GMM Music ปี 2565 กวาดรายได้รวม 3 พัน ลบ. กำไร 355 ลบ. แชร์ Top 100 Thai Songs of The Year 2022 จาก Billboard Chart มากถึง 37% เผย มิวสิก เฟสติวัล-อินดอร์ คอนเสิร์ตในไทย มูลค่า 5 พันลบ. ปีนี้กลับมาโตเต็มสูบ

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค (GMM Music) บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เผยว่า เป็นระยะเวลา กว่า 3 ปีที่อุตสาหกรรมเพลงในไทยและทั่วโลกต้องเผชิญกับความยากลำบาก เพราะการเกิดขึ้นของโควิด-19 ที่ทำให้ต้องสูญเสียรายได้ ซึ่งเป็นเหมือนเส้นเลือดใหญ่อย่างการออกงานโชว์ของศิลปิน

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 GMM Music ยังสามารถสร้างการเติบโตได้ใน 5 พอร์ตหลักของธุรกิจเพลง

GMM Music เป้ารับครบรอบ 40 ปี

ดันพอร์ตธุรกิจโตสูงสุด 66%

พอร์ตธุรกิจ มูลค่า/ล้านบาท/ปี 2022 เป้ามูลค่า/ล้านบาท/ปี 2023 เป้าอัตราเติบโต YoY
Digital 1,089 1,200 10%
Artist Management 742 1,050 42%
Showbiz 542 898 66%
Right Management 236 300 27%
Physical 145 200 38%
ที่มา: GMM Music, March 2023

โดย 2 พอร์ตหลักที่ช่วยให้ GMM Music ประคองตัวรอดมาได้จากวิกฤตโควิด-19 คือ Digital Business หรือ รายได้จากแพลตฟอร์มดิจิทัล และ Right Management Business หรือ รายได้จากการบริหารจัดการลิขสิทธิ์

ขณะที่การได้รับอานิสงส์จากการผ่อนปรนของมาตรการป้องกันโควิด-19 จากภาครัฐ และการเปิดประเทศเต็บสูบ ทำให้ 7 เดือนหลังสุดของปี 2022 (ก.ค.-ธ.ค.) 2 พอร์ตธุรกิจที่สามารถกลับมาดำเนินงาน และสร้างรายได้เข้า GMM Music ได้อีกครั้ง อย่าง Showbiz หรือ รายได้จากการจัด มิวสิค เฟสติวัล (Music Festival) และ อินดอร์ คอนเสิร์ต (Indoor Concert) ซึ่งไม่มียอดรับรู้รายได้เลยในปี 2021 หรือปีที่โควิด-19 ระบาดหนัก

ก็สวิงกลับมาเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ และเป็นพอร์ตที่ GMM Music ตั้งเป้าให้กลับเติบโตมากที่สุดจาก 5 พอร์ตหลัก

โดย GMM Music ยังเป็นผู้จัด มิวสิก เฟสติวัล และอินดอร์ คอนเสิร์ตในไทยที่สามารถสร้างรายได้จากการขายบัตรให้โคฟเวอร์มากกว่าต้นทุนการจัดงานได้ และเก็บกำไรจากรายได้ส่วนสปอนเซอร์ได้แบบ 100%

อนึ่ง ตลาดมิวสิค เฟสติวัล ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล (International) มาตรฐานต้องมีผู้เข้าร่วม ไม่ต่ำกว่า 100,000 คนต่อวัน

สามารถแบ่งขนาดงานเป็นไซส์ S (1,000 คนต่อวัน), M (5,000 คนต่อวัน), L (20,000 คนต่อวัน) และ XL (50,000 คนขึ้นไปต่อวัน)

โดย บิ๊ก เมาน์เท่น (Big Mountain) มิวสิก เฟสติวัล ระดับเอเชีย มียอดผู้เข้าร่วมอยู่ที่ 200,000 คนตลอดการจัดงานปีล่าสุด

ขณะที่ปัจจุบันประเทศแถบเอเชีย มีเพียง เกาหลี และ ญี่ปุ่น ที่มีศักยภาพในการจัดงานมิวสิก เฟสติวัล ระดับอินเตอร์เนชั่นแนล ได้

ส่วนไทยปัจจุบันมี มิวสิก เฟสติวัล ปีละ 300-400 งาน แบ่งเป็น ไซส์ L ที่ GMM ครองแชร์อยู่ถึง 90% ไซส์ M มีอยู่ 100 งาน ส่วนที่เหลือเป็นไซส์ S ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุด

