CRG กับ 7 ความท้าทายบนกลยุทธ์สร้างการเติบโต 20% ในธุรกิจอาหาร
การเติบโตของ ตลาดร้านอาหาร ในปีที่ผ่านมาเกิดจากการกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านของผู้บริโภค ประกอบกับปี 2021 ตลาดอาหารมีมูลค่าที่ต่ำจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ
ส่วนในปีนี้ตลาดร้านอาหารมีการเติบโต 3-5% หรือมีมูลค่าประมาณ 422,300–430,500 ล้านบาท คาดการณ์โดย CRG แม้จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศ แต่ยังเป็นการกลับมาของนักท่องเที่ยวที่ยังไม่เต็มที่เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด และโลกยังเผชิญกับสภาวะทางเศรษฐกิจต่าง ๆ
การเติบโตของตลาดร้านอาหารปีนี้ ณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป หรือ CRG มองว่าเป็นการเติบโตบนความท้าทายที่เป็น Key Movement อยู่ 7 ประการ ได้แก่
1. สถานการณ์ธุรกิจร้านอาหารแม้จะกลับมาดีขึ้น และเป็นมูลค่าที่ใกล้เคียงกับปี 2019 ปีก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด (อ้างอิงจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ตลาดร้านอาหารปี 2019 มูลค่า 430,762 ล้านบาท) แต่เป็นการกลับมาบนสถานการณ์ไม่แน่นอนรอบ ๆ ด้าน ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น อัตราเงินเฟ้อ ค่าขนส่งที่แพงขึ้น ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก
2. พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปจากก่อนโควิด-19 โดยเฉพาะเรื่องเดลิเวอรีเปลี่ยนให้การบริโภคง่ายขึ้น สะดวก และเมื่อผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่ก็ยังคงคุ้นชินกับการสั่งอาหารออนไลน์ การให้บริการของร้านอาหารในรูปแบบ O2O channel (Offline to Online) ยังเป็นหลักที่สำคัญในการแข่งขันทางธุรกิจ
3. ผู้เล่นในตลาดร้านอาหารพยายายามปรับตัว เปิดร้านอาหารให้บริการทั้งร้านที่อยู่ในศูนย์การค้า, นอกศูนย์การค้า และ Format ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น
4. เกิด New Business ใหม่ ๆ มาให้บริการผู้บริโภค เช่น การขายอาหารผ่านตู้ Vending Machine และ Grab and Go
5. อาหารรูปแบบ Premium Position เช่น เมนูอาหารที่ใช้วัตถุดิบพรีเมียม มีการเติบโต จากผู้บริโภคต้องการใช้เงินเติมเต็มความสุขในการรับประทานอาหาร
6. มีร้านอาหารเปิดตัวจำนวนมาก ทั้งร้านอาหารแบรนด์เดิมและแบรนด์ใหม่ ๆ ในตลาด ทำให้เกิดปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงาน และสถานการณ์เงินเฟ้อทำให้การขนส่ง วัตถุดิบ มีราคาที่เพิ่มสูงขึ้น
7. มี New Player เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง จากผู้เล่นรายใหม่ที่ไม่เคยอยู่ในวงการอาหารมาก่อน และผู้เล่นเดิมที่มีการขยายสาขา ขยายธุรกิจเป็นจำนวนมาก
แม้ Key Movement ทั้ง 7 ประการ จะเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร และเป็นหนึ่งในความท้าทายของCRG แต่ณัฐเชื่อว่าในปีนี้ CRG มีการเติบโต 20% จากที่ปีที่ผ่านมาที่มีรายได้ 12,800 ล้านบาท
ซึ่งการเติบโตที่ณัฐตั้งเป้าหมายเป็นการเติบโตมากกว่าตลาด
การเติบโตของCRGในปีนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CRG ใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท ไม่รวมธุรกิจ Joint Venture พร้อมวางกลยุทธ์ออกเป็น 5 ประการ ประกอบด้วย
1. เร่งเติมเต็มธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโต ผ่านการขยายสาขาใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ในปัจจุบัน CRG มีสาขาแบรนด์ร้านอาหารรวมกันมากกว่า 1,500 สาขา ปีนี้ CRG มีแพลนเปิดสาขามากถึง 150 สาขา จากปีที่ผ่านมาที่มีการขยายสาขา 200 สาขา
แบ่งเป็น กลุ่ม QSR จำนวน 319 สาขา ขยายเพิ่ม 20 สาขา เป็นการขยายผ่านแบรนด์ KFC ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบัน KFC มีสาขา 321 สาขา
Heavy Food จำนวน 357 สาขา ขยายเพิ่ม 30 สาขา เป็นการขยายผ่านสลัดแฟคทอรี่, ส้มตำนัว และชินคันเซ็น ซูชิ เป็นหลัก
