ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ค่าครองชีพ กำลังซื้อ รวมถึงสิ่งเเวดล้อม อยู่บนความไม่เเน่นอน เริ่มทำให้ผู้บริโภคหันมาโฟกัสเรื่องความคุ้มค่า ราคา เเละผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมมากขึ้น มากไปกว่านั้น คือการหันไปเลือกซื้อสินค้าและวัตถุดิบพื้นบ้าน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากมากกว่าที่เคย
เต็ดตรา เเพ้ค ผู้ให้บริการด้านโซลูชันการแปรรูปเเละบรรจุภัณฑ์อาหาร ได้เปิดเผยถึงรายงาน “เทรนด์ดิพิเดีย” ประจำปี 2566 ที่ยังคงคล้ายกับปีที่ผ่านมาว่า
เทรนด์หลักในปีนี้ยังเป็นเรื่องของ
เทรนด์ In control-ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหาร เพื่อเลือกสรรเเละควบคุมสิ่งต่าง ๆ เอง โดยจะเลือกจับคู่อาหารหรืออาหารเสริมเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด เเละเหมาะกับสุขภาพของตนเอง
นอกจากนั้น ผู้บริโภคยังใช้โซลูชันเทคโนโลยี ในการสังเกตสุขภาพของตน เเบรนด์อาหารเเละเครื่องดื่มจึงควรระบุคุณค่าอาหารของผลิตภัณฑ์ลงบนกล่องบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบข้อมูลโภชนาการได้
เทรนด์ Flexi-Shopping-คนไทยยังคงช้อปปิ้งกันเก่งเช่นเดิม เเต่เพิ่มเติมคือการช้อปปิ้งแบบยืดหยุ่นมากขึ้น เช่น การให้บริการ Paylater ต่าง ๆ ที่ไม่ว่าแอปไหนก็เปิดตัวเเข่งกัน เพื่อดึงลูกค้าหาตน ที่เป็นเช่นนี้เพราะค่าครองชีพที่ปรับตัวสูง คนต้องการช้อปแบบมีระยะเวลาผ่อนจ่ายได้
อีกทั้งผู้บริโภคมองหาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาเหมาะสม เเม้เเต่ผู้ที่ไม่กังวลด้านค่าใช้จ่ายก็ให้ความสำคัญกับราคาเช่นกัน โดยจะซื้อสินค้าที่ราคาเข้าถึงได้ เเต่ไม่ใช่ทั้งหมดเสียทีเดียว เพราะในบางคราวก็ซื้อสินค้าที่มีคุณภาพเเละราคาสูงขึ้นสลับกันไปเพื่อเป็นรางวัลชีวิต
เทรนด์ Eatertainment-ตั้งเเต่ช่วงล็อกดาวน์ สังคมออนไลน์กลายเป็นที่ยึดโยงสำหรับผู้บริโภคในการค้นหาเมนูอาหาร เเละการทำอาหารกลายเป็นเรื่องสนุก ทำตามทริคต่าง ๆ ได้ง่าย
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคคาดหวังให้เเบรนด์หรืออินฟลูเอนเซอร์ ช่วยเเนะนำทริคเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบทดเเทน เพราะช่วงโควิดที่ผ่านมา การทำอาหารมีข้อจำกัด เนื่องจากวัตถุดิบขาดเเคลน การช่วยหาทางออกแก่ผู้ชมในเรื่องนี้ ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคมองหาจากเเบรนด์เเละเหล่าครีเอเตอร์ทั้งหลาย
แบรนด์จึงควรลองใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่บอกวิธีการปรุงเเต่ละขั้นตอน เพื่อเน้นย้ำเทรนด์ทำอาหารในบ้านที่กำลังเติบโตอย่างดี
เทรนด์สุดท้าย Local Reclaimed-ผู้บริโภคให้ความสนใจกับเศรษฐกิจท้องถิ่น เครือข่ายระหว่างชุมชนมากกว่าที่เคย แบรนด์ที่มีความเกี่ยวข้องกับท้องถิ่นจะกลายเป็นตัวเลือกที่โดดเด่นขึ้น เนื่องจากช่วงโควิดที่ผ่านมา ผู้บริโภครู้ดีว่าชุมชนได้รับผลกระทบมาก
จึงหันมาสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นมากขึ้น รวมไปถึงความรู้สึกโหยหาอดีต จึงมองหารสชาติดั้งเดิมที่คุ้นเคย เพื่อระลึกถึงช่วงเยาว์วัย
ดังนั้น เเบรนด์ที่เน้นวัตถุดิบที่เลือกสรรจากชุมชน จะสามารถตอบโจทย์เทรนด์นี้ได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ด้านความเคลื่อนไหวของตลาดบรรจุภัณฑ์ คุณสุทธินันท์ เตชะทยานนท์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท เต็ดตรา เเพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาต้นทุนวัตถุดิบเป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจเผชิญเหมือนกันหมด ไม่เว้นเเม้เเต่บรรจุภัณฑ์ซึ่งเป็นต้นน้ำการผลิต เเต่เเบรนด์หลีกหนีต้นทุนในส่วนนี้ด้วยการหันไปลุยในเซกเมนต์สินค้าพรีเมียมมากขึ้น จากที่ปกติเป็นกลุ่มเเมส เพราะในเซกเมนต์นั้น ลูกค้าคือผู้มีกำลังซื้อที่พร้อมจ่ายให้กับสินค้าที่พวกเขามองว่ามีคุณค่าเหมาะสมกับราคาที่จ่ายไป
สรุป ‘เทรนด์ดิพิเดีย’ ประจำปี 2566 แบ่งเป็นสองส่วน ประกอบด้วยธีม เเละเทรนด์ ดังนี้
Themes/ธีม
Empowerment
เลือกรับประทานมากขึ้น
เพราะสุขภาพต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง |
Climate Imperative
ผู้บริโภคใส่ใจสิ่งเเวดล้อม เเละหันมาเลือกผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งเเวดล้อมน้อยสุด |
Authentic connections
เเบรนด์ที่เชื่อมโยงกับท้องถิ่นจะกลายเป็นตัวเลือกเเรกของผู้บริโภค เพราะคนหันมาสนับสนุน Local brand มากขึ้น |
Trends/เทรนด์
Life Hacks
วัตถุดิบที่ทดเเทนกันได้
วิกฤตต่าง ๆ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้วัตถุดิบ ผู้บริโภคอยากให้เเบรนด์เเนะนำวัตถุดิบที่สามารถใช้ทดแทนกันได้ในช่วงเวลาจำเป็น |
In Control
จะกินอะไรต้องเลือกเเล้วเลือกอีก
ผู้บริโภคเลือกรับประทานอาหารเเบบเลือกสรรเองอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นห่วงสุขภาพ |
Climatarianism
ปรับไลฟ์สไตล์การรับประทานอาหารให้เป็นมิตรต่อโลก มองหาบรรจุภัณฑ์ดีต่อสิ่งเเวดล้อมด้วย |
Un-masking Identities
ไม่ต้องเฟค พูดกันตรง ๆ
ผู้บริโภคมองหาความเรียลจากเเบรนด์ ต้องการรับรู้เบื้องหลังอาหารอย่างตรงไปตรงมา
|
Flexi-shopping
ช้อปปิ้งเเบบยืดหยุ่น ให้รางวัลตัวเอง
ผู้คนยังใช้เงินกับสิ่งที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ เพื่อให้รางวัลกับตัวเอง เเต่ต้องการซื้อเเบบมีเวลาผ่อนจ่าย |
Replenish and Repair
ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยคลายเครียด
ผู้บริโภคมองหาอาหารที่มีส่วนผสมของสารคลายเครียด เพื่อให้เวลาตนเองได้พักผ่อน |
Green Clarity
ต้องเป็นมิตรต่อธรรมชาติ
ฉลากสินค้าต้องบ่งบอกผลกระทบของบรรจุภัณฑ์ต่อสิ่งเเวดล้อมให้ชัดเจน ไม่คลุมเครือ |
Local Reclaimed
สนับสนุนท้องถิ่น
คนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนชุมชนมากขึ้น |
Eatertainment
ทุกมื้อคือความสนุก
ผู้คนสนุกไปกับการค้นหาเมนูใหม่ ๆ บนโลกออนไลน์เพื่อมาทำตาม |
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