มิวสิก เฟสติวัล-อินดอร์ คอนเสิร์ตในไทย

มูลค่า 5 พัน ลบ./ปี

พร้อมฟื้นเต็มสูบหลังจากนี้

เซกเมนต์ มูลค่า/ล้านบาท/ปี
มิวสิก เฟสติวัล โดยค่ายเพลงไทย 1,250
อินดอร์ คอนเสิร์ต โดยค่ายเพลงไทย 1,250
อินดอร์ คอนเสิร์ต โดยค่ายเพลงเกาหลี 1,250
อินดอร์ คอนเสิร์ต อินเตอร์เนชั่นแนล อาทิ โดยค่ายเพลงฝั่งยุโรป-อเมริกา 1,250
รวมมูลค่า มิวสิก เฟสติวัล-อินดอร์ คอนเสิร์ตในไทย 5,000
ที่มา: GMM Music, March 2023

ปัจจุบัน GMM Music ครองแชร์อยู่ประมาณ 600 ล้านบาท เป็นผู้นำอยู่ในตลาดไซส์ L และ XL โดยพยายามไม่ลงไปแย่งส่วนแบ่งใน มิวสิก เฟสติวัล ไซส์เล็กกว่านั้น เพราะต้องการเปิดพื้นที่ให้ตลาดมิวสิก เฟสติวัล ที่จัดโดยคนไทย ได้มีโอกาสเติบโต และกระจายไปในวงกว้าง

เพราะ มิวสิก เฟสติวัล ในไทย เป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับภาคส่วนที่มีส่วนร่วมได้ในวงกว้าง มากกว่าแค่ค่าบัตรเข้าชม เพราะมีการใช้จ่ายสะพัดซึ่งสร้างรายได้ให้กับธุรกิจท้องถิ่น (โลคอล-Local) ในพื้นที่ที่จัดงาน เป็นต้น

GMM Music ในฐานะผู้จัด มิวสิก เฟสติวัล ที่มีศิลปิน และยอดผู้เข้าชมมากสุดระดับต้น ๆ ของไทย ประเมินว่า ผู้เข้าชมงาน 1 คน สามารถสร้างเม็ดเงินใช้จ่ายในงานมิวสิก เฟสติวัล นอกจากการซื้อบัตรเข้าชม ได้มากถึง 3,000 บาทต่อวัน

นอกจากนี้ GMM Music ยังมีพอร์ตธุรกิจ Artist Management หรือ การบริหารการจ้างงานของศิลปิน แบ่งเป็นส่วน Live Show หรือ การจ้างงานร้องเพลงตามสถานบันเทิงของศิลปิน มากถึง 410 ล้านบาท

 โดยก่อนเกิดโควิด-19 GMM Music มีการจ้างงานในส่วนนี้มากถึง 7,000 งานต่อปี และเริ่มสวิงกลับมาอีกครั้ง ช่วง ก.ค.-ธ.ค. 2022 ที่ผ่านมา และยังทำได้ดีในตลาดการจ้างงานศิลปินเป็นพรีเซนเตอร์

ปิดท้ายด้วยพอร์ตธุรกิจ Physical หรือ สินค้าที่จับต้องได้ อาทิ ซีดี, ตลับเทป, แฟลชไดร์ฟ, แผ่นเสียง, ของที่ระลึก เป็นต้น ยังสามารถเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ ด้วยการกลับมาได้รับความนิยมของพฤติกรรมการฟังเพลงแบบ อะนาล็อก (Analog) และ ฟังเพลงจากแผ่นเสียง (Recording Disc) ของผู้บริโภคในไทย

รวม 5 พอร์ตธุรกิจหลักของ GMM Music ปี 2022 สร้างรายได้รวมอยู่ที่ 3,043 ล้านบาท เติบโตจาก ปี 2021 ที่อุตฯ เพลงในไทย-โลก ยังอยู่ในช่วงซมพิษโควิด-19 มากถึง 67% และมีกำไร 355 ล้านบาท

ตั้งเป้าฉลองครบรอบ 40 ปี ของการทำธุรกิจในปี 2023 มีรายรวม 3,800 ล้านบาท โต 25% YoY ผ่าน แผนการดำเนินงานหลัก ๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัด มิวสิก เฟสติวัล และอินดอร์ คอนเสิร์ต ใน 7 จุด ยุทธศาสตร์ทุกภูมิภาคทั่วประเทศไทย ขยายเข้าสู่โอกาสใหม่ ในการสอดแทรกเข้าสู่งานเทศกาลประจำจังหวัด งานฮาโลวีน งาน LGBTQ+ งานเทศกาลดนตรีระดับสากล คอนเสิร์ต และงานแฟนมีตติ้ง เป้าผู้ซื้อบัตร 500,000 คนภายในระยะเวลา 5 ปี

ลงทุนแพลตฟอร์มด้าน Big Data, Machine Learning และ AI เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมของแฟนเพลง ศิลปิน แบรนด์สินค้า ตลอดจนสื่อทุกแขนงที่มีความเกี่ยวพัน

