พฤติกรรมนักช้อปไทย ทำไมเกินครึ่งจึงยึดคาถาขอชัวร์ไว้ก่อน ?
นักช้อปไทยเกินครึ่ง บุคลิกชัวร์ไว้ก่อน
ต.ค.-ธ.ค. 2022 ช้อปหนักมือสุดรอบ 3 ปี ส่งดีมานด์ต้นปีนี้คูลดาวน์ลง
HILL ASEAN Thailand เผย นักช้อปไทย 56% มีบุคลิก ‘ชัวร์ไว้ก่อน’ พร้อมรับมือความไม่แน่นอน ชุดข้อมูลสำคัญแก่บรรดาแบรนด์ใช้เข้าถึงนักช้อปไทย ปี 2023 ขณะที่ภาพรวม พบ ต.ค.-ธ.ค. 2022 นักช้อปไทยจ่ายหนักมือสุดรอบ 3 ปี ส่งดีมานด์คูลดาวน์ลง ตลอดช่วงต้นปี 2023
ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (Thailand) – HILL ASEAN Thailand สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย
รีเฟรชผลสำรวจทุก ๆ 2 เดือน มาตั้งแต่ ปี 2020 ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณ และเชิงคุณภาพ จากประชากรชาย-หญิง จำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาค ทั่วประเทศไทย
รูป 1
โดย ธีรเมศร์ นิติจรรยาวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ HILL ASEAN Thailand เผยในงานสัมมนา “เจาะลึก 6 บุคลิกนักช้อปไทย และ Brand Recommendation ที่โดนใจในปี 2023” เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2023
กล่าวว่า จากผลสำรวจตลอดปี 2022 สถาบันสามารถแบ่งแนวโน้มความต้องการใช้จ่ายของคนไทย ได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามช่วงเวลา เริ่มจาก Break (กุมภาพันธ์-เมษายน) หรือการใช้จ่ายที่โฟกัสแต่ของจำเป็น, Heal (มิถุนายน-สิงหาคม) ฮีลใจตนเองจากความเหนื่อยล้า จนมีแนวโน้มช้อปแบบฟุ่มเฟือยเพิ่มขึ้น และ Splurge (ตุลาคม-ธันวาคม) หรือกลับมาใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ มูฟออนจากโควิด-19 อย่างเต็มตัว
อย่างไรก็ตาม หากดูจากภาพรวมจะพบว่า ดีมานด์ใช้จ่ายของนักช้อปไทย เป็นกราฟที่สูงขึ้นมาโดยตลอด ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 และจากผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 พบว่าดีมานด์ใช้จ่ายโดยรวมของนักช้อปไทย ลดลงตลอดช่วงต้นปี 2023
หลังนักช้อปไทย เฉลิมฉลองแบบจัดเต็ม จนทำให้การจับจ่าย พุ่งสูงสุดในรอบ 3 ปี ไปเมื่อช่วงสิ้นปี 2022
โดยสถาบันสามารถแบ่งนักช้อปไทยออกเป็น 6 บุคลิกหลัก พร้อมกลยุทธ์ตลาดสำหรับเป็นแนวทาง หรือ Brand Recommendation ให้แบรนด์ต่าง ๆ นำไปใช้ เพื่อเข้าถึงนักช้อปเหล่านี้
ไม่ว่าจะเป็น 1. ชัวร์ไว้ก่อน (Save & Safe) 56% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ทั้งสถานการณ์โรคระบาด, สงคราม หรือ เศรษฐกิจ คนกลุ่มนี้จะมีการเตรียมพร้อม รับความไม่แน่นอนอยู่เสมอ
และถือว่าเป็นกลุ่มที่เยอะที่สุด ดังนั้น ถ้าแบรนด์อยากจับคนกลุ่มนี้ แบรนด์ต้องให้ความรู้สึกพึ่งพาได้ สร้างความสัมพันธ์ที่คุ้นเคย ให้คนกลุ่มนี้เกิดความรู้สึกมั่นคงในการซื้อ
2. แม่บุญทุ่ม (Care-Giver) 11% ของผู้ตอบแบบสอบถาม คนกลุ่มนี้ชอบซื้อ (ให้คนอื่น) ซึ่ง Motivation หลักในการช้อป คือเพื่อ Connect กับคนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับครอบครัว เพื่อต้องการ Make Sure ว่าพวกเขามีครบ และ มีสุข
อีกทั้งการให้คือเหตุผลในการจับจ่ายของคนกลุ่มนี้อีกด้วย ดังนั้นแบรนด์สามารถกระตุ้นการจับจ่าย ด้วยการสร้างเหตุผลใหม่ ๆ ให้แก่คนกลุ่มนี้ได้ซื้อ และเกิดความรู้สึกอิ่มเอมใจในการให้เพิ่มขึ้นได้
3. ชนะทุกแคมเปญ (Deal-Hunter) 7% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ในการศึกษาตลอดทั้งปี 2022 ของสถาบัน จะมีกลุ่มคนที่พร้อมรอโปรโมชั่น หรือดีลสำคัญ เพื่อให้ได้ราคาที่คุ้มที่สุดเสมอ และมักเป็นกลุ่มที่ให้คะแนนความต้องการช้อปสูงมาก
โดยคนกลุ่มนี้จะหาทั้งของ หาทั้งดีล ยิ่งซับซ้อน ยิ่งรู้สึกอยากเอาชนะ ซึ่งแบรนด์สามารถเติมเต็มความชอบท้าทาย ด้วยการสร้างพื้นที่ให้นักช้อป เป็นผู้เล่น เสมือนการเล่นเกม
