Report พบว่า ปี 2023 คนไทย มีพฤติกรรมการใช้QR Codeมากสุดอันดับ 5 จาก 50 ประเทศทั่วโลก ที่ปรากฏอยู่ในรายงานจัดอันดับเลยทีเดียว
คนไทยใช้ QR Code
สแกนเพลิน ติดทอป 5 โลก ปี 2023 |
|
ประเทศผู้ใช้ | % ประชากรที่ใช้ QR Code ต่อประชากรที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต |
1.ฮ่องกง | 59.1% |
2.ไต้หวัน | 56.1% |
3.จีน | 55.6% |
4.สวิตเซอร์แลนด์ | 54.1% |
5.ไทย | 54.1% |
* เก็บข้อมูลการสแกน QR Code ทั้งรับข่าวสาร-ยืนยันตัวตน-จ่ายเงิน | |
ที่มา: We Are Social |
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