เพื่อนำไปสู่การเลือกใช้ศิลปิน การหาความสัมพันธ์ด้านต่าง ๆ กับแบรนด์สินค้า หรือสื่อ และอินฟลูเอนเซอร์ที่หลากหลาย ตลอดจนนำไปสู่เรื่องของการทำ Data Prediction ที่สามารถมองเห็นความต้องการ และปริมาณการซื้อบัตรในพอร์ตธุรกิจ Showbiz สาขาต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำก่อนการขาย

ขยายกำลังการผลิตเพลงเพิ่มเป็น 500 เพลง 32 อัลบัม 160 ซิงเกิล 5,000 เพลย์ลิสต์ต่อปี วางเป้าหมายในการสร้างศิลปินใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งศิลปินร็อก (New Rock Idol), ศิลปินลูกทุ่ง (New Country Idol) และศิลปินป๊อปไอดอล (New Pop Idol) พร้อมเดบิวต์สู่ตลาดมากกว่า 15-20 ศิลปินใหม่

ตลอดจนสร้างรายได้ให้เติบโตสูงสุดในพอร์ตธุรกิจ Digital ด้วยการเชื่อมโยงโอกาสระหว่าง Music Marketing, Music Optimization และ Music Playlist ให้เกิดการเติบโตทั้งด้านรายได้และพฤติกรรมการฟังเพลงของผู้บริโภค

ด้านการทำงานในส่วนสร้างสรรค์ และพัฒนาคอนเทนต์เพลง-ศิลปิน ปี 2022 ทาง GMM Music มียอดสตรีม 14,000 ล้านสตรีม

แบ่งเป็น การสตรีมเพลงใหม่ 2,150 ล้านการสตรีม คิดเป็น 16% ของการฟังเพลง GMM Music ทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับค่าเฉลี่ยการสตรีมเพลงใหม่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในโลก โดยมียอดการสตรีมอยู่ที่ประมาณ 15%

หากแยกประเภทของแนวเพลงที่ได้รับความนิยมในการฟังของ GMM Music 3 อันดับแรก คือ เพลงร็อก 40%, เพลงลูกทุ่ง 32%, เพลงป๊อป 14% และเพลย์ลิสต์ 8%

แยกเป็นจำนวนเพลง รวมทั้งสิ้น 404 เพลง แบ่งเป็น 30 อัลบัม, 153 ซิงเกิล, 44 เพลงประกอบภาพยนตร์ และ 48 เพลงคัฟเวอร์

และในชาร์ตเพลงระดับโลก อย่าง Billboard Chart หมวด Top 100 Thai Songs of The Year หรือ 100 เพลงจากค่ายเพลงในไทย ที่มียอดดาวน์โหลด-สตรีมมิ่ง มากที่สุด ระหว่างเดือนสิงหาคม-ธันวาคม 2022

ภายในประเทศที่ทำการจัดอันดับเท่านั้น ผ่านแพลตฟอร์มทั้ง Spotify, Apple Music, Youtube Music, iTunes ฯลฯ

ทาง GMM Music เป็นค่ายเพลงที่มีเพลงฮิตติด Thailand Billboard Chart มากที่สุดถึง 37% ครองความเป็นค่ายเพลงอันดับ 1 ที่มีเพลงฮิตติดชาร์ตมากที่สุด

ค่ายเพลงไทยเจ้าไหน แชร์

Top 100 Thai Songs of The Year จาก Billboard Chart 

มากสุด ปี 2022

ค่ายเพลงไทย แชร์
GMM Grammy 37%
What The Duck  8%
Warner Music Thailand 8%
LOVEiS 8%
Smallroom 4%
Muzik Move 4%
High Cloud Entertainment 4%
Warm Light 4%
ที่มา: GMM Music รวบรวมจาก Billboard Chart ระหว่างเดือน ส.ค.-ธ.ค. 2022    

และยังเป็นปีที่ GMM Music แจ้งเกิดศิลปินใหม่ศิลปินใหม่ ครบทุกแนวเพลง ทั้งป๊อป ร็อก และลูกทุ่ง

ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน Paper Planes, Three Man Down, Tilly Birds, ไททศมิตร, โจอี้ ภูวศิษฐ์, Monica, เวียง นฤมล, เบียร์ พร้อมพงษ์, เบล นิภาดา และ New Country

ทั้งยังทุ่มงบลงทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และร่วมมืออย่างเป็นทางการกับมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา สถาบันสอน ร้อง-เต้น โมเดลลิ่ง มิวสิกคอมมูนิตี้ โปรดิวเซอร์ และผู้จัดในสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ

เพื่อการคัดสรร ฝึกสอน และเฟ้นหาศิลปินใหม่ โดยมืออาชีพ อย่าง GMM Academy ซึ่งได้การตอบรับที่ดีจากน้อง ๆ กว่า 10,000 คน ในส่วนของ YG”MM ที่เปิดรับสมัครในปีที่ผ่านมาก็มียอดผู้สมัครถล่มทลายกว่า 9,000 คน



อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline

ติดตาม Marketeer Online ทาง LINE Official


เพิ่มเพื่อน