ทุกครั้งที่ราคาอาหารแพงขึ้นนั่นคือหลักฐานยืนยันว่า ผลกระทบจากวิกฤต ณ เวลานั้นรุนแรง เพราะลามมาถึงโต๊ะอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่และปากท้องของประชาชนแล้ว
สิ่งที่ตามมาคือ การปรับพฤติกรรมการกินของผู้บริโภค และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของบรรดาบริษัทอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งก็มักจะสอดคล้องกัน เน้นที่อาหารราคาถูกเป็นหลัก จึงส่งผลให้อาหารราคาถูกและสามารถทำกินเองได้ง่าย ๆ ในเวลาไม่นาน
รวมไปถึงอาหารราคาถูกจากแหล่งอื่น ๆ ขายดีขึ้นมา หรือร้านอาหารลดปริมาณในการเสิร์ฟลง
เช่นเมื่อกลางปีที่แล้วซึ่งอังกฤษเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบสืบเนื่องจากน้ำมันแพงและสถานการณ์ความขัดแย้งในยุโรปที่ดีดให้ต้นทุนและวัตถุดิบในการผลิตอาหารแพงขึ้น
จนราคาอาหารแพงขึ้นในรอบ 13 ปี และเงินที่ชาวอังกฤษต้องใช้ไปกับการซื้ออาหารเพิ่มขึ้นเป็น 380 ปอนด์ (ราว 16,000 บาท) ชาวอังกฤษจึงหันไปหาซื้ออาหารแช่แข็งกันมากขึ้น จนยอดขายอาหารแช่แข็งและอาหารกระป๋อง ใน Sainbury’s ดีขึ้นมา
ขณะที่วิกฤตราคาอาหารและภัยแล้งทำให้ทั้งผู้บริโภคและร้านอาหารเกาหลีใต้หันไปกินและเสิร์ฟกิมจินำเข้าจากจีนที่ราคาถูกกว่า จนทำให้เกาหลีใต้ขาดดุลกิมจิ
ทั้งที่ประสบความสำเร็จในการผลักดันเมนูดังของประเทศให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และเป็นต้นแบบ Soft power ในปัจจุบัน ที่หลายประเทศมองเป็นต้นแบบ
วิกฤตเศรษฐกิจและราคาอาหารแพงยังทำให้ร้านอาหารในเกาหลีใต้ต้องลดเครื่องเคียงโดยเฉพาะผัก จาก 4-5 ถ้วยลงเหลือ 1-2 ถ้วยเท่านั้นอีกด้วย
ข้ามมาที่สหรัฐฯ ก็เจอวิกฤตราคาอาหารเช่นกัน ท่ามกลางการรายงานว่า กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาราคาไข่แพงขึ้นถึง 55% จากเมื่อปีก่อน ส่งผลให้ราคาอาหารเมนูไข่ รวมไปถึงอาหารประเภทต่าง ๆ ที่ต้องใช้ไข่เป็นส่วนผสม เช่น ซีเรียล ของแบรนด์ดังอย่าง Kellogg ก็แพงขึ้นตามไปด้วย
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเมื่อเกิดวิกฤตราคาอาหารจะเป็นโอกาสทองของอาหารสำเร็จรูปแบรนด์ต่าง ๆ และครั้งนี้แบรนด์ญี่ปุ่น ซึ่งรู้จักไปทั่วโลกในฐานะบริษัทคิดค้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยขอใช้เป็นโอกาสในการเจาะตลาดสหรัฐฯ
Nissin เริ่มทยอยส่ง Breakfast บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบบถ้วยรสใหม่ในตลาดสหรัฐฯ ไปวางจำหน่ายใน Walmart และช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ
จุดขายของรสนี้คือ ไข่ชิ้นเล็ก ๆ อบแห้ง ไส้กรอก และแพนเค้กราดน้ำเชื่อมเมเปิ้ลให้ความรู้สึกเหมือนได้กินอาหารเช้าสไตล์อเมริกัน ที่ถูกย่อให้อยู่ในถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
Nissin รส Breakfast ที่เทน้ำร้อนลงไปและรออีกเพียง 4 นาทีก็กินได้เลย มีราคาเพียงถ้วยละ 1.18 ดอลลาร์ (ราว 40 บาท) เท่านั้น ซึ่งถือว่าถูกมาก ๆ หากเทียบกับราคาอาหารเฉลี่ยโดยทั่วไปในสหรัฐฯ
นี่ถือเป็นแผนเจาะตลาดอาหารเช้าในสหรัฐฯ ยุคข้าวยากหมากแพงของ Nissin ที่ผู้บริโภคต้องการเมนูราคาเบากินรองท้องก่อนออกไปทำงาน
สื่อในสหรัฐฯ วิเคราะห์ผ่านทัศนะของบริษัทที่ปรึกษาและทำการตลาดให้กับบริษัทอาหารว่า Nissin รส Breakfast น่าจะเปิดตัวสวย เพราะตรงตามสามเกณฑ์หลักที่ทำให้อาหารขายดี คือ รสชาติถึงเครื่อง ปรุงหรือกินได้สะดวก และมีราคาเข้าถึงได้
ส่วนกลุ่มผู้บริโภคที่จะไปซื้อ Nissin รส Breakfast มาลองหรือมาติดบ้านติดห้องไว้มากสุดคือ กลุ่ม Gen Z กับ Millennial วัยระหว่าง 18-34 ปี ที่เน้นมื้อเช้าที่กินได้สะดวกรวดเร็ว และชอบความแปลกใหม่
มากกว่ากลุ่ม Gen X และ Babyboom ที่ชอบมื้อเช้าแบบอยู่ท้องกว่า แม้ราคาสูงขึ้นมาหน่อยและต้องเผื่อเวลาพอสมควรในการกินก็ตาม
สื่อในสหรัฐฯ ยังวิเคราะห์ต่อว่า อีกปัจจัยที่น่าจะทำให้ Nissin รส Breakfast ไปได้สวยในสหรัฐฯ คือ สังคมการทำงานยุคปัจจุบันที่กลายเป็นแบบผสมผสานระหว่างทำงานอยู่บ้านสลับกับเข้าไปทำงานในออฟฟิศ เพราะไม่ว่าอย่างไรงานก็ยังต้องวัดกันด้วยผลงาน
ดังนั้นอาหารสำเร็จรูปจึงเป็นเมนูอิ่มราคาเบาและสะดวกรองท้องก่อนเริ่มงานในตอนเช้าหากทำงานอยู่บ้าน หรือรองท้องก่อนหากวันไหนเข้าออฟฟิศไปสะสางงาน
สำหรับบะหมี่ถ้วยสำเร็จรูปรส Breakfast ยังถือเป็นแผนตีเหล็กที่ยังร้อนของ Nissin ต่อจาก Pumpkin Spice รสซุปฟักทองเผ็ด ที่เปิดตัวไปเมื่อฤดูใบไม้ร่วง (ราวกันยายนถึงพฤศจิกายน) ปีก่อน ซึ่งกระแสตอบรับดีเกินคาด
Nissin จึงมองว่าผู้บริโภคในสหรัฐฯ เปิดรับบะหมี่ถ้วยสำเร็จรูปรสชาติแปลกใหม่มากขึ้น ไม่ต่างจากรสต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาจากเมนูฮิตของประเทศอื่น ๆ เช่น รสต้มย้ำกุ้ง ในไทย/cnn
–
อัพเดตข่าวสารการตลาดทุกวันได้ที่ Website: Marketeeronline.co
Facebook: www.facebook.com/marketeeronline