Light Food จำนวน 678 สาขา ขยายเพิ่ม 30 สาขา โดยให้ความสำคัญกับ อานตี้ แอนส์ เป็นพิเศษ
และ Beverage/Dessert จำนวน 212 สาขา ขยายเพิ่ม 70 สาขา เน้นไปที่ อาริกาโตะ แบรนด์กาแฟที่เป็นช้อปอินช้อป
ในส่วนของ Same Store หรือร้านอาหารเดิมที่เปิดอยู่ก่อนหน้านั้น CRG วางเป้าหมายการเติบโต 8-10% การเติบโตนี้มาจากการออกเมนูใหม่ ๆ ที่เข้ามาสร้างสีสันและดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงการปรับตัวเข้าไปเป็นแบรนด์ที่สามารถรับประทานได้ทุกช่วงเวลา ไม่จำกัดเพียงมื้ออาหารหลัก
ไปพร้อม ๆ กับให้ความสำคัญกับ Omni Channel ด้วยการนำแพลตฟอร์มของ The 1 มาเพิ่มยอดจำหน่าย และการเปิดช้อปอินช้อป และการขายในรูปแบบเวอร์ชวลแบรนด์ที่ให้บริการในรูปแบบเดลิเวอรี และออนไลน์ เช่น ที่ผ่านมามีการเปิดตัวบุกชน ข้าวมันไก่เกาหลี, โจข้าวต้มแห้ง และคลั่งกะเพรา
2. สร้างธุรกิจใหม่เพื่อการเติบโต ประกอบด้วย
– การมองหาแบรนด์ใหม่เสริมพอร์ตโพลิโอ เพิ่ม 1-2 แบรนด์ ต่อปี โดยเน้นไปยัง Joint Venture เป็นหลัก
ในปีที่ผ่านมา CRGมีการเปิดแบรนด์ใหม่ 3 แบรนด์ ประกอบด้วย ราเมน คาเกทสึ อาราชิ ที่ซื้อแฟรนไชส์มาจากญี่ปุ่น ที่มีดีกรีเป็นราเมนทอป 3 ในญี่ปุ่น
Joint Venture กับแบรนด์ ชินคันเซ็น ซูชิ
และ ชินคันเซ็น ซูชิ ธุรกิจที่ Joint Venture ได้เปิดแบรนด์นักล่าหมูกระทะ ขึ้นมาเพิ่มอีกแบรนด์หนึ่ง ซึ่งนักล่าหมูกระทะเป็นแบรนด์ที่พาCRGเข้าสู่ตลาดกริลล์ หรือปิ้งย่าง เป็นแบรนด์แรก
– ขยายโอกาสไปยังประเทศเวียดนาม ที่โฮจิมินห์ซิตี้ ซึ่งเป็นประเทศแรกที่CRGออกนอกไทย
การไปเวียดนามของCRGมาจากการเห็นโอกาสของกำลังซื้อในประเทศเวียดนามที่กำลังขยายตัว มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน และเป็นคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในตลาดแรงงานจำนวนมาก ซึ่งณัฐเชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า GDP เวียดนามจะแซงประเทศไทย และมีรายได้ต่อครัวเรือนที่สูงกว่าไทย
การบุกประเทศเวียดนามของ CRG เป็นการบุกตลาดช้ากว่าที่วางแผนไว้ที่ต้องการเปิดตลาดไปยังเวียดนามในปี 2021 และปี 2022 เห็นการเติบโต จากการแพร่ระบาดของโควิด-19
โดยณัฐได้มองธุรกิจในกลุ่มอาหารอีสานและญี่ปุ่น เป็น 2 กลุ่มแรก ๆ ที่เลือกไปเปิด จากพฤติกรรมคนเวียดนามนิยมอาหารไทย โดยเฉพาะอาหารอีสาน และอาหารญี่ปุ่น
3. ผนึกพันธมิตรสร้างการเติบโตร่วมกัน ด้วยการขยายสาขาชินคันเซ็น ซูชิ, ส้มตำนัว และสลัดแฟคทอรี่ ในห้างค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล, โรบินสัน และสแตนด์อโลน รวมกัน 25 สาขา
4. เพิ่มประสิทธิผลการทำงานระบบหลังบ้าน ผ่านแนวทาง 3C ประกอบด้วย
Cost บริหารจัดการต้นทุน และค่าใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
Capex ลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
Cash Flow บริหารกระแสเงินสด การลงทุนให้มีความคล่องตัวมากขึ้น
พร้อมกับนำหุ่นยนต์, การสั่งอาหารผ่าน QR Code อาหารสายพาน และการนำเครื่องมือวิเคราะห์ลูกค้ามาใช้เพื่อทำตลาดเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้แม่นยำขึ้น
5. ขับเคลื่อนธุรกิจสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งในส่วนของพนักงาน เปิดกว้างรับความหลากหลายทั้งเพศ และความบกพร่องทางร่างกาย
ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และลดปริมาณขยะอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุดิบในประสบการผลิตอาหาร
อย่างไรก็ดี การขับเคลื่อนของธุรกิจCRGเป็นการขับเคลื่อนบนความท้าทายที่หลากหลาย และเพื่อให้เป็นตามเป้ารายได้ 15,000 ล้านบาทในปีนี้ เราคงได้เห็นสีสันที่สนุกขึ้นในธุรกิจอาหารที่ในวันนี้ไม่ได้มีเพียงเชนอาหารแบรนด์หลักอีกต่อไป
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้
Website : Marketeeronline.co /
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