หรือใช้ Platform ที่มีอยู่ เปิดพื้นที่ Engage กับเหล่านักช้อปมือไว ให้มาแชร์ Tips and Tricks ในการหาดีลพิเศษ และเป็นประโยชน์กับนักช้อปมือสมัครเล่น ได้นำไปใช้ด้วย
4. ของมันต้องมี (Passionate Spender) 7% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ความสุขซื้อได้ด้วยการช้อป โดยคนกลุ่มนี้เทียบเท่ากับคนในกลุ่มที่สาม แต่ด้วยความแตกต่าง คือคนกลุ่มนี้พร้อมเปย์ตลอดปี แบบไม่มีอะไรมากั้น ความอยากใช้เงินถูกกระตุ้นด้วยความรู้สึกในแต่ละวัน
ซื้อเพื่อตอบสนองอารมณ์ อยากได้ต้องได้ มากกว่าเหตุผล เมื่อได้จ่ายเงินแล้วก็จะรู้สึกสบายใจ ดังนั้นแบรนด์ควรจับตาเทรนด์ หรือ Trigger Point ที่อาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เพื่อช่วยสร้างข้ออ้างใหม่ ๆ ในการช้อป และปลุกไฟแห่งการอยากเปย์ ให้ลุกโชนอยู่เสมอ
5. ปล่อยจอย (Happy-Go-Lucky) 5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีความไม่แน่นอนตลอดทั้งปี แต่ยังมีกลุ่มที่มองโลกแง่บวก ใช้ชีวิต และใช้จ่ายแบบสบาย ๆ มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย ไม่คิดเยอะ
คนกลุ่มนี้ต้องการซื้อความสุขใจให้ตัวเองในปัจจุบัน มากกว่า การวางแผนการเงินในอนาคตอย่างจริงจัง ดังนั้นแบรนด์สามารถเข้าไปมีบทบาทในการช่วยเติมความสุขวันละนิด ให้คนกลุ่มนี้ได้ โดยไม่ต้องเน้นเยอะ แต่เน้นบ่อย
6. สวยไม่พัก (Always-Glam) 5% ของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า เสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์เพื่อความงาม มักติด Top 5 สินค้าที่ต้องการซื้อ และมีความต้องการซื้อสูงกว่า 30% ตลอดทั้งปี
เป็นกลุ่มนักช้อปที่ลงทุนเพื่อภาพลักษณ์ โดยมองว่าสินค้าแฟชั่น/ความงาม คือ สินค้าจำเป็นไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แบรนด์จึงต้องตอกย้ำความมั่นใจให้คนกลุ่มนี้
ว่า ซื้อเลยสวยชัวร์ เพราะแบรนด์คิดมาให้ดีแล้ว ไม่มีพลาดต่อหน้าใครแน่นอน ผ่านการจับ Trend/Occasion ในการแนะนำสินค้า เพื่อกระตุ้นให้ตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น
พฤติกรรมนักช้อปไทย เกินครึ่งบุคลิกชัวร์ไว้ก่อน รับความไม่แน่นอน การบ้านแบรนด์ ปี 2023 ต้องวางตัวให้พึ่งพาได้ |
||||||
บุคลิกนักช้อปไทย | ชัวร์ไว้ก่อน (Save & Safe) | แม่บุญทุ่ม (Care-Giver) | ชนะทุกแคมเปญ (Deal-Hunter) | ของมันต้องมี (Passionate Spender) | ปล่อยจอย (Happy-Go-Lucky) | สวยไม่พัก (Always-Glam) |
% ผู้ตอบแบบสอบถาม | 56% | 11% | 7% | 7% | 5% | 5% |
บุคลิกเด่น | พร้อมรับความไม่แน่นอนอยู่เสมอ | ชอบซื้อ (ให้คนอื่น) โดยเฉพาะในครอบครัว | นักล่าโปรโมชั่น-ดีลสำคัญ เพื่อให้ได้ราคาที่คุ้มที่สุด | พร้อมเปย์ตลอดปี ไม่มีอะไรมากั้น | มองโลกแง่บวก ใช้จ่ายแบบสบาย ๆ | ลงทุนเพื่อภาพลักษณ์
มองแฟชั่น/ความงาม คือ สินค้าจำเป็น ไม่ใช่ สินค้าฟุ่มเฟือย |
แรงจูงใจในการช้อป | ช้อปเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตจริง | ต้องการ Make Sure ว่าพวกเขา มีครบ และ มีสุข | ชอบหาสินค้าดีลคุ้ม ๆ ยิ่งซับซ้อน ยิ่งรู้สึกถูกกระตุ้นให้เข้าร่วม | ช้อปเพื่อตอบสนองอารมณ์ อยากได้ต้องได้ | ช้อปความสุขใจให้ตัวเองในปัจจุบัน มากกว่า วางแผนการเงินในอนาคต | เสื้อผ้า-ผลิตภัณฑ์ความงาม มักติด Top 5 สินค้าที่ต้องการช้อป |
คำแนะนำแบรนด์ในการเข้าถึงนักช้อป | ให้ความรู้สึกพึ่งพาได้ มั่นคงในการซื้อ | สร้างเหตุผลใหม่ ๆ ให้เกิดความรู้สึกอิ่มเอมใจในการให้เพิ่มขึ้น | สร้างพื้นที่ให้เป็นผู้เล่น เสมือนการเล่นเกม | สร้างข้ออ้างใหม่ ๆ ในการช้อปอยู่เสมอ | เข้าไปมีบทบาทในการช่วยเติมความสุขวันละนิด เน้นบ่อย ๆ | สร้างค่านิยมคิดมาให้ดีแล้ว ซื้อเลย สวยชัวร์ |
ที่มา: สำรวจผู้ตอบแบบสอบถาม ชาย-หญิง 1,200 คน อายุ 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาคทั่วไทย โดย HILL ASEAN Thailand, เผยแพร่ ก.พ. 2023 |
–
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



