บังกลาเทศ กำลังเพิ่มกำลังการผลิตและพัฒนาคุณภาพเสื้อผ้าสำเร็จรูป (Ready-made Garment หรือ RMG) เพื่อขึ้นเป็นแหล่งผลิตและประเทศผู้ส่งออก RMG ไปสหภาพยุโรป (EU) อันดับ 1 แทนจีนในอนาคต
เพราะมูลค่าส่งออก RMG ไปยุโรปของ 9 เดือนแรกปี 2022 นั้น ขึ้นมาอยู่ที่ 19,400 ล้านดอลลาร์ (ราว 666,700 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นจากกรอบเวลาเดียวกันของปี 2021 ถึงเกือบ 42%
และเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากกว่าจีน โดยเมื่อ 9 เดือนแรกปี 2022 มูลค่าการส่งออก RMG ของจีนไป EU อยู่ที่ 25,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 876,400 ล้านบาท) เพิ่มจาก 9 เดือนแรกของปี 2021 อยู่ 22%
Shahidullah Azim รองประธานผู้ผลิตเสื้อผ้าและผู้ส่งออกบังกลาเทศ (BGMEA) กล่าวว่า สถานการณ์ด้านการส่งออก RMG ของประเทศดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลัง EU เปลี่ยนมาสั่ง RMG มากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาจีน
สืบเนื่องจากผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ฝ่ายหลังบีบให้ชาติพันธมิตรดำเนินมาตรการกดดันจีนหรือลดการพึ่งพาจีนด้วย ประกอบกับ EU ก็เล็งเห็นศักยภาพของบังกลาเทศ ที่เป็นแหล่งผลิตให้แบรนด์อย่าง H&M Mark & Spencer และ Zara มานาน
นอกจากนี้ โรงงาน RMG ในบังกลาเทศ ยังไร้อุปสรรคด้านภาษีศุลกากร เพราะถือเป็น 1 ใน 45 ประเทศกำลังพัฒนาตามเกณฑ์ที่ EU ให้การช่วยเหลืออยู่ และการหันไปผลิตเสื้อผ้าคุณภาพสูงและทำกำไรได้มากกว่าเดิม จากเดิมที่ผลิตแต่ RMG แบรนด์กลุ่ม Fast Fashion ก็ทำให้ได้รับความมั่นใจจาก EU มากขึ้นด้วย
อีกสาเหตุที่ทำให้บังกลาเทศมั่นใจว่าจะแซงจีนได้ มาจากจีน เจ้าของตำแหน่งโรงงานโลก ปรับเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตเพื่อส่งออก โดยหันไปผลิตสินค้าเทคโนโลยี เช่น Smartphone และรถ EV มากขึ้น จนสัดส่วนการผลิตเสื้อผ้าและ RMG ลดลงไป
อย่างไรก็ตาม บังกลาเทศยังมีเหตุอาคารโรงงานผลิตเสื้อผ้าสูง 8 ชั้นถล่มจนมีผู้เสียชีวิตนับพันคนเมื่อปี 10 ปีก่อนและตามด้วยเหตุไฟไหม้โรงงานในอุตสาหกรรมเดียวกัน ตามหลอกหลอนจึงต้องหมั่นตรวจตรามาตรการฐานอาคาร และสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ให้แออัดเกินไป เพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมแบบเดียวกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
ซึ่งถ้าจัดการปัญหาจุดนี้ไปได้ อุตสาหกรรม RMG ของบังกลาเทศ ซึ่งสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ยืนยันได้จากคิดเป็น 1 ใน 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และครองสัดส่วน 80% ของสินค้าส่งออก จะโตได้อีกมาก อันจะส่งผลดีต่อเนื่องไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนในประเทศอีกด้วย/nikkei
–
ติดตาม Marketeer ได้หลากหลายรูปแบบ